สศก. ร่วมเสวนาออนไลน์ งานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี 63 ชู กลไกภาคเกษตรกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

โลกร้อนภาคเกษตร
นางอัญชนา ตราโช

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการร่วมเป็นวิทยากรสัมมนาเรื่อง “เกษตรกรรมกับการเปลี่ยน ปรับ รับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งจัดรูปแบบผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระบบ Zoom ในงานมหกรรมพันธุกรรมพื้นบ้าน ปี 2563 โดยมีวิทยากรจากหลากหลายสถาบัน อาทิ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย มูลนิธิสายใยแผ่นดิน มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน สมาคมเกษตรกรรมทางเลือกฉะเชิงเทรา และศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน จังหวัดร้อยเอ็ด

โอกาสนี้ รองเลขาธิการ สศก. ในฐานะรองประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร และประธานคณะทำงานการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการจัดทำยุทธศาสตร์ วิชาการ และฐานข้อมูล ได้บรรยายถึงนโยบายและการดำเนินงานด้าน Climate Change ในภาคเกษตรของไทย เริ่มจากกลไกการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร พ.ศ. 2560-2564 (ฉบับปัจจุบัน) ที่ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ย่อย ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการสร้างความตระหนักรู้ 2) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 3) การมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ 4) การขับเคลื่อนโดยเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้เกี่ยวข้อง การศึกษาวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาคเกษตร ของ สศก. และหน่วยงานใน กษ. อาทิ การจัดทำฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์สินค้าเกษตร การศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อรายได้ครัวเรือนเกษตร การศึกษาผลการปรับตัวของเกษตรกรต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (เกษตรทฤษฎีใหม่) และการศึกษาต้นทุนส่วนเพิ่มการลดก๊าซเรือนกระจกจากนาข้าว การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าเพื่อให้ปรับตัวได้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม การส่งเสริมการไถกลบตอซังเพื่อลดการเผา การจัดทำแบบจําลอง การผลิตพืช (Crop Modeling) เพื่อการจัดการดินและธาตุอาหารพืชการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยโดยการจัดการน้ำ ธาตุอาหาร และการใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงโครงการที่ดำเนินงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ โครงการ Supporting the Integration of the Agricultural Sector into the National Adaptation Plans: NAPs-Ag.) ร่วมกับ FAO และ UNDP โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai Rice NAMA) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ)

ทั้งนี้ เป้าหมายสุดท้ายของการดำเนินงาน ต้องการให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเกษตรกร สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้พอใช้ ประกอบอาชีพการเกษตรได้อย่างยั่งยืน ผลผลิตมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด จากการมีความรู้เพียงพอที่จะทำการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตของตนให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและภูมิปัญญาในท้องถิ่น โดยทุกภาคส่วนต้องดำเนินงานร่วมกันทั้งระบบ ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ภาครัฐกำหนดนโยบาย/มาตรการ ที่ผู้ปฏิบัติสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ภาคเอกชนต้องสนับสนุนปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยี ภาคการเงินสนับสนุนเงินทุน และเกษตรกรต้องยอมรับการปรับเปลี่ยนและการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน รองเลขาธิการ สศก. กล่าว