บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร จัดทำแปลงข้าวสาธิตภายใต้โครงการ “เพิ่มข้าว” เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวไทยและลดต้นทุนให้กับเกษตรกร

คุณวัชระ ปิงสุทธิวงศ์ เจ้าหน้าที่บริหารและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า โครงการเพิ่มข้าว เป็นหนึ่งในกิจกรรมของบริษัทที่ต้องการพัฒนาผลผลิตสินค้าเกษตรของไทยให้ได้ ทั้งปริมาณและคุณภาพที่สูงขึ้น ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง บมจ. ไทยเซ็นทรัลเคมี มหาวิทยาลัย และเกษตรกร โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านการเพิ่มผลผลิตข้าว ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้พันธุ์ข้าว การจัดการน้ำ การเลือกใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร การเตรียมแปลงก่อนการเพาะปลูก การใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีภาคการเกษตร รวมทั้งใช้ประสบการณ์ ภูมิปัญญาของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ในการดูแลรักษาเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว ซึ่งโครงการเพิ่มข้าวครั้งนี้ได้จัดทำขึ้นเป็นปีแรก โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร สหกรณ์การเกษตรรักษ์ถิ่นเกิด จังหวัดร้อยเอ็ด เกษตรกรในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย เช่น จังหวัดสกลนคร จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุพรรณบุรี รวมไปถึง กรมปลูกฝัง กระทรวง กสิกรรมและป่าไม้ แขวงจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ผศ.ดร.วัชรพงษ์ อินทรวงศ์ รองอธิการบดี กล่าวว่า โครงการเพิ่มข้าวเป็นหนึ่งในกิจกรรม ที่อยู่ภายใต้ โครงการดาวล้อมเดือน เป็นโครงสร้างที่สร้างจุดศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการพัฒนาการเกษตรโดยยกระดับพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการพัฒนาการเกษตรภายในชุมชนให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างการพัฒนา โดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เปรียบเสมือนดาว และภาคีเครือข่ายทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ด้าน ผศ.ดร.ศุภสิทธิ์ สิทธาพานิช คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ปุ๋ยอย่างไม่มีประสิทธิภาพเป็นปัญหาหลักที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตรไทย เนื่องจากเกษตรกรใช้ปุ๋ยไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดการสูญเสียธาตุอาหาร ในการทำแปลงสาธิตข้าวในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ใช้เทคโนโลยีงานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยเคมี คือ การจัดการธาตุอาหารพืชเฉพาะพื้นที่ โดยใช้หลักง่ายๆ คือ ใส่ปุ๋ยตามที่พืชและดินต้องการ รวมทั้งการเพิ่มอินทรียวัตถุในช่วงการพักดินในช่วงฤดูแล้ง เพื่อปรับสภาพโครงสร้างของดินให้ดียิ่งขึ้น

คุณสมใจ ครุธตำคำ เกษตรกร หมู่ที่ 4 ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมโครงการเพิ่มข้าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ทางบริษัทปุ๋ย หัววัว-คันไถ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ติดต่อมาเพื่อขอทำแปลงสาธิต เพื่อลดต้นทุนการผลิตและต้องการเพิ่มข้าวให้มากขึ้น โดยปกติที่ผ่านมาชาวนาจะไม่ค่อยปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ปุ๋ย เห็นข้าวในนาของใครสวย ก็จะถามว่าใช้ปุ๋ยอะไร แล้วก็จะใช้ตามกัน ไม่มีการวิเคราะห์ดินว่าขาดธาตุอาหารอะไร ควรใส่ปุ๋ยสูตรอะไร ปริมาณเท่าไร หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการดาวล้อมเดือน ทางมหาวิทยาลัยได้ให้คำแนะนำ ก็เข้าใจมากขึ้น มีการถ่ายทอดความรู้ระหว่างกันภายในชุมชน การทำแปลงข้าวสาธิต โครงการเพิ่มข้าว ในครั้งนี้ มีทีมน้องๆ จาก หัววัว-คันไถ เข้ามาให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธี แลกเปลี่ยนวิธีการทำนา เพื่อที่จะได้ลดต้นทุนการผลิต และได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น

คุณโยชิฮิโระ ทามูระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการเพิ่มข้าว เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สอดคล้องกับแนวคิดการสร้างคุณค่าร่วม หรือ CSV (Creating Shared Value) ของบริษัท กล่าวคือ การเชื่อมโยงทรัพยากรและองค์ความรู้ต่างๆ ของบริษัท มหาวิทยาลัย เกษตรกร และบริษัทผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีการเกษตร เพื่อจุดมุ่งหมายคือการเพิ่มผลผลิตข้าว ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ทุกฝ่ายต้องการและได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ โครงการเพิ่มข้าวยังสอดคล้องกับหนึ่งในพันธกิจหลักของบริษัทคือการเอาใจใส่ต่อสังคม โดยผลผลิตข้าวบางส่วนที่ได้จากแปลงสาธิตจะถูกนำไปมอบให้กับหน่วยงานต่างๆ และโรงเรียนที่มีความต้องการ รวมไปถึงมีการจัดการประชุมกับเกษตรกรบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้ความรู้และขยายผลของโครงการเพื่อทำให้การเพิ่มผลผลิตข้าวของเกษตรกรในพื้นที่มีความต่อเนื่องและยั่งยืน