ซีพีเอฟ เดินหน้าแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” สู่เป้าหมายความสำเร็จปี 2568-2573

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าเชิงรุกตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2568-2573 เน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านโครงการพลังงานหมุนเวียนและการลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สู่องค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทสามารถดำเนินงานตามเป้าหมายความยั่งยืนปี 2563 ได้อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องตามแผน ทำให้เกิดผลสำเร็จในหลายด้าน เช่น การยกระดับคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่ง 30% ของผลิตภัณฑ์ใหม่ของบริษัทเป็นผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นสุขโภชนาการ สุขภาพและสุขภาวะที่ดี การพัฒนาเจ้าหน้าที่สวัสดิภาพสัตว์ (Poultry Welfare Officer : PWO) ของฟาร์มไก่เนื้อในกิจการทุกประเทศ 100% การตรวจประเมินด้านความยั่งยืนคู่ค้าธุรกิจหลักในกลุ่มวัตถุดิบอาหารสัตว์ เครื่องปรุงและบรรจุภัณฑ์ 100% และสนับสนุนคู่ค้าธุรกิจให้มีการตรวจประเมินตนเองด้านยั่งยืน

ซีพีเอฟ เดินหน้าตามแผนงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่เป้าหมายโดยเฉพาะการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2568 เป็นการดำเนินการต่อเนื่องด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่นำมาใช้สำหรับกิจการในประเทศไทย จะต้องนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) หรือ นำมาใช้ใหม่ (Recyclable) หรือ นำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ (Upcyclable) หรือ ย่อยสลายได้ (Compostable) 100% ส่วนกิจการในต่างประเทศจะดำเนินการในทิศทางเดียวกันให้บรรลุเป้าหมายในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันบรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัทในประเทศไทยสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำและนำมาใช้ใหม่ได้แล้ว 100%

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์

นอกจากนี้ เป้าหมายดังกล่าวยังครอบคลุมการยกเลิกการใช้บรรจุภัณพ์พลาสติกที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ไม่จำเป็น สำหรับกิจการในประเทศไทยในปี 2568 และกิจการในต่างประเทศปี 2573

สำหรับเป้าหมายปี 2568 ด้านอื่นประกอบด้วย การลดปริมาณของเสียที่กำจัดโดยการฝังกลบและเผาต่อหน่วยการผลิต 35% การลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิต 30% และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขอบเขตที่ 1 (การปล่อยโดยตรงจากการใช้ถ่านหินและพลังงานชีวมวล) และขอบเขตที่ 2 (จากการซื้อพลังงานจากการไฟฟ้า) ต่อหน่วยการผลิต 25% ซึ่งทั้งหมดเป็นการลดโดยการเปรียบเทียบกับปีฐาน 2558

บริษัทยังให้ความสำคัญกับทำฟาร์มปศุสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์สากล หรือ อิสระ 5 ประการ รวมถึงการลดการใช้ยาปฏิชีวนะตลอดการเลี้ยง โดยธุรกิจสุกรในประเทศไทยมุ่งสู่ระบบการเลี้ยงแบบคอกขังรวมสำหรับฟาร์มสุกรแม่พันธุ์อุ้มท้อง 100% ในปี 2568 ส่วนกิจการในต่างประเทศจะปรับเปลี่ยนแล้วเสร็จในปี 2571 และเดินหน้าพัฒนาฟาร์มไก่ไข่ไปสู่การเลี้ยงแบบปล่อยอิสระในโรงเรือน (cage free)

“ซีพีเอฟ มีการกำกับดูแลกิจการเพื่อความยั่งยืนตามโครงสร้างการกำกับดูแลด้านความยั่งยืน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งองค์กร เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าควบคู่ไปกับการลดการเกิดของเสียตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และจัดการทรัพยากรตามมาตรฐานสากลและสร้างคุณค่าจากของเสียที่เกิดในกระบวนการผลิต” นายวุฒิชัย กล่าว

Advertisement

ซีพีเอฟ ยังได้ส่งเสริมการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนตามหลักวิชาการ สู่การจัดวัตถุดิบทางการเกษตรด้วยความรับผิดชอบโดยเฉพาะ ข้าวโพด ปลาป่น กากถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม และมันสำปะหลัง ต้องมาจากแหล่งผลิตที่รับผิดชอบและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ 100% ภายในปี 2563 ตลอดจนเดินหน้าโครงการอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายแลนและป่าต้นน้ำรวมกว่า 10,000 ไร่ เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศทั้งทางบกและทางทะเล

Advertisement

นายวุฒิชัย กล่าวต่อไปว่า ซีพีเอฟ ยังมุ่งมั่นในการเพิ่มสัดส่วนรายได้สีเขียว (CPF Green Revenue) ที่มาจากผลิตภัณฑ์อาหารที่ยั่งยืน จากโครงการต่างๆ เช่น ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะโซลาร์ รูฟท็อปสนับสนุนการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์จากโครงการไบโอแก๊สในฟาร์มสุกร เป็นต้น โดยในปีที่ผ่านมาธุรกิจอาหารสัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์และอาหารสำเร็จรูป ของ ซีพีเอฟ มีการใช้พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) 25% ของการใช้พลังงานทั้งหมดขององค์กร และมีโครงการในเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำตลอดกระบวนการผลิต การบริหารจัดการแหล่งน้ำร่วมกับชุมชนและโครงการอื่นๆ

ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน 3 เสาหลัก ได้แก่ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) ในทางตรง 11 เป้าหมาย จาก 17 เป้าหมาย ซึ่งมีส่วนสนับสนุนขีดความสามารถและศักยภาพของบริษัทในการเดินหน้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยความรับผิดชอบและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม ภายใต้หลักบรรษัทภิบาล หรือ ESG (Environmental, Social and Governance)