ที่มา | เทคโนโลยีการปศุสัตว์ |
---|---|
ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
เผยแพร่ |
แพะเป็นอีกหนึ่งสัตว์เลี้ยงที่ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยม จะเห็นได้จากหลายๆ จังหวัด มีการส่งเสริมในเรื่องของการเลี้ยงมากขึ้น เพราะเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาในบ้านเราประสบปัญหาภัยแล้ง จึงทำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำการเกษตรได้ ส่งผลให้มีการแบ่งพื้นที่ปลูกพืชบางส่วนมาเลี้ยงปศุสัตว์ โดยแพะเป็นสัตว์ที่เกษตรกรให้ความสนใจ เป็นสัตว์ที่กินง่ายและที่สำคัญให้ลูกออกมาไว เพราะใช้เวลาตั้งท้องเพียง 5 เดือน ก็สามารถทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงมีกำไรคืนทุนได้ในระยะสั้นๆ
คุณพงศธร กลัดเพ็ชร เกษตรกรหนุ่มผู้สนใจการเลี้ยงแพะ อยู่บ้านเลขที่ 294/1 หมู่ที่ 6 ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตรและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ได้กลับมาอยู่ยังบ้านเกิดและเลี้ยงแพะเป็นอาชีพทำเงินให้กับเขา โดยมองว่าสามารถทำเป็นอาชีพที่อิสระโดยไม่ต้องไปเป็นลูกจ้าง และอยู่ไกลบ้าน แต่ได้ทำงานด้านปศุสัตว์ที่เขารักอยู่กับบ้าน
คุณพงศธร ชายหนุ่มผู้มีอารมณ์ขัน เล่าให้ฟังว่า เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเมื่อปี 2556 นั้น ได้ไปสมัครเข้าทำงานในบริษัทเอกชนอยู่หลายแห่ง จนได้คำตอบให้กับใจตัวเองว่าไม่เหมาะสมกับการทำงานในลักษณะที่ต้องขึ้นอยู่กับเวลา จึงได้มองหาอาชีพทางการเกษตรที่อยากจะทำ เพราะมองว่าสามารถสร้างเป็นธุรกิจส่วนตัวให้กับตนเองได้ จึงได้มีความสนใจในเรื่องของการเลี้ยงแพะ และลงมือทำอย่างจริงจังในเวลาต่อมา
“พอผมตัดสินใจว่าอยากจะลงมือทำในเรื่องการเลี้ยงแพะ ผมก็มาลงมือทำฟาร์มอย่างจริงจัง โดยใช้เงินเก็บที่ได้จากการทำงานสะสมไว้ จำนวน 50,000 บาท มาทำการลงทุน ในช่วงแรกก็ไปศึกษาการเลี้ยงจากคนที่ทำก่อนอยู่แถวบ้าน จากนั้นก็มาปรับพื้นที่บริเวณบ้านเราให้เหมาะสม โดยแบ่งพื้นที่ทำโรงเรือน แบ่งพื้นที่ปลูกหญ้า เพื่อให้ประหยัดต้นทุน แต่การเลี้ยงส่วนใหญ่ผมจะเน้นพาแพะออกไปหาหญ้ากินบริเวณท้องที่ เหมือนเราลงแรงเพียงอย่างเดียว ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางการเลี้ยงแพะแบบประหยัดต้นทุน” คุณพงศธร เล่าถึงที่มาของการเลี้ยงแพะ
โดยแพะที่เลี้ยงภายในฟาร์มใช้พ่อพันธุ์แพะสายพันธุ์บอร์เลือด 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแม่พันธุ์เป็นสายพันธุ์แองโกลนูเบียน ซึ่งช่วงแรกที่ลงทุนซื้อมาเลี้ยงมีแพะอยู่ประมาณ 40 ตัว จากนั้นผสมพันธุ์เรื่อยๆ จำนวนแพะก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น จนตอนนี้มีอยู่มากกว่า 100 ตัว เมื่อเห็นว่าประสบผลสำเร็จแล้ว จึงทำฟาร์มและโรงเรือนให้มีมาตรฐานมากขึ้น โดยสร้างโรงเรือนสำหรับแพะอยู่ขนาดกว้าง 11 เมตร ยาว 12.50 เมตร ยกพื้นโรงเรือนสูงอยู่ที่ 1.60 เมตร
การเลี้ยงส่วนใหญ่จะเน้นนำแพะออกไปปล่อยไล่ทุ่งตามพื้นที่ว่างต่างๆ เพราะบริเวณบ้านที่เขาอยู่ไม่ได้ติดกับชุมชนมากนัก จึงมีพื้นที่ทุ่งหญ้าที่สามารถนำแพะออกไปหากินหญ้าได้ จึงทำให้การเลี้ยงแพะประหยัดต้นทุนได้เป็นอย่างมาก เพียงแต่เขาลงแรงเพื่อออกไปเฝ้าแพะในแต่ละวันเท่านั้น
“ถ้าพืชที่ให้แพะกินเสริมนอกจากเราพาออกไปเลี้ยงนอกฟาร์ม ก็จะออกไปตัดต้นกระถินมาให้แพะกินบ้าง พร้อมกับให้หญ้าที่เราปลูกเองด้วย แต่หลักๆ เน้นพาออกไปหากิน แม่พันธุ์ที่พร้อมผสมพันธุ์ได้จะมีอายุประมาณ 7 เดือน เมื่อผสมแล้วรอตั้งท้อง 5 เดือน ก็คลอดลูกออกมา จากนั้นเราก็จับแม่กับลูกขังแยกไว้ในคอกสำหรับคลอดก่อน ปล่อยให้แม่อยู่กับลูกประมาณ 3-5 วัน แล้วจึงปล่อยแม่พันธุ์ออกจากคอกไปอยู่กับฝูงเพื่อหากิน ส่วนลูกแพะเราก็จะเลี้ยงด้วยนมชงอยู่ในคอกเหมือนเดิม พอลูกแพะได้อายุ 1 เดือน จึงปล่อยออกไปเลี้ยงกับฝูงและให้หาหญ้ากินเหมือนแพะตัวอื่นๆ ภายในฟาร์ม เมื่อลูกแพะมีอายุ 4-5 เดือน ก็สามารถขายได้ทันที” คุณพงศธร บอก
นอกจากนี้ ยังมีการถ่ายพยาธิให้กับแพะภายในฟาร์ม โดยทำทุก 3 เดือนครั้ง คือเมื่อถึงรอบฉีดยาถ่ายพยาธิแล้ว นับไปอีก 3 เดือน จะสลับเปลี่ยนมาเป็นการกรอกให้แพะกินแทน ทำแบบนี้สลับไปมาเพื่อป้องกันพยาธิที่อยู่ในผิวหนังและลำไส้ของแพะ
สำหรับการทำตลาดเพื่อจำหน่ายแพะภายในฟาร์มนั้น คุณพงศธร บอกว่า ในพื้นที่จะมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงหน้าฟาร์ม เพราะแพะในช่วงนี้ถือว่าค่อนข้างเป็นสัตว์เศรษฐกิจก็ว่าได้ มีการเลี้ยงกันในหลายจังหวัด เมื่อพ่อค้ารู้ว่าที่บ้านเขามีการเลี้ยงแพะ ก็จะบอกกันไปปากต่อปากในแวดวงของเกษตรกรผู้เลี้ยงและพ่อค้าด้วยกัน
“ส่วนมากแพะที่ผมขายก็จะเน้นขายเฉพาะแพะตัวผู้ อย่างเราเลี้ยงได้อายุ 4-5 เดือน น้ำหนักแพะจะมากกว่า 20 กิโลกรัม ราคาขายอยู่ที่ 70-130 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งแต่ละช่วงราคาสามารถขึ้นลงได้ตามกลไกตลาด อย่างช่วงนี้มีสถานการณ์โควิด-19 ราคาขายก็ไม่ถึง 100 บาทต่อกิโลกรัม เพราะพ่อค้าไม่สามารถส่งออกได้ ช่วงราคาลดลงเราก็จะเลี้ยงให้มีอายุเพิ่มขึ้น เพื่อให้แพะมีน้ำหนักที่มากขึ้น ก็จะช่วยชดเชยในเรื่องของราคาที่ลดลงมาได้” คุณพงศธร บอกถึงเรื่องการตลาด
สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงแพะเพื่อเป็นอาชีพ คุณพงศธร แนะนำว่า สิ่งแรกที่ต้องมีก่อนการลงมือเลี้ยงคือเรื่องของใจรัก เพราะแพะเป็นสัตว์ที่มีชีวิตหากดูแลไม่ดีจะทำให้แพะเจ็บป่วยไม่สบายและตายได้ ส่วนในเรื่องของการเลี้ยงไม่มีอะไรที่ยุ่งยาก ถ้ามีใจที่มุ่งมั่นเสียแล้วก็สามารถทำเป็นอาชีพเลี้ยงตนเองได้ ต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติมติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ 080-826-0669
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563