เยือนแดนปลาดิบ หลัก 5 ประการ ทำให้การเกษตรของญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ

ประเทศญี่ปุ่น มีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจ มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาการด้านต่างๆ ไม่เป็นรองชาติใด เป็นประเทศที่มีสังคมผู้สูงอายุอันดับต้นๆ ของโลก มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีมาก ชาวญี่ปุ่นมีอายุยืน มีรายได้สูง สามารถจ่ายเงินเพื่อบริโภคอาหารที่ดี ในขณะที่ภาคการเกษตรก็สามารถผลิตอาหารที่ดีมีคุณภาพตามที่ผู้บริโภคต้องการ อาชีพการเกษตรจึงเป็นอาชีพหนึ่งที่สามารถทำรายได้สูงไม่แพ้อาชีพอื่นๆ ของประเทศ

องุ่น จะห่อผลทุกพวง ภาพที่ครอบด้วยพลาสติกใสเป็นฟาร์มที่เกษตรกรเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวให้ลูกค้าเดินเลือกตัดชอบพวงไหนก็ตัดเลย (เดิมก็ห่อปิดทั้งพวงทุกพวง)

อย่างไรก็ตาม การทำการเกษตรในประเทศญี่ปุ่นก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคจากธรรมชาติ ทั้งลมพายุ ฝนกระหน่ำ อุณหภูมิต่ำ หิมะตกหนักในหลายพื้นที่ รวมทั้งปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ คนวัยหนุ่มสาวไม่นิยมประกอบอาชีพเกษตรกรรม จำนวนเกษตรกรลดลงไปมากในปัจจุบัน

บรรยากาศประมูลดอกไม้ ตลาดโอตะ โตเกียว

งานภาคการเกษตรจึงกลายเป็นภาระของคนรุ่นพ่อแม่ทําให้เกษตรกรญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยสูงเกินวัย 60-70 ปี ไปแล้ว ในขณะที่ประชากรของประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ภาคการเกษตรก็ต้องรักษามาตรฐานการผลิต ส่วนหนึ่งคงเนื่องมาจากเกษตรกรญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งและรับผิดชอบงานในหน้าที่ บวกกับความร่วมมือจากหน่วยราชการและเอกชนที่ทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีทุกฝ่าย ผลผลิตทางการเกษตร จึงยังคงมีมาตรฐานสูงอยู่ในปัจจุบัน

องุ่นพันธุ์เคียวโฮ ผลดํา เปลือกหนาลูกโต อร่อยมาก

นักท่องเที่ยวที่มาเยือนญี่ปุ่น นอกจากมีความสุขจากการท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ได้รับประทานอาหารที่ชอบ เลือกซื้อขนมและของฝากตามที่ตั้งใจไว้แล้ว คงต้องหาผลไม้อร่อยแต่ละชนิดรับประทานด้วย เช่น สตรอเบอรี่ แอปเปิ้ล หรือองุ่น ซึ่งผลไม้เหล่านี้คงไม่ใช่อร่อยเพราะเจริญเติบโตในดินแดนญี่ปุ่นแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว เกิดมาจากความมานะพยายาม ความเอาใจใส่ ความละเอียดรอบคอบของผู้วิจัยสายพันธุ์พืชส่งต่อมายังผู้ปลูกและดูแลรักษา รวมทั้งระบบการตลาดที่มีมาตรฐานสูงของประเทศ ผู้เขียนจึงขอนำเสนอข้อมูลบางประการเกี่ยวกับเส้นทางการผลิต การตลาดสินค้าเกษตรในบางแง่มุมที่ได้มีโอกาสไปสัมผัสมา เพื่อแบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ข้อมูลเหล่านั้นได้แก่ เรื่องพันธุ์พืช วิธีการผลิตต้นพันธุ์พืช โรงเรือนปลูกพืช ซึ่งรวมถึงการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดิน และระบบการตลาดสินค้าเกษตรโดยย่อ สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสําเร็จของระบบการเกษตรของประเทศญี่ปุ่น

สตรอเบอรี่พันธุ์เนียวโฮ เป็นลูกผสมจากจังหวัดโตชิกิ Toshigi
  1. พันธุ์พืช… พันธุ์พืช หมายถึง พันธุกรรมพืชที่ผ่านการวิจัย คัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี ผู้บริโภคให้การยอมรับ เกษตรกรจะเข้มงวดกับพันธุ์พืชที่ตนเองต้องนํามาปลูกมาก เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะรายได้ของเกษตรกรขึ้นอยู่กับการประมูลสินค้าที่ตลาดขายส่งสินค้าและผู้บริโภคก็ต้องการบริโภคผักผลไม้ที่มีมาตรฐานสูง คือต้องอร่อยและมีคุณภาพดี ยกตัวอย่าง เช่น ในการปลูกสตรอเบอรี่ เกษตรกรจะเลือกใช้พันธุ์ยอดนิยม เช่น พันธุ์โตโยโนกะ หรือพันธุ์เนียวโฮ ซึ่งเป็นลูกผสมที่ได้มาจากจังหวัดโทชิกิ หรือเลือกปลูกสตรอเบอรี่สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคชื่นชอบ หรือหากเป็นสายพันธุ์องุ่น เกษตรกรก็จะเลือกปลูกองุ่นพันธุ์ที่ผู้บริโภคชอบรับประทาน เช่น พันธุ์เคียวโฮ ที่มีผลโตสีดำ เปลือกหนา รสชาติหวานอร่อย หรือเช่นพันธุ์อะกิ ควีน ที่มีผลโต สีชมพู มีกลิ่นหอมและหวานอร่อย หากเป็นพวกพืชผัก เมล็ดพันธุ์ที่จะใช้ปลูกก็จะต้องเลือกเมล็ดพันธุ์ลูกผสม ชั่วที่ 1 หรือเรียกว่า F1 Hybrid หรือพันธุ์การค้าที่ผู้บริโภคชื่นชอบ
  2. ต้นพันธุ์ดี… ต้นพันธุ์ที่ดีควรมีคุณสมบัติตรงตามสายพันธุ์ ปลอดโรค มีความแข็งแรงและสม่ำเสมอเหมือนๆ กันทุกต้น วิธีการผลิตต้นพันธุ์จึงขึ้นอยู่กับชนิดพืช เช่น ที่ประเทศญี่ปุ่น ต้นพันธุ์องุ่น เขาจะใช้วิธีเสียบยอดกับต้นตอที่มีระบบรากที่แข็งแรงและหาอาหารเก่ง ซึ่งจะทำให้ต้นองุ่นมีอายุยืนนานให้ผลผลิตสูง หรือหากเป็นต้นพันธุ์สตรอเบอรี่เกษตรกรจะเลือกใช้ต้นพันธุ์ที่ผลิตมาจากวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ พืชที่ปราศจากเชื้อไวรัส เพราะสตรอเบอรี่ที่ติดไวรัสจะให้ผลผลิตต่ำ รูปทรงผลไม่สวย และไม่อร่อย สำหรับพืชผัก เช่น มะเขือเทศ เขาก็จะใช้วิธีเสียบยอดพันธุ์ดีบนต้นตอที่แข็งแรงและหาอาหารเก่ง ซึ่งเกษตรกรสามารถทําได้เองหรือใช้บริการจากหน่วยงานราชการที่หลายหน่วยงานให้บริการเสียบยอด โดยใช้หุ่นยนต์เสียบยอดแทนการใช้คน การเสียบยอดแบบนี้ ยังใช้กับพวก เมล่อน แตงกวาญี่ปุ่น แตงโม และมะเขือม่วงญี่ปุ่นอีกด้วย
  3. โรงเรือนปลูกพืช… อุปสรรคสำคัญของการทำการเกษตรในประเทศญี่ปุ่นคือ สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องพายุฝน ลมพัดกระหน่ำ ความหนาวเย็นและหิมะ โรงเรือนปลูกพืชคือตัวช่วยที่สำคัญที่สามารถป้องกันได้ทุกอย่าง ภายในโรงเรือนเกษตรกรสามารถควบคุมสภาพแวดล้อม เช่น แสง อุณหภูมิ ความชื้น แร่ธาตุอาหารได้ตามต้องการ พืชที่นิยมปลูกในโรงเรือนมีหลายชนิด เช่น สตรอเบอรี่ เมล่อน มะเขือเทศ และผักรับประทานใบอายุสั้น (ต้นหอม ผักสลัด ปวยเล้ง และมิซึบะ ซึ่งบางท่านเรียก ผักชีญี่ปุ่น) ส่วนวิธีการปลูกก็มีทั้งการปลูกโดยใช้ดิน และอีกแบบคือ การปลูกแบบไม่ใช้ดิน (ไฮโดรโปนิกส์) ในอดีตนานมาแล้ว เกษตรกรญี่ปุ่นก็ใช้โรงเรือนที่มีโครงสร้างจากไม้ไผ่เช่นกัน เมื่อประเทศมีความเจริญทางอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โครงสร้างโรงเรือนก็เปลี่ยนมาเป็นโลหะหรือวัสดุสังเคราะห์แบบต่างๆ
การเสียบยอดต้นพันธุ์มะเขือเทศ เมล่อน และแตงกวาด้วยหุ่นยนต์ ทํางานได้ 800 ต้น ต่อชั่วโมง

นอกจากนี้ ก็ยังมีการนำเทคโนโลยีโรงเรือนจากประเทศแถบยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ มาประยุกต์ใช้ด้วย ซึ่งผู้เขียนขอกล่าวถึงเรื่องการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดินในโรงเรือนของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพอจะสรุปได้เป็น 2 แบบ คือ

แบบที่ 1 เป็นการปลูกแบบใช้วัสดุพยุงรากไม่ให้ต้นโค่นล้ม เช่น ใช้เพอร์ไลต์หรือเวอร์มิคูไลต์ นิยมใช้กับพืชที่มีผล เช่น มะเขือเทศ สตรอเบอรี่ หรือเมล่อน

โรงเรือนปลูกพืช ในภาพเป็นสตรอเบอรี่

แบบที่ 2 ก็คือ การปลูกแบบที่ระบบรากแช่ลงในสารละลายหรือรับสารละลายโดยตรง นิยมใช้กับพวกผักรับประทานใบ เช่น ผักสลัด ปวยเล้ง หรือต้นหอม ประโยชน์จากการปลูกพืชโดยวิธีนี้ก็คือ พืชจะตอบสนองต่อการปลูก เจริญเติบโตเร็ว ให้ผลผลิตสูง ในกรณีของพืชผักรับประทานใบ เช่น ปวยเล้ง ก็สามารถเก็บผลผลิตได้รวดเร็วหลายรุ่น เมื่อเทียบกับการปลูกโดยใช้ดิน เกษตรกรญี่ปุ่นเชี่ยวชาญการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินมาก รวมทั้งเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี จึงมีการนำอุปกรณ์ทุ่นแรงแบบต่างๆ มาช่วยงานของเกษตรกร เพื่อให้ทำงานได้ง่ายและรวดเร็ว

ปวยเล้ง ปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์

เช่น เกษตรกรรายหนึ่งของจังหวัดไซตามะ ประสบปัญหาเรื่องแรงงาน จึงนําหุ่นยนต์ที่มีลักษณะเป็นแขนยาวๆ มาช่วยในการหยอดเมล็ดและปลูกต้นอ่อนผักมิซือบะในโรงเรือน ช่วยให้มีการผลิตสินค้าได้หลายตันต่อวัน และถึงแม้จะเป็นผู้นําในด้านเทคโนโลยีการปลูกพืชแบบไม่ใช้ดินของเอเชีย และติดอันดับโลกในเรื่องดังกล่าวก็ตาม นักวิจัยชาวญี่ปุ่นก็ยังไม่หยุดคิดเพื่อให้ผลผลิตมีมาตรฐานสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่น รายงานการเพิ่มผลผลิต มะเขือเทศที่ประเทศญี่ปุ่นผลิตได้ เฉลี่ยประมาณ 20 ถึง 25 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร เขาก็พยายามปรับปรุงวิธีการผลิตให้ดีขึ้นโดยพัฒนาหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องพันธุ์มะเขือเทศ การจัดการสภาพแวดล้อม การปรับปรุงสูตรธาตุอาหารในการปลูกเลี้ยง ผลปรากฏว่าสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากถึง 50 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร

โรงคัดผลผลิตของสหกรณ์การเกษตร JA ที่จังหวัดไซตามะ ในภาพกําลังคัดมะเขือเทศ (ที่ข้างกล่องจะเห็นตัวอักษร JA)

และอีกเรื่องหนึ่งคือ การปรับปรุงวิธีการปลูกพืชผักในสารละลายให้สามารถปลูกได้ในห้องที่มีผนังทึบหรือในอาคารสำนักงาน โดยเขาปลูกผักเป็นชั้นเรียงซ้อนเว้นระยะห่างกันขึ้นไปทางสูงติดหลอดไฟ แต่ละชั้นเพื่อให้พืชสังเคราะห์แสง ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และสภาพแวดล้อมที่จําเป็น ปรากฏว่าประสบความสำเร็จ ผักต่างๆเจริญเติบโตได้ดี วิธีการนี้ ทำให้คิดได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ การผลิตพืชผักผลไม้ เช่น สตอเบอรี่ เมล่อน มะเขือเทศ หรือแม้แต่หน่อไม้ฝรั่งหรือผักรับประทานใบหลากหลายชนิด จะถูกผลิตด้วยระบบวิธีการแบบนี้ และสามารถพัฒนาวิธีการผลิตจนเลี้ยงดูประชากรในตึกหรือในอาคารได้อย่างเพียงพอ โดยที่มนุษย์ไม่ต้องออกไปไหน หรือนี่จะเป็นการปฏิวัติเขียวของมนุษยโลกอีกครั้งหนึ่งละกระมัง

นักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ กําลังพิจารณาลูกผสมผักปวยเล้ง ที่จังหวัดอิบารากิ
  1. สหกรณ์การเกษตร… เกษตรกรญี่ปุ่นส่วนใหญ่มากกว่า 90% จะเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตร หรือ JA (Japan Agricultural Cooperation) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของสมาชิกเกษตรกรทั่วประเทศ จัดตั้งภายใต้กฎหมายสหกรณ์การเกษตร JA ทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตจากสมาชิกทั่วประเทศ จากนั้นจึงคัดแยกและจัดทำระบบส่งสินค้าไปสู่ตลาดขายส่ง การซื้อขายที่ตลาดขายส่งทำโดยระบบการประมูลสินค้า JA จะได้รับผลตอบแทนเป็นค่าดำเนินการเป็นส่วนแบ่งจากยอดขายสินค้า เปรียบเสมือนพ่อค้าคนกลางนั่นเอง หน้าที่สำคัญของ JA มีทั้งเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้ผลผลิตที่เกษตรกรผลิตได้มีมาตรฐานสูง และต้องขายได้จริงเพื่อสร้างรายได้ที่ดีให้แก่เกษตรกรและเป็นผลดีต่อธุรกิจของ JA ด้วย นอกจากนี้ ยังดำเนินธุรกิจอีกหลายด้าน เช่น บริการขายปุ๋ยเคมี ขายอุปกรณ์การเกษตร คัดแยกและแปรรูปผลผลิต บริหารจัดการระบบการตลาด สินเชื่อ รับประกันภัย JA มีหน่วยงานครอบคลุมตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับปรเทศ
สินค้าต่างๆ ที่ตลาดโอตะ

5.ตลาดขายส่งสินค้าเกษตร… (Wholsale market) ตลาดเหล่านี้มีมากกว่า 80 แห่ง ทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะตามเมืองสำคัญ เช่น โตเกียว โกเบ โอซาก้า ฟูคุโอกะ และฮอกไกโด เฉพาะกรุงโตเกียวก็มีตลาดขายส่งมากกว่า 10 ตลาด เช่น ตลาดโอตะ ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดขายส่งขนาดใหญ่ อยู่ติดกับอ่าวโตเกียว ใกล้สนามบินนานาชาติฮาเนดะ สินค้าที่จำหน่ายมีทั้งนำเข้าจากต่างประเทศ และผลิตในประเทศ ตลาดแห่งนี้มีสินค้าเกษตรและอาหารแทบทุกชนิด แบ่งแยกพื้นที่การซื้อขายชัดเจน เช่น พื้นที่ของตลาดไม้ดอกไม้ประดับ ตลาดอาหารทะเล ตลาดผักและผลไม้ สินค้าที่ผู้ซื้อประมูลไปแล้วจะถูกลำเลียงไปยังปลายทางตามเมืองต่างๆ และส่งตามซูเปอร์มาร์เก็ต นอกจากนี้ ในพื้นที่ของตลาดก็ยังมีพื้นที่สำหรับจัดจำหน่ายสินค้าที่ถูกประมูลแล้ว แบ่งขายให้กับร้านค้าย่อยๆ มาเลือกซื้อสินค้าไปจำหน่ายต่อได้อีกด้วย

สหกรณ์และเกษตรกรกําลังประชุมเรื่องผลผลิต ลูกเกาลัด ที่โรงคัดแยกเกาลัด จังหวัดไซตามะ

นโยบายการเกษตรของประเทศมีส่วนสำคัญต่อทิศทางการผลิตทางการเกษตร สินค้าที่ผลิตเกินความต้องการก็ไม่จำเป็นต้องผลิต เช่น ญี่ปุ่นผลิตข้าวได้เพียงพอต่อการบริโภคและไม่มีนโยบายส่งออก ปัจจุบัน ผู้บริโภคหันไปบริโภคอาหารพวกราเมงหรือขนมปังเพิ่มขึ้น และบริโภคข้าวลดลง รัฐบาลก็ใช้ระบบจูงใจให้เกษตรกรลดพื้นที่การปลูกข้าว โดยให้เป็นเงินอุดหนุนจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรจะเลือกปลูกพืชอะไรที่ต้องการ เช่น ต้องการข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และถั่วเหลือง เป็นต้น ผู้เขียนนึกถึงงานภาคการเกษตรบ้านเรา ที่ระบบการผลิตระบบการตลาดยังไม่ชัดเจน มีหลายเรื่องควรได้รับการปรับปรุง จึงหวังว่าบทความนี้อาจจะมีประโยชน์ในบางแง่มุมของการพัฒนางานการเกษตรของบ้านเราต่อไป

สินค้าที่ตลาดขายส่งโอตะ กรุงโตเกียว มีมาจากต่างประเทศหลายอย่าง

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่