กรมส่งเสริมการเกษตร ประยุกต์ใช้พาราฟิลม์แทนพลาสติก เปลี่ยนยอดพันธุ์ดี “อะโวกาโด” ลดโลกร้อน

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ภารกิจหนึ่งของ
กรมส่งเสริมการเกษตรคือ การถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตการเกษตรอย่างมีคุณภาพ สำหรับไม้ผลที่ได้รับความนิยมจากคนยุคใหม่อย่างอะโวกาโด การพัฒนาสายพันธุ์ให้มีคุณภาพ ผลผลิตรสชาติดีเป็นที่ต้องการของตลาดจึงถือเป็นโอกาสดีในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

ล่าสุด กรมส่งเสริมการเกษตร นำพาราฟิล์ม (Parafilm) มาประยุกต์ใช้ในการเกษตร ทดแทนการใช้ถุงพลาสติกในขั้นตอนการเปลี่ยนยอดพันธุ์ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากพาราฟิล์มมีคุณสมบัติช่วยรักษาความชื้นได้ดี ทำให้การเปลี่ยนยอดพันธุ์ดีมีประสิทธิภาพสูง โดยพาราฟิล์มทำมาจากส่วนผสมของ โพลีโอเลฟินส์ (Polyolefins) และพาราฟิน แว็กซ์ (Paraffin Waxes) คุณสมบัติเด่นคือ มีความยืดหยุ่นสูง สามารถแลกเปลี่ยนอุณหภูมิและความชื้นกับสิ่งแวดล้อมได้ดี และสามารถย่อยสลายในธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว จึงนิยมใช้เป็นวัสดุสำหรับการปิดผนึกอุปกรณ์ในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ เช่น เพลท เป็นต้น

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการของการขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการต่อกิ่งหรือเปลี่ยนยอด คือเปลี่ยนจากต้นพันธุ์พื้นเมืองเดิมที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดให้กลายเป็นพืชพันธุ์ดี ที่มีคุณภาพและมีลักษณะตรงตามความต้องการของตลาด และให้ผลตอบแทนแก่เกษตรกรสูง

ซึ่งแต่เดิมนั้นจะใช้เทปพลาสติกพันกิ่งหรือใช้ถุงพลาสติกครอบกิ่งยอดพันธุ์ดีไว้เพื่อรักษาความชื้นและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญของยอดอ่อน แต่วิธีการนี้จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในการดูแล เนื่องจากถุงพลาสติกนั้นมีคุณสมบัติที่แลกเปลี่ยนความชื้นและอุณหภูมิได้น้อย ทำให้อุณหภูมิภายในถุงครอบสูง เมื่อเปิดถุงให้ยอดอ่อนเผชิญกับสภาพแวดล้อมภายนอกอย่างกะทันหันอาจจะเป็นเหตุให้ยอดอ่อนปรับตัวไม่ทัน จนแสดงอาการเฉา ใบร่วงและอาจทำให้ตายได้ เกษตรกรจึงจำเป็นต้องตัดเปิดมุมถุงทีละด้านเพื่อให้ยอดอ่อนได้มีเวลาในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ นอกจากนี้ เทปพลาสติกยังมีความยืดหยุ่นต่ำ ยอดอ่อนของพืชไม่สามารถแทงกิ่งออกมาจากเทปพลาสติกได้เอง ต้องหมั่นตรวจตราและกรีดพลาสติกเพื่อให้กิ่งยอดพันธุ์ดีเจริญเติบโต ประกอบกับการใช้ถุงพลาสติกทำให้เกิดขยะมูลฝอยที่จัดการได้ยากและใช้เวลาย่อยสลายนาน หากกำจัดด้วยวิธีการฝังหรือเผาก็จะเกิดสารตกค้างต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งปัญหาจะทวีความรุณแรงมากขึ้น โดยเฉพาะบนที่สูงที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ในขณะที่การนำพาราฟิล์มมาใช้ทดแทนถุงพลาสติก ยอดอ่อนจะสามารถแลกเปลี่ยนอุณหภูมิและความชื้นได้ดี ลดขั้นตอนในการดูแลรักษาได้มาก เนื่องจากยอดอ่อนไม่จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่และสามารถแทงทะลุชั้นเคลือบของพาราฟิล์มออกมาได้เลย

นอกจากนี้ พาราฟิล์มยังสามารถสลายตัวได้ง่ายในธรรมชาติ ช่วยลดปัญหาโลกร้อนและภาวะเรือนกระจกได้อีกด้วย ดังนั้น การใช้พาราฟิล์มเพื่อทดแทนถุงพลาสติกนั้นเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและสามารถใช้งานได้สะดวก ทั้งในสภาพโรงเรือนและสภาพแปลงปลูก เกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการขยายพันธุ์พืชได้หลายชนิด เช่น พลับ มะม่วง แก้วมังกร มัลเบอร์รี่ มะขามป้อม พืชตระกูลส้ม เป็นต้น

……………………………………………………………………………………………

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่