เกษตรกรทุเรียนคุณภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้เฮ ปิดทองฯ เปิดตลาดรับซื้อล็อตแรกหลังโควิด-19 ราคาไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม จับมือเอกชนส่งออกจีน ตั้งเป้าปี 63 รายได้ไม่ต่ำ 160 ล้านบาท

นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า จังหวัดพร้อมสนับสนุนสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ พัฒนาทุเรียนคุณภาพตามศาสตร์พระราชา เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มนำมาสู่ความมั่นคงของอาชีพเกษตรกร โดยการเปิดตลาดกลางรับซื้อจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่จังหวัดยะลา ซึ่งผลผลิตทุเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะทยอยออกช่วงมิถุนายน-กันยายน และในส่วนของยะลา คาดว่าจะมีประมาณ 5.3 หมื่นตันผลผลิตออกสู่ ในส่วนของจังหวัดเองมีเป้าหมายพัฒนาเป็นเมืองแห่งทุเรียนเพราะทุเรียนยะลามีรสชาติดี เนื้อแห้ง ดังนั้น การที่ปิดทองฯ และภาคเอกชนมาดำเนินโครงการในพื้นที่จึงถือเป็นการสนับสนุนที่สำคัญ

นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า โครงการเข้าสู่ปีที่ 3 โดยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ปีแรก 2561 คัดเลือกเกษตรกรเข้าโครงการ 18 ราย ทุเรียน 336 ต้น มีผลผลิตจำหน่าย 33 ตันมูลค่าร่วม 2.3 ล้านบาท ปี 62 เกษตรกรเพิ่มเป็น 664 ราย ทุเรียน 2.2 หมื่นต้น ผลผลิต 1.6 ตัน มูลค่า 80 ล้านบาท ปีนี้ 63 มีเกษตรกร 625 ราย ทุเรียน 2.9 หมื่นตัน ผลผลิตคาดว่าจะมีประมาณ 1,778 ตัน และมีเป้าหมายรายได้ปี 63 ประมาณ 160 ล้านบาท เป็นสองเท่าของปี 62 ทั้งหมดจะส่งให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ซึ่งได้มีการร่วมมือกันในโครงการมาตลอด 3 ปีส่งออกไปประเทศจีน

“ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการของสถาบันที่ประจำการในพื้นที่เข้มงวดและดูแลเกษตรกรอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันปัญหาหนอนเจาะทุเรียน โดยปีที่ผ่านมาพบ 3% ของผลผลิตที่ส่งออก ดังนั้น ในปี 63 ตั้งเป้าว่าต้องไม่มีหนอนเลยหรือเป็นศูนย์ ซึ่งขอให้ช่วยกัน และทุเรียนของโครงการต้องพัฒนาให้ได้เกรดเอบีมากกว่า 85% ของผลผลิต เพราะจีนเป็นตลาดใหญ่ของทุเรียนไทย โอกาสทางตลาดยังมีอีกมาก ความสำเร็จของโครงการนี้คือประชาชนที่จะมีรายได้ในมือเพิ่มขึ้นทำให้ครัวเรือนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในหลายด้านจากอดีตที่ผ่านมา ทั้งนี้ วันแรก 18 มิถุนายนที่เปิดรับซื้อมีเกษตรกรในโครงการมาขายจำนวน 31 ราย 9,998 กิโลกรัม เป็นเงิน 853,360 บาท ตลาดรับซื้อจะเปิดทุกวันจนทุเรียนโครงการปีนี้หมด” นายการัณย์ กล่าว

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านการพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า โอกาสทุเรียนคุณภาพในจีนมีสูงมาก ในช่วงวิกฤตโควิด-19 เดิมกังวลว่าจะซบเซา ปรากฏกว่าตรงกันข้ามเพราะประชาชนอยู่บ้านแต่กลับมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งปี 62 จากข้อมูลการส่งออกทุเรียนของไทยไปจีนจำนวน 5 แสนตัน ปี 63 คาดว่าประมาณ 8 แสนตัน หรือ 85% ของผลผลิตทั้งประเทศ 9 แสนตันต่อปี โดยทุเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็น 40% ของ 9 แสนตัน โดยทุเรียนที่ซีพีจับมือกับสถาบันปิดทองฯ ในพื้นที่ถือว่าสัดส่วนยังน้อยมาก โอกาสทางตลาดยังมีอีกมาก เพราะทุกฝ่ายต้องการทำทุเรียนคุณภาพช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ หากเกษตรกรรักษามาตรฐานการผลิตที่ปิดทองฯ สร้างไว้ได้ ทุเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้จะมีอนาคตเหมือนทุเรียนคุณภาพในพื้นที่ภาคตะวันออก และจะเป็นพืชอนาคตของพื้นที่เพราะคนจีนนิยมทุเรียนหมอนทอง และหมอนทองภาคใต้รสชาติดีมาก

นางทิพวรรณ จันทวงศ์ สมาชิกโครงการ กล่าวว่า เข้าโครงการในปี 62 จำนวน 40 ต้นจากพื้นที่ 5 ไร่ ได้นำทุเรียนที่ตัดได้ในวันที่ 18 มิถุนายน มาขายให้โครงการรวม 575 กิโลกรัม เป็นเกรดเอบีถึง 329 กิโลกรัม รวมรายได้ 50,440 บาท อย่างไรก็ตาม ยังมีทุเรียนที่ทยอยตัดมาจำหน่ายต่อเนื่อง ซึ่งการแยกเกรดจำหน่ายทำ ได้มีรายได้เพิ่ม เพราะก่อนเข้าโครงการจะขายแบบเหมาสวนทำให้ได้เงินตอบแทนน้อย