เจาะวิถีตลาดเป็ดไข่ เมืองพิจิตร วางแนวทางพัฒนาสินค้าสร้างรายได้แก่เกษตรกร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 ลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลบัญชีสมดุลเป็ดไข่จังหวัดพิจิตรจากพ่อค้าและเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไข่ เจาะหาแนวทางวางแผนการผลิตและการบริหารจัดการเป็ดไข่จังหวัดพิจิตรให้มีประสิทธิภาพ แนะ ควรมีการขึ้นทะเบียนทุกรายไตรมาสเพื่อควบคุมปริมาณเป็ดไข่ และสนับสนุนเงินลงทุนในการแปรรูปสินค้า

นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า การเลี้ยงเป็ดไข่นับได้ว่าเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยในชนบทที่มีการเลี้ยงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน      โดยไข่เป็ดเป็นสินค้าเกษตรสำคัญที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนได้อีกทางเลือกหนึ่ง อีกทั้งเป็นวัตถุดิบหลักที่ถูกนำไปใช้ในการแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ เช่น ไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า ของหวาน ของคาว เป็นต้น

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 จังหวัดนครสวรรค์ (สศท.12) ได้ลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลบัญชีสมดุล   เป็ดไข่จังหวัดพิจิตรจากพ่อค้าและเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไข่ พบว่า เมื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไข่รวบรวมผลผลิตไข่เป็ดได้      จะมีพ่อค้ารวบรวมในจังหวัดมารับซื้อจากเกษตรกรในจังหวัดพิจิตร คิดเป็นร้อยละ 90.20 และมีการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก นครสวรรค์ กำแพงเพชร คิดเป็นร้อยละ 9.80

สำหรับพ่อค้ารวบรวมในจังหวัดพิจิตร จะส่งไข่เป็ด ไปอุตสาหกรรมแปรรูปในพื้นที่ เช่น ไข่เค็ม ไข่เยี่ยวม้า    คิดเป็นร้อยละ 12 อีกส่วนหนึ่งส่งไปยังพ่อค้าขายปลีกในจังหวัด เพื่อจำหน่ายโดยตรงให้แก่ผู้บริโภครายย่อยในพื้นที่ คิดเป็นร้อยละ 2  โดยผลผลิตไข่เป็ดส่วนใหญ่ พ่อค้าในจังหวัดจะขายส่งต่อให้พ่อค้าคนกลางในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดอุตรดิตถ์ และกรุงเทพมหานคร คิดเป็นร้อยละ 86

ทั้งนี้ จากผลสำรวจดังกล่าว สศท.12 ค้นพบข้อเสนอแนะว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการขึ้นทะเบียนทุกรายไตรมาส เพื่อที่จะสามารถควบคุมปริมาณเป็ดไข่ได้ และภาครัฐควรมีการส่งเสริม สนับสนุน ให้เงินลงทุนในการแปรรูปสินค้าจากไข่เป็ดเพิ่มเติม ซึ่งสนใจข้อมูลผลการสำรวจ สามารถขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมและคำแนะนำได้ที่ สศท.12 โทร. 056 803 525 หรือ อีเมล [email protected]