สับปะรดท้ายวัง : ผลใหญ่พันธุ์ไทย ผลไม้ถิ่นเมืองตราด ปลูกไว้กินได้ ปลูกไว้ขายรวย

ภาษิตโบราณที่ว่า “ช้างเผือกอยู่ในป่า จะไร้คุณค่า ไร้ราคา ถ้าไม่ถูกนำมาชุบเลี้ยง” ภาษิตนี้ยังคงสะท้อนความเป็นจริงของสรรพสิ่งที่มีอยู่ทุกหนแห่งบนโลกใบนี้ ยังมีของดีอีกมากมายที่ยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ทั้งที่มีคุณสมบัติที่ดีอยู่อย่างครบครัน สับปะรดท้ายวัง เป็นอีกหนึ่งของดีที่กำลังรอการส่งเสริมและพัฒนา ด้วยคุณลักษณะที่ผลขนาดใหญ่กว่าพันธุ์ทั่วไป รสชาติหวานฉ่ำได้มาตรฐาน คงอีกไม่ช้านานคงได้ไปอยู่ชั้นแนวหน้า สร้างคุณค่าสับปะรดผลสดของจังหวัดตราดและของประเทศไทย

ผลใหญ่ไหล่เต็ม รูปทรงสวยงาม

จังหวัดตราด เป็นเมืองผลไม้ขึ้นชื่อของภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน เงาะ มังคุด และที่ขึ้นชื่อที่สุดก็เป็นสับปะรดตราดสีทอง ผลไม้อมตะซิกเนเจอร์ของที่นี่ ผู้เขียนได้เข้าไปทำงานที่จังหวัดตราด ตั้งแต่ ปี 2528 เมื่อเดินทางไปรับราชการที่สำนักงานส่งเสริมการเกษตรภาคตะวันออก จังหวัดระยอง (ชื่อขณะนั้น) โดยผู้อำนวยการได้มอบหมายให้รับผิดชอบงานส่งเสริมการผลิตสับปะรด เลยต้องออกเดินทางไปสำรวจข้อมูลทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกสับปะรด ช่วงนั้นก็มีจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และจังหวัดตราด ที่จังหวัดตราดได้รับความช่วยเหลือจาก พี่นิโรจน์ ประถมวงษ์ อดีตเกษตรอำเภอเมือง จังหวัดตราด ได้พาออกพื้นที่ในเขตอำเภอ ที่เป็นแหล่งปลูกสับปะรดเขตหนึ่งของจังหวัดตราด ซึ่งได้สัมผัสกับสับปะรดตราดสีทอง สับปะรดสิงคโปร์-ปัตตาเวีย และสับปะรดท้ายวัง

ดอกใหญ่ฟอร์มสมบูรณ์

หลังจากนั้น ผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับสับปะรดสิงคโปร์-ปัตตาเวีย และสับปะรดตราดสีทองไว้ ส่วนพันธุ์ท้ายวังช่วงนั้นยังไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก เพราะยังไม่ค่อยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากเท่าสองพันธุ์ข้างต้น แต่ก็ได้เก็บเอาไว้ในความทรงจำตลอดว่า สักวันหนึ่งมีโอกาสจะได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น แล้วจะได้นำออกเสนอต่อสาธารณะ เพื่อให้ได้รู้จักกันในวงกว้าง อันจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะชาวไร่ที่เป็นผู้ปลูกสับปะรดพันธุ์นี้ และจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของจังหวัดตราดได้อีกระดับหนึ่งด้วย

ดอกใหญ่ฟอร์มสมบูรณ์

 

เมื่อปี 2561 ผมได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรบรรยายการพัฒนาสับปะรดผลสดที่จังหวัดตราด จุดหนึ่งที่ได้ผ่านไปคือบ้านท้ายวัง ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด ได้พบกับ คุณสินสมุทร ฟองมาศ ประธานกลุ่มชาวไร่สับปะรดจังหวัดตราด ได้แนะนำให้รู้จักกับสับปะรดท้องถิ่น เขาว่าเป็นพันธุ์ผลใหญ่ รสชาติดี ที่คนแถบนั้นปลูกต่อๆ กันมาอย่างยาวนาน เรียกชื่อกันว่า “สับปะรดท้ายวัง” ตามชื่อของหมู่บ้าน/ชุมชน ข้อมูลนี้มันก็เข้าทางผมพอดี เพราะมีความหลังกับสับปะรดพันธุ์นี้เมื่อหลายสิบปีมาก่อน ไม่รีรออะไร หลังเลิกจากการบรรยาย ก็ตามไปดูกันเลยว่าจริงไหม

ตาใหญ่ ขนตายาว เป็นเอกลักษณ์

โอ…ใช่เลย…สับปะรดท้ายวัง ลูกใหญ่ เนื้อฉ่ำน้ำชุ่มคอ รสชาติหวาน อร่อยดี มีอยู่จริง แต่ถูกทอดทิ้งให้อยู่อย่างไร้คุณค่า รอเวลาที่จะมีใครตาถึง ที่จะนำไปต่อยอด พัฒนาเพิ่มมูลค่า สร้างเม็ดเงิน สร้างอาชีพได้อย่างเป็นรูปธรรม

เนื้อเหลือง ฉ่ำน้ำ รสชาติหวาน

คุณสินสมุทร ฟองมาศ สมาชิกหมู่บ้านท้ายวัง ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด ปลูกสับปะรดตราดสีทอง ปัตตาเวีย และสับปะรดท้ายวัง ทั้งขายแม่ค้าผลสดและส่งโรงงานแปรรูป โดยปลูกสืบต่อกันมาในครอบครัว/บรรพบุรุษ ปลูกจำนวน 4,500-5,000 ต้น ต่อไร่ ปลูกไปพร้อมกับพันธุ์ตราดสีทอง พันธุ์ปัตตาเวียและท้ายวัง เพื่อส่งโรงงานแปรรูป สำหรับพันธุ์ท้ายวัง เป็นพันธุ์ดั้งเดิมของหมู่บ้านนี้ มีการปลูกสืบต่อกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ เพื่อเอาไว้กินและชายผลสด

เปรียบเทียบกับพันธุ์ปัตตาเวีย

สับปะรดท้ายวัง ผมทำแบบชุมชนในหมู่บ้าน โดยปลูกแซมในสวนยางพารา สัก 2-3 รอบ แล้วก็เลิกไปเมื่อต้นยางพาราโตขึ้น ที่นี่เขาเรียกชื่อพันธุ์ท้ายวังเลย เขาไม่เรียกปัตตาเวียนะ เพราะมีลักษณะที่แตกต่างจากพันธุ์ปัตตาเวียคือ ขนาดผลใหญ่ น้ำหนักดี เนื้อมีเส้นใยแต่นิ่ม ต้นใหญ่โตมาก เนื้อฉ่ำน้ำ รสชาติหวานฉ่ำชุ่มคอ แต่ช่วงหน้าหนาวจะออกหวานอมเปรี้ยวบ้างนิดหน่อย ต่อมาก็ปลูกปัตตาเวียส่งโรงงานกันมากขึ้น ตอนนี้มันมีปัญหาด้านราคาและต้นทุนการผลิต เกษตรกรขาดทุนจึงต้องหาทางลดต้นทุน หาตลาดใหม่ๆ ใช้วิชาการเข้ามาบริหารการผลิต การแปรรูป ต้องทำหลายอย่างเพื่อให้อยู่ได้ แต่หลายรายเขาก็อยู่ไม่ได้ เลิกรากันไปเพราะมันไม่คุ้มกัน แต่สับปะรดท้ายวัง ก็ยังคงปลูกกันต่อไป

ผลใหญ่ในแปลงปลูก                                             

ระยะหลังนี้ เราเปลี่ยนมาปลูกด้วยจำนวนต้นต่อไร่ที่ 6,000-7,000 ต้น เพื่อให้ได้ขนาดผลเล็กลงตามมาตรฐานที่โรงงานรับซื้อ แต่โดยทั่วไปชาวไร่ปลูกเพื่อหวังจะได้ผลขนาดใหญ่ เพราะโรงงานซื้อผลผลิตแบบชั่งน้ำหนักเป็นหลัก   ในรอบ 4-5 ปีนี้ เริ่มมีปัญหาโรคต้นเหี่ยวที่ระบาดรุนแรงมากขึ้น เป็นโรคจากเชื้อไวรัสที่กำลังเร่งแก้ไขกันอยู่ ชาวไร่เรียก “โรคเอ๋อ” ต้นที่แสดงอาการโรคนี้จะไม่ได้ผลผลิต/คุณภาพไม่ผ่าน เสียหายมาก แต่ผมใช้การบำรุงต้นให้ต้นสมบูรณ์/ฟื้นตัวขึ้นมา ก็พอจะยังได้ผลผลิตขึ้นมาบ้าง

คุณสินสมุทร ฟองมาศ ประธานกลุ่มผู้ปลูกสับปะรดจังหวัดตราด

กระบวนการผลิตสับปะรดให้ได้คุณภาพทั้งสับปะรดท้ายวัง ปัตตาเวีย และตราดสีทอง จะต้องเริ่มที่การเตรียมต้นพันธุ์/หน่อพันธุ์ ที่ต้องปลอดโรคเหี่ยว โดยนำมาจากแหล่ง/แปลงที่ปลอดโรค และคัดหน่ออย่างพิถีพิถัน พวกรายใหม่จะไม่ค่อยรู้เรื่อง จะทราบตอนที่ต้นสับปะรดแสดงอาการของโรคปรากฏให้เห็นแล้ว เพราะไม่ค่อยปรึกษาใคร ไม่เหมือนพวกมืออาชีพที่ปลูกกันมาก่อนๆ เขามีประสบการณ์ และมีการคัดเลือกหน่อ จึงรอดจากจุดนี้ไป หรือมีปัญหาน้อยกว่า ปกติจะปลูกสับปะรดกันช่วงต้นฤดูฝน ได้น้ำพอดี ต้นจะแข็งแรง ไม่ค่อยตาย

สับปะรดท้ายวัง ปลูกแซมสวนยางพารา

การใช้ปุ๋ยเคมี เป็นสูตรทั่วไป คือช่วงแรกที่สับปะรดเริ่มตั้งตัว-เติบโตอายุ 1-2 เดือน ผมใช้สูตร 18-4-5 ใส่ที่กาบใบล่าง ราคาไม่สูงมาก เทียบกับสูตร 15-5-20, 16-16-16 ปุ๋ยจะละลายน้ำได้จากน้ำที่ขังอยู่ที่ซอกใบสับปะรด และเมื่อสับปะรดเติบโตมาสักช่วงหนึ่ง 3-5 เดือน เป็นระยะที่สร้างลำต้นและส่วนโคน (สะโพก) ใช้ปุ๋ย สูตร 20-8-20, 0-16-16 ต้นละช้อนแกง หลังจากนั้น ฉีดสารไคโตซาน 2 ครั้ง ใช้อัตราผสม 30 แคปซูล ผสมปุ๋ยเกล็ด 10-10-30 หรือสูตร 10-20-30 กับ ปุ๋ยเกล็ดโพลีพลัส 1,500 ซีซี ผสมกับน้ำ 1,000 ลิตร, จากนั้นฉีดสารไคโตซานอีกครั้งช่วงระยะดอกแห้ง (อายุดอก 60-70 วัน) เพื่อช่วยให้ผลสับปะรดมีทรงผลที่ดี และเพิ่มขนาดให้ใหญ่สมบูรณ์ขึ้น

ทีมงานนักส่งเสริมการเกษตรจังหวัดตราด

การให้น้ำ เนื่องจากจังหวัดตราดมีปริมาณของฝนที่ตกบ่อยและกระจายหลายเดือนในรอบปี จึงไม่ค่อยมีปัญหาจากความแห้งแล้งหรือฝนทิ้งช่วงนานมากนัก แต่ในฤดูร้อน หากสับปะรดออกดอกผลช่วงนี้ จำเป็นต้องฉีดน้ำช่วยเหมือนกัน ให้น้ำเดือนละ 1-2 ครั้ง หรืออาทิตย์ละ 1 ครั้ง จนถึงระยะก่อนเก็บผลผลิต 40-50 วัน จึงหยุดเพื่อคุณภาพที่ดี

คุณนิโรจน์ ประถมวงษ์ อดีตเกษตรอำเภอเมือง

ในรอบ 2-3 ปีมานี้ สถานการณ์สับปะรดไม่ค่อยดี ราคาตกต่ำมาก อาศัยว่าทำมาก่อนจึงมีความพร้อมหลายด้าน ทั้งหน่อพันธุ์ เครื่องมืออุปกรณ์ ทำให้ยังพออยู่ได้ ซึ่งช่วงก่อนหน้าโชคดีที่ราคาพอไปได้ จึงพอมีทุนสะสมไว้บ้าง ที่สำคัญผมเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติเพื่อลดต้นทุนลง ทั้งการใช้ปุ๋ยเคมี บริหารแรงงาน กำหนดแผนปลูกให้รอบตัดสับปะรดได้ในช่วงที่ผลผลิตออกตลาดน้อย ทำผลผลิตให้มีคุณภาพ ห่อผลสับปะรด ผสมปุ๋ยใช้เอง ฯลฯ ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้อยู่ได้ เพราะมันเป็นอาชีพของผม

คุณตาอ่อนสา แสงงาม

สับปะรดท้ายวังนั้น จริงๆ แล้ว ก็ปลูกเป็น 2 แบบ ทั้งส่งโรงงานและขายผลสดบ้าง ซึ่งทางชาวไร่เองก็ไม่ได้เน้นขายตลาดผลสดมากนัก เพราะที่นี่มีสับปะรดตราดสีทองเป็นสับปะรดประจำจังหวัด และมีตลาดที่กว้าง มีพื้นที่และผลผลิตตลอดปี แม่ค้ามาซื้อประจำ ราคาก็เป็นไปตามแต่ละช่วง ถูกแพงตามปริมาณผลผลิต ได้บ้างเสียบ้างก็ยังพอมีอาชีพ เพราะมีที่ดินอยู่แล้ว พวกเราถนัดสับปะรดจะให้ไปปลูกพืชใหม่ๆ มันจะจบที่การตลาด สับปะรดมีโรงงานรองรับ สลับกับยางพาราและผลไม้อื่นปะปนกันไป ก็พออยู่ได้ครับ

คุณยายสำอาง เดิมกำเนิด

นอกจากการได้เข้าดูแปลงสับปะรดท้ายวังของ คุณสินสมุทร ฟองมาศ และของชาวไร่บางส่วนแล้ว ยังมีบันทึกการสัมภาษณ์ผู้อาวุโสในชุมชนแห่งนี้ อีกหลายท่านที่เป็นหลักฐานอ้างอิงได้ว่า สับปะรดท้ายวัง มีการปลูกในชุมชนนี้มาอย่างยาวนาน และอาจเป็นข้อสรุปได้ว่า สับปะรดท้ายวัง มีจุดกำเนิดที่ชุมชนแห่งนี้อย่างแท้จริงก็เป็นได้

คุณตาเทศ เงาฉาย
คุณตาหอม คงดี

คุณตาเทศ เงาฉาย อายุ 97 ปี บ้านเลขที่ 17 หมู่ที่ 6 ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด เป็นผู้ที่มีอายุมากที่สุดในหมู่บ้าน ให้ข้อมูลว่า “สับปะรดท้ายวัง มีมานานมากแล้ว ตั้งแต่สมัยพ่อของลุง เรื่องหน่อพันธุ์เกิดมาก็เห็นแล้ว อยู่ตามสวนยาง โดยการขอหน่อไปปลูกกัน สมัยนั้นไม่มีการใส่ปุ๋ย ไม่มีการเร่งให้ออกลูก ปล่อยให้ออกเองตามธรรมชาติ ลูกจะใหญ่มาก หวานฉ่ำ”

คุณอัมพร ฟองมาศ บ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 6 ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด “น่าจะมีมาเป็นร้อยปีแล้ว เพราะมีมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อแม่ของยาย ยายเกิดมาก็เห็นแล้ว พ่อของยายปลูกไว้ที่สวน ปลูกไม่กี่ร้อยต้น ปลูกไว้กิน เหลือก็แจกบ้างขายบ้าง สมัยนั้นไม่ค่อยทำอะไร ปล่อยตามธรรมชาติ ลูกจะใหญ่ น้ำเยอะ หวานฉ่ำ”

คุณยายเฉลิม อินทสาร

คุณยายเฉลิม อินทสาร บ้านเลขที่ 25 หมู่ที่ 9 ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด “ยายปลูกเมื่อ 60 กว่าปีมาแล้ว สมัยนั้นปลูกไม่มีรถไถ ไม่มีการใส่ปุ๋ย ไม่ใส่สารเร่งให้ออกลูก ไม่มียาฆ่าหญ้า ไม่มีโรคเหี่ยวเหมือนทุกวันนี้ ยายปลูกแล้วจะปล่อยให้ต้นโตเองตามธรรมชาติ พอครบอายุก็ออกเอง รสชาติหวาน หอม อร่อย ลูกใหญ่ ยายใส่เข่งสามถึงสี่ลูกก็แบกแทบไม่ไหว”

คุณยายตั๋น สุมะโน

คุณยายตั๋น สุมะโน บ้านเลขที่ 23 หมู่ที่ 6 ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด “ยายจำได้ว่าปลูกมาเกิน 60 ปีแล้ว ลูกใหญ่มากๆ ไม่เคยรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ฉีดยาเลย คนรุ่นราวคราวเดียวกับยายสมัยนั้นถ้ากินไม่หมดจะขึ้นรถรับจ้างของยายไปขายที่ตลาด”

ตุณยายจำนง รัตนวงษ์

คุณยายจำนง รัตนวงษ์ บ้านเลขที่ 74 หมู่ที่ 6 ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด “เมื่อยายยังรุ่นๆ อายุไม่เกิน 20 ปี ยายก็เริ่มเห็นมีคนปลูกแล้ว ปลูกกันแทบทุกบ้านเอาไว้กิน ไม่เคยใส่ปุ๋ย ไม่เคยฉีดยาบำรุงอะไร ลูกก็ใหญ่มากๆ หวานฉ่ำ”

คุณยายกิ้ว อุทุมโภค อายุ 84 ปี บ้านเลขที่ 14/1 หมู่ที่ 6  ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด “เคยปลูกสับปะรดมาไม่ต่ำกว่า 50 ปีแล้ว เมื่อสมัยก่อนลูกใหญ่มากๆ อย่างน้อยก็ 3 กิโล ต่อ 1 ลูก เนื้อจะหวานฉ่ำ มีน้ำเยอะ ไม่แกน ไม่เคยใส่ปุ๋ย ถ้ามีมากก็จะเอาไปขายที่ตลาด เพราะในสมัยนั้นไม่มีโรงงานรับซื้อ”

คุณยายน้อม เกษโกวิท

คุณยายน้อม เกษโกวิท อายุ 84 ปี บ้านเลขที่ 115 หมู่ที่ 6 ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด “เกิดมาจำความได้ก็มีสับปะรดพันธุ์ท้ายวังแล้ว หน่อพันธุ์จะมีกันตามสวน แล้วก็ไปขอมาปลูกกัน สมัยนั้นหน่อไม่มีการขาย ไม่ได้ปลูกกันมากเหมือนสมัยนี้ ผลผลิตที่ได้จะลูกใหญ่มากๆ ใช้ไม้คานหาบ ข้างหนึ่งใส่ไม่เกิน 4 ลูก ก็หาบไม่ไหวแล้ว ลูกจะใหญ่มากๆ หวานฉ่ำอร่อย ไม่กัดลิ้น”

คุณตาหอม คงดี อายุ 84 ปี บ้านเลขที่ 289 หมู่ที่ 11 ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด “หลังจากที่ก๋งออกจากทหารเรือ น่าจะอายุราวๆ 20 ปี ก๋งก็เริ่มปลูกสับปะรด โดยไม่มีรถไถเหมือนสมัยนี้ ต้องใช้จอบขุดดินและปลูกเองไปเรื่อยๆ พอครบปีก็จะออกลูก ลูกใหญ่เกือบเท่ากระป๋อง ปลูกประมาณ 3 ปี ก็รื้อทิ้ง ปีที่ 3 ของสมัยนั้นน่าจะลูกใหญ่กว่าปีแรกของสมัยนี้ ก๋งบอกว่า พันธุ์ท้ายวัง น่าจะมีมาเป็นร้อยปีแล้ว”

คุณยายสำอาง เดิมกำเนิด อายุ 82 ปี บ้านเลขที่ 65 หมู่… ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด “ยายปลูกกะสามีของยายมานานมากแล้ว ปลูกตั้งแต่ทั้งคู่ยังไม่แต่งงานกัน ตอนนี้ลูกยายก็อายุ 50 ปีได้ ลูกใหญ่มากจริงๆ ไม่เคยทำอะไรเลย ปล่อยให้โตเอง ไม่เหมือนสมัยนี้ฉีดยา ใส่ปุ๋ย ลูกยังไม่โตเท่าสมัยก่อนเลย”

คุณตาอ่อนสา แสงงาม อายุ 80 ปี บ้านเลขที่ 115 หมู่ที่ 6 ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด “เคยปลูกมานานแล้ว น่าจะ 40 ปีกว่าแล้ว สมัยนั้นไม่นิยมปลูกกันมาก เพราะราคาถูก ลูกใหญ่มาก ก็ขายแค่ 2 สลึง (50 สตางค์) ลูกจะใหญ่กว่าสมัยนี้ อร่อยหวานฉ่ำ”

คุณยายบังอร ฟองมาศ
คุณยายกิ้ว อุดมโภค

จากข้อมูลของคุณตา คุณยาย ในชุมชน ยืนยันได้ว่า สับปะรดท้ายวัง มีอยู่ที่นี่นานกว่าที่เล่ากันมา จุดเด่นที่ผลขนาดใหญ่มาก เนื้อฉ่ำน้ำ รสชาติหวานชุ่มคอ และไม่กัดลิ้น แต่ตามสภาพที่เห็นและเป็นอยู่ ลักษณะการปลูกสับปะรดท้ายวังที่นี่ ยังคงปลูกกันแบบธรรมชาติปะปนกับพันธุ์ปัตตาเวีย และเน้นส่งโรงงานเป็นหลัก ยังจะไปได้ไกลกว่านี้ หากมีการส่งเสริม พัฒนา และปั้นแต่งด้วยระบบที่ดี มีการคัดสายต้นพันธุ์ที่ดีเด่นออกมา (clonal selection) คงจะได้เวลาแล้วที่ชาวเมืองตราด จะนำเอาจุดเด่น มองเห็นคุณค่าของสับปะรดท้ายวัง จับเอามาสร้างสตอรี่ ทำพีอาร์ โชว์ของดีสับปะรดพันธุ์นี้ จุดเริ่มไปที่ขอขึ้นทะเบียนแหล่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ประกาศเป็นสับปะรด จีไอ (GI : Geographical Indication) เจียรนัยเขาเสียใหม่ จะได้เพชรเม็ดใหญ่งดงามน้ำดี ยกระดับเป็นผลไม้ signature ของจังหวัดได้อีกตัว ชัวร์ๆ ว่าเป็นสับปะรดพันธุ์ดีของเมืองตราดได้อย่างสมภาคภูมิครับ

                                                   

ข้อมูลอ้างอิง : 1. มนตรี กล้าขาย, 2559. การพิสูจน์ลักษณะผลสับปะรดพันธุ์ท้ายวัง อำเภอเมือง จังหวัดตราด

  1.           2. สินสมุทร ฟองมาศ, 2561, สัมภาษณ์ ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดจังหวัดตราด
  2.  3. ประดิษฐ์ เจริญสุข. 2561. บทสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนบ้านท้ายวัง ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด, นักวิชาการส่งเริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด
  3.  4. ไวย์วุฒิ มุกดา. 2563. สัมภาษณ์. กลุ่มเกษตรกรทำสวนวังกระแจะ ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด

                                        ……………………………

ข้อมูลจำเพาะ สับปะรดท้ายวัง

มนตรี กล้าขาย (2559) ทำการศึกษาลักษณะทางกายภาพภายของสับปะรดท้ายวัง ได้สรุปลักษณะเด่นของสับปะรดท้ายวัง ไว ดังนี้

– จัดเป็นสับปะรดในกลุ่ม Cayenne ขนาดของผลใหญ่มาก เป็นชนิดผลรวม (multiple fruit) จำนวนผลย่อย (ตา) 156 ผล ลักษณะของตาใหญ่-แบนราบ ขนตายาว ตาตื้น รูปห้าเหลี่ยมมน ฐานของตาเป็นเส้นตรง ผลเป็นรูปทรงกระบอกยาว (cylindrical shape) และกึ่งทรงกระบอก ความยาวของผลเฉลี่ย 22 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางผลเฉลี่ย 15 เซนติเมตร น้ำหนักผลเฉลี่ย 3.5 กิโลกรัม ผลใหญ่อาจมีน้ำหนักถึง 5-6 กิโลกรัม

– จุกค่อนข้างใหญ่ ตั้งตรง ไม่มีรอยคอดระหว่างจุกกับผล ความยาวของจุกอยู่ระหว่าง 2/3 หรืออาจเท่ากับความยาวของผล

– เนื้อสีเหลือง เนื้อมาก มีเส้นใยอ่อนนุ่ม เนื้อนุ่มและฉ่ำน้ำมาก กลิ่นหอมอ่อนๆ เนื้อไม่มีโพรง รสชาติหวานนำเปรี้ยว ไม่แสบลิ้น แกนผลเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 เซนติเมตร  ค่าความหวาน (brix) 14-17 องศาบริกซ์

– เปลือกผลอ่อนสีเขียว ผลแก่ออกสีเขียวเข้ม (ดำ) เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ถึงสีเหลืองอ่อน

– ใบ มีจำนวนใบ 50-55 ใบ ใบกว้าง สีเขียวอ่อน ขอบใบเรียบไม่มีหนาม แต่อาจมีหนามที่ปลายใบบ้างเล็กน้อย มีแถบสีม่วงอ่อนตรงกลางใบ ตั้งแต่โคนใบถึงปลายใบ  


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่