ไข่เน่า ชื่อคือกลิ่นเหม็น ผลกลายเป็น…น้ำสมุนไพรดอกหอม

ชื่อวิทยาศาสตร์ Vitex  glabrata R. Br.

ชื่อวงศ์ VERBENACEAE LAMIACEAE

ชื่ออื่นๆ คมขวาน โคกฝรั่ง (กลาง) ขี้เห็น (อุบลราชธานี-เลย) ปลู (สุรินทร์-เขมร)

ผมได้ยินชื่อตัวเองเมื่อใครเรียกหาแล้วสะดุ้งทุกครั้ง เพราะเป็น “วจนภาษา” ที่แสดงความรู้สึกทางอารมณ์ ส่งผลทางพฤติกรรมได้อย่างชัดเจน ลองจินตนาการดูซิครับ เมื่อใครพูดถึงอะไรที่ “เน่า” สีหน้าจะแสดงออกอย่างไร น้ำเน่า ปลาเน่า หมาเน่า เหม็นเน่า หรือไข่เน่า หาสีหน้าสร้างสรรค์ได้ยาก แปลก…แต่เป็นชื่อของต้นไม้ดอกหอม

ไข่เน่า ต้นไม้ดอกหอม

ถ้าเอ่ยถึง “ไข่เน่า” ที่เป็นของจริงจาก ไข่เป็ดไข่ไก่ คงจะไม่ต้องอธิบายถึง “กลิ่น” ว่า “ฉุนนาสิก” เพียงใด ล้างสิบน้ำแล้วยังติดจมูกไม่หาย สมัยก่อนวัยรุ่นนักเลงโบราณยังใช้ไข่เน่าปาหัวเวลายกพวกตีกัน แต่มีไข่อีกแบบที่คล้ายๆ กัน เป็น “ไข่เสีย” ไม่ใช่ไข่เน่า คือ ไข่ซึ่งฟักไม่ออกเป็นตัว ตัวอ่อนตายในฟองไข่ และมีพัฒนาการต่างกันตามอายุ เรียกกันว่า “ไข่ตายโคม” หรือ “ไข่ข้าว” บางท้องถิ่นเรียกว่า ไข่ค้างรัง

ในประเทศลาว เรียกว่า ไข่ค้างฮาง ในประเทศฟิลิปปินส์ เรียกว่า “บาลุต” ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไข่ไก่ หรือไข่เป็ด ที่ฟักแล้วไม่ออกเป็นตัวคือตัวอ่อนตายในฟองไข่ เขาจึงนำมาต้มกิน ต้มขาย แกล้มสุราดีนักแล ถ้าใครสนใจเรื่องนี้จะรู้เรื่องราวได้จากข้อเขียนของ อาจารย์นัย บำรุงเวช อธิบายไว้อย่างละเอียดใน “เทคโนโลยีชาวบ้าน” ฉบับที่ 717 เมื่อ 15 เมษายน 2563 นี่เอง

สำหรับ “ไข่เน่า” เรื่องราวของผมที่ไม่ใช่ไข่เป็ด ไข่ไก่ แต่เป็นชื่อพรรณไม้เก่าแก่โบราณ ซึ่งคนสมัยนี้ไม่ค่อยรู้จัก นอกจากคนที่ทำงานกับชุมชนในพื้นที่ป่าต่างๆ ในเมืองไทย แม้แต่ชาวบ้านบางท้องถิ่นก็อาจจะโค่นทิ้งไป

แต่ปัจจุบันนี้บางหน่วยงาน เช่น “ส่วนพัฒนาวิสาหกิจชุมชนผืนป่าตะวันตก กาญจนบุรี” ได้รณรงค์ให้เห็นคุณค่าของต้นไข่เน่า ในสรรพคุณตามภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ที่ถ่ายทอดมารุ่นต่อรุ่น อย่างน้อยที่สุดในฐานะเป็นไม้ยืนต้นมีทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 20 เมตร เนื้อไม้แข็ง นำมาทำเป็นเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ หรือไม้ก่อสร้างได้ จึงเป็นที่รู้จักนำมาแปรรูปในพื้นที่ต่างๆ

ผลไข่เน่า

ที่เด่นสุดของการแปรรูปคือ ผลไข่เน่า แปรรูปเป็น “น้ำลูกไข่เน่า” มีสรรพคุณเป็นเลิศ รวมถึง “ลูกไข่เน่าแช่อิ่ม” ที่ชื่อนามไม่ไพเราะ แต่เจาะใจคนรักสุขภาพได้อย่างดี

ผมภูมิใจที่ชื่อผมก็ติดอยู่ในกลุ่มสมุนไพรชื่อเหม็นแต่ดอกหอม โดยกลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้กล่าวถึงและยกให้เป็นผลไม้บำรุงสมอง บำรุงสุขภาพ และหมอชาวบ้านก็บอกว่า บำรุงระบบเพศด้วย เพราะมีสรรพคุณทางสมุนไพรที่อุดมไปด้วยแคลเซียมบำรุงกระดูก

ลูกไข่เน่า

สำหรับผู้สูงอายุ รักษาโรคเบาหวาน บำรุงไต เปลือกต้นช่วยรักษา พิษตาน ซาง แก้ไข้ ขับพยาธิ รากแก้ท้องเสีย ท้องร่วง ผลและเปลือกผล แก้โรคเกล็ดกระดี่ขึ้นนัยน์ตา ผลสุกของไข่เน่ากินสดก็เป็นผลไม้ มีรสหวานเอียน นิยมจิ้มเกลือ หรือคลุกเกลือแช่ผึ่งแดดเก็บถนอมอาหารได้ หรือจะดองน้ำเกลือก็เก็บได้นาน

ผลอ่อนของไข่เน่ามีสีเขียว สุกแล้วจะเป็นสีม่วงดำ เนื้ออ่อนนุ่มรสหวานอมเปรี้ยว แต่กลิ่นออกเหม็น ขนาดเล็กลักษณะรูปไข่กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร

บางคนนำไปทำ “ขนมไข่เน่า” โดยวิธีการเหมือนการทำขนมกล้วยแต่เปลี่ยนจากกล้วยเป็นผลไข่เน่า หยอดใส่ใบตองทรงกรวยแหลม เอามะพร้าวขูดโรยหน้าแล้วนำไปนึ่งสุก  แต่ส่วนใหญ่นิยมนำไปปรุงเป็น “น้ำลูกไข่เน่า” โดยมีส่วนปรุงผสมเพิ่ม เช่น เกลือ น้ำตาลกรวด มะขามเปียก ใบเตย ต้มน้ำรวมกับผลไข่เน่าให้เดือด แล้วกรอง โดยดื่มเป็นเครื่องดื่มแช่เย็นหรืออุ่นๆ ก็เป็นน้ำดื่มสมุนไพรรสเลิศ

ท่านผู้ใดสนใจให้ผมบำรุงไต กระดูก สมอง ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ใช้เมล็ดเพาะปลูกได้ รอผมเพียง 7 ปี ก็ออกผลไข่เน่าให้แปรรูป และชื่นชมดอกเล็กๆ กลิ่นหอมเป็นช่อตามซอกปลายกิ่ง สีม่วงอ่อนหรือม่วงอมชมพู ทุกวันนี้ชาวบ้านตามหัวไร่ปลายนาไม่มีใครโค่นผมทิ้งแล้ว เขาหันมาปลูกไว้แปรรูปทั้งผล และเนื้อไม้ตอนนี้ผมกลายเป็นไม้มีค่าที่คนรู้จักมากขึ้นแล้ว อ้อ..! ผมไม่ผลัดใบให้ใครปลูกต้องเก็บกวาดด้วยนะครับ

แม้ว่าผมจะภูมิใจในสรรพคุณสมุนไพรซึ่งเป็นที่ยอมรับตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ก็น้อยใจที่ชื่อของผมเป็นอุปสรรคต่อการเรียกขาน และเป็นที่รังเกียจของสัตว์ที่ออกลูกเป็นไข่ทั้งหลายรวมทั้งเต่า ปลา ตัวเงินตัวทอง โดยเฉพาะ “คน” คงไม่อยากให้มีชื่อ “ไข่เน่า” ต่อท้าย แต่ไม่เป็นไรถือว่าคนรังเกียจเพราะกลัวเพียงชื่อไข่เน่า แต่สังเกตว่าพอได้ดื่ม “น้ำลูกไข่เน่า” แล้ว เห็นว่า “ติดใจ” กันทุกคน..?

 

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2563