ที่มา | คิดเป็นเทคโนฯ |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค22 |
เผยแพร่ |
มะม่วง เป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ก้อนโตให้แก่เกษตรกรไทยในแต่ละปี โดยมีอัตราการเติบโตกว่า ปีละ 10% ทำให้มะม่วงเป็นไม้ผลที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในประเทศ กว่า 1.97 ล้านไร่ ผลผลิตรวม 3.12 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,583 กิโลกรัม ต่อไร่ ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 5.42 บาท ต่อกิโลกรัม โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ เฉลี่ย 29.75 บาท ต่อกิโลกรัม นับเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก คุ้มค่ากับการลงทุน จึงเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ที่เกษตรกรหน้าใหม่สนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง
ช่วงฤดูกาลผลิตมะม่วงของประเทศไทย (เมษายน-มิถุนายน) มีปริมาณการส่งออก 117,472 ตัน มูลค่าส่งออก 4,385 ล้านบาท ซึ่งตลาดหลักสำคัญคือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สินค้าขายดีคือ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เป็นสายพันธุ์มะม่วงที่ตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการสูง เนื่องจากลักษณะเด่นของมะม่วงสายพันธุ์นี้ เมื่อผลสุกผิวของเปลือกมีสีเหลืองนวลถึงเหลืองทอง เนื้อสีเหลืองมีกลิ่นหอม เนื้อละเอียดมีเสี้ยนค่อนข้างน้อย รสหวาน ในปี 2562 ไทยส่งออกมะม่วงสดอบไอน้ำไปญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จำนวน 12,136.70 ตัน มูลค่า 1,261.70 ล้านบาท (ที่มา : ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2561)
เทคโนโลยีการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนอกฤดู
ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เล็งเห็นความสำคัญของตลาดมะม่วง จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนอกฤดู ถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรชาวสวนมะม่วงทั่วประเทศ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวมีขั้นตอนการผลิตดังต่อไปนี้ คือ
1. ตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งและควบคุมความสูงของต้นมะม่วง ไว้ที่ 2.5-3 เมตร
2. เร่งการแตกใบอ่อนให้แตกพร้อมกันทั้งต้น โดยการใช้สารไทโอยูเรีย อัตรา 2.5 กิโลกรัม หรือโพแทสเซียมไนเตรต อัตรา 12.5 กิโลกรัม และสาหร่ายสกัด อัตรา 1.5 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วลำต้น
3. ภายหลังจากพ่นสารไทโอยูเรีย หรือโพแทสเซียมไนเตรต ประมวณ 1 สัปดาห์ มะม่วงจะเริ่มแตกตา จากนั้นฉีดพ่นด้วยปุ๋ยทางใบ 30-20 10 อัตรา 3-4 กิโลกรัม และสาหร่ายสกัด อัตรา 1.5 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ทุกๆ 7 วัน
4. ภายหลังการแตกใบอ่อนได้ประมาณ 1 เดือน มะม่วงจะพัฒนาเข้าสู่ระยะเพสลาด ใช้สารแพคโคลบิวทราโซลละลายน้ำเล็กน้อย อัตรา 10 กรัม ต่อเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร (ปริมาณสารออกฤทธิ์ 10% ราดบริเวณรอบๆ โคนต้น)
5. ช่วงสะสมอาหาร ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ 0-52-34 อัตรา 5 กิโลกรัม และแคลเซียม-โบรอน อัตรา 1.5 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร (แคลเซียม ความข้มข้น 22.5%) และโบรอน ความเข้มข้น 0.03%)
6. ภายหลังการราดสารแพคโคลบิวทราโซล ประมาณ 2 เดือน ใบแก่จัดมียอดนูนเห็นได้ชัด เป็นระยะที่เหมาะกับการบังคับให้ออกดอก (การดึงดอก) หรือเมื่อใช้มือกำใบมะม่วงแล้วคลายออก จะเห็นเส้นสีขาวปรากฏขึ้น
7. การฉีดพ่นไทโอยูเรีย หรือโพแทสเซียมไนเตรต เพื่อบังคับการออกดอก โดยการใช้สารไทโอยูเรีย อัตรา 2.5 กิโลกรัม หรือโพแทสเซียมไนเตรต 12.5 กิโลกรัม และสาหร่ายสกัด อัตรา 1.5 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วลำต้น
8. ระยะเดือยไก่ ภายหลังจากการฉีดพ่นสารไทโอยูเรีย หรือโพแทสเซียมไนเตรต ประมาณ 8-12 วัน
– ควรฉีดพ่นสาร NAA ความเข้มข้น 4.5% อัตรา 500 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร เพื่อเพิ่มให้ดอกสมบูรณ์เพศ
– ฉีดพ่น แคลเซียม-โบรอน อัตรา 1.5 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร (แคลเซียม ความเข้มข้น 22.5% และโบรอน ความเข้มข้น 0.75%)
– ฉีดพ่นด้วยปุ๋ยทางใบ 10-52-17 อัตรา 3 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร
– ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงและเชื้อราชนิดดูดซึม
9. ระยะก้างปลา ควรฉีดพ่น ดังนี้
– ฉีดพ่นแคลเซียม-โบรอน อัตรา 1.5 ลิตร ต่อน้ำ 1,000 ลิตร (แคลเซียม ความเข้มข้น 22.5% และโบรอน ความเข้มข้น 0.75%)
– ฉีดพ่นด้วยปุ๋ยทางใบ 10-52-17 อัตรา 3 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร
– ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงและเชื้อราชนิดดูดซึม
10. ระยะดอกบาน หากพบการแพร่ระบาดเพลี้ยไฟ ควรฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลงชนิดดูดซึม ไม่ควรฉีดพ่นแคลเซียม-โบรอน เพราะจะทำให้เกิดดอกพลาสติกและลูกกะเทย (ผลที่ไม่ได้รับการผสมเกสร)
11. มะม่วงจะอยู่ในระยะดอกบาน ควรงดการฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลง และใช้แมลงวันช่วยผสมเกสร โดยมีปลาสดเป็นเหยื่อล่อ
12. ภายหลังดอกบาน ประมาณ 60-67 วัน หรือขนาดเท่าไข่ไก่ ควรฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชและแมลงชนิดดูดซึม จากนั้นห่อผลด้วยกระดาษคาร์บอนชนิดบาง และปิดปากถุงให้สนิท พร้อมทำสัญลักษณ์ เพื่อให้ทราบวันที่ห่อผลและสามารถเก็บผลมะม่วงได้ตามความแก่ที่เหมาะสม
13. การเก็บเกี่ยวมะม่วงเพื่อการส่งออก ควรดูองค์ประกอบ ดังนี้ี
– อายุของผลหลังดอกบาน ประมาณ 110-115 วัน
– การจุ่มในน้ำหรือน้ำเกลือ 2% หากมะม่วงจมน้ำ แสดงว่ามีความแก่หรือสมบูรณ์ที่ 80%
-ไม่พบสะดือบริเวณผลมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
– พบไคลหรือไขนวล บริเวณเปลือกของผล
“ยืดอายุมะม่วง” เพื่อการขนส่งทางเรือ
ในปีนี้ เมืองไทยมีผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจำนวนมาก แต่โชคร้าย เจอผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ทำให้การขนส่งสินค้าทางอากาศโดยสายการบินพาณิชย์มีค่าระวางสินค้าที่แพงขึ้น ทำให้ไทยไม่สามารถส่งออกมะม่วงทางเครื่องบินไปยังตลาดพรีเมี่ยมสำคัญ คือ ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ตามปกติ ทำให้เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและขายได้ราคาต่ำ
โชคดีที่ก่อนหน้านี้ ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท และคณะ ประกอบด้วย รศ.ดร. มาฆะสิริ เชาวกุล นายพุทธพงษ์ สร้อยเพชรเกษม มหาวิทยาลัยนเรศวร ผศ.ดร. รณฤทธิ์ ฤทธิรณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร. ปัณณวิชญ์ ใบกุหลาบ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ได้ร่วมกันศึกษาเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือเชิงพาณิชย์” ภายใต้ทุนวิจัยมุ่งเป้าจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
นวัตกรรมดังกล่าวช่วยยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในสภาพดัดแปลงบรรยากาศ โดยการบรรจุถุงพลาสติก WEB (White ethylene absorbing bag) และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส สามารถยืดอายุการเก็บรักษามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองได้เป็นระยะเวลา 33 วัน จากเดิมที่เก็บรักษามะม่วงได้เพียง 15 วัน โดยถุงพลาสติก WEB ช่วยลดการสูญเสียน้ำ ลดอัตราการหายใจ และลดการผลิตเอทิลีน โดยยังคงรักษาคุณภาพมะม่วงให้อยู่ในระดับที่ได้รับการยอมรับของผู้บริโภค
ก่อนหน้านี้ ทีมคณะวิจัยได้ทดลองส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองทางเรือไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงฤดูร้อน จำนวน 1.2 ตัน เพื่อยืนยันผลการศึกษาด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและวิธีการยืดอายุมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง โดยเริ่มต้นจากคัดเลือกผลผลิตมะม่วงจากสวนที่ได้มาตรฐาน ผ่านการตรวจคุณภาพความแก่ ทำความสะอาด และกระบวนการยืดอายุ ก่อนขนส่งมะม่วงโดยเรือบรรทุกสินค้าเดินทางถึงท่าเรือโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น ใช้ระยะเวลาตั้งแต่เก็บเกี่ยวจนถึงประเทศญี่ปุ่น 20 วัน ผลการทดลองพบว่า มะม่วงทั้งหมดอยู่ในสภาพสดพร้อมจำหน่าย แถมยังคงรสชาติความอร่อยได้ดี เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค
ผลงานวิจัยดังกล่าว ช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถขนส่งมะม่วงทางเรือ โดยมีต้นทุนการขนส่งไม่เกิน 30 บาท ต่อกิโลกรัม นับว่า นวัตกรรมดังกล่าวช่วยลดต้นทุนการขนส่งได้ประมาณ 2 เท่า (ที่หน่วยขนส่ง 10 ตันทางอากาศ เทียบกับ 10 ตันทางเรือ) สามารถแก้ไขปัญหาการส่งออกมะม่วงในภาวะวิกฤต โควิด-19 ได้อย่างดีเยี่ยม
หากเกษตรกรหรือผู้ส่งออกรายใดสนใจนวัตกรรมดังกล่าว หรือต้องการความช่วยเหลือทางวิชาการ สามารถเข้ารับการฝึกอบรมออนไลน์ หรือหากต้องการให้ประสานงานกับผู้ส่งออกและนำเข้าปลายทางในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถติดต่อ ผศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท ได้ที่เบอร์โทร. 081-971-3510 หรือ อีเมล [email protected] ได้ตลอดเวลา
…………..
พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่