อุบลโมเดล สร้างเครือข่ายเกษตรกร 4.0 รู้ดิน รู้ปุ๋ย ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต


กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล เดินหน้าโครงการอุบลโมเดลต่อเนื่อง จัดงาน “ประชารัฐ พัฒนาชาวไร่มันฯ ขยันแบบอุบลโมเดล” ครั้งที่ 3 มีเกษตรกรร่วมงานคับคั่งกว่า 500 ราย สร้างเครือข่ายเกษตรกรต้นแบบอุบลโมเดลรู้จักดิน รู้จักปุ๋ย ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เปลี่ยนวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิม สู่เกษตรกร 4.0 “ทำน้อย แต่ได้มาก”

เมื่อเร็วๆนี้ภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกรอำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี สานพลัง ประชารัฐร่วมกันจัดงาน ประชารัฐ พัฒนาชาวไร่มันฯ ขยันแบบอุบลโมเดลครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการพัฒนาการส่งเสริมการเกษตรการปลูกมันสำปะหลัง (อุบลโมเดล) ปี 2560 / 2561 ภายใต้แนวคิด “ชาวไร่มัน 4.0 รู้ดิน รู้ปุ๋ย ลดต้นทุน” โดยมีนางสาวเบญจพร ชาครานนท์ รองอธิบดีด้านบริหาร กรมพัฒนาที่ดิน เป็นประธานเปิดงาน พร้อมคณะกรรมการบริหารกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร นายสรชาย ครองยุทธ รักษาการนายอำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมต้อนรับ พร้อมคณะหัวหน้าส่วนราชการและนายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล โดยมีเกษตรกรกว่า 500 ราย จากพื้นที่เป้าหมาย 4 ตำบลของอำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ ตำบลนาเยีย ตำบลนาดี ตำบลนาเรือง และตำบลนาจาน  เข้าร่วมกิจกรรม ณ ที่ว่าการอำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี

นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ รองอธิบดีด้านบริหาร กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ภายใต้แนวคิด ของการจัดงาน “ประชารัฐ พัฒนาชาวไร่มันฯ ขยันแบบอุบลโมเดล” นอกจากความรู้เรื่องดิน รู้ปุ๋ยแล้ว เกษตรกรยังต้องรู้พืช และรู้จักตัวเอง จึงจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อย่างแท้จริง ซึ่งการรู้จักพืชนั้นตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดโซนนิ่งพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการเกษตร โดยเกษตรกรต้องปรับตัวไปพร้อมกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นเกษตรกร 4.0 คือ เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ จะต้องทำน้อยแต่ได้มาก

“โครงการพัฒนาการส่งเสริมการเกษตรการปลูกมันสำปะหลัง หรืออุบลโมเดล เป็นโครงการประชารัฐที่บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีได้มากขึ้น การเข้าถึงเทคโนโลยีจะช่วยลดความเสี่ยงในการทำการเกษตรให้น้อยลง และการทำการเกษตรในยุค 4.0 เกษตรกรจะต้องรู้เรื่องดิน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต การรู้ดินคือการรู้ธาตุอาหารในดิน โดยใช้การเก็บดินและวิเคราะห์ดินตามหลักวิชาการของกรมพัฒนาที่ดิน พร้อมกันนี้การปลูกพืชทุกชนิดโดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจต้องใส่ปุ๋ยบำรุงเพื่อเพิ่มผลผลิต การใส่ปุ๋ยเกินความต้องการของดินจึงเป็นการเพิ่มต้นทุนและไม่เกิดประโยชน์ต่อพืช การจะไปให้ถึงประเทศไทย 4.0 นั้นก็คือว่า เกษตรกรต้องเหนื่อยน้อยลงแต่ได้ผลผลิตมากขึ้น สบายขึ้นและมีรายได้มากขึ้น สุดท้ายเกษตรกรจะต้องรู้สึกภาคภูมิใจว่าตัวเองคือเกษตรกรของประเทศไทย สามารถผลิตอาหารผลิตพืชพลังงานให้กับประชาชนชาวไทย และประชากรโลก” รองอธิบดีด้านบริหาร กรมพัฒนาที่ดินกล่าว

ทางด้านนายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลและหน่วยงานราชการต่างๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้รวมพลังรวมแรง ประชารัฐ พัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ภายใต้แนวคิดชาวไร่มัน 4.0 รู้ดิน รู้ปุ๋ย ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ทั้งยังภาคภูมิใจที่ได้สร้างเกษตรกรต้นแบบสามารถเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังได้สูงถึง 8 ตันต่อไร่

“เกษตรกรต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการฯ ปลูกมันสำปะหลังได้ผลผลิตมากกว่า 8 ตันต่อไร่ขึ้นไปทั้งหมด โดยใช้เทคโนโลยีและหลักการที่เป็นองค์ความรู้จากทางราชการที่สอนให้ ไม่ว่าจะเป็นการทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ใช้เอง ใช้สาร พด. ของกรมพัฒนาที่ดิน เป็นการนำเอาองค์ความรู้ไปใช้จริงและเกิดผลประโยชน์จริง เกษตรกรมีความสุข เกิดเป็นรายได้หลักที่ไม่ใช่เป็นพียงรายได้เสริมอีกต่อไป เป็นความภาคภูมิใจที่กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอลได้มีส่วนร่วมในโครงการอุบลโมเดลมาตลอด แต่ก็ยังมีเป้าหมายที่สำคัญกว่านี้ ไม่ใช่แค่สร้างเกษตรกรต้นแบบขึ้นมา ต้องมีการขยายผลจากเกษตรกรต้นแบบไปเป็นสมาชิกและเป็นลูกข่ายต่อไป เพื่อทำให้เกษตรกรทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายเดชพนต์กล่าว

งานประชารัฐ พัฒนาชาวไร่มันฯ ขยันแบบอุบลโมเดล จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 โดยปีนี้เป็นการรวมตัวกันของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง 4 ตำบลหลักของอำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี เกษตรกรทั้งหมดจะได้รับการอบรมสาธิตเชิงปฏิบัติการ ผ่านฐานการเรียนรู้ทั้งหมด 7 ฐานการเรียนรู้ คือ ฐานที่ 1 นิทรรศการบูรณาการ ประกอบด้วย 3 ฐานย่อย 1.1 เรื่องทรัพยากรดิน และการจัดการดิน โดย สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 4 1.2 เรื่องเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลัง โดย ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 1.3 เรื่องการแปรรูปมันสำปะหลัง โดย กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ฐานที่ 2 ฐานการเก็บตัวอย่างดิน โดย อาจารย์อัธยะ พินจงสกุลดิษฐ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านวินิจฉัยคุณภาพและกำลังผลิตของดิน ฐานที่ 3 ฐานวิเคราะห์ดิน โดย อาจารย์สุรเชษฐ์ นาราภัทร์

นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ จากกรมพัฒนาที่ดิน ฐานที่ 4 ฐานผสมปุ๋ย โดย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 ฐานที่ 5 ฐานอารักขาพืช โดย สำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 ฐานที่ 6 ฐานเครื่องจักรกลทางการเกษตร และฐานที่ 7 ตลาดนัดสินค้าชุมชน โดย สหกรณ์การเกษตรนาเยีย จำกัด

.

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล มีกำลังการผลิตเอทานอลวันละ 400,000 ลิตรต่อวัน และมีกำลังการผลิตแป้งมันสำปะหลัง 700 ตันแป้งต่อวัน โดยมีความต้องการมันสด 4,000 ตันต่อวัน และมันเส้น 1,200 ตันต่อวัน หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ล้านตันต่อปี และยังมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ โดยมีการจัดเตรียมเทคโนโลยีการผลิตที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งได้ลงทุนเทคโนโลยีด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบครบวงจร เป็นการดำเนินธุรกิจภายใต้นโยบายรับผิดชอบต่อสังคม และมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังเป็นฐานการสร้างเศรษฐกิจด้านพลังงานทดแทนที่มั่นคง และนำความสุขมาสู่สังคมอย่างยั่งยืน