ชาใบบัวบก เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ

เมื่อพูดถึงอาการช้ำใน หลายคนนึกถึง “ใบบัวบก” พืชสมุนไพรพื้นบ้าน ที่มีคุณสมบัติพิเศษคือ ส่วนของใบและราก รสและสรรพคุณยาไทย จะมีกลิ่นหอม รสขมเล็กน้อย โบราณว่าแก้อ่อนเพลีย เมื่อยล้า แก้ร้อนใน แก้โรคความดันโลหิตสูง ปัจจุบันมีการนำไปแปรรูปบัวบกเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ การบริโภคใบบัวบกภายในประเทศส่วนมากมักจะนำไปกินสด เป็นผักจิ้มน้ำพริก หลายคนนิยมนำใบบัวบกไปคั้นน้ำ ดื่มเพื่อบำรุงสุขภาพ

ใบบัวบกเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ เนื่องจากในใบบัวบกประกอบด้วยวิตามิน บี 1 บี 2 และ บี 6 ในปริมาณสูง นอกจากนี้ ยังทำให้ร่างกายหลั่ง GABA (gamma-aminobutyric acid) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งในปริมาณที่มากขึ้นด้วย

เนื่องจากใบบัวบกที่กินสดนั้นมีความขม เฝื่อน ทำให้กินได้ยาก และมีอายุการเก็บรักษาที่น้อย ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษา มทร.ธัญบุรี ประกอบด้วย คุณกนกภรณ์ เกาะเกตุ คุณสุกัญญา กระตุดนาค คุณมุจลินท์ จันมณี จากภาควิชาวิศวกรรมการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โดยมี อาจารย์พฤกษา สวาทสุข เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้ร่วมกันแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม “ใบบัวบก” โดยนำใบบัวบกไปอบด้วยลมร้อน แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชาใบบัวบก เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ทำให้สะดวกและง่ายต่อการกิน แถมยังรักษาคุณประโยชน์และสรรพคุณของใบบัวบกได้เหมือนเดิม

ทีมนักศึกษา มทร.ธัญบุรี ได้ศึกษาคุณค่าและสารอาหารของใบบัวบก สภาวะอุณหภูมิที่เหมาะสมที่ใช้ในการอบแห้งใบบัวบก เปรียบเทียบคุณสมบัติก่อนและหลังอบ โดยศึกษาจากกระบวนการอบแห้งด้วยเครื่องเป่าลมแห้ง เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับกระบวนการผลิตที่เหมาะสมในการผลิต ผลิตภัณฑ์แปรรูปใบบัวบกแห้งเป็นใบบัวบกสำเร็จรูป สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

ผลการทดลองดังกล่าวพบว่า การใช้เครื่องเป่าลมแห้งอบแห้ง ที่อุณหภูมิ 75, 90 องศาเซลเซียส และ 105 องศาเซลเซียส ที่ 3 ระดับความเร็วลม คือ 6.53 m/s, 8.43 m/s และ 8.80 m/s ภายในระยะเวลาการอบ 75 นาที เพื่อนำมาเปรียบคุณสมบัติทางกายภาพและประสาทสัมผัสของน้ำใบบัวบกสดและชาใบบัวบกที่ได้จากการอบแห้งที่ปริมาณความชื้นน้อยกว่า 10% wb พบว่า อุณหภูมิ และเวลาที่ใช้ในการอบมีผลกระทบต่ออัตราการทำแห้ง และส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าสี ในขณะที่ความเร็วลมไม่ส่งผลกระทบต่อค่าดังกล่าวมากนัก

ด้านการทดสอบทางประสาทสัมผัสนั้นเลือกใช้ใบบัวบกที่อบแห้งที่ทุกอุณหภูมิ ทุกระดับความเร็วลม ที่เวลา 45 นาที เปรียบเทียบกับน้ำใบบัวบกสด พบว่า ที่ความเร็วลม 8.43 m/s อุณหภูมิ 75 องศาเซลเซียส มีสีที่สวยกว่า รสชาติที่ดีกว่า และมีกลิ่นหอมมากกว่าน้ำใบบัวบกสดและชาใบบัวบกที่อบด้วยอุณหภูมิและความเร็วลมอื่นๆ

หากใครสนใจ สามารถนำไอเดียดังกล่าวไปแปรรูปชาใบบัวบกเพื่อใช้บริโภคในครัวเรือนหรือนำไปแปรรูปจำหน่ายเชิงการค้า ก็สามารถทำกำไรได้ไม่ยาก เพราะยุคนี้ ใครๆ ก็อยากมีสุขภาพดี ดังนั้น สินค้าชาบัวบก ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ย่อมขายดี เป็นที่ต้องการของตลาดตลอดทั้งปีเช่นกัน

วิธีทำน้ำใบบัวบกแบบง่ายๆ

หากใครสนใจอยากทำน้ำใบบัวบก สามารถทำได้ 2 รูปแบบ คือ แบบคั้นน้ำ และแบบต้มน้ำ

1. คั้นน้ำบัวบกสด เริ่มจากนำบัวบกสดมา 1 กำมือ ตำให้แหลกละเอียด แล้วเติมน้ำ 1 แก้ว คนให้เข้ากัน กรองกากออก คั้นเอาแต่น้ำยาแล้วปรุงรสด้วยน้ำตาล และเกลือนิดหน่อย ช่วยให้ดื่มได้ง่ายขึ้น การปรุงบัวบกแบบนี้ สามารถดื่มได้ครั้งละ 1 แก้ว เป็นประจำทุกวัน

2. ต้มน้ำบัวบก โดยใช้บัวบก 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 3 แก้ว เมื่อยาเดือดแล้ว รี่ไฟให้น้ำยาเดือดอ่อนๆ ต่อไปอีก 15 นาที หรือจนน้ำยางวดลงเหลือ 1 แก้ว น้ำยาที่ได้ใหม่ๆ จะมีสีเหลือง เมื่อเย็นลงจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว มีรสขมมาก อาจเติมน้ำตาลเล็กน้อย ปรุงรสให้กินง่ายขึ้น แนะนำให้กิน ครั้งละ 30 ซีซี วันละ 3 ครั้ง สูตรนี้เมื่อกินเข้าไป ลมหายใจจะมีกลิ่นหอม หัวใจชุ่มชื่น ไม่ควรกินยาต้มบัวบกมากเกินไป เพราะอาจเกิดพิษข้างเคียงได้

เผยแพร่ครั้งแรกวันพฤหัสที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2563

…………………………………..

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิงก์ https://shorturl.asia/0zJwQ 📲– Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354