สสก. 2 ราชบุรี เตือนเกษตรกร เฝ้าระวังโรคใบด่างในมันสำปะหลังหลังเจอระบาดเขตเมืองกาญจน์ – สุพรรณ รวม 800 ไร่​

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี แจ้งได้รับรายงานจากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี พบการระบาดของโรคใบด่างในมันสำปะหลัง จังหวัดสุพรรณบุรี และกาญจนบุรี แม้ไม่มากแต่ต้องเฝ้าระวังและทำลายต้นที่เป็นโรคทิ้ง เผยที่มาของโรคจาก 2 แหล่งสำคัญ คือ ท่อนพันธุ์ และแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำโรคเข้าแปลง แนะเกษตรกรหมั่นตรวจสอบแปลงปลูกแบบต่อเนื่อง พบเจอทำลายทันทีป้องกันความเสียหายในวงกว้าง

ายมงคล จอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรีเปิดเผยว่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี ได้สำรวจพบการระบาดของโรคใบด่างในมันสำปะหลังพื้นที่ 2 จังหวัดคือ อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอเลาขวัญ และ อำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งรวมกันมีพื้นที่เกิดโรคประมาณ 800 กว่าไร่

พื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี มีการปลูกมันประมาณ 500,000 ไร่  พบการระบาดประมาณ 400 กว่าไร่ ส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ปลูกประมาณ 50,000 ไร่ พบการระบาดประมาณ 400 กว่าไร่ ซึ่งแม้ปริมาณยังไม่มากแต่ก็ต้องเฝ้าระวังเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะลุกลามในวงกว้างได้” นายมงคลกล่าว

ทางด้านนายสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวถึงสาเหตุของโรคใบด่างในมันสำปะหลังว่า มาจาก 2 สาเหตุ คือ ท่อนพันธุ์  และ มีแมลงหวี่ขาวเป็นตัวพาหะนำโรค  หากเกิดจากท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่เป็นโรค เกษตรกรสามารถสังเกตได้ภายหลังปลูกไปแล้วประมาณ 2 อาทิตย์

หากพบเห็นใบชุดแรกของต้นมันสำปะหลังที่ผลิออกมาจะมีสีซีดเหลือง มีอาการบิดเสียรูปทรงหรือหงิก อันนี้เป็นโรคอย่างแน่นอน ถ้าหากเจอที่ต้นมันสำปะหลังที่มีอายุประมาณ 2-3 เดือนไปแล้วตรงบริเวณส่วนยอดมีอาการซีดเหลือง ใบบิดเสียรูปทรง หรือ หงิก งอ ย่น อาการนี้เกิดจากแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะนำโรคเข้ามาในแปลงทำให้เกิดโรค หากเกิดการระบาดแล้ว ถ้าเกษตรกรไม่มีการป้องกันกำจัดให้ถูกวิธีอาจจะทำให้ผลผลิตเสียหาย 80-100%  ของพื้นที่ปลูก

นายสมคิดกล่าวต่อไปว่า เกษตรกรสามารถป้องกันได้ ด้วยการนำท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่มั่นใจว่ามาจากแปลงที่ไม่เคยเกิดโรคใบด่างมาก่อน ซึ่งจะเป็นท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่ปลอดโรค  อีกประการเมื่อสำรวจแปลงปลูกแล้ว 14 วันพบใบมีอาการหงิก งอ ย่น  ซีดเหลือง ลักษณะนี้ต้องตัดทำลายทิ้ง หากเกิดในพื้นที่เป็นบริเวณกว้างให้ขุดขึ้นมาทำลายทั้งแปลง หากพบเพียงบางส่วน ก็ถอนเอาต้นที่เป็นโรคขึ้นมาใส่ถุงดำหรือถุงพลาสติกผูกปากถุงให้แน่นนำไปตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 1-2 อาทิตย์ เพื่อให้ต้นมันสำปะหลังตายไม่สามารถงอกใหม่ได้  จะสามารถลดปริมาณการระบาดในแปลงปลูกได้

“หากพบตัวของแมลงหวี่ขาวในแปลงปลูกเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของแปลง จำเป็นต้องใช้สารเคมีมาทำลายเพื่อตัดวงจรของแมลงหวี่ขาว ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร หากเกษตรกรสามารถปฏิบัติได้ใน 3 อย่างนี้เชื่อว่าจะสามารถลดการระบาดของโรคได้

“ขอฝากเกษตรกรด้วยว่าหากเจอต้นที่มีโรคแล้วเกษตรกรเด็ดยอดต้นนั้นๆ เพียงอย่างเดียว แล้วต้นนั้นๆ  ยังสามารถแตกยอดได้แล้วยังหงิกงอก็แสดงว่าต้นมันสำปะหลังต้นนั้นเกิดโรคแล้ว และมีแมลงหวี่ขาวอยู่ในแปลงด้วยก็จะช่วยทำให้เชื้อมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว  ฉะนั้นวิธีเด็ดยอดทิ้งไม่ขอแนะนำให้ปฏิบัติ

ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรบุรี แนะนำให้เกษตรกรถอนทำลายเพียงอย่างเดียว สำหรับพื้นที่ที่เกิดการระบาดในวงกว้างเกือบยกแปลง หรือ ทั้งแปลง จะต้องขุดขึ้นมาแล้วเอาไปใส่หลุมปิดทำลาย โดยขุดหลุมลึกประมาณ 3 เมตร  เมื่อเอาต้นมันลงไปในหลุมแล้ว ให้ใช้สารกำจัดวัชพืชจำพวก อะทราซีนฉีดทับลงไปบนต้นมันสำปะหลัง เพื่อไม่ให้มีการงอกขึ้นมาใหม่ จากนั้นใช้ดินกลบปากหลุมมีความหนาประมาณ 50  เซนติเมตร ก็จะสามารถช่วยให้ต้นมันสำปะหลังที่เกิดโรคไม่งอกใหม่ และการระบาดของโรคนี้ก็จะลดลง

นายสมคิดกล่าวต่อไปว่า แต่หากไม่มั่นใจว่าแปลงปลูกเกิดโรคใบด่างหรือไม่ ให้เกษตรกรติดต่อ หรือ แจ้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบลที่มีแปลงปลูกอยู่ หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ หรือจะติดต่อโดยตรงที่ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสุพรรณบุรี หรือโทรมาสอบถามเบื้องต้นได้ที่ 035-440926-7 ในวันเวลาราชการ

ส่วนการหาซื้อท่อนพันธุ์มันสำปะหลัปลอดโรคใบด่างนั้น ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรบุรี แนะนำว่า เกษตรกรควรหาซื้อจากแหล่งปลูกที่มีการรับรองว่าเป็นท่อนพันธุ์ปลอดโรคจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าหากเกษตรกรซื้อขายกันเองอาจจะมั่นใจไม่ได้ว่าปลอดโรคหรือไม่ หรือหากจะซื้อท่อนพันธุ์มันสำปะหลังในพื้นที่ใกล้เคียงแปลงปลูกของตนเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งก็ต้องมั่นใจว่าในฤดูกาลเพาะปลูกที่ผ่านมาแปลงปลูกนั้นๆ ไม่เกิดโรคใบด่างในมันสำปะหลัง  

“แต่ที่สำคัญเกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย อาทิตย์ละครั้ง เมื่อเจอต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคจะได้แก้ไขป้องกันและทำลายส่วนที่เป็นโรคทันที หากปล่อยทิ้งไว้อาจจะเกิดความเสียหายในวงกว้างได้นายสมคิดกล่าวในที่สุด