สวนภูผาลัม วิเชียรบุรี เพชรบูรณ์ มองไกล เมืองไทยได้เปรียบ ตลาดอินทผลัมในอาเซียน

สวนภูผาลัม อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นสวนแรกๆ ที่เริ่มลงปลูกด้วยต้นพันธุ์เพาะเนื้อเยื่อ และครั้งนี้เป็นการพูดคุยเพื่อให้เห็นความก้าวหน้าของผู้ปลูกอินทผลัมรายต้นๆ ของประเทศ ว่าประสบความสำเร็จหรือพบกับปัญหาอุปสรรคอย่างไร

คุณอภิชน วรรณี

คุณอภิชน วรรณี เจ้าของสวนภูผาลัม ยังคงให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นเช่นเคย

ที่นี่ปลูกต้นอินทผลัมทั้งพันธุ์แบบเพาะเมล็ด พันธุ์จากการแยกหน่อ รวมถึงพันธุ์ที่ซื้อต้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาปลูก โดยนำเข้ามาจากต่างประเทศในกลุ่ม UAE ซึ่งสามารถคัดแยกเพศ พร้อมกับระบุสายพันธุ์ได้อย่างชัดเจน พร้อมกับขายผลผลิตที่ปลูก แล้วยังขายต้นพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากต่างประเทศ

แหล่งน้ำภายในสวน

ต้นพันธุ์ที่คุณอภิชนสั่งซื้อมา เป็นต้นอินทผลัมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนำเข้า ซื้อมาหลายพันธุ์จากทาง UAE เขาให้เหตุผล เพราะต้องการทดสอบปลูกในแต่ละพันธุ์เพื่อหาความเหมาะสมในพื้นที่ แต่พันธุ์ที่เน้นมากคือ บาร์ฮี (Barhi) เพราะเป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับการรับประทานผลสดโดยเฉพาะ

สัดส่วนระหว่างต้นตัวเมียและต้นตัวผู้ควรมีความเหมาะสม อย่างที่ได้ศึกษามาหลายแห่ง พบว่า จะให้ต้นตัวผู้มี 1 ต้น ต้นตัวเมีย 30-40 ต้น ซึ่งเป็นต้นที่สมบูรณ์ แต่ถ้าในไทยคิดว่า น่าจะมี 1 ต้นตัวผู้ ต่อต้นตัวเมีย 10 ต้น แต่ต้องเป็นต้นตัวผู้ที่นำเข้ามาเป็นเนื้อเยื่อ

ต้นพันธุ์เพาะเนื้อเยื่อที่สั่งนำเข้า ลูกค้าฝากดูแล

“ตลาดในไทยนิยมสายพันธุ์ทานสด เพราะคนไทยนิยมผลไม้ทานสดที่ไม่แปรรูป ในความเห็นส่วนตัวแล้วสายพันธุ์ทานแห้ง ไม่เหมาะกับการปลูกในบ้านเรา เพราะต้องผ่านกระบวนการกรรมวิธี อีกทั้งอุณหภูมิในบ้านเราในช่วงเก็บผลผลิต ซึ่งตรงกับช่วงที่ยังมีฝน จึงอาจเกิดปัญหาเรื่องการดูแลและเชื้อรา”

คุณอภิชน ให้ข้อมูลว่า อินทผลัมกินผลสดที่เหมาะกับบ้านเรา และเป็นที่รู้จักแพร่หลายในขณะนี้ คือ สายพันธุ์บาร์ฮี แท้จริงแล้วยังมีสายพันธุ์อื่นอีกที่กินผลสด แต่เพิ่งมีไม่กี่สายพันธุ์ที่นำเข้ามาปลูกและได้ผลผลิตในประเทศไทย เช่น สายพันธุ์อัมเอ็ดดาฮาน (UM ED DAHAN) และสายพันธุ์โคไนซี่ (KHONAIZI) ซึ่งสายพันธุ์อัมเอ็ดดาฮาน ได้ลงปลูกภายในสวนแล้ว และปีที่ผ่านได้ผลผลิตไม่มากนัก แต่จำหน่ายออกสู่ตลาดของคนที่รู้ และราคาจำหน่ายได้สูงถึงกิโลกรัมละ 1,000 บาท เพราะปริมาณผลผลิตที่ไม่มากนัก และเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างจากสายพันธุ์บาร์ฮีเดิมที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ส่วนสายพันธุ์โคไนซี่นั้น ปัจจุบันสวนภูผาลัมลงปลูกไปแล้วในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ให้ผลผลิตแล้วในปีที่ผ่านมา

เกสรตัวผู้

ปี 2562 ที่ผ่านมา ผลผลิตอินผทลัมในสวนภูผาลัม ได้ประมาณ 10 ตัน และปีหน้าคาดว่าจะได้ผลผลิตมากกว่าอีกเท่าตัว

คุณอภิชน บอกว่า แม้ว่าปริมาณผลผลิตจะมากขึ้นตามลำดับ เพราะความสมบูรณ์ของต้นและพื้นที่ปลูกที่เพิ่มมากขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาทางการตลาดแม้แต่น้อย เพราะผลผลิตที่ได้ อย่างไรก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคแน่นอน

อินทผลัมพันธุ์บาร์ฮี

“ตอนนี้ อินทผลัมกินผลสด เป็นที่รู้จักแพร่หลายและนิยมกันมากแล้วในคนไทย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียง และสภาพภูมิอากาศไม่สามารถปลูกอินทผลัมได้ดีเหมือนบ้านเรา ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคสูง เฉพาะในประเทศผมยังประเมินว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการ”

อินทผลัมพันธุ์อัมเอ็ดดาฮาน เป็นพันธุ์กินผลสด เมื่อสุกผลออกสีโอรส

หากจะเปรียบเทียบเรื่องของราคาจำหน่ายอินทผลัมกินผลสด แม้ว่าปีที่ผ่านมา ราคาอินทผลัมกินผลสด จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 700-900 บาท ปีนี้ราคาอินทผลัมกินผลสดลดลง เหลือเพียงกิโลกรัมละ 500-700 บาท ซึ่งปีต่อๆ ไป ปริมาณผลผลิตอินทผลัมกินผลสดจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ดังนั้น ราคาน่าจะลดลงอีกก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชาวสวนหรือผู้ปลูกอินทผลัมกินผลสดขาดทุน เหมือนพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เพราะเมื่อพิจารณาต้นทุนการปลูกอินทผลัม การให้ผลผลิตแล้ว แม้ราคาอินทผลัมจะลดลงเหลือเพียงกิโลกรัมละ 100 บาท เกษตรกรหรือผู้ปลูกอินทผลัมก็ยังสามารถอยู่ได้

หน่อพันธุ์บาร์ฮี ที่แยกจากต้นภายในสวน

คุณอภิชน มองว่า จำนวนผู้ปลูกอินทผลัมกินผลสดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี จากการพิจารณาจำนวนสั่งนำเข้าต้นพันธุ์เพาะเนื้อเยื่อจากต่างประเทศที่มาก จนปัจจุบันทำให้แล็บเพาะเนื้อเยื่อในต่างประเทศหลายแห่งผลิตไม่ทัน มียอดออเดอร์รอคิวนำเข้ายาว 2-3 เดือนทีเดียว แต่ถึงอย่างไร ก็ไม่ถือเป็นปัญหา เพราะตลาดผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ยังมีอีกมาก

หน่อพันธุ์จากต่างประเทศ นำเข้ามาเมื่อมีออเดอร์จากลูกค้า

“ปัญหาของผู้ปลูกอินทผลัม ไม่ใช่เรื่องของตลาด เพราะยังไปได้อีกไกลมาก แต่ปัญหาคือ หากผู้ปลูกอินทผลัมดูแลได้ไม่ทั่วถึง เพราะปลูกจำนวนมาก ปัญหาเรื่องของคุณภาพในผลอินทผลัมจะตามมา เพราะสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยปัจจุบันแปรปรวนมาก และมีฝนทิ้งช่วงท้ายในปริมาณมาก แม้ว่าอินทผลัมจะเป็นพืชที่ต้องการปริมาณน้ำ 2,000-2,500 มิลลิลิตร ต่อต้น ต่อปี ก็ตาม แต่ถ้าฝนตกในช่วงที่ติดผลแล้ว จะมีผลทำให้ความหวานในผลอินทผลัมลดลง และอาจมีโรคราหรือโรคไรตามมา เพราะความชื้นในอากาศสูง”

อินทผลัมพันธุ์บาร์ฮี เมื่อยังไม่สุก

โดยปกติ อินทผลัม เริ่มแทงจั่นประมาณเดือนกุมภาพันธ์ และสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม แต่จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และสภาพภูมิประเทศ ทั้งนี้ เมื่อผลผลิตเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ควรห่อด้วยกระดาษฟอยล์ เพื่อทำให้ผิวมีสีสวยและสม่ำเสมอ เป็นการสร้างมูลค่า สำหรับกระดาษฟอยล์มีต้นทุน แผ่นละ 8 บาท แล้วยังสามารถนำมาใช้ได้หลายครั้ง

หากต้นใดที่สมบูรณ์เต็มที่และมาจากสายพันธุ์ดี จะได้ผลผลิตเฉลี่ยอย่างต่ำราว 50 กิโลกรัม ต่อต้น หรือเฉลี่ยพวงละ ประมาณ 10 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม สำหรับผลผลิตที่เกิดขึ้นในครั้งแรก คุณอภิชนแนะว่าควรเด็ดผลออกบางส่วน เพราะป้องกันไม่ให้ต้นแม่โทรมเร็ว

“เรื่องของความหวานของผลอินทผลัม ในช่วงที่ฝนตก จะทำให้ความหวานลดลง ผมทดลองหาเทคนิคและพบว่า อินทผลัมสามารถสร้างความหวานกลับไปที่ผลได้เร็ว โดยการเปิดให้พวงผลรับแสงแดดบ้าง ก็จะช่วยให้ความหวานของผลกลับคืนมาได้ ทำคุณภาพอินทผลัมได้ดีตามเดิม”

ผิวผลสวย ก็เป็นการสร้างคุณภาพผลอินทผลัมเช่นกัน คุณอภิชน บอกว่า การห่อผลเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผิวสวย เทคนิคการห่อผลให้ผิวอินทผลัมสวย ควรห่อหลังการผสมเกสรประมาณ 2 เดือน

ส่วนการแยกหน่อเพื่อขยายพันธุ์นั้น สวนภูผาลัมทำเป็นปกติ และไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งการแยกหน่อต้องดูหน่อที่สมบูรณ์ มีรากมากพอที่จะทำให้ต้นสามารถเจริญเติบโตได้เองหลังลงปลูก ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีผู้สนใจสั่งนำเข้าหน่อพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาแล้ว

การห่อที่ถูกวิธี ผิวของผลจะสวย

สำหรับเหตุผลของการสั่งนำเข้าหน่อพันธุ์นั้น คุณอภิชน บอกว่า เพราะบางสายพันธุ์แล็บไม่นำมาเพาะเนื้อเยื่อ ทำให้ผู้ที่ต้องการปลูกสายพันธุ์ที่แล็บไม่ได้นำมาเพาะเนื้อเยื่อ ต้องการต้นพันธุ์ไปปลูก ต้องหาวิธีขยายพันธุ์ ซึ่งทำได้วิธีเดียวคือการแยกหน่อ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ปลูกด้วยการแยกหน่อ ต้นเพาะเนื้อเยื่อ หรือแม้แต่ยังมีผู้สนใจการเพาะด้วยเมล็ดก็ตาม ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในทุกๆ สายพันธุ์ขณะนี้ ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

การห่อ ควรเริ่มห่อหลังผสมเกสร ประมาณ 2 เดือน

คุณอภิชน เป็นผู้บุกเบิกการปลูกอินทผลัมด้วยต้นเพาะเนื้อเยื่อรายต้นๆ ของประเทศไทย และมีอุดมการณ์ของการเป็นเกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัม เขาจึงยินดีอย่างยิ่ง หากผู้สนใจเข้าใจในพืชชนิดนี้อย่างถ่องแท้ หากท่านใดต้องการสอบถามข้อมูลการปลูกอินทผลัม หรือสั่งซื้อต้นพันธุ์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ต้นพันธุ์แบบแยกหน่อ สามารถติดต่อได้ที่ สวนภูผาลัม คุณอภิชน วรรณี โทรศัพท์ (081) 356-7199, (080) 651-9606 ได้ตลอดเวลา

………………………………………………………………………………………………………………………………………………..


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่