ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
น.ส.เยาวนิตย์ บุรีรักษา ปศุสัตว์จังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่าหลังจากมีคำสั่งจาก นายวิทยา จันทร์ฉลอง ผวจ.สกลนคร ให้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพ กลุ่มจังหวัดสนุก ประกอบด้วย สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร โดยงบประมาณที่ได้รับอนุมัติส่วนหนึ่ง จังหวัดสกลนครได้เล็งเห็นว่าปัจจุบันเนื้อโคขุนโพนยางคำของจังหวัดสกลนคร มียอดขายเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัด แต่ยังประสบปัญหากำลังการผลิตและคุณภาพของโรงฆ่าสัตว์ที่ผ่านการใช้งานมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ก่อตั้งสหกรณ์โคขุนโพนยางคำ ทำให้เครื่องมือและระบบจัดการไม่ทันสมัย จึงมีมติให้ดำเนินการจัดสร้างโรงฆ่าสัตว์ ตัดแต่งซากสัตว์ ห้องเก็บรักษาและบ่มเนื้อโค เพื่อเข้าสู่มาตรฐาน GMP ใช้งบประมาณ 27,272,300 บาท วัสดุอุปกรณ์เครื่องจักรโรงฆ่าสัตว์มาตรฐาน GMP ใช้งบประมาณ 4,888,800 บาท รวมเป็นเงิน 32,161,100 บาท ด้านสถานที่ใช้บริเวณเดิมจำนวน 2.5 ไร่ ภายในสหกรณ์โคขุนโพนยางคำ ต.โนนหอม อ.เมือง จ.สกลนคร
น.ส.เยาวนิตย์ กล่าวว่า ล่าสุดมีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแบบแปลนโรงฆ่าสัตว์เพื่อเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP และมาตรฐานฮาลาล ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมรับฟังเพื่อชี้แจง เกี่ยวกับ ผังบริเวณ แปลนพื้นโรงฆ่าสัตว์ แปลนเครื่องจักร โดยที่ประชุมได้เสนอแนะการจัดการความสะอาดและระบบภายใน ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมของ GMP เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจต่อคุณภาพของเนื้อโคขุน ที่ผ่านการชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์สหกรณ์โคขุนโพนยางคำ
โรงฆ่าสัตว์แห่งเดิมจะชำแหละทุกวันอังคารและพฤหัสบดี สัปดาห์ละ 150 ตัว ต่อไปจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เพราะมีโรงบ่มเนื้อ อุณหภูมิ 0-4 องศาเซลเซียส ขนาดบรรจุ 35 ตัว จำนวน 5 โรง โดยโรงฆ่าสัตว์แห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างมีการจัดการระบบอย่างเป็นสัดส่วนตั้งแต่บริเวณที่รับโคขุนจากเกษตรกร ไปจนถึงการจำหน่ายเนื้อ ที่มีมาตรฐานปลอดภัย GMP และมาตรฐานฮาลาล มาตรฐานฮาลาล คือการฆ่าสัตว์ให้ทรมานน้อยที่สุด รวมไปถึง พ.ร.บ.การฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ 2559 โดยที่ประชุมเห็นชอบ คาดแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายนนี้ การดำเนินการก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์แห่งใหม่จะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้บริโภค และความมั่นใจต่อผลิตภัณฑ์โคขุนโพนยางคำที่ทำรายได้หลักร้อยล้านบาทต่อปี