สกสว. เตือนอันตรายและข้อควรระวังจากการผสมน้ำยาทำความสะอาดต่างชนิดในยุคโควิด-19

ในช่วงการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 แน่นอนว่าผู้คนก็จะให้ความสำคัญในเรื่องการทำความสะอาดเป็นพิเศษ น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาฆ่าเชื้อ หลายประเภทถูกนำมาใช้งาน และหลายคนอาจอยากลองนำมาผสมเข้าด้วยกันเพื่อหวังให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในคราวเดียว แต่แท้จริงแล้วการผสมน้ำยาทำความสะอาด น้ำยาฆ่าเชื้อต่างชนิดกัน อาจก่ออันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้

ตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ คือการเสียชีวิตของผู้จัดการร้านอาหารแห่งหนึ่งในอเมริกา เนื่องจากสูดดมแก๊สคลอรีนในปริมาณสูงจากการใช้น้ำยาฟอกขาวถูพื้นโดยไม่รู้ว่าก่อนหน้านั้นมีน้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของกรดหกอยู่ ซึ่งเมื่อผสมกันทำให้เกิดแก๊สคลอรีนจำนวนมากในพื้นที่ปิด

และเหตุการณ์ที่ผู้หญิงคนหนึ่งทำความสะอาดผักผลไม้ต่างๆ ที่ซื้อมาจากซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยผสมน้ำยาฟอกขาวความเข้มข้น 10% กับน้ำส้มสายชูในน้ำร้อน ขณะทำความสะอาดเธอได้กลิ่นรุนแรงของคลอรีนเกิดขึ้นในครัว และเริ่มมีอาการหายใจติดขัด มีเสียงดังขณะหายใจ และได้ถูกส่งตัวไปที่แผนกฉุกเฉินในโรงพยาบาลในทันทีและมีอาการดีขึ้น

ดร.จุฑาทิพ บุญสมบัติ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ คณะทำงาน“โครงการสนับสนุนข้อมูลวิจัยเชิงลึกด้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)” สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า น้ำยาทำความสะอาดและยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในการทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้ในบ้านเรือน มีด้วยกันหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น แอลกอฮอล์ สบู่ ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ที่มีสารคลอรีนเป็นส่วนผสม เช่น น้ำยาฟอกผ้าขาว น้ำยากลุ่มแอมโมเนีย เช่น น้ำยาทำความสะอาดกระจกบางยี่ห้อ น้ำยาที่มีกรดเป็นส่วนผสม เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำหลายชนิดที่ใช้สำหรับขจัดคราบหนัก หรือโซดาไฟ ซึ่งเป็นฤทธิ์เป็นด่างมักนำมาใช้เพื่อทำลายไขมันในท่อน้ำทิ้ง น้ำยาแต่ละตัว ถ้าใช้อย่างถูกวิธีก็จะทำงานได้ตรงตามประสิทธิภาพ แต่หากเอามาผสมกันประสิทธิภาพก็จะลดลง รวมถึงก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้
ผสมน้ำยาทำความสะอาดต่างชนิดเกิดอะไรขึ้นได้

หากนำน้ำยาประเภทกรดกับประเภทด่างมาผสมกันก็จะเกิดฟองฟู่และความร้อนเกิดขึ้น หลายคนอาจเข้าใจผิดนึกว่าจะทำให้มีฤทธิ์ทำความสะอาดดีขึ้น แต่แท้จริงแล้วปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างกรดกับด่าง จะเกิดเป็นสารประเภทเกลือกับน้ำและมีการคายความร้อนออกมา สารประเภทเกลือที่เกิดขึ้นมีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดหรือกัดกร่อนลดลง นอกจากนั้น ถ้านำกรดกับด่างมีความเข้มข้นสูงหรือเป็นสารประเภทกรดด่างที่มีฤทธิ์รุนแรงมาผสมกันอย่างรวดเร็ว อาจเกิดการระเบิดหรือปะทุจากความร้อนสูงมากที่เกิดขึ้น ทำให้เรามีโอกาสสัมผัสกับความร้อนและกรดด่างที่ยังทำปฏิกิริยาไม่สมบูรณ์

ในภาวะปกติ น้ำยาฟอกผ้าขาวจะมีการสลายตัวช้าๆ ของสารโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (NaOCl) ซึ่งเป็นสารหลักในน้ำยาฟอกผ้าขาว แล้วเกิดกรดไฮโปคลอรัส (HOCl; สมการ 1) จากนั้นเกิดการสลายตัวต่อไปเป็นกรดไฮโดรคลอริก (HCl หรือกรดเกลือ; สมการ 2) ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยาต่อกับสารโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (NaOCl) เกิดเป็นแก๊สคลอรีน (Cl2; สมการ 3) เป็นผลให้เราได้กลิ่นคลอรีนจากน้ำยาฟอกผ้าขาวนั่นเอง ปฏิกิริยานี้จะเกิดเร็วขึ้นภายใต้ความร้อนและแสงแดด (3)

แก๊สคลอรีน มีความเป็นพิษและจะเกิดเป็นกรดเมื่อสัมผัสกับความชื้น เนื้อเยื่อของมนุษย์ เช่น เนื้อเยื่อปอด ก็มีความชื้น จึงทำให้เกิดการระคายเคืองจากการสูดดมแก๊สคลอรีน การสลายตัวของน้ำยาฟอกผ้าขาวในภาวะปกติเกิดแก๊สคลอรีนเพียงเล็กน้อย

แต่หากมีการผสมกับน้ำยาบางชนิด เช่น การผสมน้ำยาฟอกผ้าขาวกับน้ำยาล้างห้องน้ำที่มีกรดไฮโดรคลอริกเป็นส่วนผสม ก็จะเกิดการทำปฏิกิริยาเกิดแก๊สคลอรีนในปริมาณมากอย่างรวดเร็วขึ้นได้ (สมการ 3) และหากอยู่ในพื้นที่อับและความเข้มข้นของแก๊สคลอรีนมีปริมาณสูง ก็จะเป็นผลให้มีแก๊สคลอรีนในปริมาณมากเข้าสู่ปอดและเกิดเหตุการณ์ดังเช่นในตัวอย่างข้างต้น

หากผสมสารฟอกขาวกับสารกลุ่มแอมโมเนีย ก็จะเกิดปฏิกิริยาระหว่างสารโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (NaOCl) กับแอมโมเนีย (NH3) เกิดเป็นสารโมโนคลอรามีน (NH2Cl; สมการ 4) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์กัดกร่อนและเป็นพิษ และก่อให้เกิดการแสบร้อนต่อดวงตา ผิวหนัง และทางเดินหายใจ

สารที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นสารโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (NaOCl) กรดไฮโปคลอรัส (HOCl) แก๊สคลอรีน (Cl2) หรือโมโนคลอรามีน (NH2Cl) เป็นสารฆ่าเชื้อที่มีการใช้ทั่วไปในการบำบัดน้ำ แต่ปริมาณที่ใช้ต้องควบคุมให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย แต่จากการใช้มากกว่าที่ระบุไว้ในฉลากหรือผสมน้ำยาต่างชนิดเข้าด้วยกันทำให้เกิดสารเหล่านี้ปริมาณมากในระดับอันตราย นอกจากนี้ การไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกันหรือใช้น้ำยาในที่อากาศไม่ถ่ายเทก็ส่งผลให้มีความเสี่ยงมากขึ้น

ทำอย่างไร หากผสมผิด

หากมีการผสมผิดเกิดขึ้น สัญญาณแรกที่บอกถึงการเข้ากันไม่ได้ของน้ำยาทำความสะอาด มักทำให้เกิดเสียง ไอระเหย ความร้อน หรือฟองฟู่ หากเป็นปริมาณไม่มากแนะนำให้เจือจางด้วยน้ำมาก ๆ แล้วเปิดระบายอากาศหรือออกจากพื้นที่นั้นเพื่อให้มั่นใจว่าไม่สูดดมไอระเหย จากนั้นรอให้ปฏิกิริยาที่เกิดหมดลงแล้วจึงล้างทำความสะอาดพื้นที่อีกครั้ง อย่าพยายามหยุดปฏิกิริยาด้วยการใส่น้ำยาหรือสารเคมีอื่นๆ

รายงานอุบัติเหตุเกี่ยวกับการใช้น้ำยาทำความสะอาดและน้ำยาฆ่าเชื้อมีมากขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา ในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้มีรายงานอุบัติเหตุจากพิษของน้ำยาฆ่าเชื้อและน้ำยาทำความสะอาดมากถึง 45,550 ครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 20% เทียบกับปีก่อน ส่วนในประเทศไทยแม้จะไม่ได้ยินข่าวเหล่านี้ แต่การระวังเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ย่อมช่วยปกป้องชีวิตและสุขภาพของเราทุกคน

ในฉลากผลิตภัณฑ์จะบอกส่วนผสม ข้อควรระวัง และปริมาณการใช้ที่เหมาะสม ดังนั้น เป็นสิ่งสำคัญมากที่ผู้ใช้ต้องอ่านข้อมูลบนฉลากเพื่อให้รู้ถึงวิธีใช้ที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถทำความสะอาดฆ่าเชื้อโควิด-19 ได้ ในขณะเดียวกันต้องระวังไม่ให้น้ำยาเหล่านี้ฆ่าเราเช่นกัน