อาจารย์เดชา ศิริภัทร เล่าที่มาของ “ต้มยำกุ้ง” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ

ต้มยำกุ้ง อาหารอันเป็นที่รู้จักของคนไทย ฝรั่ง และชาวต่างชาติทุกคนที่นิยมเมนูไทยๆ ต่างเคยลิ้มรสมาแล้ว ร้านอาหารไทยในต่างประเทศทุกแห่งต้องมี “ต้มยำกุ้ง” อยู่ในรายการทั้งนั้น และในปี พ.ศ. 2554 กระทรวงวัฒนธรรมก็ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ พร้อมกับน้ำปลาไทย และผัดไทย 

แล้วคนไทย บ้านเมืองไทยของเราเล่า รู้จักต้มยำกุ้งมาแต่เมื่อใด?

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีบันทึกเกี่ยวกับอาหารประเภท “ต้มยำ” ในหนังสือ “ประติทินบัตรแลจดหมายเหตุ ร.ศ. 108” (พ.ศ. 2432) โดยกล่าวถึงต้มยำปลา ดังเช่น ต้มยำปลาช่อน ต้มยำปลาหมอ ต้มยำปลากระเบน ฯลฯ

หากวาระนั้นก็ยังไม่มีการเอ่ยถึง “ต้มยำกุ้ง” !

ครั้นปี พ.ศ. 2441ได้มีหนังสือ ปะทานุกรม การทำของคาวของหวาน อย่างฝรั่งแลสยาม บันทึกสูตร “ต้มยำกุ้งทรงเครื่อง” เขียนโดยครูอเมริกันเป็นภาษาอังกฤษ แล้วเแปลและเรียบเรียงโดย “นักเรียนดรุณีโรงเรียนกูลสัตรีวังหลัง”

หากสูตรต้มยำกุ้งทรงเครื่องในหนังสือเล่มนี้ ดูจะแตกต่างมากจากต้มยำกุ้งที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ดังเนื้อหาบันทึกถึงเครื่องปรุงต้มยำกุ้ง ที่ฝรั่งยุคนั้นรู้จักไว้ว่า

“…เนื้อหมูต้มแล้วฉีกหนักสามบาท ปลาใบไม้เผาแล้วทุบฉีกสองบาท ปลาแห้งเผาแล้วฉีกสองบาท กระเทียมดองปอกเอาแต่เนื้อซอยสามบาท แตงกวาปอกเปลือกแล้วซอยสามบาท มะดันซอยสามบาท พริกชี้ฟ้าหั่นหนึ่งบาท ผักชีเด็ดหนึ่งบาท…”

หนังสือ “ของเสวย” ตำรับอาหารจาก ม.ร.ว.กิตินัดดา กิติยากร อันเป็นครั้งแรกที่มีการบันทึกถึง “ต้มยำกุ้ง” ลักษณะคล้ายคลึงกับสูตร “ต้มยำกุ้ง” ที่คนไทยได้กินและรู้จักกันอยู่ในปัจจุบัน

และมีวิธีทำดังนี้

“เอากุ้งสดมาต้มกับน้ำท่า ใส่น้ำปลาหนักสองบาท ต้มไปจนเนื้อกุ้งสุก…ตักเอาน้ำต้มกุ้งสามสิบแปดบาทใส่ลงในชาม แล้วเอากุ้งปอกเอาแต่เนื้อฉีกเป็นฝอยหนักสี่บาท น้ำกระเทียมดองหนึ่งบาท น้ำปลาเจ็ดบาท น้ำตาลทรายหกสลึง ใส่ลงในน้ำต้มกุ้ง แล้วเอาของที่ชั่งไว้ใส่ลงด้วย…ถ้าไม่เปรี้ยว เอาน้ำมะนาวเติมอีกก็ได้ เมื่อรศดีแล้วเอาพริกชี้ฟ้ากับผักชีโรย เปนใช้ได้”

กุ้งก้ามกราม หรือกุ้งแม่น้ำ อันแสนอร่อย ที่อาจารย์เดชา ศิริภัทร เล่าว่า แต่เดิมมีเต็มแม่น้ำท่าจีน เต็มทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านไทยนิยมนำมากินในลักษณะกุ้งต้มน้ำผึ้ง กุ้งเผาสะเดาลวกกับน้ำปลาหวาน กุ้งต้มเกลือ และมักจะกินกันด้วยวิธีแคะมันกุ้งที่หัวกุ้งมาคลุกข้าวกิน ปัจจุบันกุ้งแม่น้ำราคาสูงมากๆ และนิยมนำมาทำต้มยำกุ้งนมสดไปทั่วแล้ว

อ่านดูแล้ว สูตรต้มยำกุ้งทรงเครื่องของฝรั่งอเมริกันสมัยรัชกาลที่ 5 ออกจะแตกต่างมากจากสูตรต้มยำกุ้งยุคปัจจุบัน เรื่องน่าสนใจยิ่งๆ ก็คือ คุณกฤช เหลือลมัย พ่อครัวหัวป่าก์คนหนึ่งที่เขียนบทความเกี่ยวกับอาหารไทยเอาไว้จำนวนมาก ได้วิเคราะห์เรื่องของต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2441 ไว้ใน https://waymagazine.org/krit14/ ว่า

“ฟังดูแล้ว ใครที่บ่นอยากกินต้มยำกุ้งแบบสำรับไทยแท้ดั้งเดิมจริงๆ จะยังยืนยันอยู่อีกหรือไม่ก็ไม่ทราบนะครับ แต่ที่ผมว่าน่าสงสัย ก็คือสูตรนี้เหมือนกันเกือบเป๊ะกับสูตร “แกงนอกหม้อ” และ “ต้มยำเขมร” ของ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ในหนังสือ ตำราแม่ครัวหัวป่าก์  (พ.ศ. 2451) เรียกว่าต้มยำกุ้งแบบนี้มีทำกินกันแน่ๆ อย่างน้อยในรัชกาลที่ 5 แต่ชื่อเรียกอาจมีความสับสนกันอยู่บ้าง”

หลังจากนี้ ได้มีหนังสือเกี่ยวกับการปรุงอาหารที่มีชื่อเสียงแพร่หลายมากๆ เล่มหนึ่งคือ “ตำรับสายเยาวภา” ซึ่งบันทึกรวบรวมตำรับอาหารส่วนพระองค์ของ “พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท” (28 สิงหาคม พ.ศ. 2427-13 มิถุนายน พ.ศ. 2477) พระราชธิดาของในหลวงรัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.เนื่อง สนิทวงศ์ หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2478 บอกวิธีปรุงอาหารคาวหวาน ทั้งยังเพิ่มความรู้การครัวสมัยใหม่ วิธีทําอาหารและสูตรอาหารจากบรรดาพระประยูรญาติในราชสกุลสนิทวงศ์ ตลอดจนข้าหลวงและคณะครูโรงเรียนสายปัญญา

หากสูตรต้มยำในหนังสือเล่มนี้ กลับมีบันทึกแต่เพียงต้มยำปลาไว้เท่านั้น ยังไม่ปรากฏสูตรการทำต้มยำกุ้ง แต่อย่างใด

ดังนั้น เมื่อสืบค้นจากตำรับอาหารไทยโบราณ จะพบว่า ไม่มีสูตรต้มยำกุ้งที่หน้าตาคล้ายคลึงกับต้มยำกุ้งยุคปัจจุบันอยู่เลย จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2507 ได้มีบันทึกถึงต้มยำกุ้งหน้าตาละม้ายปัจจุบัน อยู่ในหนังสือ “ของเสวย” อันเป็นผลงานของ ม.ร.ว.กิตินัดดา กิตติยากร พระญาติสนิทของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้มีความรอบรู้ในเรื่องการทำอาหาร และมีโอกาสตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในยามแปรพระราชฐานไปประทับยังที่ต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ในหนังสือ “ของเสวย” นี้ ม.ร.ว.กิตินัดดาได้เขียนเล่าถึงการทำเมนูต้มยำกุ้งที่วังไกลกังวลเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ว่า

“ในตอนค่ำของวันที่ 2 เมษายน 2505 ภายหลังที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปถึงหัวหินได้เพียงวันเดียว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถก็มีพระราชเสาวนีย์โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระกระยาหารที่ชายหาดหน้าตำหนักน้อย ในการนี้โปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้าจัดทำอาหารขึ้นสักอย่างหนึ่งเพิ่มเติมขึ้นจากที่ห้องพระเครื่องต้นจัดถวาย

…ด้วยเป็นการด่วน ข้าพเจ้าคิดอะไรไม่ทัน ก็เลยคิดดัดแปลงต้มยำกุ้งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย”

ต้มยำกุ้งที่ ม.ร.ว.กิตินัดดาทำถวายในหลวงและพระราชินีในวันนั้น ดูจะประณีตค่อนข้างมากต่างจากที่ทำกันทุกวันนี้อยู่บ้าง ม.ร.ว.กิตินัดดา ใช้กุ้งทะเลปอกเปลือก ล้างสะอาด ผ่าสันหลังชักเส้นดำออก นำเปลือกกับหัวกุ้งต้มทำน้ำซุปพร้อมกับน้ำปลา ตะไคร้ ใบมะกรูด แล้วกรองเอาแต่น้ำซุปมาตั้งไฟไว้ให้เดือดพล่านๆ เมื่อจะรับประทานค่อยนำกุ้งที่ปอกเปลือก มาใส่ตะกร้อลวกในน้ำร้อน นำใส่ชาม ราดน้ำซุปร้อนๆ ที่เตรียมไว้ลงไปปรุงรสด้วยมะนาว พริกขี้หนูตำ และน้ำปลา ให้ได้รสตามชอบ

นี้เป็น “ต้มยำกุ้ง” ยุคแรกเมื่อ 50 กว่าปีก่อนที่ได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ ซึ่งก็ยังมีรูปลักษณ์ต่างจากต้มยำกุ้งที่แพร่หลายรู้จักกันอยู่ในยุคปัจจุบันอยู่ด้วย แม้จะคล้ายคลึงมากแล้วก็ตาม

สำหรับต้มยำกุ้งยุคปัจจุบัน…อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ หรือที่คนทั่วไปในขณะนี้รู้จักท่านในนามของ หมอเดชา ผู้คิดผลิตเผยแพร่น้ำมันกัญชา-สูตรครูหมอเดชา ให้คนได้กิน ใช้ รักษาตัวกันทั้งประเทศ โดยอาจารย์เดชาได้ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับต้มยำกุ้ง ที่มาของกุ้ง กับที่มาของพืชพันธุ์สมุนไพรต่างๆ อันมาประมวลเป็นอาหารเลื่องชื่อให้คนไทยและชาวต่างชาติได้ลิ้มรสต้มยำกุ้ง ถ้วนทั่วทุกภูมิภาคที่ร้านอาหารไทย หรือสมุนไพรเครื่องปรุงอาหารไทยเดินทางไปถึง…โดยอาจารย์เดชา ได้กล่าวไว้ดังนี้

“ในตำราอาหารเก่าที่ผมเคยเห็นเขียนไว้เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 มีแต่ต้มยำปลา ไม่มีต้มยำกุ้งหน้าตาแบบปัจจุบันเลย นั้นหมายความว่า สมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณร้อยกว่าปีก่อน คนไทยยังไม่นิยมกินต้มยำกุ้ง

ผมเกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2491 ตอนผมเด็กๆ ประมาณช่วงกึ่งพุทธกาล คาบเกี่ยวปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา แม่น้ำท่าจีนมีกุ้งมาก จับมาได้ก็ไม่กิน เพราะกุ้งเยอะจริงๆ กระโดดตูมลงน้ำไปคลำตามเสาใต้น้ำก็จับกุ้งมาได้แล้ว เราเอากุ้งมาต้ม มานึ่ง เผาก็ด้วย เอาแต่มันแดงๆ ตรงหัวกุ้งไว้คลุกข้าวกิน เนื้อไม่ค่อยมีใครกิน ไม่สนใจ กุ้งมีมากจนเรากินแต่หัวกุ้ง เนื้อกุ้งแบ่งแมวแบ่งหมากินไป

ตอนผมเด็กๆ ต้มยำที่ได้กินได้เห็น มีแต่ต้มยำปลา ใช้ปลาช่อนทำ ผมไม่เห็นใครเอากุ้งมาต้มยำ ไม่มีใครนิยมต้มยำกุ้ง ไม่รู้เพราะอะไร พวกเราเด็กๆ ก็เอาแต่ก้ามกุ้งโตๆ ที่นึ่งแล้ว เผาแล้ว มาแกะเนื้อในก้ามกินกัน กุ้งฝอยที่หามาได้ก็เอามาทำกะปิ ทำกุ้งหวาน พวกกุ้งฝอยชุบแป้งทอดน่ะมาทำทีหลังมากๆ ทำกันตอนผมโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เพราะสมัยก่อนตามบ้านนอกไม่ค่อยมีแป้ง ไม่มีแป้งขาย ชาวบ้านจะกินแป้ง อย่างเอาทำขนมจีน ก็ต้องแช่ข้าว ตำแป้งกันเอง

ส่วนประกอบของต้มยำที่ใช้ตะไคร้ ข่า ใบมะกรูด พริก มะนาว ที่ชาวบ้านไทยปลูกกินตามบ้าน ก็มีถิ่นกำเนิดมาจากหลายแห่งในโลก

ตะไคร้มีมานานในไทย พบทั่วไป ข่าก็มีมาแต่เดิม เป็นพืชพื้นถิ่นย่านนี้ ใบมะกรูดก็มีมาแต่เดิม

สำหรับรสเปรี้ยว เดิมคนไทยอาหารไทยใช้ส้มมะขามเป็นหลัก ไม่ใช่มะนาว มะนาวปลูกยาก เก็บไม่ทน แต่ส้มมะขามเราเอามาปั้นเป็นก้อนไว้ใช้ได้เป็นปี

อีกอย่างหนึ่ง แต่เดิมภาคกลางเมืองไทยปลูกมะนาวลำบาก ถึงฤดูน้ำหลากลงมาจากทางเหนือ น้ำท่วมไปทั่ว มะนาวตายหมด มะขามแช่น้ำไม่ตาย

สำหรับพริก เป็นพืชล้มลุก ปลูกกันทั่วตอนน้ำแห้ง พริกที่เรากินเดี๋ยวนี้ เมื่อก่อนเมืองไทยไม่มี พริกเพิ่งเดินทางมาถึงแผ่นดินสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยา ฝรั่งพามา เมื่อก่อนคนไทยใช้แต่พริกไทย

ผมได้ทราบว่า ทางภาคเหนือบ้านเรา มีพริกเป็นไม้ยืนต้น ต้นสูงใหญ่ คนเหนือเอาไม้มาทำดินปืนเพราะไม้เบา พริกพันธุ์นี้เผ็ดมาก ส่วนทางภาคใต้ก็มีพริกพื้นถิ่นรสเผ็ด เรียกว่าดีปลี

ทางภาคกลาง ผมเคยตรวจสอบ ไม่เคยพบไม่เคยรู้ว่ามีพริกเป็นไม้ยืนต้น พอฝรั่งโปรตุเกสนำพริก ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกาใต้เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา คนอยุธยากินแล้วมีรสชาติเผ็ด ก็เลยเรียกพริกโดยอิงกับความเข้าใจเดิมที่มีอยู่ ทั้งรสเผ็ดจากพริกไทย และรสเผ็ดจากพริกไม้ยืนต้นทางเหนือ

พริกที่เรารู้จักกันทุกวันนี้จึงเพิ่งเข้ามาถึงกรุงสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีงานวิจัยตรวจสอบมาแล้ว ก็เหมือนมะละกอที่ไม่ใช่พืชพื้นถิ่นบ้านเรา แต่มาจากต้นกำเนิดในอเมริกาใต้ ส้มตำมะละกอจึงเพิ่งเกิดขึ้นมาทีหลังมากๆ

พระสงกรานต์ อาภากโร เจ้าอาวาสวัดสิงขร เมืองตะนาวศรี จังหวัดมะริด ประเทศเมียนมา กับลูกมะงั่ว เก็บมาจากใต้ต้นมะงั่ว ที่ขึ้นอยู่ข้างพระบาทสิงขร บ้านมูกโพรง เมืองตะนาวศรี ลูกมะงั่วมีขนาดใหญ่มาก คนไทยตะนาวศรีใช้ทำแกงเผ็ด และทำได้อีกหลายเมนู (13 กรกฎาคม พ.ศ. 2562)

แต่คนไทยสมัยก่อนมีคำว่า ต้ม กับ ยำ เป็นวิธีทำอาหารมาแต่เดิม อย่างอาหารต้มบ้านเรา ก็มีทั้งต้มโคล้ง ต้มเค็ม ต้มจืด ส่วนอาหารยำ ก็มีมาแต่เดิมเช่นกัน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองไทยมีอาหารที่เรียกว่า “ต้มยำ” แล้ว แต่ “ต้ม” กับ “ยำ” มารวมกันได้ตอนไหนผมไม่ทราบ ไม่เคยพบหลักฐาน แต่ผมคิดว่าไม่น่าเก่ามาก จะต้องเพิ่งมีมาหลังอาหาร พวกยำ พวกต้มเฉยๆ อย่างต้มโคล้งนี่ทำง่ายมาก แค่โยนหัวปลา ใบมะขามใส่ในอาหารพวกยำที่เหลือค้างอยู่ ที่มีพริก ตะไคร้ ใบมะกรูดหั่น ก็เป็นต้มโคล้งได้แล้ว

ต้มยำเดิมน้ำใส แล้วปรับเปลี่ยนมาเติมกะทิ จากนั้นก็เอานมแทนกะทิ ปรับสูตรไปเรื่อย เป็นวิวัฒนาการขึ้นมาในช่วงไม่กี่สิบปีนี้ เดิมไม่มีนมสด ชาวบ้านไทยไม่กินนม ตอนหลังเพิ่มนมสดในต้มยำ จนกลายมาเป็นต้มยำน้ำข้นไปเลย

สำหรับใบมะกรูดที่ใส่ในต้มยำ มะกรูดเป็นพืชพื้นเมืองแถบนี้ เป็นสาขาหนึ่งของส้ม พืชตระกูลส้มมี 4 อย่างคือ

  1. มะงั่ว เป็นพืชตระกูลส้ม พวกต้นส้มมือนี้ก็มาจากมะงั่ว เดี๋ยวนี้คนมอญแถวมะละแหม่งก็ยังใช้มะงั่ว ไม่ใช้มะนาว เมืองไทยหามะงั่วยาก แทบไม่มีให้เห็นแล้ว
  2. ส้มโอ พวกส้มเช้งนี้ก็มาจากตระกูลส้มโอนี้แหละ
  3. มะกรูด
  4. พวกส้มเขียวหวาน

พวกส้ม 4 อย่างนี้ ผสมข้ามไปข้ามมา เหมือนมีแม่สี 4 สี แล้วผสมข้ามไปข้ามมาเป็นสีต่างๆ

ต้นมะงั่วที่ขึ้นอยู่ข้างทางขึ้นพระบาทสิงขร บ้านมูกโพรง เมืองตะนาวศรี จังหวัดมะริด ประเทศเมียนมา มะงั่วมีต้นสูงใหญ่ เป็นพืชพันธุ์ตระกูลส้มที่ปัจจุบันคนไทยบนแผ่นดินไทยไม่ค่อยรู้จัก แต่ชาวบ้านไทย มอญ กะเหรี่ยง ในประเทศเมียนมายังใช้ทำอาหารให้รสเปรี้ยวอยู่เป็นปกติในปัจจุบัน (13 กรกฎาคม พ.ศ. 2562)

ผมดูแล้วต้มยำน่าจะเป็นอาหารภาคกลาง เพราะภาคกลางมีต้ม กับ ยำอยู่แล้ว ตำรับอาหารสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีต้มยำแล้ว ผมคิดว่าต้มยำอาจเป็นอาหารตำรับหลวงมาก่อน แล้วค่อยแพร่หลายออกมาสู่ชาวบ้าน เพราะต้มยำมีการทำค่อนข้างซับซ้อน ใช้เครื่องปรุงหลากหลาย ชาวบ้านเขากินกันง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่อาหารภาคกลางของคนในเมืองกินกัน จะมีตำรับทรงเครื่อง ปรุงให้หรูหรา คำว่าทรงเครื่อง หมายถึงชั้นสูงผู้ดีกินกัน อาหารชาววังก็ชาววังกินกัน คำว่าทรงเครื่องกลายเป็นคำสแลงไปแล้ว แต่ก่อนใช้กับอาหาร ทรงเครื่องหมายถึงมีมาแต่เดิมแล้วปรับให้ดียิ่งขึ้น แต่เดี๋ยวนี้มาเรียกแม่หม้ายทรงเครื่อง หมายถึงมีครบทุกอย่าง เงินสำคัญสุด ยิ่งมีเงินมาก ยิ่งทรงเครื่องได้เยอะมากๆ

ส่วนกุ้งแม่น้ำ หรือเรียกกันว่ากุ้งก้ามกรามนี้เกิดน้ำกร่อย แม่กุ้งจะไปออกไข่ในเขตน้ำกร่อย แล้วว่ายทวนน้ำขึ้นมาโตในเขตน้ำจืด พบได้ทุกประเทศย่านนี้ ทั้งไทย พม่า เขมร อินโดนีเซีย พื้นที่ติดทะเลมีกุ้งแม่น้ำทั้งนั้น ภาคอีสานไทยแต่เดิมไม่มีกุ้งแม่น้ำ เพิ่งไม่กี่ปีมานี้ พอลูกกุ้งโตแล้วถึงเอาไปปล่อยในน้ำจืดกัน ในแม่น้ำโขงเราเจอกุ้งแม่น้ำแต่ในตนเลสาบของเขมร ไปถึงแก่งหลี่ผี เลยนี้ขึ้นไปไม่มี

แล้วก็มามีกุ้งทะเล กุ้งเลี้ยง คนไทยแต่เดิมไม่ค่อยกินกุ้งสักเท่าไร เพราะกุ้งคาวมาก เป็นของแสลงสำหรับคนป่วย ไม่ถูกกับโรค หมอแผนโบราณจะห้ามคนป่วยกินกุ้ง เพราะเป็นของแสลง เนื่องด้วยมันคาวมาก

อย่างทะเลสาบสงขลา มีกุ้งเยอะ แต่คนย่านนั้นสมัยก่อนเขาก็ไม่ทำต้มยำกุ้งกินกัน จะนิยมทำกุ้งต้มน้ำผึ้งกินหวานๆ มากกว่า ส่วนพวกกุ้งเล็กก็ใช้ทำกะปิ ทำเคยกุ้ง

ฝรั่งชอบกินต้มยำกุ้ง เพราะไม่มีก้างทิ่มคอ ไม่ต้องระวังก้าง ต้มยำปลามีปัญหาเรื่องก้าง ปลาที่ใช้ทำต้มยำ ก็มักใช้ปลาช่อนเป็นหลัก ฝรั่งเขาแกะก้างลำบาก ไม่ชิน ต้มยำกุ้งกินง่ายกว่า ส่วนคนไทยเรามีให้เลือกเยอะ อาหารอุดมสมบูรณ์มาก ปลาเล็กก็ไม่เอา ปลาใหญ่ไปก็ไม่กิน เราดูก้าง ดูรสชาติ อันไหนกินง่ายจะนิยมกิน แล้วกุ้งแม่น้ำเนื้อจะแข็ง จริงๆ แล้วเอามาทำต้มยำไม่อร่อย ต้องเอามาย่าง มาทอดเกลือ แบบนั้นถึงจะอร่อย ได้รสชาติที่เนื้อกำลังดี

ส่วนกุ้งขาวซีพี ไม่ใช่กุ้งไทย น่าจะมาจากอเมริกาใต้ พวกนี้เลี้ยงง่าย ทนโรค ทุกวันนี้ไทยกินแต่กุ้งเลี้ยง เอามาทำต้มยำกุ้งก็กุ้งเลี้ยง ไม่มีอะไรเปรียบเทียบเราก็กินได้ แต่ถ้ามีเปรียบเทียบก็เลิกกินกันแล้ว ลองได้กินต้มยำกุ้งดีๆ กุ้งย่าง กุ้งคั่วเกลือดีๆ อย่างพวกกุ้งจับจากทะเล จะติดใจมาก

แต่ข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ สำหรับปลาแล้ว คนไทยมีวิธีจัดการถนอมอาหารได้สารพัด ทั้งตากแห้ง ทำน้ำปลา ปลาร้า ปลาเค็ม ปลาส้ม ปลาจ่อม ส้มฟัก สารพัดวิธีเก็บไว้กินให้อร่อย หรือกับกุ้งเล็กเรายังทำกุ้งแห้ง หรือกระทั่งกุ้งฝอยเรายังทำต้มหวาน

แต่กุ้งใหญ่ เช่น กุ้งแม่น้ำตัวเป้งๆ ผมไม่เห็นคนไทยจะเอามาถนอมอาหารทำอะไรสักอย่าง”

จากคำบอกเล่านี้ เรื่องของกุ้ง เครื่องปรุงแต่ละส่วนอันเป็นที่มาของต้มยำกุ้ง ดังที่อาจารย์เดชา ศิริภัทร แยกแยะให้ฟัง ได้ช่วยให้เรารู้จักประวัติศาสตร์ความเป็นมาของต้มยำกุ้งชัดเจนยิ่งขึ้น และเป็นที่น่ายินดียิ่ง ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ได้กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลทุกด้าน เพื่อเตรียมนำเสนอต้มยำกุ้งให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม กับทางองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO) อยู่ในขณะนี้

ให้คนไทยเราและคนนานาสัญชาติทั่วทั้งโลก จะได้กินต้มยำกุ้ง อาหารอันทรงคุณค่า ที่มีพัฒนาการมายาวนานนัก ทั้งยังอร่อยยิ่งๆ สำหรับทุกผู้คนที่เคยได้ลิ้มรสต้มยำกุ้ง…กันมาแล้ว

อาจารย์เดชา ศิริภัทร ถ่ายภาพกับ พลเอก ยอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉาน ในวันที่อาจารย์เดชาเข้าไปยังดอยไตแลง รัฐฉาน เพื่อเก็บข้อมูลเรื่องพืชพันธุ์ต่างๆ ในแผ่นดินฉาน (10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563)
อาจารย์เดชากับทุเรียนตะนาวศรี ที่บ้านคนไทยสิงขร เรากินทุเรียนเป็นอาหารเช้ากันอยู่หลายวัน

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่