วช. เปิดผลวิเคราะห์ถอดบทเรียนสวีเดน ไม่ล็อกดาวน์ผลเป็นอย่างไร

วช. วิเคราะห์สถานการณ์ การควบคุมและบริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 ใน ภูมิภาคสแกนดิเนเวีย ได้แก่ สวีเดน ที่เลือกใช้นโยบายแตกต่างจากประเทศอื่น โดย “ไม่ล็อกดาวน์” ปล่อยให้กิจการและกิจกรรมส่วนใหญ่เปิดดำเนินการต่อไปได้เกือบปกติ ไม่ปิดโรงเรียน บริษัท สถานที่ราชการ และร้านอาหาร โดยมีเป้าหมายให้ประชากรส่วนใหญ่ค่อยๆ ติดเชื้อจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) กว่าสามเดือน โดยเปรียบเทียบกับประเทศเดนมาร์ก นอรเวย์ และฟินแลนด์ ที่มีลักษณะและโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจใกล้เคียงกัน

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของ ศบค. กล่าวว่า  “นโยบายไม่ล็อกดาวน์ประเทศของสวีเดน โดยใช้การควบคุมเฉพาะจุด ได้แก่ การปิดเฉพาะโรงเรียนมัธยมที่มีเด็กอายุ 16 ปีขึ้นไปและปิดมหาวิทยาลัย รวมทั้งห้ามกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมมากกว่า 50 คน ส่วนกิจการค้าและกิจกรรมอื่นๆ รวมทั้งร้านอาหาร บาร์ และบริษัทเอกชนต่างๆ สามารถดำเนินการได้ โดยแนะนำให้ประชาชนดูแลตนเองไม่ให้รับเชื้อหรือแพร่เชื้อ

ส่วนประเทศเดนมาร์ก นอรเวย์ ฟินแลนด์ ยังคงใช้มาตรการที่เข้มงวดมากกว่า โดยสั่งปิดโรงเรียนทุกระดับ ปิดมหาวิทยาลัย ปิดกิจการส่วนใหญ่ และให้ประชาชนอยู่กับบ้าน ทำงานจากบ้าน ควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ  ตั้งแต่ในช่วงแรกของการระบาดสามารถควบคุมการติดเชื้อลดลงในระดับที่ควบคุมได้ หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการอย่างเป็นระบบ จนขณะนี้กิจการส่วนใหญ่ได้กลับมาเปิดอีกครั้งแล้ว

เลขาธิการ วช. ให้ข้อมูลต่อว่า ผลการวิเคราะห์ในด้านการแพทย์และสาธารณสุข พบว่า ประเทศสวีเดน มีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 65,137 ราย หรือเท่ากับ 6,450 ราย ต่อประชากรหนึ่งล้านคน เทียบกับ 12,675 (2,188 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน) ในเดนมาร์ก และ 8,853 (1,633 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน) ในนอร์เวย์ และ 7,198 (1,299 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน) ในฟินแลนด์ โดยอัตราการติดเชื้อโรคโควิด-19 ในสวีเดน สูงกว่าเดนมาร์ก ถึง 3 เท่า

อัตราผู้เสียชีวิตในสวีเดน จากโรคโควิด-19 จำนวน 5,280 ราย หรือเท่ากับ 523 ราย ต่อประชากรหนึ่งล้านคน เทียบกับ 604 (104 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน) ในเดนมาร์ก และ 249 (46 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน) ในนอร์เวย์ และ 328 (59 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน) ในฟินแลนด์ โดยอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในสวีเดนสูงกว่าเดนมาร์ก ถึง 5 เท่า

สำหรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม ประเมินว่า ประเทศสวีเดนจะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในปี 2563 ลดลง 6.79% (เท่ากับเปลี่ยนแปลง -8.02% เมื่อเทียบกับที่เคยเพิ่มขึ้นในปี 2562)  ในขณะที่เมื่อประเทศเดนมาร์ก ลดลง 6.50% (เปลี่ยนแปลง -8.87%), ประเทศนอร์เวย์ ลดลง 6.27% (เปลี่ยนแปลง -7.42%) และประเทศฟินแลนด์ ลดลง 5.43% (เปลี่ยนแปลง -8.16%) ซึ่งทั้งสี่ประเทศนี้จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในระดับใกล้เคียงกัน

ส่วนอัตราการว่างงาน ประเมินว่า ประเทศสวีเดน จะมีอัตราการว่างงาน 9.7% (เพิ่มขึ้น 2.9% เมื่อเทียบกับปี 2562) ในขณะที่ประเทศเดนมาร์ก จะมีอัตราการว่างงาน 6.4% (เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 1.4%), ประเทศนอร์เวย์ 4.2% (เพิ่มขึ้น 0.9%) และประเทศฟินแลนด์ 8.3% (เพิ่มขึ้น 1.6%)

ทั้งนี้ ประเทศสวีเดน คาดหวังว่าการใช้มาตรการที่ไม่ควบคุมมากนักนี้ จะช่วยทำให้มีประชากรติดเชื้อเป็นจำนวนมากโดยไม่เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และระบบสาธารณสุขรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตได้ จนทำให้ประชากรส่วนใหญ่ได้ติดเชื้อจนเกิด herd immunity หรือประมาณการณ์ว่าจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ 60% ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม พบว่า มาตรการไม่ล็อกดาวน์นี้ยังไม่ทำให้เกิด Herd immunity เนื่องจากจำนวนผู้ที่ติดเชื้อขณะนี้ยังห่างไกลกับเป้าหมายดังกล่าวมาก เนื่องจากผลการตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อนี้ในประชากรพบว่า มีเพียง 7% ที่มีแอนติบอดี ซึ่งบ่งว่าประชากรส่วนใหญ่ของสวีเดนยังจะมีโอกาสติดเชื้อได้ต่อไป

กล่าวโดยสรุป การเปรียบเทียบประเทศที่ใช้มาตการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวดกับไม่เข้มงวดนั้น ถึงแม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่ยุติลงและอาจจะมีการระบาดอีกหลายระยะต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังนั้น การเปรียบเทียบผลทั้งสองมาตรการ คงต้องรอเปรียบเทียบผลสุดท้ายหลังจากที่เหตุการณ์ทั้งหมดยุติลงแล้ว ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานหลายปี

ทั้งนี้ การเปรียบเทียบข้อมูลถึงปัจจุบัน พบว่า ช่วงสามเดือนแรกของการระบาดในทวีปยุโรปนั้น ประเทศสวีเดนซึ่งใช้มาตรการแบบไม่เข้มงวด มีอัตราการติดเชื้อต่อประชากรมากกว่าประเทศที่ใช้มาตรการเข้มงวดประมาณ 3 เท่า และมีอัตราการเสียชีวิตต่อประชากรสูงกว่าอีกกลุ่ม 5 เท่า ขณะที่ผลทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยดูจากการลดลงของ GDP และอัตราการว่างงานของประเทศทั้งสองกลุ่มอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน”

 

ประมวลข้อมูลโดย ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)