‘รมช. ประภัตร’ ขับเคลื่อนงานวิจัยพันธุ์ข้าว ระดมสมองนักวิชาการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ตรงตามความต้องการของตลาด

รมช. ประภัตร’ ขับเคลื่อนงานวิจัยพันธุ์ข้าว ระดมสมองนักวิชาการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ตรงตามความต้องการของตลาด ช่วยชาวนาไทยเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ดี มุ่งเพิ่มศักยภาพส่งออกข้าวในตลาดโลก

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสเป็นประธานการสัมมนา “การวิจัยพันธุ์ข้าวตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ในนาแปลงใหญ่ โดยมี นายอภินันท์ เผือกผ่อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับ นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวรายงาน​ พร้อมด้วยผู้บริหาร​ เจ้าหน้าที่กรมข้าว​และนักวิชาการเข้าร่วมการสัมนา ณ  โรงแรมพาโค่ เขาใหญ่ บายโบนันซ่า จังหวัดนครราชสีมา ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ตลาดข้าวมีการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น หลายประเทศมีศักยภาพในการผลิตข้าวเพื่อบริโภคภายในประเทศ และส่งออกในอันดับต้นๆ ของโลก ในขณะที่หลายประเทศสามารถปลูกข้าวได้ปริมาณมาก แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ ทำให้จำเป็นต้องนำเข้าข้าวเพิ่มเติม ไทยเป็นผู้นำการส่งออกข้าวของโลกมาหลายปี คิดเป็นมูลค่าปีละนับแสนล้านบาท

แต่ในช่วงปี 2559-2562 ปริมาณการส่งออกข้าวไทยลดลง โดยปี 2561 ส่งออก 11.23 ล้านตัน ปี 2562 ส่งออก 7.58 ล้านตัน การขยายตัวลดลง ร้อยละ 32.50 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกัน ประกอบกับไทยต้องเผชิญภาวะแข่งขันในเรื่องราคากับประเทศส่งออกต่างๆ เช่น ประเทศอินเดีย เวียดนาม กัมพูชา พม่า เป็นต้น

นายประภัตร กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายด้านข้าวที่มีการส่งเสริมการทำการเกษตรแปลงใหญ่ เป็นการดำเนินงานที่เน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ วางระบบการผลิตและการบริหารจัดการในแนวทางเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อหน่วย ยกระดับมาตรฐานผลผลิต และบริหารจัดการกลุ่ม/ผลผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน มุ่งเน้นให้เกษตรกรมีโอกาสเข้ามาสู่การส่งเสริมในระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ให้มากขึ้น ซึ่งจะมีกำหนดเป้าหมายการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุกขั้นตอน ตลอดจนการเชื่อมโยงตลาดกับภาคเอกชนแบบประชารัฐ การปรับระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่จะก่อให้เกิดความร่วมมือในการผลิตโดยเกษตรกรหรือองค์กรเกษตรในพื้นที่ที่ดำเนินกิจกรรมที่ติดต่อกันเป็นแปลงใหญ่ ทำให้เกิดขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น มีเป้าหมายการดำเนินงานของกลุ่มชัดเจน เป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองของเกษตรกรตลอดกระบวนการผลิต ช่วยพัฒนาเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดความมั่นคงในอาชีพ และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในที่สุด

“นายกรัฐมนตรีได้แสดงความเป็นห่วงพี่น้องชาวนาไทย จึงมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งหาแนวทางในการจะทำอย่างไรให้ชาวนาได้มีเมล็ดพันธุ์ที่ดีเพาะปลูกเพื่อสร้างรายได้ ดังนั้น ตนในฐานะที่กำกับดูแลกรมการข้าว จึงรวบรวมนักวิชาการทั้งจากกรมการข้าว มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน มาแสดงความคิดเห็นเพื่อช่วยกันพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ดี ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด ซึ่งขณะนี้ตลาดมีความต้องการข้าวนุ่ม จึงต้องผลิตให้ได้ และสามารถแข่งขันกับทุกประเทศได้ ไม่เพียงแค่ประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น ทั้งนี้ การพัฒนาข้าวไทยจะต้องมุ่งให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมีการเชื่อมโยงหน่วยงานหลายภาคส่วน ตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคจนถึงการขยายตลาดการค้าข้าวในต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาข้าวไทยพร้อมวางแนวทางการพัฒนาระบบให้ครอบคลุมทุกประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาในการแข่งขัน เพื่อการส่งออกข้าวในตลาดโลกได้อย่างตรงจุด” นายประภัตร กล่าว

นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมการข้าวจึงได้กำหนดจัดสัมมนา การวิจัยพันธุ์ข้าวตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” ในนาแปลงใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 25-26 มิ.ย.63 ณ โรงแรมพาโค่ เขาใหญ่ บายโบนันซ่า จังหวัดนครราชสีมา วัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความคิดเห็นระหว่างนักวิชาการ นักวิจัย และผู้เกี่ยวข้อง ที่ปฏิบัติงานด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวจากทุกภาคส่วน เพื่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ที่จำเป็นต้องมีขบวนการพัฒนาและส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์ให้ตรงพันธุ์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ก่อให้เกิดการวางระบบการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ เพื่อประหยัดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในพื้นที่เป้าหมายของโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ พร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้นโยบายการตลาดนำการผลิต นำไปสู่การสร้างรายได้ให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ได้ทั้งระดับจังหวัดและระดับประเทศ พร้อมส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตภาคเกษตรให้กับเกษตรกร การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่เกษตรกรถือเป็นบทบาทหนึ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้เกษตรกรได้มีการรวมกลุ่มการทำการเกษตรในรูปแบบของแปลงใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรได้มีอำนาจในการต่อรองทั้งด้านปัจจัยการผลิตและด้านการตลาด เป็นหนทางที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้

โดยมีนักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม อาทิ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร ศูนย์พันธุ์วิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น ตลอดจนผู้อำนวยการและนักวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวจากศูนย์วิจัยข้าว กว่า 100 คน เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้