ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านสาว เมืองย่าโม เลี้ยงหนูนาระบบปิด ทำรายได้หลักหมื่น

อำเภอเทพารักษ์ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา ที่ตั้งอยู่ห่างไกลตัวจังหวัดมากกว่า 200 กิโลเมตร ค่อนมาทางจังหวัดสระบุรีมากกว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ของอำเภอเทพารักษ์ ประกอบอาชีพทำไร่ เป็นไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย และไร่ข้าวโพด

คุณประเทือง มั่นคง จับแม่พันธุ์หนูนาโชว์

คุณเนตรนภา มั่นคง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 บ้านวังทรายทอง ตำบลหนองแวง อำเภอเทพารักษ์ จังหวัดนครราชสีมา ก็เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ทำไร่ข้าวโพดและไร่มันสำปะหลัง ตามเกษตรกรส่วนใหญ่และพื้นที่ที่อำนวย

เมื่อต้นปี 2562 คุณเนตรนภาและสามีคือ คุณประเทือง มั่นคง เริ่มมองความแตกต่างในอาชีพ ต้องการหารายได้เสริมจากการทำไร่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากยูทูป และสนใจการเลี้ยงหนูนา จึงเริ่มหาแหล่งซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาเป็นต้นทุนของฟาร์ม สรุปไปได้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากอำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา ฟาร์มใหญ่ที่เจ้าของฟาร์มแจ้งไว้ว่า หากเลี้ยงแล้ว ไม่มีที่จำหน่าย ทางฟาร์มรับซื้อคืนในราคากิโลกรัมละ 150 บาท ยิ่งทำให้คุณเนตรนภาและสามี รู้สึกใจชื้นขึ้นมาก เพราะอย่างน้อย หากเริ่มเลี้ยงไปแล้วประสบภาวะขาดทุนหรือไม่มีที่จำหน่าย ก็ยังมีฟาร์มใหญ่รับซื้อคืน

คุณเนตรนภา มั่นคง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

ราคาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ซื้อมา คู่ละ 750 บาท เริ่มลงทุนครั้งแรกด้วยแม่พันธุ์ 20 ตัว พ่อพันธุ์ 10 ตัว ตามอัตราการคำนวณการผสมพันธุ์ ตัวผู้ 1 ตัว ต่อตัวเมีย 2 ตัว

แรกเริ่ม คุณเนตรนภา ใช้โรงเรือนเลี้ยงไก่เก่าทำเป็นโรงเรือนเลี้ยงหนูนา เพื่อป้องกันลมและฝน จึงลดต้นทุนโรงเรือนลง

แม่พันธุ์หนูนา

บ่อเลี้ยงหนูนา ประกอบด้วย วงปูนซีเมนต์ ฝารองล่าง ฟิวเจอร์บอร์ดแบบเรียบ รวมมูลค่าบ่อเลี้ยง 1 บ่อ ประมาณ 500 บาท วงปูนซีเมนต์ใช้ 2 วง ฝารองล่าง 1 แผ่น จำเป็นต้องรองด้านล่าง เพราะหนูสามารถขุดดินหนีออกไปได้ ฟิวเจอร์บอร์ดแบบเรียบ ขนาดหนา 6 มิลลิเมตร สามารถตัดแบ่งได้ 6 ฝา เพื่อใช้ปิดด้านบนของวงปูนซีเมนต์ บางแห่งใช้สังกะสีปิดด้านบนก็ได้ แต่แนะนำว่าไม่ควรใช้ไม้ เพราะหนูฟันคมจะแทะไม้จนเสียหาย และหนีออกไปได้เช่นกัน

ชี้ให้ดูเพศ

การผสมพันธุ์ บางแห่งใช้อัตราการผสม 1 : 1 แต่คุณเนตรนภา มองว่า หากผสมในอัตรา 1 : 1 จะทำให้แม่พันธุ์ไม่ได้พักและโทรม ทำให้อัตราการให้ลูกไม่มาก เพราะอัตราการให้ลูกมากน้อย ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ด้วย โดยพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์ ควรมีอายุอย่างน้อย 3 เดือนครึ่ง จึงจะเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้ และควรมีความสมบูรณ์ของร่างกาย เพื่อให้ได้จำนวนลูกหนูที่ต้องการ และพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะปลดระวาง ก็ต่อเมื่ออายุประมาณ 3 ปี โดยสภาพของพ่อพันธุ์ที่ไม่ยอมผสมแล้ว จึงปลดระวางลง

โรงเรือนที่ดัดแปลงมาจากโรงเรือนเลี้ยงไก่

การผสมพันธุ์ ปล่อยแม่พันธุ์ 2 ตัว ไว้ในบ่อพร้อมกับพ่อพันธุ์ 1 ตัว หนูนาใช้เวลาตั้งท้อง 25-30 วัน เมื่อลูกอายุครบ 30 วัน ให้แยกลูกออกมา เพื่อให้พ่อพันธุ์ผสมแม่พันธุ์ต่อ

โรงเรือนมีไว้สำหรับวางวงปูนซีเมนต์ ใช้ผสมพันธุ์ แต่หลังจากที่ลูกหนูอายุ 30 วันแล้ว จะเริ่มแยกออกมาเลี้ยงที่บ่อขุน โดยแยกอายุของหนูไว้เป็นชุด เพื่อสะดวกต่อการจับขาย

อาหารหลัก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

เมื่อนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เข้าไปในวงปูนซีเมนต์ ให้จดบันทึกไว้ เพื่อคำนวณวันคลอดและวันแยกลูกหนูออกไปบ่อขุน

ในวงปูนซีเมนต์ จะใช้ฟางและแกลบรองพื้น เพื่อดูดซับของเสียจากหนู มีอิฐบล็อกตัดครึ่ง วางกับพื้น แล้วนำอิฐบล็อกเต็มก้อนวางซ้อน โดยอิฐบล็อกเต็มก้อนจะเจาะรูขนาดเท่ากระป๋อง เพื่อใช้วางกระป๋องที่ใส่น้ำไว้ให้หนูกิน ซึ่งด้านล่างของอิฐบล็อกก้อนที่ตัดครึ่ง จะเป็นที่หลบของหนูที่อาศัยอยู่ในวงปูนซีเมนต์นั้น

บ่อหนูขุน

หลังการผสมพันธุ์ เมื่อหนูคลอดลูกแล้ว ไม่ควรเปิดดูจนกว่าจะเลยระยะเวลาคลอดอย่างน้อย 7 วัน เพราะสัญชาตญาณหนูเป็นสัตว์ระวังภัยสูง หากรู้สึกไม่ปลอดภัยจะกัดลูกตาย ในผู้เลี้ยงมือใหม่ที่ไม่รู้อาจจะสูญเสียลูกหนูจากตรงนี้ได้

“อาหารของหนู ในหนูอายุ 1-2 เดือน ที่แยกมาไว้บ่อขุน จะให้อาหารหมูเบอร์ 1 หลังจากลูกหนูอายุ 2 เดือนขึ้นไป จะให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย หญ้าเนเปียร์ กล้วย ผัก แล้วแต่จะสามารถหาอาหารชนิดใดได้ แต่อาหารหลักของหนูนาในฟาร์มของคุณเนตรนภา คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่วนพืชชนิดอื่น คุณเนตรนภา จะให้สัปดาห์ละครั้งตลอดวัน โดยไม่ปนกับพืชอื่น ถือเป็นการให้อาหารเสริมกับหนู

ลูกหนู อายุไม่ถึง 10 วัน

ในแต่ละวัน คุณเนตรนภาและคุณประเทือง ยังคงไปทำไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลังตามเดิม และใช้เวลาวันละประมาณ 1 ชั่วโมงในการดูแลฟาร์มหนูนา โดยเข้ามาให้อาหารและเปลี่ยนน้ำ ทุกครั้งที่ให้อาหารและเปลี่ยนน้ำ จำเป็นต้องสวมถุงมือหนา ป้องกันหนูกัด และมีไม้คีบยาว สำหรับคีบกระป๋องน้ำออกมาเปลี่ยน และสำรวจสัตว์เล็กๆ หรือแมลงจำพวกมด หากพบให้กำจัด และควรป้องกันสัตว์มีพิษและแมลงด้วยการใช้ชอล์กกันแมลงขีดรอบวงบ่อซีเมนต์ และใช้แป้งกำจัดเห็บ หมัด ตามพื้นไว้ด้วย ทั้งนี้ ความสะอาดภายในวงปูนซีเมนต์ก็มีความสำคัญ ไม่ควรปล่อยให้เกิดกลิ่นอับหรือชื้น จึงควรเปลี่ยนพื้นรองก้นบ่อใหม่อย่างน้อยเดือนละครั้ง โดยพื้นรองก้นบ่อเดิม สามารถนำไปเลี้ยงไก่ได้

จดบันทึกไว้บนบ่อ

ที่บ่อขุน จะเป็นการก่ออิฐบล็อกและมีฝาปิดเปิดได้กว้าง มีที่ให้น้ำเหมือนอุปกรณ์ให้น้ำสัตว์ฟันแทะอื่น ลูกหนูที่อยู่ระหว่างการขุน จะมาเลียน้ำกินเอง และกินอาหารตามที่ให้ไว้ เลี้ยงไว้อย่างนั้น กระทั่งอายุประมาณ 3 เดือน จะจับขายได้

หนูนาผัดเผ็ด

หากหนูมีโครงสร้างสวย ลักษณะดี จะคัดไว้ทำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และจำหน่ายในราคาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ คู่ละ 600 บาท ส่วนหนูเนื้อที่ทำแล้วพร้อมนำไปประกอบอาหาร จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 250 บาท ส่วนขนาดของหนูที่ตลาดต้องการมี 2 ขนาด คือ จำนวนหนู 2 ตัว ต่อกิโลกรัม หรือจำนวนหนู 3 ตัว ต่อกิโลกรัม หรือขนาดที่ตลาดต้องการ น้ำหนักต่อตัวของหนูอยู่ที่ 5-6 ขีด

กระป๋องนมใช้แล้ว เอาไว้ใส่น้ำ

และหากมีลูกค้าซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไป จะแจ้งลูกค้าไว้ว่ารับซื้อคืนในราคากิโลกรัมละ 150 บาท เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่า ตลาดหนูนา ยังไปได้ดีแน่นอน

หนูนาอบ

“ผมเคยคิด ถ้าเราเพาะแล้วไม่มีที่ขายจะทำไง แต่ฟาร์มใหญ่ที่ซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มา เขารับซื้อคืนในราคากิโลกรัมละ 150 บาท มารับซื้อถึงที่ แต่ต้องมีจำนวนหนูไม่น้อยกว่า 100 ตัว ซึ่งฟาร์มใหญ่ที่รับซื้อคืนนี้ มีตลาดลูกค้าขายส่งไปที่ สปป.ลาว ตลาดลาวยังต้องการอีกมาก ส่วนในไทยที่ผมขายอยู่ตอนนี้ พ่อพันธุ์แม่พันธุ์มีลูกค้ามาซื้ออย่างต่อเนื่อง ส่วนหนูเนื้อที่ทำพร้อมประกอบอาหาร ผมส่งตามร้านขายอาหารในพื้นที่นครราชสีมา”

สภาพภายในวงปูนซีเมนต์

คุณเนตรนภา บอกว่า ภาคอีสานของไทย นิยมกินหนูนากันมาก และหนูนาที่เลี้ยงเป็นระบบปิด ไม่ต้องกังวลเรื่องความสะอาด และสามารถนำไปประกอบอาหารได้ทั้ง คั่ว อบ แกงอ่อม แกงคั่ว หมก และหนูนากินได้ทุกส่วน โดยเฉพาะส่วนหัวหากตัดช่วงฟันออกไป จะมีเนื้อเยอะกว่าบริเวณอื่น

ที่ใส่หนูนา ใช้เมื่อจับหนูเป็น

เมื่อถามถึงการทำหนูนาก่อนขายเป็นหนูเนื้อ พร้อมประกอบอาหาร คุณเนตรนภา บอกว่า จับมาทุบหัวก่อน ระหว่างนั้นต้มน้ำ นำมือไปจุ่มให้รู้สึกถึงความอุ่นของน้ำ ไม่ต้องร้อน ก็ให้นำหนูจุ่มลงไปทั้งตัว จากนั้นลองดึงขนดู หากขนหลุดปกติก็รูดขนได้ แต่ถ้าขนยังไม่หลุดให้นำลงไปจุ่มกับน้ำอุ่นอีกรอบ หลังรูดขนทิ้งแล้วต้องนำมีดโกนมาแต่งบริเวณที่ถอนขนไม่เกลี้ยงให้เกลี้ยง แล้วนำไปลนไฟ จากนั้นผ่าท้องเอาเครื่องในออกทิ้ง เหลือเพียงมันกับตับไว้ และเหตุผลที่ไม่ควรจุ่มหนูลงในน้ำร้อน เพราะจะทำให้หนังหลุด เพียงเท่านี้ก็จำหน่ายได้ราคากิโลกรัมละ 220-250 บาทแล้ว

ตลอดการเลี้ยงหนูนาระยะเวลา 1 ปีเศษที่ผ่านมา เริ่มที่พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ 30 ตัว ปัจจุบันขยายเป็น 200 ตัว แบ่งเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ประมาณ 150 ตัว ค่าอาหารต่อเดือนในการเลี้ยงหนูนา คิดที่ จำนวน 150 ตัว อยู่ที่ 1,000 บาท อื่นๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร ทำให้คุณเนตรนภาและคุณประเทือง มีรายได้เสริมที่ทำเงินมากกว่าการทำไร่ ที่เป็นรายได้หลักไปแล้ว

หนูขุน

สนใจการเพาะเลี้ยงหนูนาเป็นอาชีพ ทางคุณเนตรนภา และคุณประเทือง ยินดีให้คำปรึกษา ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ หมู่ที่ 13 บ้านวังทรายทอง ตำบลหนองแวง อำเภอเทพารักษ์ จังหวัดนครราชสีมา โทรศัพท์ (092) 709-2642 หรือ (080) 639-8732

อีก 2 เดือนก็จับขายได้แล้ว

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 31 พ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่