วิธีการปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้ง

ถั่วเหลืองปลูกได้ดี

ถั่วเหลือง เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพราะมีความต้องการใช้ในประเทศสูง นำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทั้งการบริโภคและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ หลายรูปแบบ เช่น น้ำนมถั่วเหลือง เต้าหู้ เต้าเจี้ยว เป็นต้น แต่ปัจจุบันถั่วเหลืองกลับมีพื้นที่ปลูกลดลง เนื่องจากเกษตรกรนิยมปลูกพืชแข่งขันตัวอื่นที่ดูแลรักษาง่ายและได้กำไรสูงกว่า และจากวิกฤตการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ถั่วเหลืองเป็นพืชอายุสั้น ปัจจุบันจึงเป็นพืชที่นิยมปลูกหลังนา หรือปลูกทดแทนนาปรัง เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและยังสามารถช่วยตัดวงจรการระบาดของแมลงศัตรูในระบบการปลูกข้าว และช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน เกิดความสมดุลของธาตุอาหาร ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น

พันธุ์ถั่วเหลือง …สามารถแบ่งตามอายุเก็บเกี่ยวได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพันธุ์อายุสั้น และกลุ่มพันธุ์อายุปานกลาง ทั้งนี้ ขอแนะนำพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน ดังนี้

  1. กลุ่มถั่วเหลืองพันธุ์อายุสั้น

อายุเก็บเกี่ยว ประมาณ 75-85 วัน ลำต้นไม่ทอดยอด ความสูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร มีจำนวน 3 พันธุ์ ดังนี้

1.1 พันธุ์นครสวรรค์ 1 ดอกสีม่วง ฝักแห้งเมื่อแก่จัดมีสีเหลืองทอง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 73-76 วัน ผลผลิตเฉลี่ย 220 กิโลกรัม ต่อไร่ ถ้าปลูกต้นฤดูฝน หรือกลางฤดูฝนจะให้ผลผลิตสูง ต้านทานปานกลางต่อโรคใบจุดนูน อ่อนแอต่อโรคราน้ำค้าง เหมาะสำหรับปลูกในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน

1.2 พันธุ์เชียงใหม่ 2 ดอกสีม่วงอ่อน ฝักแก่สีน้ำตาลอ่อน อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 77 วัน ผลผลิตเฉลี่ย 235 กิโลกรัม

ต่อไร่ ต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง ปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้มาก ปลูกได้ในทุกท้องถิ่น

1.3 พันธุ์ศรีสำโรง 1 ดอกสีม่วง ฝักแก่สีน้ำตาล อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 76-78 วัน ผลผลิตเฉลี่ย 291 กิโลกรัม ต่อไร่อ่อนแอต่อโรคราน้ำค้าง เหมาะสำหรับปลูกในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน

  1. กลุ่มถั่วเหลืองพันธุ์อายุปานกลาง 86-112 วัน ลำต้นไม่ทอดยอด ความสูงประมาณ 60-80 เซนติเมตร มีดังนี้

2.1 พันธุ์ สจ.5 ดอกสีม่วง ฝักแก่สีน้ำตาลเข้ม อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 90-96 วัน ผลผลิตเฉลี่ย 286 กิโลกรัม ต่อไร่ ทนทานต่อโรคใบด่าง โรคราสนิม และโรคแอนแทรกโนส เป็นพันธุ์ที่ใช้แนะนำปลูกได้ทั่วไป

2.2 พันธุ์เชียงใหม่ 6 ดอกสีม่วง ฝักแก่สีน้ำตาลเข้ม อายุเก็บเกี่ยว ประมาณ 90-99 วัน ผลผลิตเฉลี่ย 322 กิโลกรัม ต่อไร่ ทนทานต่อโรคราสนิม และต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง สูงกว่าพันธุ์ สจ.5 และพันธุ์เชียงใหม่ 60 ปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้มาก ปลูกได้ในทุกท้องถิ่น

ปัจจัยที่มีผลต่อการปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้ง

เมื่อเลือกพันธุ์ถั่วเหลืองที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่จะปลูกแล้ว แนวทางปฏิบัติการปลูกและการดูแลรักษาถั่วเหลืองในฤดูแล้งเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ควรต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้

สภาพภูมิอากาศ

อุณหภูมิที่เหมาะสมในการปลูกถั่วเหลือง อยู่ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงหรือต่ำกว่าอุณหภูมิที่เหมาะสมจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของถั่วเหลือง โดยหลังจากที่มีการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว การปลูกถั่วเหลืองในฤดูแล้งจะเริ่มปลูกตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม ถ้าสามารถปลูกเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคมจะได้ผลดีมาก แต่ถ้าปลูกไม่ทัน ก็ไม่ควรเกินกลางเดือนมกราคม เนื่องจากต้องหลีกเลี่ยงช่วงอากาศหนาวเย็นขณะถั่วเริ่มงอก และจะเก็บเกี่ยวได้ก่อนช่วงฝนตก เพราะถ้าถั่วเหลืองถูกฝนในช่วงเก็บเกี่ยวจะทำให้ผลผลิตเสียหาย

สภาพพื้นที่ปลูก

สภาพดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของถั่วเหลือง ควรเป็นดินร่วน ดินร่วนเหนียว ดินเหนียว หรือดินร่วนเหนียวปนทราย ดินมีค่าความเป็นกรดด่าง ประมาณ 5.5-5.6 โดยถั่วเหลืองไม่ชอบดินเป็นกรดจัด ซึ่งส่งผลทำให้การตรึงไนโตรเจนของเชื้อไรโซเบียมมีประสิทธิภาพลดลง

 การปลูกและการดูแลรักษาถั่วเหลือง

  1. การเตรียมดิน

ควรมีการเก็บตัวอย่างดิน เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน ถ้าดินมีค่าความเป็นกรดด่างต่ำกว่า 5.5 ให้หว่านปูนขาว อัตรา 100-200 กิโลกรัม ต่อไร่ แล้วพรวนกลบ

การปลูกถั่วเหลืองในสภาพนา หลังเก็บเกี่ยวข้าว มีการเตรียมดิน 2 แบบ คือ

1.1 การเตรียมดินแบบไถพรวน หลังเก็บเกี่ยวข้าว ให้ไถดินลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร พร้อมขุดร่องน้ำชิดคันนาทุกด้านและผ่านแปลงนา ร่องกว้าง 30 เซนติเมตร ระยะระหว่างร่องน้ำ ประมาณ 3-5 เมตร เพื่อสะดวกต่อการให้น้ำและระบายน้ำออก ตากดินทิ้งไว้ 1-2 สัปดาห์ ปล่อยน้ำให้ท่วมแปลงครึ่งวัน แล้วระบายน้ำออก ตากดิน 1-2 วัน ให้ดินหมาด แล้วจึงไถพรวนก่อนปลูก

1.2 การเตรียมดินแบบไม่ไถพรวน หลังเก็บเกี่ยวข้าว ต้นตอซังทิ้งเศษฟางไว้ในแปลงนา ขุดร่องน้ำชิดคันนาทุกด้านและผ่านแปลงนา ร่องกว้าง 30 เซนติเมตร ระยะระหว่างร่องน้ำประมาณ 3-5 เมตร ปล่อยน้ำให้ท่วมแปลงครึ่งวัน แล้วระบายน้ำออก ตากดิน 1-2 วัน ให้ดินหมาด แล้วจึงปลูก

  1. การเตรียมเมล็ดพันธุ์

เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ ควรมีคุณภาพดี ความงอกไม่ต่ำกว่า 65 เปอร์เซ็นต์ ใช้เมล็ดพันธุ์ อัตรา 15 กิโลกรัม ต่อไร่ คลุกด้วยเชื้อไรโซเบียม 1 ถุง (200 กรัม) โดยเคลือบเมล็ดด้วยน้ำเชื่อม (น้ำตาลทราย 3-5 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำ 1 แก้ว) คลุกเคล้าด้วยเชื้อไรโซเบียมเบาๆ ให้ทั่ว หลังจากนั้นผึ่งในที่ร่ม ประมาณ 20-30 นาที จนเมล็ดถั่วเหลืองแห้ง ก่อนนำไปปลูก

สำหรับการคลุกเคล้าเมล็ดถั่วเหลือง อย่าคลุกเคล้าแรง ควรคลุกในกระสอบบรรจุเมล็ดพันธุ์โดยกลับไปมาให้ทั่ว การคลุกเชื้อไรโซเบียมด้วยวิธีนี้จะช่วยให้เชื้อไรโซเบียมเกาะติดเมล็ดดี สามารถใช้กับเครื่องหยอดได้โดยไม่ติดเครื่องหยอด

เชื้อไรโซเบียม เป็นแบคทีเรียที่เมื่อเข้าไปอาศัยอยู่ในรากของพืชตระกูลถั่วจะสร้างปม และสามารถตรึงก๊าซไนโตรเจนจากอากาศมาเป็นสารประกอบไนโตรเจนที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

ถั่วเหลือง ต้องใช้เชื้อไรโซเบียมถั่วเหลืองเท่านั้น ไม่สามารถนำเชื้อไรโซเบียมจากถั่วชนิดอื่นๆ มาทำให้เกิดปมที่รากของถั่วเหลืองได้

  1. วิธีการปลูก

การปลูกถั่วเหลืองในสภาพนา มีวิธีการปลูก ดังนี้

3.1 การปลูกโดยเตรียมดินแบบไถพรวน มีวิธีการปลูก 2 แบบ คือ แบบหว่าน หรือแบบโรยเป็นแถว ระยะระหว่างแถว 50 เซนติเมตร จำนวน 20-25 ต้น ต่อแถว ยาว 1 เมตร (64,000-80,000 ต้น ต่อไร่)

3.2 การปลูกโดยเตรียมดินแบบไม่ไถพรวน ปลูกโดยใช้ไม้แหลม หรือเครื่องปลูก ทำหลุมกว้าง 2-3 เซนติเมตร ลึก 3-4 เซนติเมตร หยอดเมล็ดพันธุ์ 4-5 เมล็ด ต่อหลุม

ระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับถั่วเหลือง มีดังนี้

  1. ถั่วเหลืองพันธุ์อายุสั้น ใช้ระยะระหว่างแถว 25 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 25 เซนติเมตร จะได้ต้นถั่วเหลือง จำนวน 100,000 ต้น ต่อไร่
  2. ถั่วเหลืองพันธุ์อายุปานกลาง ใช้ระยะระหว่างแถว 40 เซนติเมตร ระยะระหว่างหลุม 20 เซนติเมตร จะได้ต้นถั่วเหลือง จำนวน 80,000 ต้น ต่อไร่
  3. การใส่ปุ๋ย

4.1 การใส่ปุ๋ยเคมีกับถั่วเหลืองหลังปลูกข้าวในเขตชลประทาน ดินที่ใช้ปลูกข้าวนาปรังมักจะเป็นดินเหนียว หรือร่วนเหนียว ร่วนเหนียวปนทราย ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าดินดอนหรือดินไร่ เกษตรกรที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่จะใส่ปุ๋ยเคมีทุกครั้ง ทำให้มีปุ๋ยเคมีตกค้างที่มีประโยชน์กับถั่วเหลืองที่ปลูกหลังนา แต่จะมีธาตุอาหารฟอสฟอรัสต่ำให้ใส่ปุ๋ยทริปเปิลฟอสเฟต สูตร 0-45-0 อัตรา 20 กิโลกรัม ต่อไร่ ก็เพียงพอกับการปลูกถั่วเหลืองหลังนา และอาจสลับด้วยปุ๋ยเคมี สูตร 16-16-8 หรือสูตร 16-20-0 ในบางปี อัตรา 30 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุดจากการใช้ปุ๋ยเคมี ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมด้วยเสมอ และควรมีการวิเคราะห์ดินเป็นระยะ (3-5 ปี ต่อครั้ง) จะได้มีแนวทางการพิจารณาใส่ปุ๋ยที่เหมาะสม

4.2 การใส่ปุ๋ยเคมีตามชนิดดิน และการวิเคราะห์ดิน การใช้ค่าวิเคราะห์ดินประกอบการพิจารณาการใส่ปุ๋ยเคมี เป็นแนวทางการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และช่วยประหยัดเงิน โดยการใช้แม่ปุ๋ยที่มีขายนำมาผสมปุ๋ยใช้เองตามสัดส่วนของธาตุอาหารที่ต้องการ

ข้อคำนึงในการใช้ปุ๋ยเคมี

  1. 1. ปลูกเป็นแถว ใส่ปุ๋ยเคมีรองพื้นพร้อมปลูก
  2. ปลูกแบบหว่าน ใส่ปุ๋ยเคมีก่อนถั่วเหลืองออกดอก ไม่ควรเกิน 15-20 วันหลังปลูก
  3. หากต้องการใส่ปุ๋ยหลังปลูก มักกระทำหลังจากกำจัดวัชพืชครั้งแรก (ภายใน 2 สัปดาห์ หลังปลูก) เมื่อใส่ปุ๋ยแล้วควรกลบดินหรือพูนโคนต้น
  4. หากดินเป็นกรดจัด ให้หว่านปูนก่อนพรวนดินเพื่อลดความเป็นกรดของดิน ปล่อยแปลงไว้ไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ หรือหลังจากฝนตกหรือใช้น้ำชลประทาน อย่างน้อย 1 ครั้ง จึงปลูกถั่วเหลือง
  5. การให้น้ำถั่วเหลือง

การปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่นา ควรให้น้ำแบบท่วมแปลงแล้วปล่อยให้ซึมลงชั้นดินให้หมดภายในครึ่งวัน หรือระบายน้ำส่วนเกินออก อย่าให้ท่วมข้ามวัน การให้น้ำแต่ละครั้งควรเว้นระยะเวลาห่างกัน 10-15 วัน ต่อครั้ง แต่ถ้าปลูกถั่วเหลืองแล้วคลุมด้วยฟาง อาจให้น้ำระยะเวลาห่างกัน 15-20 วัน ต่อครั้ง

ข้อควรระวัง ในช่วงการเจริญเติบโตของฝักและเมล็ด (ประมาณ 60 วัน หลังปลูก) จะต้องไม่ให้ถั่วเหลืองขาดน้ำ

  1. วัชพืช และการป้องกันกำจัด

วัชพืช ที่พบและเป็นปัญหาในแปลงถั่วเหลือง คือ วัชพืชฤดูเดียว และวัชพืชข้ามปี พบทั้งวัชพืชใบแคบ ใบกว้าง และกก วัชพืชจะมีปริมาณมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ภูมิอากาศ และการเกษตรกรรมของเกษตรกร วัชพืชที่พบโดยทั่วไป เช่น วัชพืชฤดูเดียว เป็นวัชพืชที่ครบวงจรชีวิตภายในฤดูเดียว ส่วนมากขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เป็นประเภทใบแคบ เช่น หญ้านกสีชมพู หญ้าตีนนก หญ้าตีนกา และหญ้าดอกขาว เป็นต้น

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถป้องกันกำจัดวัชพืชได้หลายวิธี ทั้งการใช้แรงงานคน ตัดหรือถากวัชพืช รวมทั้งใช้สารกำจัดวัชพืช ในอัตราที่แนะนำข้างขวด