ปลูกอัญชัน พืชใช้น้ำน้อย ต้นทุนต่ำ เก็บขายสร้างรายได้หลักพัน-หมื่นต่อวัน

กรมส่งเสริมการเกษตร แนะปลูกอัญชัน พืชใช้น้ำน้อย

อัญชัน มีลักษณะเป็นไม้เลื้อย ดอกมีทั้งชนิดที่เป็นดอกชั้นเดียวซึ่งมีสีน้ำเงินคราม ออกดอกเกือบตลอดปี อัญชันที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นอัญชันดอกสีม่วง ซึ่งสามารถใช้ได้หลายส่วน ทั้งดอก เมล็ด และราก ในดอกอัญชันมีสารแอนโธไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารสีม่วง มีคุณสมบัติเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดเล็กๆ

ต้นทุนการผลิตอัญชัน 1 ไร่ อยู่ที่ 10,000-12,000 บาท เมื่อเทียบกับผลพลอยได้แล้ว ถือว่าคุ้มค่ามาก เนื่องด้วยว่าอัญชัน 1 ต้น สามารถเก็บดอกสดได้ 50-100 กรัม ต่อวัน จะได้ผลผลิตสดวันละ 100 กิโลกรัม ขายสดกิโลกรัมละ 50-100 บาท ทำให้มีรายได้ 5,000-10,000 บาท ต่อวัน แต่จะใช้แรงงานในเก็บเกี่ยวค่อนข้างมาก จึงนิยมทยอยเก็บวันละ 5-10 กิโลกรัม และนำไปตากแห้ง โดยดอกอัญชันสด 10 กิโลกรัม เมื่อตากแห้งแล้วจะได้ดอกแห้งเท่ากับ 1 กิโลกรัม ซึ่งดอกแห้งนี้ขายได้ กิโลกรัมละ 350-500 บาท และวิธีนี้ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าและลดปัญหาเรื่องแรงงานในการเก็บเกี่ยวได้

ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร ได้เปิดตัวอัญชันพันธุ์ใหม่ คือ อัญชันพันธุ์เทพรัตน์ไพลิน 63 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ปลูกทั่วไป และมีลักษณะเด่นคือ ให้ผลผลิตสูงประมาณ 2,122 กิโลกรัม ต่อไร่ มีกลีบดอกใหญ่ 5 กลีบซ้อนเวียนสม่ำเสมอในต้นเดียวกัน มีปริมาณสารแอนโธไซยานินปริมาณสูงไม่น้อยกว่า 70 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักสด 100 กรัม เก็บเกี่ยวครั้งแรกเร็วกว่าพันธุ์ทั่วไป 6 วัน เหมาะสำหรับเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรได้ ทางกรมส่งเสริมการเกษตร โดยกองขยายพันธุ์พืช ได้ประสานนำต้นพันธุ์อัญชันพันธุ์เทพรัตน์ไพลิน 63 จัดสรรเพื่อเป็นแม่พันธุ์ให้ศูนย์ขยายพันธุ์พืชทั้ง 10 ศูนย์ ได้ดำเนินการตามพันธกิจในการผลิตพืชพันธุ์ดีโดยกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตรงตามความต้องการของเกษตรกร โดยเฉพาะที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก มีการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชผักหลายชนิด เช่น มะเขือพวง กระเจี๊ยบเขียว ถั่วฝักยาว และอัญชันพันธุ์เทพรัตน์ไพลิน 63 เป็นต้น

หากเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจเมล็ดพันธุ์อัญชันพันธุ์เทพรัตน์ไพลิน 63 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก เบอร์โทรศัพท์ (055) 906-220 หรือติดต่อผ่านเฟซบุ๊ก ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6  จังหวัดพิษณุโลก