คอกาแฟสะดุ้ง สุ่มพบสารมะเร็ง เหตุเก็บที่ชื้น-ใช้ช้อนเปียกน้ำตัก อัดงบฯ 3 พันล. ตรวจเข้มผักปนเปื้อน

กระทรวงเกษตรฯ ทุ่มงบฯ 3 พันล้าน ลุยตรวจเข้ม ‘พืช-สัตว์’ ปนเปื้อนสารเคมีเกินค่าปลอดภัย หวังยกระดับมาตรฐานเกษตรสู่ความยั่งยืน เผยพบกาแฟมีสารก่อมะเร็งตกค้างจำนวนมาก เหตุเก็บรักษาในที่มีความชื้น ใช้ไม่ถูกวิธี เอาช้อนเปียกน้ำตักผงกาแฟ

นางสาวชุติมา บุญยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปี 2560 กระทรวงเกษตรฯ จะเฝ้าระวังสารตกค้าง และปนเปื้อนในสัตว์และพืช จำนวน 130,000 ตัวอย่าง เพิ่มขึ้นประมาณ 10% ภายใต้งบประมาณมากกว่า 3,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีการตรวจและเฝ้าระวังสารตกค้างและปนเปื้อน ประมาณ 110,000 ตัวอย่าง มีการตรวจพบสารปนเปื้อนหรือสารเคมีเกินมาตรฐาน ประมาณ 7% ซึ่งการตรวจสอบและเฝ้าระวัง แบ่งเป็นตรวจสอบพืช 20,000 ตัวอย่าง ปศุสัตว์ จำนวน 30,000 ตัวอย่าง และประมง 80,000 ตัวอย่าง เพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตร ตามนโยบายปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืน ดังนั้น เพื่อสร้างการรับรู้เรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร ระหว่างวันที่ 1-7 เมษายน นี้ กระทรวงเกษตรฯ จะออกสุ่มตรวจตัวอย่างอาหาร เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริดโภค ต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ที่คนไทยต้องเฉลิมฉลอง หากมีสารเคมีปนเปื้อนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย และนักท่องเที่ยวได้

“หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ต้องเร่งสุ่มตรวจการใช้สารเคมีเกินมาตรฐาน หรือการตกค้างของสารเคมีที่จะนำมาบริโภค ที่อาจก่อให้กิดความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภค จึงมีการสุ่มตรวจตัวอย่าง พืช สินค้าประมง ปศุสัตว์ อาทิ หมู ไก่ พริก มะเขือเทศ ผัก ผลไม้ หรือแม้แต่กาแฟที่คนไทยจำนวนมากกำลังนิยมบริโภค ก็มีการตรวจพบว่ามีสารก่อมะเร็งตกค้างอยู่จำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเก็บรักษาในที่มีความชื้นหรือวิธีการใช้ไม่ถูกต้อง โดยพบหลายคนเอาช้อนที่เปียกน้ำลงไปตักผงกาแฟเพื่อมาชง ส่งผลให้เกิดความชื้นและที่สุดก็ก่อให้เกิดสารมะเร็งที่คนไทยมองข้าม” นางสาวชุติมา กล่าว

นางสาวชุติมา กล่าวว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์การยกระดับมาตรฐานการเกษตรสู่ความยั่งยืนคือ การจัดทำยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ที่ยกร่างเสร็จแล้วจะมีการประกาศใช้ช่วงเดือนเมษายน 2560 หลังจากเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจัดทำแผนปฏิบัติการ ปี 2561 รวมทั้งเตรียมงบฯ ปี 2562 ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ประกอบด้วย 1. ข้าวจะมีการสร้างชุมชนต้นแบบข้าวอินทรีย์ 10 แห่ง และสนับสนุนศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ในพื้นที่ให้ทำข้าวอินทรีย์ โดยการดำเนินการส่งเสริมในลักษณะกลุ่มครบวงจรทั้งผลิต แปรรูป บรรจุภัณฑ์ ฉลากจับคู่ให้กลุ่มเดิมดูแลกลุ่มใหม่ เป้าหมาย 100 กลุ่ม รวมทั้งการสร้างเครือข่ายอินทรีย์ พร้อมขับเคลื่อนข้าวอินทรีย์แปลงใหญ่ 4 แปลง ที่จังหวัดยโสธร

นางสาวชุติมา กล่าวว่า 2. พืชหลังนา ปศุสัตว์ ประมง เน้นพื้นที่เกษตรอินทรีย์เดิม โดยจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ ฟาร์มสาธิตเกษตรอินทรีย์พร้อมทั้งให้ความรู้ และสนับสนุนปัจจัยแรกเริ่มในกรณีของปศุสัตว์และประมงผ่านศูนย์เป้าหมาย รวม 34 แห่ง และสร้างองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ใน ศพก. ที่มีอยู่ 38 แห่ง สร้างชุมชนต้นแบบเกษตรอินทรีย์ พืชอื่น 7 แห่ง 3. กลไก และสถาบันเกษตรอินทรีย์จะดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการจัดตั้งสถาบันกลางเกษตรอินทรีย์ในปีงบประมาณ 2561 4. โครงการรับรองสถานที่จำหน่ายเกษตรอินทรีย์ในเดือนเมษายน จะมีการออกหลักเกณฑ์การรับรองสถานที่จำหน่ายเกษตรอินทรีย์ และตรวจสถานที่จำหน่ายเกษตรอินทรีย์ จำนวน 10 แห่ง

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน