เลี้ยงปลานิล ปลาทับทิม ในกระชังสร้างรายได้ ของ กำนันเทียมศักดิ์ สง่ากชกร ที่กาญจนบุรี

จังหวัดกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ราบและเทือกเขา มีภูเขาที่ทอดตัวตั้งขนานกับเส้นพรมแดนประเทศพม่า มีความยาวพรมแดน 460 กิโลเมตร

เมื่อเอ่ยถึงจังหวัดกาญจนบุรี สิ่งที่ทุกคนนึกถึงคงจะหนีไม่พ้น การท่องเที่ยวพักผ่อนแบบสบายๆ ท่ามกลางธรรมชาติในบริเวณภูเขาใหญ่น้อยทั้งหลาย เพราะภูมิทัศน์ยังมีความหลากหลาย

จึงนับว่ายังเป็นจังหวัดที่มีแหล่งป่าไม้ที่เป็นทรัพยากรสำคัญ ที่เป็นแหล่งเกิดธารน้ำ และห้วยเล็กๆ ไหลมาบรรจบเป็นแม่น้ำ 3 สายที่สำคัญ คือ แม่น้ำศรีสวัสดิ์ หรือแควใหญ่ แม่น้ำไทรน้อย หรือแควน้อย และแม่น้ำแม่กลอง

คุณเทียมศักดิ์ สง่ากชกร

คุณเทียมศักดิ์ สง่ากชกร อยู่บ้านเลขที่ 5/9 หมู่ที่ 1 ตำบลเขาน้อย อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำแม่กลอง เลี้ยงปลากระชัง เพราะบริเวณแห่งนี้ยังมีน้ำที่สะอาดเหมาะสมกับการประกอบอาชีพด้านการประมง

คุณเทียมศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า ก่อนที่จะริเริ่มเลี้ยงปลากระชังนั้น ได้ทำการเกษตรด้านปศุสัตว์มาก่อน จากนั้นประมาณปี 2540 จึงมีความสนใจที่อยากจะเลี้ยงปลา จึงได้ตัดสินใจมาเลี้ยงปลาในกระชังอย่างที่ตั้งใจไว้

ลูกปลาทับทิมที่ย้ายมาจากบ่ออนุบาล

“เริ่มแรกเดิมทีผมเลี้ยงโคนม พอลูกชายผมเรียนจบ ก็เลยให้เขาทำโคนมไป ผมก็มาทดลองเลี้ยงปลา สมัยนั้นยังไม่มีคนรู้จักปลาทับทิมหรือปลานิลในกระชัง ผมก็ไปศึกษากับเกษตรกรที่เลี้ยงอยู่แล้วในพื้นที่อื่นๆ เพื่อมาทดลองเลี้ยงดู ช่วงนั้นก็หาตลาดเอง มันก็เหมือนเราต้องศึกษาอะไรอีกเยอะ เรียกว่าเริ่มแรกนี่เป็นบทเรียนราคาแพงกว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ผมคิดว่าถ้าเราจะทำเป็นอาชีพ ก็ต้องทำให้ได้หาประสบการณ์ด้วยตัวเราเอง” คุณเทียมศักดิ์ เล่าถึงช่วงประสบการณ์ชีวิตในสมัยก่อน

ปลาทับทิมที่มีความแข็งแรง

ในช่วงแรกที่เริ่มใหม่ๆ นั้น ทำการทดลองเลี้ยงประมาณ 40 กระชัง เมื่อประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจจึงขยายการเลี้ยงออกไปเรื่อยๆ จึงได้พบปะกับกลุ่มผู้เลี้ยงปลากระชังมากขึ้น ทำให้ได้รับแนวทางการแก้ปัญหาใหม่ๆ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

ซึ่งการเลี้ยงปลาให้ได้คุณภาพ คุณเทียมศักดิ์ บอกว่า คุณภาพน้ำที่ใช้เลี้ยงนับว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากน้ำดีการเลี้ยงก็จะไม่เกิดปัญหามากนัก

“น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาที่นี่ จากสมัยก่อนมา ณ ตอนนี้นะ เรียกง่ายๆ ว่า ยังสะอาดน้ำยังมีเยอะ แต่อนาคตก็ต้องดูต่อไป เพราะตอนนี้เริ่มจะไม่ค่อยมีกฎระเบียบกันมากนัก ซึ่งที่ผ่านมาผมก็ได้เข้าประชุมกับท่านผู้ว่าจังหวัด และก็เกษตรกรอื่นๆ กับหน่วยราชการ ให้รวมกลุ่มกันเอากฎหมายมาบังคับใช้ จัดการกับคนที่ทำผิด ไม่อย่างนั้นน้ำมันก็จะเน่าเสีย อย่างน้อยเพื่อรักษาสภาพให้น้ำของที่นี่ให้สะอาดต่อไป” คุณเทียมศักดิ์ กล่าวถึง การช่วยกันดูแลรักษาแหล่งน้ำ

คุณเทียมศักดิ์ บอกว่า ตอนแรกที่เลี้ยงใหม่ๆ นำลูกปลาทับทิมและปลานิลมาปล่อยลงเลี้ยงในกระชังทันที แต่ต่อมาได้มีปรับเปลี่ยนมาอนุบาลในบ่อดินเสียก่อนแล้วจึงนำมาเลี้ยงในกระชัง

ปลานิลที่มีขนาดใหญ่พร้อมจำหน่าย

“ตอนแรกที่เลี้ยงใหม่ๆ เอาลูกปลาไซซ์ใบมะขามมาปล่อยในกระชัง ขนาด 3×3 เมตร ลึก 2 เมตร คราวนี้เห็นปัญหาว่าเราควบคุมระดับน้ำไม่ได้ โดยเฉพาะหน้าฝน น้ำขุ่นลูกปลาจะตาย ก็เลยเอามาอนุบาลในบ่อดินก่อน ปล่อยลูกปลาประมาณหกหมื่นถึงหนึ่งแสนตัวลงในบ่อดินขนาดครึ่งไร่ อาหารที่ให้ช่วงนั้นมีเปอร์เซ็นต์โปรตีนประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ให้ 4 เวลา เช้า สาย บ่าย เย็น เวลาเลี้ยงในช่วงนี้ 70 วัน ลูกปลาจะมีขนาดประมาณ 40-50 กรัม ก็จะนำมาปล่อยเลี้ยงในกระชังต่อ” คุณเทียมศักดิ์ อธิบาย

นำลูกปลานิลและปลาทับทิมมาปล่อยลงเลี้ยงในกระชังขนาด 3×6 เมตร ปล่อยปลาประมาณ 1,600 ตัว ต่อกระชัง อาหารให้ 3 เวลา คือ เช้า กลางวัน และเย็น อาหารในระยะนี้มีโปรตีน 32 เปอร์เซ็นต์ เมื่อลูกปลามีขนาดประมาณ 100 กรัม ขึ้นไป จะเปลี่ยนสูตรอากหารที่มีโปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์ ให้แบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าปลานิลและทับทิมจะได้ขนาดที่จำหน่ายได้ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนครึ่ง

วิธีจับปลานิล

การดูแลรักษาโรค คุณเทียมศักดิ์ บอกว่า ณ ปัจจุบันนี้โรคที่เกิดมีมากกว่าสมัยก่อน เวลาเลี้ยงจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยจะติดเครื่องตีน้ำเข้ามาช่วย และมีการทำโปรแกรมการให้วิตามินอยู่เสมอ เพื่อให้ปลามีความแข็งแรงเพื่อช่วยลดปัญหาเรื่องโรค ซึ่งการระบาดของโรคมีตลอดทั้งปีจึงจำเป็นต้องป้องกันตลอดเวลา

“สมัยก่อนที่ผมเลี้ยงใหม่ๆ นั้นดี ไม่มีโรค อัตรารอด 90 เปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวนี้อัตรารอดไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เช่นลงเลี้ยง 100 ตัว เหลือ 30-40 ตัวเอง เพราะปีหนึ่งเราเลี้ยงได้ 2 ครั้ง การจัดการเดี๋ยวนี้ก็สิ้นเปลืองขึ้นมาก อย่างเครื่องตีน้ำ ใช้พลังงานไฟฟ้า เราก็จะเปลืองเรื่องค่าไฟมากขึ้น ซึ่งสมัยก่อนไม่ต้องมีเครื่องพวกนี้เลย หากเราไม่ทำ ประหยัดมากเกินไป ปลาไม่แข็งแรงเกิดโรคขึ้นมาก็ไม่ไหว การทำแบบนี้ก็จะช่วยให้เราได้ปลาที่ดี มีความแข็งแรง” คุณเทียมศักดิ์ บอกถึงวิธีดูแล

เครื่องตีน้ำที่ช่วยทำให้ปลาแข็งแรงขึ้น

คุณเทียมศักดิ์ บอกว่า ความต้องการไซซ์ขนาดของปลาที่มีคนมาซื้อ นับว่าแตกต่างกันมาก ขึ้นอยู่ที่ว่าจะนำไปประกอบอาหารในรูปแบบใด

“ความต้องการของตลาดหลากหลายมาก ถ้าขึ้นโต๊ะจีนกับร้านปลาเผาก็จะใช้ปลาไซซ์ใหญ่ ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปก็จะซื้อขนาดประมาณ 600-700 กรัม ซึ่งส่งจำหน่ายก็มีทั้งในตลาดไทย ตลาดทั่วๆ ไป และก็มีแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ฟาร์มเป็นเจ้าประจำซื้อกันมามากกว่า 10 ปี” คุณเทียมศักดิ์ กล่าว

ปลาทับทิมจำหน่ายอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 72 บาท ส่วนปลานิลอยู่ที่ราคา 62 บาท ซึ่งราคาขึ้นลงตามกลไกของตลาด ราคาของปลาที่จำหน่ายในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับสมัยก่อนนั้นราคาถือว่าต่ำกว่ามาก

“ราคาปลาเคยลงไปถึง 50 กว่าบาท เพราะว่าเดี๋ยวนี้คนเลี้ยงกันเยอะขึ้น ซึ่งตอนนี้เองราคาก็ยังไม่ดี กลัวว่าจะล่วง กำลังซื้อคนก็ไม่ค่อยมี แต่เทียบดูตอนนี้คนกินเยอะขึ้น สมัยก่อนที่ผมเริ่มใหม่ๆ ตลาดหายากอยู่ บางคนเขาก็ไม่รู้จักปลาทับทิม พอเขาได้มาลองกินก็ชอบ อีกอย่างปลาตามแหล่งงน้ำธรรมชาติก็หายากขึ้น ปลาทับทิมปลานิลเลยเป็นทางเลือกได้ดี ราคาเหมาะสม เรียกว่าหาซื้อกินได้ง่ายมีทั่วไปทุกจังหวัด” คุณเทียมศักดิ์ กล่าวถึงกลไกตลาด

กระชังเลี้ยงปลาในแม่น้ำแม่กลอง

“อยากจะบอกว่าอาชีพการเลี้ยงสัตว์ที่ผมผ่านมาทุกอย่าง อย่างที่ผมเลี้ยงโคนมนี่ก็ถือว่าเป็นอาชีพที่ดีสำหรับครอบครัว ส่วนการเลี้ยงปลานี่ก็เป็นอาชีพที่ดีมาก เรามองดูสัตว์นะตอนนี้ อย่างสัตว์บก กับสัตว์น้ำ อย่างปลานิลปลาทับทิมในแง่ของการแลกเนื้อ เราให้อาหารประมาณ 1.5 กิโลกรัม เราก็จะได้เนื้อปลากลับมา 1 กิโลกรัม คือไม่มีสัตว์อะไรที่จะแลกเนื้อได้ดีกว่านี้ อีกอย่างการเลี้ยงปลาเป็นอาชีพที่เหมาะสำหรับครอบครัว”

“สำหรับคนที่สนใจอยากเลี้ยงเป็นอาชีพ ก็จะแนะนำว่าอย่าทำใหญ่เกินในช่วงแรกๆ มันก็จะมีปัญหาเรื่องตลาด อีกอย่างเรื่องเงินทุนมันก็จะต้องใช้เงินสดด้วย เพราะบางทีเราไปซื้ออาหารที่มาเลี้ยงมันไม่มีเครดิตอะไรช่วยได้ หลักที่สำคัญคือ เกี่ยวกับด้านวิชาการ ต้องศึกษาให้ท่องแท้ โดยเตรียมตัวให้ดี ศึกษาให้พร้อม เราจะได้แก้ปัญหาต่างๆ ได้ ปัญหาเรื่องโรคก็สำคัญ สายพันธุ์ปลา อาหารที่ให้ปลา และก็เรื่องการตลาด 4 อย่างนี้ถือว่าสำคัญมาก สำหรับคนที่จะเริ่มเลี้ยง” คุณเทียมศักดิ์ กล่าวแนะนำ

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากเลี้ยงปลานิล ปลาทับทิม ในกระชัง คุณเทียมศักดิ์ บอกว่า ยินดีให้คำปรึกษา พร้อมทั้งให้คำแนะนำการเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ ติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ (081) 944-3454 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่