สำเร็จ! นักวิจัยไทยใช้ถังไม้โอ๊คเก่าเป็นรังเทียมให้นกเงือกวางไข่เป็นครั้งแรกในโลก

นายบุญลือ พูลนิล นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ประธานชมรมรักษ์กระทิงไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช รวมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกันจัดทำโครงการทดลองพัฒนาโพรงรังเทียมของนกเงือก จำนวน 11 โพรงรัง จากถังไวน์เก่าผลิตจากไม้โอ๊คขนาด 200 ลิตร โดยผลการวิจัยของทีมนักวิชาการร่วมกับบริษัทสยามไวน์เนอรี่ เทรดดิ้งพลัส จำกัด ที่ ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกับมูลนิธิศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดล และออกแบบโดยคณะมัฑนศิลป มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อพัฒนาทางเลือกในการผลิตโพรงรังเทียม เพิ่มโอกาสการทำรังเพิ่มประชากรของนกเงือกที่มีจำนวนลดลงในธรรมชาติอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธ์

เบื้องต้นพบว่าประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจเป็นนวัตกรรมการอนุรักษ์ครั้งแรกของโลกที่ โดยการนำถังไวน์เก่าที่เหลือใช้ในภาคอุตสาหกรรม มาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอนุรักษ์นกเงือก

นายบุญลือ กล่าวว่า ที่ผ่านมารังนกเงือกบางพื้นที่มีผลกระทบจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากนั้นมีการนำไปติดตั้งโดยทีมนักวิจัยจากการศึกษาระบบนิเวศวิทยาของนกเงือกในพื้นที่ประกอบด้วย โครงการพระราชดำริป่าห้วยทรายใหญ่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ติดตั้งจำนวน 1 โพรงรัง พื้นที่ป่าบริเวณไร่องุ่นหัวหินฮิลล์ ต.หนองพลับ พื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ อุทยานแห่งชาติบูโด – สุไหงปาดี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส สถานีวิจัยสัตว์ป่าป่าพรุ ป่าฮาลา – บาลา อ.แว้ง จ.นราธิวาส และพื้นที่ สวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ ส่วนที่ 2 อ.ธารโต จ.ยะลา ติดตั้งแห่งละ 2 โพรงรัง โดยเลือกจุดติดตั้งโพรงเทียมที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ นกเงือกสามารถเห็นได้ง่ายและสะดวกกับการติดตั้ง เนื่องจากการนำโพรงรังในป่าลึกค่อนข้างมีปัญหาในการเดินทาง ซึ่งในอนาคตจะมีการออกแบบเพื่อแยกชิ้นส่วนของโพรงเทียมให้มีความสะดวกในการเคลื่อนย้าย