ตลาดประมูลมังคุดที่ตราด คึกคัก ผู้ซื้อผู้ขายใช้ IT ตกลงราคา ตามมาตรการเฝ้าระวัง โควิด-19

ตลาดซื้อขายมังคุดแบบประมูล จังหวัดตราด คึกคัก เกษตรกร พ่อค้า และล้ง ใช้ระบบออนไลน์ เป็นกลไกการซื้อขาย ลดการสัมผัส เว้นระยะ และการสนทนา ตามมาตรการลดการแพร่เชื้อโควิด-19 ของรัฐบาล รวดเร็วทันใจราคาเป็นไปตามความพึงพอใจทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เผยประสบความสำเร็จเตรียมขยายผลสู่การซื้อขายผลผลิตทางการเกษตรพื้นที่อื่นๆ ของภาคตะวันออกต่อไป 

นายดำรงฤทธิ์  หลอดคำ  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยถึงสถานการณ์ผลไม้ภาคตะวันออกปี 2563 ว่าผลไม้ 4 ชนิด ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด ลองกอง และเงาะ มีผลผลิตโดยรวมประมาณ 700,000 ตัน การกระจายตัวหรือผลผลิตออกมามากไม่พร้อมกัน

“สำหรับทุเรียนทางประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ได้เปิดด่านให้การขนส่งเข้าประเทศได้แล้วตลาดจึงไม่มีปัญหา แต่ที่อาจกระจายไม่ทันก็คือมังคุดกับเงาะ ซึ่งพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกปี 2563 มังคุดมีผลผลิตประมาณ 210,000 ตัน   ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงปลายเดือนมิถุนายนผลผลิตจะเหลือประมาณ 20,000 กว่าตัน ซึ่งถือว่ามากพอสมควรและส่วนใหญ่ลูกเล็กไม่ได้ขนาดตามที่ตลาดต้องการเนื่องจากประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงในช่วงที่ผ่านมา”

นายดำรงฤทธิ์  กล่าวต่อไปว่า ขณะที่การส่งออกติดปัญหามาตรการเฝ้าระวังโควิด-19 โดยเฉพาะตลาดประเทศจีนต้องขนส่งผ่านประเทศลาวซึ่งมีกระบวนการต่างๆ ค่อนข้างมากทำให้ผลผลิตเสียหายในระหว่างขนส่งทำให้ราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา แต่เกษตรกรยังอยู่ได้เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตต่อกิโลกรัม  ถือว่ายังพอมีกำไรอยู่บ้าง

“สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้เจรจากับโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออก และบริษัทต่างๆ ที่มีพนักงานจำนวนมากๆ ให้รับมังคุดไปจำหน่ายในโรงงานและบริษัท พร้อมประสานงานกับ กอ.รมน. และขบวนการสหกรณ์ ในการนำมังคุดไปจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศซึ่งช่วยให้สามารถกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดภายในประเทศได้มากขึ้น” นายดำรงฤทธิ์  หลอดคำ  กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการขายให้กับตลาดทั่วไปบางพื้นที่จะใช้ระบบการประมูลราคามาใช้ อย่างที่วัดดงกลาง  อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด  เกษตรกรจะนำผลผลิตมารวมกันเพื่อให้ตัวแทนของบริษัทผู้รับซื้อหรือล้ง มาดูคุณภาพของมังคุดแล้วให้ราคา ซึ่งบริษัท และล้งจะให้ราคาที่แตกต่างกัน เกษตรกรก็จะขายให้กับผู้ที่ประมูลที่สูงที่สุดซึ่งวิธีนี้จะทำให้เกษตรกรขายได้ในราคาที่เป็นธรรมและมีความพึงพอใจกับทุกฝ่าย

“จากที่ติดตามดูการประมูลในแต่ละพื้นที่ พบว่าจะไม่เหมือนกัน บางพื้นที่จะมีคนเข้ามารับซื้อแค่สองสามราย จึงต้องมีการประสานงานกับทุกๆ ฝ่ายอย่างต่อเนื่องและให้มากที่สุด อย่างที่เขาคิชกูฏ จังหวัดจันทบุรีนั้นมีระบบสหกรณ์เข้ามาช่วยดำเนินการ อย่างไรก็ตามก็จะพยายามให้ระบบนี้สามารถกระจายสู่พื้นที่อื่นๆ ของภาคตะวันออกให้มากที่สุดเท่าที่มากได้ เพราะทำให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่มากกว่าการวิ่งไปหาตลาดด้วยตนเอง และได้ราคาที่เป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่ายคือผู้ซื้อและผู้ขาย”นายดำรงฤทธิ์  กล่าว

ทางด้าน นายวินัย ขยันยิ่ง หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด กล่าวว่า สถานการณ์ของผลไม้ในพื้นที่จังหวัดตราด ณ ปัจจุบันถือว่าพ้นจุดสูงสุดของการกระจุกตัวของผลผลิตแล้วขณะนี้อยู่ในช่วงของขาลง ทุเรียนเหลือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ มังคุดและเงาะเหลือประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนลองกองยังเยอะหน่อยแต่ไม่มีปัญหาเพราะตลาดภายในประเทศรองรับได้

สำหรับตลาดประมูลมังคุดโดยวิธีการประมูลราคา ที่วัดดงกลาง  อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด นั้นที่นี่มีสมาชิกประมาณ 2,400 คนได้ดำเนินการด้วยการประมูลปีนี้เป็นปีที่ 2 และเนื่องจากปี 2563 เกิดสถานการณ์ของโควิด-19 ทางจังหวัดตราดมีมาตรการในการเว้นระยะห่างทางสังคมจึงมีการกำกับดูแลตลาดอย่างรัดกุมโดยทุกคนก่อนเข้าตลาดจะต้องผ่านม่านน้ำฆ่าเชื้อ

นายวินัย กล่าวอีกว่า การตีราคามังคุดจะใช้ระบบสมาร์ทโฟน เกษตรกรจะมีคิวอาร์โค้ดของตนเอง และพ่อค้าแต่ละคนจะส่องที่คิวอาร์โค้ตของเกษตรกรพร้อมกำหนดราคาแล้วไปรอที่จุดเซ็นเตอร์ ซึ่งจะปริ้นราคาที่พ่อค้าแต่ละรายกำหนดรับซื้อ  เป็นราคามังคุดทั้ง 2 ขนาด คือ ชนิดลอดห่วงได้ซึ่งเป็นขนาดที่สามารถส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ  และขนาดตกไซซ์  ซึ่งเกษตรกรสามารถแยกขายได้ทั้งลอดห่วงได้และตกไซซ์ โดยมีจุดตัดสินใจว่าจะขายให้ใคร ถ้าไม่พอใจในราคาเกษตรกรก็ขนมังคุดของตนเองออกไปขายในพื้นที่อื่นได้

“ผู้รับซื้อจะไม่เข้ามาเดินในพื้นที่แต่จะนั่งดูคุณภาพผลผลิตในรถตามมาตรการเว้นระยะห่าง ซึ่งจะต่างจากในทุกๆ ปีที่จะเอาผลผลิตมารวมกันเป็นกองแล้วผู้ซื้อเดินมาพิจารณาด้วยตนเองก่อนกำหนดราคา  เป็นมาตรการเพื่อลดการแออัดของเกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีในขณะที่เกษตรกรก็ขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรมมีความพึงพอใจที่สำคัญมีการแข่งขันเรื่องราคากันสูง ส่วนการรับเงินจากการขายมีสองทางคือเกษตรกรรับเงินสด และโอนเข้าบัญชีของเกษตรกร”  นายวินัย กล่าว

ขณะที่ นายสุรแสง พูนเพิ่มสุขสมบัติ  เกษตรจังหวัดตราด กล่าวว่า การซื้อขายมังคุดแบบประมูลราคานี้เป็นกระบวนการซื้อขายที่เกิดจากแนวคิดของเกษตรกรในพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้รับซื้อทำการแข่งขันกันเองในการกำหนดราคาในขณะที่เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจในการขาย

“การซื้อขายแบบนี้เป็นความร่วมมือของเกษตรกรกันเองที่คิดดำเนินการขึ้นมา นับเป็นแนวคิดที่ดี ทำให้พ่อค้าไม่สามารถเอาเปรียบเกษตรกรได้ เพราะจะเป็นการแข่งขันของพ่อค้ากันเองซึ่งผู้ขายก็คือเกษตรกรก็จะได้ขายผลผลิตในราคาที่สูงสุด โดยกระบวนการต่างๆ จะไปสิ้นสุดตอนจ่ายเงิน  กระบวนการนี้จะทำให้พ่อค้าไม่สามารถเอาเปรียบเกษตรกรหรือกดราคาสินค้าของเกษตรกรเช่นก่อนหน้านี้ได้”

“วิธีการนี้นับได้ว่าเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรต่อราคาในการขายผลผลิต เป็นการนำระบบ IT มาใช้ในขบวนการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ที่เกษตรกรและผู้ซื้อมีความสะดวกไม่ต้องรอคิวตกลงกันได้ซื้อขายรับเงินรับของแล้วแยกย้ายกับกลับบ้าน ลดการรวมกลุ่มเป็นการให้ความร่วมมือในมาตรการการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดโควิด-19 ของรัฐบาลอีกด้วย”เกษตรจังหวัดตราด กล่าวในที่สุด