เกษตร-พาณิชย์มั่นใจ “CPTPP ”เอื้อประโยชน์การค้า ไม่ทำให้ เกษตรไทยเสียเปรียบต่างชาติ

วันนี้ ( 19 มิ.ย. 63 ) สมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิค (APSA) ร่วมกับ สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย จัดสัมมนาในหัวข้อ “CPTPP: เกษตรไทยเสียเปรียบจริงหรือ?” ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น หลักสี่ กรุงเทพฯ

ทางสมาคมฯ ได้เชิญตัวแทนจากหลายภาคส่วนมาเป็นวิทยากร อาทิ นักปรับปรุงพันธุ์พืช ตัวแทนเกษตรกร ผู้ประกอบการ นักวิชาการ และตัวแทนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความรู้และเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพันธุ์พืชใหม่และการปกป้องสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์พืชภายใต้ข้อกำหนดของ UPOV 1991 ภายใต้กรอบความร่วมมือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ( CPTPP )

นายพรชัย ประภาวงษ์ ผู้อำนวยการส่วนอเมริกาเหนือ สำนักอเมริกา แปซิฟิก และองค์การระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมในเรื่องการค้า การบริการและการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานและกฎระเบียบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก เช่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลไกแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลและนักลงทุนต่างชาติ

หากไทยไม่เข้าร่วม CPTPP จะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก CPTPP จะช่วยขยายโอกาสการส่งออกของประเทศ ช่วยลดกาษีการส่งออก และขยายพื้นที่ตลาดส่งออกสินค้าในกลุ่มประเทศสมาชิกได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มการจ้างแรงงาน เพราะสมาชิก CPTPP จะใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนในด้านต่างๆ

ปัจจุบันเรื่อง CPTPP ของประเทศไทย เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เพราะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ตามลำดับ เช่น การศึกษาประโยชน์-ผลกระทบความตกลง CPTPP ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และรวบรวมความเห็นและผลการศึกษา ส่งให้คณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบ หากผ่านก็ต้องยื่นหนังสือขอเจรจาต่อนิวซีแลนด์ เพื่อเข้ากระบวนการเจรจาความตกลง CPTPP ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการอีกนาน

นางสาวธิดากุญ แสนอุดม ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการคุ้มครองพันธุ์พืช สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า หากไทยเป็นสมาชิก CPTPP พืชป่า พันธุ์พืชท้องถิ่น พันธุ์พืชดั้งเดิม พันธุ์พืชของรัฐ พันธุ์พืชนำเข้า พันธุ์การค้าในตลาด จะไม่มีผลกระทบใดๆ จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว แต่พันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเป็นผลงานของนักปรับปรุงพันธุ์พืชจะได้รับการปกป้องสิทธิ ตามข้อกำหนดของ UPOV 1991 ภายใต้กรอบความร่วมมือ CPTPP

เมื่อไทยเป็นสมาชิก UPOV1991 เกษตรกร สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่ได้รับการขึ้นทะเบียนปกป้องสายพันธุ์ มาปลูกต่อได้ในพื้นที่ของตนเองเพื่อการยังชีพ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพันธุ์ที่จดขึ้นทะเบียนปกป้องพันธุ์ไว้ (มาตรา15.2) แต่หากเกษตรกรต้องการที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้เพื่อทำการขยายพันธุ์และขายเมล็ดที่ได้ หรือขายส่วนขยายพันธุ์ส่วนอื่นๆ เช่น หน่อ กิ่ง ฯลฯจะต้องขออนุญาตจากเจ้าของสายพันธุ์ก่อน ขณะเดียวกัน หากเกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองสายพันธุ์ใหม่ของนักปรับปรุงพันธุ์อย่างถูกต้อง ถือว่าเกษตรกรได้รับอนุญาตให้ใช้เมล็ดพันธุ์เพื่อการเก็บเกี่ยวผลิตภัณฑ์เพื่อขายสำหรับการบริโภค (มาตรา 16) ได้

ดร.ชัยฤกษ์ สงวนทรัพยากร นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กล่าวว่า หากไทยสามารถเข้าร่วม ความตกลง CPTPP นักปรับปรุงพันธุ์พืชของไทยจะได้รับการปกป้องสิทธิภายใต้ ข้อกำหนดของ UPOV 1991 จะช่วยให้วงการเมล็ดพันธุ์มีการพัฒนาสินค้าใหม่ออกมากว่าเดิม ที่ผ่านมา การปรับปรุงเมล็ดพันธุ์พืช เป็นงานที่เหนื่อยยาก และใช้เวลานาน ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจอาชีพด้านนี้ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนนักปรับปรุงพันธุ์ในช่วง 10 ปีหลัง แถมเจอปัญหาการขโมยเมล็ดพันธุ์พืช สร้างความเสียหายต่อวงการค้าเมล็ดพันธุ์ ทำให้หลายบริษัทชะลอการลงทุน แต่หากไทยได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายมากขึ้น ก็จะกระตุ้นให้เอกชนไทยและต่างประเทศสนใจที่จะขยายการลงทุนด้านเมล็ดพันธุ์ในไทยเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

“ อยากบอกเกษตรกรว่า ไม่ต้องกลัวว่า ไทยเป็นสมาชิก ความตกลง CPTPP แล้วจะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์แพง เพราะทุกวันนี้ ตลาดมีเมล็ดพันธุ์หลากหลายชนิด ที่ถูกแพงแตกต่างกันไปหากเมล็ดพันธุ์ชนิดไหน เกษตรกรปลูกแล้ว คิดว่า คุ้มค่ากับการลงทุน ราคาแพงเท่าไหร่ เกษตรกรก็ยอมควักกระเป๋าซื้อ เช่น เมล็ดพันธุ์เมล่อน ทุกวันนี้ มีราคาขายตั้งแต่ก.กละ 2,000-20,000 บาท แตงกวาลูกสั้น ที่วางขายในท้องตลาดมีมากกว่า 30 สายพันธุ์ ราคาขายตั้งแต่ก.ก.ละ 4,800-7,000 บาท มะเขือเทศก็เช่นกัน มีราคาแตกต่างกันตั้งแต่เมล็ดละ 20 สตางค์จนถึงเมล็ดละ 10 บาท ” ดร.ชัยฤกษ์กล่าว

ด้าน ดร.กนกวรรณ ชดเชย ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิคกล่าวสรุปว่า CPTPP ไม่ได้ทำให้เกษตรไทยเสียเปรียบแต่อย่างใด หากซื้อขายเมล็ดพันธุ์พืชอย่างถูกต้องตามกฎหมาย บุคคลที่จะเสียเปรียบจาก กม.ฉบับนี้ คือ คนที่ขโมยเมล็ดพันธุ์ผู้อื่นไปพัฒนาต่อยอดเพื่อประโยชน์ทางการค้า หากเกษตรกรทำการขายต่อเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญา UPOV1991 เพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะถูกดำเนินคดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับเจ้าของพันธุ์พืชที่จะสืบหาข้อเท็จจริงและตัดสินใจว่าจะดำเนินคดีหรือไม่ หากพิสูจน์ว่า เกษตรกรกระทำผิดโดยไม่เจตนา ก็ถือว่าเกษตรกรไม่ผิด และได้รับการคุ้มครองจากการดำเนินคดี