เกษตรกรนครนายกพึงพอใจ แนวทางการลดการเผาในพื้นที่เกษตรที่ทางการส่งเสริม

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ลงพื้นที่ติดตามโครงการส่งเสริมการหยุดเผาวัสดุการเกษตร โดยใช้กลไกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นแม่ข่ายขับเคลื่อน พบเกษตรกรพึงพอใจและให้ความร่วมมือ เผยประโยชน์จากวัสดุการเกษตรมีคุณต่อดิน และสามารถแปรสภาพเพื่อใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ได้มากมาย

นายดำรงฤทธิ์  หลอดคำ  ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง  ได้มอบหมายให้ นางอุบล มากอง ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ พร้อมด้วย นางสาวอิสรี เก่งนอก นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ นางสาวผกาพันธุ์ ละมัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรพื้นที่จังหวัดนครนายก พร้อมเก็บข้อมูลงานวิจัยในการศึกษาทดสอบด้านการเกษตรเพื่อตอบสนองความต้องการในพื้นที่ ในการจัดการพื้นที่ การปฏิบัติในแปลง รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการเผาในพื้นที่ 4 อำเภอ ของจังหวัดนครนายก ณ แปลงสาธิตการเรียนรู้ของเกษตรกร

ประกอบด้วย แปลงที่ 1 นางเพ็ญรุ่ง กริ่มใจ  หมู่ที่ 7 ตำบลดงละคร อำเภอเมืองนครนายก แปลงที่ 2 นายประยุทธ์ บุญกล้า หมู่ที่ 1 ตำบลปากพลี อำเภอปากพลี แปลงที่ 3 นายสุเทพ บัวลอย หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านนา อำเภอบ้านนา  และแปลงที่ 4 นายพนัส กว้างทุ่ง หมู่ที่ 9 ตำบลโพธิ์แทน อำเภอองครักษ์

นางอุบล มากอง ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ เปิดเผยว่า ในการจัดทำแปลงสาธิต การเรียนรู้นั้นมีเป้าหมายเพื่อเป็นจุดเรียนรู้ในการบริหารจัดการพื้นที่ ตลอดถึงการปฏิบัติและการจัดการในแปลง และการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้เพื่อลดการเผาวัสดุการเกษตรในพื้นที่ รวมถึงขยายผลการจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกร โดยใช้กลไกศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบปลอดการเผาเป็นแม่แบบและเครือข่าย

ซึ่งพื้นที่จังหวัดนครนายก สภาพโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะดินเป็นดินปนทรายและดินเหนียวเหมาะแก่การทำนา ทำสวนผลไม้ และเลี้ยงสัตว์ ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน ปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์ มีการรวมกลุ่มเป็นศูนย์ข้าวชุมชน วิสาหกิจชุมชน และกลุ่มแปลงใหญ่ข้าว

โดยพื้นที่ปลูกข้าวบางส่วนในทุกอำเภอจะเป็นพื้นที่ลุ่ม เกษตรกรต้องปลูกข้าวแบบน้ำลึกหรือข้าวขึ้นน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรมักจะใช้วิธีการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพื่อทำการเพาะปลูกในฤดูถัดไป ซึ่งปัญหาจากการเผาวัสดุเหลือใช้เหล่านี้ทำให้สภาพดินมีความเสื่อมโทรม เพราะสูญเสียธาตุอาหารในดินจากความร้อนของการเผา รวมทั้งระบบนิเวศในพื้นที่เปลี่ยนไป ไม่เอื้อต่อการทำการเกษตร จึงทำให้การผลิตในแต่ละรอบการผลิตต้องปรับปรุงบำรุงดินด้วยสารเคมีทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้ดำเนินการศึกษาถึงแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรลดการเผาในพื้นที่เกษตร กรณีศึกษาผลกระทบกิจกรรมการส่งเสริมการลดการเผาในพื้นที่เกษตรจังหวัดนครนายกขึ้น โดยติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ผ่านเกษตรกรผู้นำของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และศูนย์เครือข่าย รวมถึงเก็บข้อมูลการจัดการพื้นที่ การปฏิบัติและการจัดการในแปลง รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้เพื่อลดการเผาวัสดุการเกษตรในพื้นที่

“จากเกษตรกรผู้นำเจ้าของแปลงสาธิตการเรียนรู้ที่ได้นำองค์ความรู้ไปประประยุกต์ใช้ในกิจกรรมของตนเองตามความเหมาะสม เช่น การปฏิบัติและการจัดการในแปลงมีการนำนวัตกรรมทางเลือกด้านการเกษตร การอัดฟางทำฟางก้อน เพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ ซึ่งปัจจุบันตลาดมีความต้องการสูงเพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ทางเลือก เช่น ใช้เป็นอาหารสัตว์กีบในหน้าแล้ง ช่วยลดปัญหาการขาดสารอาหารในสัตว์ ใช้เป็นอาหารปลา หรือคลุมดินเพื่อรักษาความชื่นในแปลงเพาะปลูก ตลอดถึงการนำไปเพาะเห็ดชนิดต่างๆ เป็นต้น รวมถึงการไถกลบตอซังและการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ด้วยการนำเศษวัสดุการเกษตรที่เหลือใช้ในแปลงเพาะปลูกมาใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยนำมาทำปุ๋ยหมัก ถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรทั้งทางตรงและทางอ้อม คือเกษตรกรจะสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้  รวมถึงการจัดการพื้นที่กรณีของเกษตรกรที่ทำนาปรังมีการปลูกปอเทืองหลังฤดูเก็บเกี่ยว ก็จะช่วยลดต้นทุนในการปรับปรุงบำรุงดินสำหรับฤดูการผลิตต่อไป ด้วยแปลงนาได้สารปรับปรุงบำรุงดิน ตามธรรมชาติจากปอเทือง ส่วนเกษตรกรที่ทำนาน้ำฝนจะไม่เผาฟางโดยปล่อยให้ฟางย่อยสลายเองตามกระบวนการทางธรรมชาติ ก็จะเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดินที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าว” นางอุบล มากอง กล่าว

 

ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า จากการติดตามแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรลดการเผาในพื้นที่เกษตร กรณีศึกษาผลกระทบกิจกรรมการส่งเสริมการลดการเผาในพื้นที่เกษตร จังหวัดนครนายก ครั้งนี้พบว่า เกษตรกรมีความพึงพอใจและสมัครใจในการลดละเลิกการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรตามแนวทางต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นอย่างดี

ที่สำคัญในการดำเนินกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนลดการเผาวัสดุทางการเกษตรของ ศพก. นั้นชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกกระบวนการ จึงก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชนและลดปัญหาจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้อย่างเป็นรูปธรรม