ทุเรียนป่าละอู หมอนทองจีไอ แหล่งผลิตน้องใหม่ จากห้วยสัตว์ใหญ่ หัวหิน

ทุเรียน ผลไม้เศรษฐกิจลือชื่อของไทย ที่เขายกกันให้เป็นราชาแห่งผลไม้ (King of Fruit) แหล่งปลูกมากก็ฝั่งตะวันออกแถบจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด กับทางภาคใต้บางจังหวัด มักจะพูดติดปากกันว่า “ทุเรียนต้องที่จันทบุรี’ หรือ ‘ทุเรียนจันท์’ ” อันนั้นก็ว่ากันไป

แต่ยุคสมัยใหม่ อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปได้ และเร็วกว่าที่เราคาดคิดกัน ความเชื่อและค่านิยมที่แตกต่าง ช่วยสร้างแหล่งผลิตทุเรียนใหม่ๆ ขึ้นมา ทั้งภาคอีสาน ตะวันตก และเหนือตอนล่าง ล่าสุดอีกแห่งที่ปลูกทุเรียนหมอนทองได้คุณภาพดี เป็นที่นิยมชมชอบของลูกค้า ก็ต้องเป็น “ทุเรียนหมอนทองป่าละอู” จากอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ล่าสุด ด้วยรสชาติฟินได้ที่ มีความหวานมัน กลิ่นหอมละมุน เนื้อแห้งละเอียด นุ่มเนียน เมล็ดลีบ เหมาะที่จะซื้อเป็นของฝากได้อย่างมั่นใจ

ฤดูกาลที่จะถึงนี้ ไม่ต้องขึ้นไปถึงป่าละอู แวะไปชิมช้อปกันได้ที่ ร้าน “เจ๊เขียวซีฟู๊ด” หมู่บ้านเขาตะเกียบ อำเภอหัวหิน ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2563 ศกนี้

คุณปราณี กล้าขาย กับผู้เขียน

ทัวร์ป่าละอู ตามดูสวนทุเรียนหมอนทอง

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสกลับไปหัวหินบ้านเกิด เพื่อร่วมกิจกรรมกับญาติพี่น้อง หลังจากนั้นได้ออกทัวร์ไปยังสวนทุเรียนของ “เจ๊เขียวซีฟู๊ด” (พี่ปราณี กล้าขาย พี่สะใภ้) ที่บ้านป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ในเขตโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าเด็ง-ป่าละอู ที่มีพื้นที่โครงการคร่อม 2 จังหวัด คือ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กับ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

คณะทัวร์วงศาคณาญาติ
อาหารกลางวัน

บ้านป่าละอูนั้นอยู่ห่างจากตัวอำเภอหัวหินไปทางทิศตะวันตกราว 60 กิโลเมตร พื้นที่ตรงนี้ติดต่อกับเขตแดนประเทศพม่า โดยมีเทือกเขาตะนาวศรีเป็นเส้นกั้นเขตแดนธรรมชาติ เส้นทางคมนาคมจากตัวเมืองหัวหินไปป่าละอู เป็นถนนลาดยางแอสฟัลต์มาตรฐานสองเลน เดินรถสวนทางกันได้ ถนนกว้างมากพอไม่รู้สึกกังวลเมื่อรถวิ่งสวนทางกัน เป็นถนนสายหลักที่ตัดข้ามภูเขา และเนินเตี้ยๆ สลับกับพื้นที่ราบ มีโค้งคดเคี้ยวให้หวาดเสียวได้บ้างหลายช่วง สองข้างทางระหว่างตัวเมืองหัวหิน-ตำบลหินเหล็กไฟ ไปเชื่อมต่อกับตำบลหนองพลับ พื้นที่เป็นที่ราบกว้างใหญ่ ตลอดช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นไร่สับปะรดปัตตาเวีย สวนมะม่วง และมีหมู่บ้าน/ชุมชน ตลอดสองข้างทาง พอเลยเขตตำบลหนองพลับไปจะต้องขับรถไต่ข้ามช่องเขาสูงชัน เพื่อเข้าเขตตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ พอได้หูอื้อและให้รู้สึกหวาดเสียวกันอีกครั้ง

ข้ามจากช่องเขาเข้าเขตพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ จะผ่านด่านตรวจของตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวรหัวหิน จากจุดเริ่มเข้าพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ตรงนี้ไปถึงบ้านป่าละอู ก็อีกประมาณ 25 กิโลเมตร ช่วงนี้สองข้างทางเป็นป่าต้นไผ่และป่าไม้เบญจพรรณ เส้นทางคดเคี้ยว ขึ้นลงเนินลูกระนาดสูงเตี้ยสลับที่ราบตลอดเส้นทาง บรรยากาศได้ธรรมชาติมาก ซึ่งหากโชคดีก็จะมีเจ้าถิ่น “ช้างป่าละอู” ออกมายืนต้อนรับ เอ้ย! …ออกมาหากินสองข้างทาง หรือไม่ก็อาจพบโขลงใหญ่กำลังพากันข้ามถนนไป สถานการณ์นี้ต้องระมัดระวังกันไว้ด้วย

แต่ทริปนี้ไม่มีช้างป่าออกมาให้เห็น มีแต่ร่องรอยของ “ขี้ช้าง” ทั้งแบบแห้งและแบบเปียกสดใหม่ พอเป็นคำตอบแล้วว่า ช้างป่าละอูยังมีอยู่มากจริง ไม่เหมือนในนิยายเรื่อง “เพชรพระอุมา” ที่มโนไว้ว่า เข้าป่าแล้วเจอช้างฝูงใหญ่ นั่นเขานั่งเทียนเขียนจินตนาการเอา แต่ช้างป่าละอูนะของจริงชัวร์

ช้างป่าละอู

ป่าละอู เป็นถิ่นที่อยู่ของช้างป่าที่มีประชากรมากพอสมควร มักจะออกมาเดินหากินระหว่างสองข้างทางถนน หรือไม่ก็เดินข้ามไปมาระหว่างป่า 2 ด้าน เพราะเป็นที่อยู่เดิมของเขา แต่พวกเราตะหากที่เข้าไปบุกรุกและรบกวน จากนโยบายของรัฐด้านการพัฒนาและด้านความมั่นคง ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปจากเดิมมากเหมือนกัน

ผ่านด่านตรวจของตำรวจพลร่มฯ ทั้ง 2 จุด ก็ถึงหมู่บ้านป่าเด็ง-ป่าละอู เป็นชุมชนที่อยู่ภายใต้โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าเด็ง-ป่าละอู ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ ปี 2520

เลยนึกย้อนอดีตไป ช่วงนั้นผู้เขียนได้บรรจุเข้ารับราชการ ที่สำนักงานเกษตรอำเภอหัวหินพอดี (20 สิงหาคม 2520) แล้วได้รับมอบหมายให้ขึ้นไปปฏิบัติงานการฝึกอบรมอาชีพการปลูกพืชให้กับเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์ฯ รุ่นแรกๆ เน้นการปลูกข้าวโพด พืชผักสวนครัว แปลงตัวอย่างการปลูกพืชแบบผสมผสาน (ไร่นาสวนผสม) และการจัดที่อยู่อาศัยบ้านตัวอย่าง ในพื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งต้องนอนพักค้างในหมู่บ้านร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้าไปทำงานร่วมกัน โดยชุดเจ้าหน้าที่เกษตรของผมจะเข้าไปทำงานเป็นช่วง ช่วงละ 15-20 วัน หมุนเวียนเปลี่ยนชุดกันไป

ผลผลิตปีนี้มีหลากหลายรุ่น

สภาพของบ้านป่าละอูสมัยนั้นเป็นป่าธรรมชาติมากๆ จะเรียกว่า “ป่าดงดิบ” ก็ไม่ผิดอะไร โดยเฉพาะสองข้างถนนช่วงผ่านด่านตำรวจพลร่มฯ เข้าพื้นที่โครงการนั้นมีสภาพเป็นป่าครึ้ม ปกคลุมไปด้วยป่าไผ่ต้นใหญ่ๆ ที่ขึ้นหนาแน่น สลับกับพวกไม้ป่าเบญจพรรณต้นขนาดหลายคนโอบ สูงชะลูดเสียดท้องฟ้า ดูแล้วสมบูรณ์สวยงามมาก แต่ก็สร้างความรู้สึกตระหนกและหวาดกลัวให้แว้บขึ้นมาได้ ตอนที่เดินทางช่วงนั้น เพราะผมกับเพื่อนเดินทางไปด้วยรถมอเตอร์ไซค์ เกาะพ่วงท้ายกันไป 2 คน โด่เด่ ท่ามกลางป่าดิบ ถนนก็ยังไม่ราบเรียบ เป็นลูกรังอัดบด พอเจอน้ำฝนสภาพก็เละเป็นโคลน สลับหลุมบ่อแบบเตาขนมครก กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางหืดขึ้นคอเหมือนกัน ช้างป่านะยังพอไหวหากไม่ประจันหน้ากันแบบจ๊ะเอ๋ ยังมีไข้มาลาเรีย วายร้ายภัยเงียบที่ต้องระมัดระวังตัวกันแบบสุดๆ ขนาดที่ว่าทุกคืนก่อนเข้านอน ต้องกินยาควินิน 2 เม็ด เพื่อป้องกันเอาไว้

อีกอย่าง ไฟฟ้า ก็มีช่วงหัวค่ำจากเครื่องปั่นไฟฟ้าสนาม เปิด-ปิด ได้ตามเวลา กลางคืนมีแค่ 2-3 ทุ่ม หลังจากนั้นดีที่สุดก็ตะเกียงเจ้าพายุ กับตะเกียงโบราณ จุดใช้กันทุกบ้านและทุกไซต์งาน ที่เล่ามานี้เฉพาะภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานต้นสังกัด คือ สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรมส่งเสริมการเกษตร

ส่วนอีกภารกิจหนึ่งเป็นการร่วมทีมงานอำเภอเคลื่อนที่ ที่ต้องออกปฏิบัติการแนวจิตวิทยา ประกอบด้วย 4 หน่วยงานหลัก คือ มหาดไทย สาธารณสุข เกษตร และศึกษาธิการ ซึ่งการปฏิบัติงานในพื้นที่ ป่าเด็ง-ป่าละอู ต้องนอนค้างกันในพื้นที่ ตอนนั้นอาศัยนอนกันบนศาลาวัด ความสะดวกสบายก็ตามสภาพ แต่งานเชิงปฏิบัติการจิตวิทยาก็ต้องเดินหน้าต่อไป

บรรยากาศในสวนทุเรียน

อ้อ! …ลืมบอกไปว่า พื้นที่ป่าเด็ง-ป่าละอู ฝ่ายความมั่นคงจัดไว้เป็นเขตพื้นที่สีชมพู-สีแดง เพราะยังมีความขัดแย้งกันทางความคิดด้านการเมือง ระหว่างชนกลุ่มน้อย (กะเหรี่ยง) กับรัฐบาล โดยพื้นที่เขตนี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวรหัวหิน ที่ตั้งด่านตรวจ 2 จุด ตรงปากทางเข้าโครงการ และยังมีฐานตำรวจพลร่มอีกหนึ่งแห่ง ตั้งอยู่บนเนินเขาติดชายแดนไทย-พม่า ทางทิศตะวันตก ซึ่งก็มีเพื่อนร่วมรุ่นสมัยเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนหัวหินที่เป็นตำรวจพลร่ม และได้มาประจำที่ฐานฯ แห่งนี้ด้วย ที่เล่ามาถึงตรงนี้เพียงจะบอกแฟนคลับให้รู้ว่า พื้นที่ป่าละอูนั้นเคยมีเหตุการณ์ที่คนไทยด้วยกันต้องสูญเสียชีวิตไปจากแนวคิดต่างทางการเมือง ซึ่งก็เหมือนกับอีกหลายๆ แห่งของประเทศไทย พอหลายๆ ปีไป ก็สงบเงียบได้ในที่สุด

โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าเด็ง-ป่าละอู

ในปี พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ได้รับสั่งให้ตํารวจพลร่มค่ายนเรศวรหัวหิน ให้การช่วยเหลือแก่ชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง โดยการจัดตั้งชุดพัฒนาการขึ้น 2 ชุด คือ ชุดพัฒนา 712 ที่บ้านป่าละอูบน อําเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชุดพัฒนาการ 713 ที่บ้านป่าเด็ง อําเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะรวบรวมชาวไทยเผ่ากะเหรี่ยงที่กระจัดกระจายให้อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ง่ายต่อการควบคุมดูแล และเพื่อต้องการไม่ให้มีการตัดไม้ทําลายป่า อันเป็นแหล่งต้นน้ำลําธาร ตลอดจนการจัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค และส่งเสริมอาชีพการเกษตร ทั้งในด้านการผลิตและการตลาด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

จากกระแสพระราชดํารัสดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย จึงได้จัดทําโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ขึ้นเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดําเนินการโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2520 โดยสํานักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทได้เร่งดําเนินการตามโครงการ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2520 เป็นต้นมา ปัจจุบันอยู่ในการกํากับดูแลโดยกรมธนารักษ์

หมอนทองป่าละอู จากสวน “เจ๊เขียว ซีฟู๊ด”

ภูมิศาสตร์ป่าละอู เหมาะสมกับคุณภาพทุเรียน

ลักษณะพื้นที่โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าเด็ง-ป่าละอู เป็นที่ราบ และเนินเตี้ยๆ ระหว่างแนวเขาสูง อากาศช่วงกลางวันร้อนมาก ส่วนตอนกลางคืนจะค่อนข้างเย็น อุณหภูมิต่ำ ชาวบ้านเรียก “กลางวันร้อน กลางคืนเย็น” ช่วยส่งผลต่อคุณภาพทุเรียนที่ดีขึ้น ประกอบกับลักษณะของดินเป็นป่าเปิดใหม่ (ใหม่กว่าทั่วไป)

ที่ผ่านการใช้ประโยชน์ด้านการปลูกพืชไร่ ที่มีระบบรากตื้นแค่หน้าดินชั้นบน ดินชั้นล่างจึงยังคงสภาพความสมบูรณ์มาก ชั้นดินที่อยู่ลึกลงไปยังคงมีธาตุอาหารอยู่มาก เหมาะสมต่อการสร้างคุณภาพเนื้อ รสชาติทุเรียน อีกอย่างในช่วงหน้าฝน น้ำที่ไหลจากภูเขาจะพาเอาสารอินทรีย์และธาตุอาหารลงมาสะสมในบริเวณที่ราบระหว่างภูเขา ซึ่งเป็นพื้นที่การปลูกทุเรียนส่วนใหญ่ของเกษตรกรป่าละอู ทำให้ต้นทุเรียนสมบูรณ์แข็งแรง ดูดธาตุอาหารได้เต็มที่

สวนทุเรียนหมอนทอง ของ “เจ๊เขียวซีฟู๊ด”

สวนทุเรียนหมอนทองของ “เจ๊เขียวซีฟู๊ด” สำนวนตรงนี้ดูจะแปลกๆ ว่า ทุเรียนกับซีฟู้ดมันเกี่ยวข้องกันยังไง ง่ายๆ ก็คือว่า “เจ๊เขียวซีฟู๊ด” เป็นชื่อร้านอาหารทะเล ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเขาตะเกียบ อำเภอหัวหิน ซึ่งเกี่ยวดองกับผู้เขียนในฐานะพี่สะใภ้ แต่มาสนใจด้านทำการเกษตร โดยเฉพาะชอบกินทุเรียนหมอนทองมากๆ เลยเที่ยวไปหาซื้อสวนทุเรียนไว้ที่บ้านป่าละอู แล้วเข้าไปบริหารจัดการเสียใหม่ ให้น้ำ ใส่ปุ๋ย กำจัดหญ้า ฉีดยา ตัดแต่งกิ่งต้น บำรุงจนต้นทุเรียนสมบูรณ์ ให้ดอกออกผลทุกปี ช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตก็นำลงมาวางขายที่ร้าน “เจ๊เขียวซีฟู๊ด” จนลูกค้าติดใจในรสชาติของทุเรียนป่าละอู

ประกอบกับลูกค้าที่มาใช้บริการที่ร้านนี้ เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อที่ดี เป็นขาประจำ และมีเครือข่ายเป็นคนในเมือง จึงทำให้ชื่อเสียงทุเรียนหมอนทองป่าละอูของสวน “เจ๊เขียวซีฟู๊ด” เป็นที่ยอมรับและแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว ความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี

ป้ายร้านเจ๊เขียวซีฟู้ด

จากเดิมที่เริ่มต้นสวนทุเรียนหมอนทองเพียง 4-5 ไร่ จนต้องขยายพื้นที่สวนออกไป สวนที่อยู่ใกล้ๆ บอกขาย จะซื้อไว้หมด ตอนนี้ก็รวมเข้าไปกว่า 40 ไร่แล้ว ในแต่ละปีจึงมีทุเรียนหมอนทองป่าละอูลงมาขาย ให้ช้อปชิมกันได้อย่างจุใจ

การขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น พอมีคนมาบอกขายก็ซื้อไว้อีก เพราะมีกำลังซื้อและพอทำได้ เผื่อไว้เป็นอีกช่องทางของอาชีพ ผลผลิตนำมาเป็นส่วนเสริมร้านอาหารได้เป็นอย่างดี ไม่มีข้อจำกัดด้านตลาด ลูกค้าก็ระดับไฮโซฯ ทั้งนั้น ปั้นราคาแค่ไหนไม่มีเกี่ยง แต่ก็ขายราคาที่สมเหตุสมผล แบบครองใจลูกค้าไปด้วย

ที่สำคัญรับประกันคุณภาพทุกลูก หากซื้อไปแล้วพบว่า หลุดสเปค กินไม่ได้ จ่ายคืนทุกบาททุกสตางค์ หรือส่งคืนไปให้ใหม่ แต่ที่ผ่านมาไม่เจอของด้อยคุณภาพแต่อย่างใด เพราะเจ๊เขียวขึ้นไปกำกับการตัดทุเรียนด้วยตัวเอง คิวซีเข้มเต็มพิกัด “ดิบไม่ตัด รอยสัตว์กัดแทะไม่มี คัดลูกแก่เต็มที่ เอารูปทรงที่ดีมาวางขาย” มั่นใจได้กับทุเรียนหมอนทองป่าละอูของร้าน “เจ๊เขียวซีฟู๊ด”

เปลือกบาง พูใหญ่ เนื้อมาก เมล็ดลีบ

ผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ของทุกปี ราคาเริ่มต้นที่ กิโลกรัมละ 250 บาท ชั่งให้ไม่ขาด มีแต่ชั่งให้เกินกันไป จะกินไวก็ปอกได้ที่ร้าน หรือหอบหิ้วกลับบ้านก็แพ็กให้อย่างดี เอฟซีหลายคนถามหาข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียน ที่นี่มีจัดไว้ในราคาปกติ น้ำกะทิข้น เพราะปนเนื้อทุเรียนมากกก… อยากเชิญชวนชิม แล้วจะอิ่มอร่อยกว่าที่ใด ไม่ชอบกะทิก็เอาทุเรียนกวนไป รสชาติม่วนได้ไปอีกแบบ

ล่าสุดแนวใหม่ “ทุเรียนไร้หนาม” เน้นเอาไปปอกเปลือกได้เองที่บ้าน เลาะหนามแหลมคมออกไป ดูลายสวยงามตา เอามือปอกง่ายกว่าถ้าสุกงอม มือจะไม่ถูกหนามทุเรียนทิ่มตำย้ำบอกไป สไตล์นี้ก็มีให้ซื้อกัน หอบหิ้วกลับไปฝากญาติมิตร ผู้ใหญ่ หรือเพื่อนบ้านก็กิ๊บเก๋ดูดี มีระดับและประทับใจ ข้อมูลทั้งหมดนี้ ผู้เขียนสรุปประมวลมาให้ ปีนี้ลองแวะไปชิมกันได้ที่ ร้าน “เจ๊เขียวซีฟู๊ด” หัวหิน..

เทรนด์ใหม่ทุเรียนไร้หนาม

ผลผลิตทุเรียนหมอนทองป่าละอู

ผลผลิตทุเรียนหมอนทองป่าละอู แต่ละปียังมีไม่มากเหมือนแหล่งผลิตใหญ่แถบจันทบุรี ระยอง หรือที่ชุมพร แต่หมอนทองป่าละอู เป็นดาวรุ่งดวงใหม่ที่มาแรง ด้วยกระแสนิยมสุดฮอต (fever) จากผู้บริโภคสายทุเรียน ผลกระทบจากการที่สื่อมวลชนทุกประเภทยกขบวนกันไปทำข่าว/นำเสนอข้อมูลสู่สาธารณะ และหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชนในพื้นที่ได้ร่วมมือกันจัดงานและเทศกาล (event) เพื่อประชาสัมพันธ์ ผลผลิตโดยรวมแค่หลักพันตันต่อปี ดูจะเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย ไม่ทันไรก็ขายกันหมดเกลี้ยง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ที่ขยับมากขึ้นแบบทวีคูณ..

.ข้อมูลระบุว่า ในปี 2562 เขตป่าละอู มีพื้นที่ปลูกทุเรียนหมอนทอง ประมาณ 1,700 ไร่ ให้ผลผลิตรวมประมาณ 300 ตัน เท่านั้น ราคาขายที่หน้าสวน กิโลกรัมละ 160 บาท ส่วนราคาขายที่แผงแม่ค้าและซุปเปอร์มาร์ทอยู่ระหว่าง กิโลกรัมละ 250-280 บาท ถามว่าแพงไปหรือเปล่า ไม่แพงอะไร เพราะทุเรียนหมอนทองป่าละอู มีรสชาติอร่อย เนื้อละเอียดเนียน กลิ่นไม่แรง แตกต่างจากหมอนทองจันท์และหมอนทองชุมพรอย่างชัดเจน

งานประชาสัมพันธ์ทุเรียนป่าละอู

จากความร่วมมือกันของชาวสวนป่าละอู ด้านการดูแลสวนจนถึงการเข้มงวดการตัดทุเรียนแก่จัดเท่านั้น ทำให้ทุเรียนหมอนทองป่าละอูคงคุณภาพด้านรสชาติ เป็นที่ยอมรับของของลูกค้า ล่าสุดยกระดับขึ้นเป็นทุเรียน จีไอ (GI : Geographical Indication) อ้างอิงแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์จากป่าละอู-หัวหิน เป็นผลไม้เฉพาะถิ่น โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ผ่านการพิจารณาและอนุมัติไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ ปี 2557

ช่วงนี้ก็เข้าฤดูกาลของทุเรียนกันแล้ว ทุเรียนไทยจะไปได้หากคนไทยช่วยกัน ช่วงฝ่าฟันภัยจากโรคโควิด-19 เอาวิกฤติมาเป็นโอกาส ตลาดทุเรียนไทยจะยังคงครองใจผู้บริโภคตลอดไป ทุเรียนหมอนทองป่าละอู แม้เป็นน้องใหม่ แต่จะเป็นอีกทางเลือกได้ของคนสายทุเรียน ผลผลิตเริ่มที่เดือนหน้า พฤษภาคมยาวถึงสิงหาคม

เชิญชวนไปทัวร์หัวหิน แล้วชิมรสชาติทุเรียนหมอนทองป่าละอูกัน หากมีเวลาก็ขับรถจากตัวเมืองหัวหินตรงไป ไม่มีเลี้ยว แน่บสายเดี่ยวหนองพลับ-ป่าละอู ขับสบายๆ ไปราวชั่วโมงกว่าๆ ก็ถึงบ้านป่าละอูแล้ว แต่หากเวลาจำกัด ไม่ถนัดขับรถในป่า แวะมาที่ร้าน “เจ๊เขียวซีฟู๊ด” หมู่บ้านเขาตะเกียบ ห่างจากตัวเมืองหัวหินไปแค่ 5 กิโลเมตร เท่านั้น ที่นั่นนอกจากจะจัดเต็มเมนูซีฟู้ดรสจัดจ้านจากปลาหมึก กุ้ง หอย ปู และปลาแล้ว ยังพาเอาทุเรียนหมอนทองป่าละอู จากที่สวนมาไว้รอรับทุกท่านได้อย่างเต็มที่ ไปหัวหินทั้งที ต้องกินของดี ทุเรียนป่าละอูกันนะครับ

ข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียนป่าละอู

ไปหัวหิน อยากชิมทุเรียนป่าละอู หรือลิ้มรสอาหาร ร้าน “เจ๊เขียวซีฟู๊ด” หัวหิน โทรศัพท์ 032-655-103 และ 081-880-4219

ประวัติความเป็นมา ของ ทุเรียนป่าละอู

ทุเรียนป่าละอู เริ่มนำเข้ามาปลูกในพื้นที่ป่าละอู ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2527 ผู้ที่นำเข้ามาคนแรกคือ นายพยุง พรายใย โดยเริ่มแรกนำเข้ามาปลูก จำนวน 100 ต้น นำมาจากจังหวัดระยอง การนำทุเรียนเข้ามาปลูกในพื้นที่ป่าละอูครั้งนั้น ได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ คือมีรสชาติอร่อย มีเอกลักษณ์แตกต่างจากต้นพันธุ์ที่นำมาจากจังหวัดระยอง คือมีรสมัน หวานน้อย เนื้อแน่น และกลิ่นไม่แรง

ตั้งแต่ ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ได้จัดให้มีการประกวดทุเรียนป่าละอูขึ้นทุกปี ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าชมงาน ทำให้มีความต้องการซื้อมากยิ่งขึ้น จนผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ส่งผลให้ทุเรียนป่าละอูมีราคาเพิ่มสูงขึ้น

ลักษณะพิเศษของทุเรียนป่าละอูที่แตกต่างกับทุเรียนในพื้นที่อื่นคือ ทุเรียนป่าละอู ออกมีผลผลิตก่อนทุเรียนทางภาคใต้ และหลังทุเรียนในภาคตะวันออก และผลผลิตทุเรียนป่าละอูมีผลผลิตมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ของทุกปี

 

ลักษณะทุเรียนหมอนทองป่าละอู ระบุไว้ในทะเบียนแหล่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ไว้ดังนี้

ลักษณะทางกายภาพ

เปลือก มีสีเขียวปนน้ำตาล ปลายหนามแหลมคมมาก ร่องพูชัดเจน

ก้านขั้ว ค่อนข้างใหญ่ สีน้ำตาล จับดูจะรู้สึกสากมือ พอแก่จัดขั้วจะมีรสหวาน

เนื้อ เนื้อหนา สีเหลืองอ่อน เนื้อแห้งเนียน ละเอียด มีกลิ่นหอม

รสชาติ หวาน มัน อร่อย

เมล็ด เมล็ดลีบเล็ก ทำให้เนื้อทุเรียนหนา

ลักษณะเฉพาะทุเรียนหมอนทองป่าละอู ทรงผลยาว ไหล่ผลกว้าง ก้นผลแหลม ร่องพูชัดเจน เนื้อหนา สีเหลืองอ่อน มีกลิ่นน้อย รสชาติหวาน ขนาดผลใหญ่ น้ำหนักระหว่าง 2.0-5.0 กิโลกรัม

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

-ปราณี กล้าขาย .2563, สัมภาษณ์ 15 กุมภาพันธ์ 2563, ร้านเจ๊เขียวซีฟู๊ด หัวหิน.

-กรมทรัพย์สินทางปัญญา. 2557, การขึ้นทะเบียนแหล่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทุเรียนป่าละอู, กระทรวงพาณิชย์.

-โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ป่าเด็ง-ป่าละอู/www.prachuabkirikhan.go.th

-ขอบคุณภาพบางส่วนจากอินเตอร์เน็ต

………………………

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น!  คลิกดูรายละเอียดที่นี่