ร้อนปนฝน ให้ระวังแมลงวันผลไม้ในมะม่วง

ระยะนี้เข้าสู่ช่วงที่ต้นมะม่วงพัฒนาผล กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนมะม่วงเฝ้าระวังช่วงที่อากาศร้อน และมีฝนตกเล็กน้อยบางพื้นที่ ให้สังเกตการเข้าทำลายของแมลงวันผลไม้ มักพบแมลงวันผลไม้เพศเมียใช้อวัยวะแทงเข้าไปวางไข่ในผลมะม่วง พบรอยช้ำใต้ผิวเปลือก ตัวหนอนจะฟักจากไข่และอาศัยชอนไชอยู่ภายในผล ทำให้ผลเน่าเสียและร่วงหล่นลงพื้น เมื่อตัวหนอนโตขึ้นจะเจาะรูออกมาจากผลมะม่วงเพื่อเข้าดักแด้ในดิน และกลายเป็นแมลงวันผลไม้ตัวเต็มวัย ส่วนผลที่หนอนเจาะเป็นรูจะมีน้ำไหลเยิ้ม ผลเละ เน่าเสีย และร่วงหล่น ผลที่ถูกทำลายมักมีโรคและแมลงชนิดอื่นๆ เข้าทำลายซ้ำ

เกษตรกรควรหมั่นทำความสะอาดแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ โดยเก็บผลที่เน่าเสียออกจากแปลงและนำไปฝังกลบให้หน้าดินหนาอย่างน้อย 15 เซนติเมตร จากนั้นให้ห่อผลด้วยถุงกระดาษสีน้ำตาล หรือถุงกระดาษที่ภายใน เคลือบด้วยกระดาษคาร์บอน โดยเริ่มห่อเมื่อมะม่วงติดผลได้ประมาณ 60 วัน และใช้กับดักที่ภายในแขวนก้อนสำลีชุบสารเมทธิลยูจินอลผสมสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 83% อีซี ในอัตรา 4:1 นำไปแขวนไว้ในทรงพุ่มที่ระดับความสูง 1-1.5 เมตร จำนวน 1 กับดัก ต่อพื้นที่ 1 ไร่ ให้เกษตรกรหมั่นสังเกตปริมาณแมลงวันผลไม้ในกับดักทุกสัปดาห์ เพื่อเป็นตัวชี้วัดปริมาณแมลงวันผลไม้ในแปลงปลูก

หากพบระบาดมาก ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% ซีเอส อัตรา 5 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน และพ่นด้วยเหยื่อพิษที่ประกอบด้วยยีสต์โปรตีน อัตรา 200 มิลลิลิตร ผสมกับสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 83% อีซี อัตรา 10 มิลลิลิตร ในน้ำ 5 ลิตร โดยพ่นเป็นแถบ แถวละ 1 แถบ หรือถ้าพ่นแถวละ 2 แถบ ให้พ่นแถวเว้นแถว ขนาดกว้างแถบละ 30 เซนติเมตร ในเวลาเช้าตรู่ และควรเริ่มพ่นก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต 1 เดือน

———————————————————————————————————

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่