สวนผัก เมล็ดพันธุ์ บนทางแพร่ง ของความเปลี่ยนแปลง

สถานการณ์กักกันบริเวณอันเนื่องมาจากความพยายามจำกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์เกือบทุกด้าน แน่นอนนะครับว่า การระบาดระดับเขย่าโลกครั้งนี้ย่อมทำให้โลกไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

ในเรื่องอาหาร โดยเฉพาะพืชผัก เราเริ่มเห็นการออกมาให้ความรู้ คำแนะนำเกี่ยวกับการปลูกพืชสวนครัวกินเองในพื้นที่แบบต่างๆ โดยหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชน ตลอดจนมูลนิธิต่างๆ ทั้งโครงการแบบเร่งด่วนระยะสั้น 3 เดือน ซึ่งคาดว่ายังเป็นช่วงระบาดหนักของโรค ทั้งโครงการระยะยาว ที่พยายามคว้าโอกาสนี้โน้มน้าวผู้คนให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อหา เก็บอาหาร ให้เหมาะสมสอดคล้องกับวิถีการบริโภคอย่างเป็นธรรมและปลอดภัยในโลกสมัยใหม่

ภาวะวิกฤตคับขันส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมมนุษย์เสมอ ครั้งนี้ก็คงเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าการปลูกผักกินเอง แม้ในพื้นที่เมืองใหญ่ระดับมหานคร ที่แออัดไปด้วยการอยู่อาศัยของผู้คนจำนวนมากจะไม่เคยมีมาก่อนในเมืองไทยนะครับ การได้อยู่บ้านช่วงนี้ ทำให้ผมได้พลิกอ่านหนังสือเล่มโตของมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) คือ “ดอกไม้ในสวนผักคนเมือง” อันเป็นงานที่รวมความเป็นรูปธรรมของโครงการสวนผักคนเมือง ที่มูลนิธิฯ กระทำต่อเนื่องร่วมกับเครือข่ายบุคคลและชุมชนหลายแห่งในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดมานานกว่า 9 ปี

ระยะเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษของการรณรงค์นี้ มีทั้งแผนงานที่ล้มหายตายจาก หยุดตัวเองลงไปด้วยเหตุต่างๆ ทว่า ก็มีจำนวนมากกว่ามาก ที่เติบโต งอกงามขึ้น จนมีผลผลิตตอบสนองเป็นวัตถุดิบเพื่อการบริโภคที่ปลอดภัย ด้วยแรงงานความร่วมมือของคนในชุมชน บนพื้นที่ซึ่งบางแห่งก็ช่างเหนือความคาดหมายว่าจะกลายเป็นสวนผัก แปลงผักที่เปลี่ยนแปลงชีวิตทางสังคมของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ร่วมแรงร่วมใจกันนั้นไปได้อย่างน่าอัศจรรย์

ตั้งแต่สวนผักบนที่ดินส่วนกลาง 14 ไร่ ใจกลางชุมชนอ่อนนุช กรุงเทพฯ ซึ่งเคยเป็นดินแดง แห้งแล้ง ไร้พืชพรรณ ที่แปรสภาพเป็นสวนผัก บ่อปลา คอกหมู เล้าเป็ด เล้าไก่ มีระบบหมุนเวียนการจัดการขยะ เศษอาหาร ให้กลับมาเป็นประโยชน์ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

สวนผักธาราเรือนเอก ที่เกิดขึ้นบนดาดฟ้าคอนโดมิเนียมย่านวังทองหลาง ด้วยความเห็นชอบของสมาชิกคอนโดฯ ส่วนใหญ่ จนกลายเป็นพื้นที่กลางที่พบปะสัมพันธ์กันของชุมชนลอยฟ้า และพิสูจน์ความเป็นไปได้อย่างเป็นรูปธรรมของการปลูกผักดาดฟ้าอาคารในเมืองขนาดใหญ่

สวนผักหมู่บ้านบางบอนวิลล์ ที่เนรมิตพื้นที่ส่วนกลางให้เป็นแปลงผักที่สมาชิกหมู่บ้านเข้ามาร่วมดูแลรับผิดชอบ แบ่งปันแลกเปลี่ยนผลผลิต เกิดความสัมพันธ์ใหม่ๆ ขึ้นบนฐานของคนที่มาจากต่างที่ต่างถิ่น เป็นวัฒนธรรมเมืองที่วางอยู่บนกิจกรรมการหาอยู่หากินร่วมหมู่แบบใหม่ โดยมีหัวใจอยู่ที่การบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะด้วยแนวคิดแบบองค์รวม

ยังไม่นับสวนผักในโรงเรียน แปลงผักในหน่วยงานองค์กรทั้งราชการและเอกชน ที่โครงการสวนผักคนเมือง และหนังสือ “ดอกไม้ในสวนผักคนเมือง” ได้แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ที่มีมานานแล้ว ในการพยายามเสาะแสวงหาวัตถุดิบอาหารปลอดภัย ด้วยน้ำพักน้ำแรง ความร่วมมือร่วมใจ ก่อนที่วิกฤตโควิด 19 จะมาบีบบังคับขับเน้นให้ผู้คนเริ่มหันมามองเห็นความจำเป็นของกิจกรรมนี้กันมากขึ้น

……………

ท่ามกลางความรู้เรื่องการปลูกผักสวนครัวกินเอง ซึ่งมีมากมายดังกล่าวแล้ว ที่ผมคิดว่าจำเป็นมากๆ ไม่แพ้แนวคิด กระบวนการจัดการ แรงงาน และวิธีการปลูก การดูแลรักษา ก็คือ “เมล็ดพันธุ์” นะครับ

พอดีได้เห็นโครงการเผยแพร่ของกินเปลี่ยนโลก – Food4change ที่ออกมาในช่วงนี้ เลยขอเอามาเล่าเสริมกระบวนการปลูกผัก ซึ่งหลายๆ คนคงเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง จนอาจเตรียมวางแผนลงมือกันบ้างแล้วก็ได้ครับ

แผนงานกินเปลี่ยนโลก ของมูลนิธิชีววิถี (Biothai) มีความเชื่อว่า “ความมั่นคงทางอาหาร” เริ่มถูกมองเห็นและจับต้องได้มากขึ้นจากวิกฤตครั้งนี้ การมีอาหารอยู่ในมือ สามารถเข้าถึงได้ ลงมือปลูกเองอย่างจริงจังได้ ย่อมได้เปรียบ คำถามมีอยู่ว่า เมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ดีๆ มีจำหน่ายที่ไหนบ้าง จึงได้มีการรวบรวมข้อมูลจากเครือข่ายเกษตรยั่งยืน เกษตรอินทรีย์ เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร และบรรดาเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีการจัดการเก็บเมล็ดพันธุ์กันอย่างจริงจัง จนได้ที่อยู่ติดต่อ และลิงค์เพจของกลุ่มเท่าที่หาได้ เช่น สหกรณ์เกษตรอินทรีย์ เชียงใหม่, สวนวิมานดิน อำนาจเจริญ, กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต ฉะเชิงเทรา, กลุ่มยาไส้ยาใจ เครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคใต้ ฯลฯ มารวมไว้ให้คนที่สนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อได้ โดยสามารถเข้าค้นหาข้อมูลรายละเอียดการสั่งซื้อได้ที่เพจของแผนงานกินเปลี่ยนโลก (Food4change) นะครับ

เดี๋ยวนี้การเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ผักที่ได้คุณภาพ ซึ่งหมายถึงมีการคัดเก็บเมล็ดอย่างพิถีพิถัน เก็บจากต้นซึ่งแข็งแรง ทำให้สามารถจะเก็บเมล็ดต่อเนื่องสำหรับปลูกรุ่นต่อรุ่นได้นั้น ไม่ได้ยากเหมือนแต่ก่อน

นอกจากพืชผักสวนยกร่องแบบผักตลาด เครือข่ายที่เก็บและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ยังมีผักพื้นบ้าน อย่าง บวบงู กระเจี๊ยบแดง ผักปลัง หม่อน หรือมะเขือขื่น ซึ่งย่อมมีความหลากหลายทั้งพื้นที่ปลูกและรสชาติอีกด้วย

เมล็ดพืชผักคุณภาพเหล่านี้ ย่อมทำให้การหวนกลับมาปลูกพืชผักสวนครัวในปัจจุบันมีความหมายมากขึ้น เพราะนอกจากประกันอัตราการงอก ระยะเวลาที่เก็บได้นาน และความแน่นอนของเมล็ดพันธุ์แล้ว คนที่เลือกใช้ยังได้ชื่อว่าคำนึงถึงการเกษตรแบบอินทรีย์ (organic) ที่กระทำไปบนพื้นฐานความตระหนักถึงสมดุลของดินฟ้าอากาศ ภาวะแวดล้อม และวัฒนธรรมชุมชน โดยมีการแทรกแซงจากมนุษย์และกระบวนการเคมีเกษตรน้อยที่สุดด้วย

……………

พอพูดถึงเรื่องเมล็ดพันธุ์ผัก โดยเฉพาะผักพื้นบ้าน ทั้งล้มลุกและยืนต้น จำพวกพริก บวบ ฟักทอง กะเพรา โหระพา มะเขือขื่น หรือหม่อน ผมก็เลยอยากเล่าเรื่องที่ผมเคยทำอยู่บ้างเท่าที่โอกาสจะอำนวย เวลาออกไปปั่นจักรยานเล่น หรือเมื่อไปตามชนบทต่างจังหวัด

คือมันนานกว่าสิบปีแล้วนะครับ ที่ผมเริ่มมีนิสัยชอบเก็บผักป่า ผักข้างทาง มาทำกับข้าวกิน เพื่อนฝูงหลายคนก็รู้ดี ทีนี้มีคนหนึ่ง อยู่ๆ เขาก็ถามผมว่า “นายเอาแต่เก็บมากิน แล้วนี่นายไม่คิดจะปลูกแทนเข้าไปบ้างเลยเหรอ?” คำถามของเขาโดนใจผมมากในตอนนั้น

ตั้งแต่นั้นมา ถ้าผมพอจะเตรียมข้าวของทัน ผมก็จะพกเอาเมล็ดพันธุ์พืช ที่ดูแล้วว่าพอจะงอกงามตามภูมิประเทศริมทางได้ ก็พวกถั่วพู พริก กะเพรา แมงลัก บวบ แตง ฯลฯ นั่นแหละครับ ติดไปด้วยทุกครั้ง โดยแยกเป็นห่อเล็กๆ อาจห่อด้วยกระดาษบ้าง ใบไม้บ้าง

ด้วยความระลึกถึงคำเพื่อน ผมจะทยอยโยนห่อเมล็ดพันธุ์เล็กๆ พวกนี้ไปตามซุ้มกอไม้ ริมหนองน้ำ หรือในทุ่งข้างทาง หวังว่ามันจะแทรกตัวอยู่ที่นั่น รอจนฤดูฝนมาถึง และถ้ามันเติบโตงอกงามขึ้นมาพร้อมๆ กับพืชอื่นๆ ได้ ใครที่ผ่านทางมาถึงตรงนี้ ก็จะได้เก็บเกี่ยวดอก ใบ และผลของมัน อย่างที่ผมเคยทำเป็นประจำสม่ำเสมอ

บ้านที่ผมอาศัยอยู่ตอนนี้มีพื้นที่ไม่พอจะปลูกพืชอะไรได้มากนัก แถมทิศทางของแดดยังไม่เอื้ออำนวยเสียอีก ก็เลยได้แต่อาศัยพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ทำสวนครัวริมทางร่วมกับธรรมชาติแบบนี้แหละครับ ซึ่งกรณีแบบผมนี้ เมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพจะช่วยให้ผลประกอบการอยู่ในระดับที่น่าพอใจแน่ๆ แม้ว่าในหลายๆ แห่ง หลายๆ พื้นที่ ผมจะยังไม่เคยย้อนกลับไปอีกเลยก็ตาม

เรื่องปลูกผักปลูกพืชกินได้นี้ ใครมีวิธีดีๆ ก็เอามาเล่าสู่กันบ้างนะครับ อย่างที่บอกแหละครับ ว่าโลกหลังจากนี้คงเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิมแน่ๆ

และเราคงต้องปรับตัวอยู่กับสถานการณ์แบบนี้ไปอีกนานพอดูทีเดียว