เผยแพร่ |
---|
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานร้านสหกรณ์จังหวัดตราด จำกัด ทั้ง 2 สาขา โดยมีนายณัฐพงษ์ สงวนจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด นายสุภาพ เกิดบุญ สหกรณ์จังหวัดตราด หัวหน้าส่วนราชการ และนายเอกพนธ์ ภิรมย์ภักดิ์ ประธานกรรมการดำเนินการร้านค้าสหกรณ์จังหวัดตราด จำกัด พร้อมด้วยคณะกรรมการให้การต้อนรับ ณ ร้านสหกรณ์จังหวัดตราด จำกัด
ร้านสหกรณ์จังหวัดตราด จำกัด เป็นอีกหนึ่งสหกรณ์ที่ได้เริ่มทำซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ หลังจากได้เข้าอบรมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้เชิญวิทยากรที่มีความรู้ ความชำนาญด้านธุรกิจเกี่ยวกับซูเปอร์มาร์เก็ต มาสอนปละให้คำแนะนำวิธีการจัดพื้นที่จำหน่ายสินค้า การคัดเลือกสินค้าเพื่อให้ตรงกับที่ผู้บริโภคต้องการ การกำหนดราคาขาย การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การจัดกิจกรรมสินค้าตามเทศกาล เช่น เทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ฯลฯ ภายหลังที่เข้าร่วมโครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ร้านสหกรณ์จังหวัดตราด จำกัด ได้จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งภายในร้านเป็นมุมของซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์โดยเฉพาะ และมีการเชื่อมโยงเครือข่ายกับสหกรณ์ผู้ผลิตสินค้าภายในจังหวัดตราด และจากจังหวัดอื่น ๆ ส่งสินค้ามาวางจำหน่าย เช่น กุ้งแช่แข็ง จากสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งตราดยั่งยืน จำกัด ข้าวหอมมะลิจากสหกรณ์การเกษตรมหาชนะชัย จำกัด จังหวัดยโสธร ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาฟาร์ม และข้าวไรซ์เบอร์รี่จากสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด นมพร้อมดื่มจากสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) และสหกรณ์โคนมเชียงใหม่ จำกัด ไข่ไก่ จากสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด
นอกนี้ยังช่วยส่งเสริมให้สมาชิกเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของร้านสหกรณ์ ได้มีช่องทางในการจำหน่ายผักผักไฮโดรโปนิกผักปลอดภัยและผักสวนครัว เช่น กวางตุ้ง คะน้า ผักบุ้ง กะเพรา ฟักทอง เป็นต้น ผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับสมาชิกเกษตรกรในชุมชน ไม่น้อยกว่า 15 ราย มีรายได้วันละ ไม่ต่ำกว่า 300 – 500 บาท ต่อวัน
ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัดตราด สนใจสินค้าประเภทข้าว ผักสด นมพร้อมดื่ม และสินค้าอาหารทะเลแปรรูป “การร่วมมือและผนึกกำลังของสมาชิกสหกรณ์ให้เข้มแข็ง เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาและต่อรองทางการค้า รวมถึงการมีสินค้าที่หลากหลาย มีคุณภาพก็จะเป็นแรงจูงใจให้กับผู้บริโภค เข้ามาจับจ่ายในสหกรณ์นั้นๆ ซึ่งมองว่าซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ของจังหวัดตราด มีความเข้มแข็ง มีสินค้าขายส่งที่หลากหลาย หากเพิ่มผักสดและผลไม้เข้ามาจำหน่ายในร้านสหกรณ์ ก็จะช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์เพิ่มขึ้นด้วย
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว โครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ เกิดจากแนวคิดของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการให้สหกรณ์เป็นศูนย์รวบรวมและจำหน่ายผลผลิตที่มีคุณภาพแก่ประชาชนในราคาที่เป็นธรรมอย่างทั่วถึง ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ ตามแนวคิด “สด สะอาด ปลอดภัย” Fresh From Farm by Co-op สดจากฟาร์มถึงมือคุณ เป็นการขับเคลื่อนนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ภายใต้ความร่วมมือระหว่างเครือข่ายสหกรณ์ผู้ผลิตที่ทำหน้าที่ในการรวบรวม แปรรูป บริหารจัดการสินค้าของสมาชิกเกษตรกร เชื่อมโยงไปสู่ผู้บริโภคผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ที่เป็นร้านค้าจุดจำหน่ายและกระจายสินค้าตรงถึงผู้บริโภค สินค้าที่นำมาวางจำหน่ายจะเป็นผลผลิตจากสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ เน้นสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและปลอดภัย และเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ อาทิ ข้าวสาร ซึ่งมีหลากหลายชนิด ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้อง ข้าวอินทรีย์ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และสินค้าเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น นมพร้อมดื่ม ไข่ไก่ เนื้อโคขุน สินค้าประมงแปรรูป กาแฟ ผลไม้ ผักอินทรีย์ ผักสวนครัว ผักพื้นบ้าน และอาหารแปรรูป ที่ผ่านมา
กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เปิดรับสมัครสหกรณ์ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการและมีความพร้อมที่จะพัฒนาร้านค้าของสหกรณ์ให้เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ มีสหกรณ์ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์จำนวน 88 แห่ง ใน 41 จังหวัด จากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังมีแผนพัฒนาความรู้ในการดำเนินธุรกิจร้านค้าสหกรณ์ในการปรับตัวรองรับการเข้าสู่ยุค New Normal ผ่านระบบอบรมทางไกล รวมถึงจะดำเนินการคัดเลือกซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์ จำนวน 10 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคต่าง ๆ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับร้านค้าสหกรณ์อื่น ๆ ได้เป็นแนวทางในการพัฒนาร้านค้าสหกรณ์ในรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์บริการแก่ประชาชนในอย่างทั่วถึงต่อไป