หวั่นวิตกน้ำขาดแคลน! กรมชลประทานผันน้ำป้อนอีอีซี 1,000 ล้านลบ.ม.

เปิดแผนน้ำ-ไฟฟ้าป้อน EEC หวั่นวิตกน้ำขาดแคลน กรมชลฯยัน 5 ปีมีน้ำพอใช้แน่ เพิ่มความจุ-สร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ เผยอีก 10 ปีต้องผันน้ำจากเขื่อนสตรึงนัม เขมรมาใช้ ส่วนภาคตะวันออก กฟผ.เตรียมโรงไฟฟ้าใหม่อีก 6,500 MW แต่ปัญหาปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะไม่เพียงพอสำหรับโรงไฟฟ้า

น้ำ และไฟฟ้า ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการผลักดันโครงการหลักเร่งด่วน 5 อันดับแรก ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง, ท่าเรือแหลมฉบัง, สนามบินอู่ตะเภา, อุตสาหกรรมยานยนต์ชิ้นส่วน/อิเล็กทรอนิกส์/หุ่นยนต์ และการขยายเมือง/สร้างเมืองใหม่ ซึ่งถูกเร่งรัดให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.)เป็นผู้อนุมัติ แต่ความต้องการใช้น้ำและไฟฟ้าในพื้นที่EEC กลับไม่มีอยู่ในแผนฉบับปัจจุบัน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ครศ.) กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ ครศ.ได้ประสานไปยังกรมชลประทาน เพื่อหารือถึงปริมาณน้ำที่ใช้ในพื้นที่ภาคตะวันออกโดยเฉพาะ ความกังวลที่เกิดขึ้นในอนาคตสำหรับพื้นที่ เขตพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) หากมีภาคอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก เบื้องต้นได้มอบหมายกรมชลประทาน ให้กรอบเวลา 3 เดือนในการจัดทำ แผนบริหารจัดการน้ำ หรือ แผนสำรองน้ำ ระยะสั้น 1 ปีเอาไว้ก่อน

“แผนระยะ 1 ปีจะประกอบไปด้วย ระบบการวางท่อ การซ่อมแซมเส้นทางท่อเก่าที่สูบน้ำมาจากแหล่งน้ำต่าง ๆ รวมถึงเส้นทางท่อหลักที่จะสูบน้ำจากปากแม่น้ำประแสร์ อ.แกลง จ.ระยอง ต่อจากนั้นจึงจะจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำระยะยาวต่อไป อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำในภาคตะวันออกขณะนี้ประเมินแล้วว่า ยังคงเพียงพอกับการใช้ในพื้นที่ EEC ถึง 5 ปีแน่นอน” นายคณิศกล่าว

EEC ใช้น้ำ 1,000 ล้าน ลบ.ม.

ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความวิตกกังวลในแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 3 จังหวัดได้แก่ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง จะขาดแคลนน้ำขั้นรุนแรงแม้จะไม่มี EEC ใน 5 ปีข้างหน้าว่า ปัจจุบัน จังหวัดฉะเชิงเทรา มีแหล่งน้ำดิบพอเพียง โดยอ่างมีความจุกักเก็บ 464 ล้านลบ.ม. และมีความต้องการใช้ในการเกษตร อุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศพอดี

ขณะที่ จังหวัดชลบุรี อ่างมีความจุกักเก็บ 215 ล้านลบ.ม. แต่มีน้ำไหลเข้าอ่างปีละ 130-133 ล้านลบ.ม. โดยปีที่ผ่านมากรมชลประทานต้องสูบน้ำผ่านระบบท่อจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ไปอ่างบางพระ ชลบุรี ปริมาณ 60 ล้านลบ.ม. ส่วนบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกจำกัด (มหาชน) หรือ East Water สูบจากเขื่อนบางปะกงไปอ่างบางพระอีก 45 ล้านลบ.ม.และยังมีการดึงน้ำจากเขื่อนประแสร์และอ่างคลองใหญ่ จังหวัดระยอง อีก 70 ล้านลบ.ม.มาเสริม ส่วนจังหวัดระยองอ่างมีความจุ 580 ล้านลบ.ม. น้ำไหลเข้าอ่าง 652 ล้านลบ.ม. แต่ความต้องการน้ำเริ่มมากขึ้น คาดว่าอีก 4-5 ปีข้างหน้าปริมาณน้ำของระยองจะตึงตัวมาก

“ความต้องการน้ำใน 3 จังหวัดดังกล่าวที่ไม่รวมภาคเกษตรปี 2560 มีความต้องการน้ำในภาคอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวและการป้อนผู้อยู่อาศัยปริมาณ 362 ล้านลบ.ม. คาดว่าอีก 20 ปีข้างหน้าหรือปี 2579 กรณีไม่มี EEC เกิดขึ้นจะมีการใช้น้ำ 570 ล้านลบ.ม. แต่ถ้ามีโครงการ EEC เกิดขึ้นก็จะต้องใช้น้ำถึง 1,000 ล้านลบ.ม” ดร.สมเกียรติกล่าว

เพิ่มความจุ-สร้างอ่างใหม่

เมื่อสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกเป็นอย่างนี้ กรมชลประทาน จึงจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาและบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนการพัฒนา EEC โดยกรมชลประทานจะเป็นจัดหาน้ำต้นทุน ขณะที่ East Water/การประปาส่วนภูมิภาค/ท้องถิ่นเป็นผู้ใช้น้ำ ด้วยการ 1)ปรับปรุงแหล่งน้ำดิบ/พัฒนาแหล่งน้ำใหม่ 2)เชื่อมโยงแหล่งน้ำระบบผันน้ำ 3)ทำแก้มลิง/อ่างนา 4)ป้องกันน้ำท่วม และ 5)บริหารจัดการแหล่งน้ำต่าง ๆ แบ่งการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ออกเป็น 2 ช่วง

ในระยะแรก 5 ปีแรก จะต้องสร้างโครงการกักเก็บน้ำขนาดเล็กขนาดกลางรับมือก่อน โดยเพิ่มความจุกักเก็บน้ำอ่างหนองปลาไหลอีก 23 ล้านลบ.ม., การสูบน้ำย้อนกลับจากคลองสะพานขึ้นไปเก็บไว้ที่เขื่อนประแสร์ที่เพิ่มความจุไปล่าสุดอีก 47 ล้านลบ.ม.เป็น 295 ล้านลบ.ม.อีก 10 ล้านลบ.ม., การเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่อีก 10 ล้านลบ.ม. กับ อ่างเก็บน้ำดอกกรายอีก 10 ล้านลบ.ม. รวมทั้งผันน้ำท้ายอ่างคลองสียัดและอ่างคลองระบม ฉะเชิงเทรา ที่มีพื้นที่น้ำท่ามากเข้าสู่ระบบคลองอีกปีละ 21 ล้านลบ.ม.

นอกจากนี้ กรมชลประทาน กำลังก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอีก 4 แห่งที่ จังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำประแกด ความจุ 60.2 ล้านลบ.ม. สร้างไปแล้ว 90%, อ่างพะวาใหญ่ความจุ 68.1 ล้านลบ.ม., อ่างคลองแก่งหางแมวความจุ 80.7 ล้านลบ.ม. และอ่างคลองวังโตนดความจุ 99.5 ล้านลบ.ม. รวมเป็น 308.5 ล้านลบ.ม. หรือมากกว่าเขื่อนประแสร์ จากนั้นน้ำจะไหลมารวมกันที่สถานีสูบน้ำฝายวังใหม่เพื่อส่งน้ำบางส่วนไปเก็บที่เขื่อนประแสร์ต่อไป “ในระยะ 10 ปีข้างหน้านี้หากดำเนินการตามแผนข้างต้นสถานการณ์น้ำในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC ค่อนข้างปลอดภัย”

ระยะยาวต้องผันน้ำจากเขมร

แต่หลังจาก 10 ปีต่อไปมีความจำเป็นที่จะต้องจัดหาน้ำมาเพิ่มให้กับภาคตะวันออก โดยความเป็นไปได้ในขณะนี้ก็คือ การเจรจากับรัฐบาลกัมพูชาในโครงการไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ขนาดความจุ 1,200 ล้าน ลบ.ม. โดยนำน้ำต่อท่อเข้ามาในฝั่งไทยบริเวณจังหวัดตราดตอนล่างและผันน้ำต่อมาทางท่อเข้าสู่ อ.แกลง จ.ระยองต่อไป

หวั่นก๊าซไม่พอป้อนโรงไฟฟ้า

สำหรับสถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ EEC นั้น นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกในปัจจุบันสามารถรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นได้แน่นอน แต่สิ่งที่กระทรวงพลังงานค่อนข้างกังวลก็คือ ปริมาณก๊าซธรรมชาติ ที่จะมารองรับโรงไฟฟ้าในอนาคตจะเพียงพอหรือไม่ ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกใช้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทยเป็นหลักโดยเฉพาะจาก แหล่งบงกช-เอราวัณ จากเดิมที่มีกำลังผลิตอยู่ที่ระดับ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันนั้น ขณะนี้มีแนวโน้มว่าการผลิตก๊าซจากทั้ง 2 แหล่งจะลดลงเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้มาอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศ์ฟุต/วันเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ สนพ.รอการยืนยันจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่า ทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณจะยืนระดับการผลิตอยู่ที่ระดับใด ในกรณีที่ลดลงต่อเนื่องก็จะต้องวางแผนในการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มารองรับการใช้ที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ EEC ได้

ด้าน นายวิวัฒน์ ชาญเชิงพานิช รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคกลาง-ภาคตะวันออกในปัจจุบันจะรองรับการใช้ได้ในช่วง 4-5 ปีต่อจากนี้ ส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งเบื้องต้นได้มีการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวไปถึง 10 ปี ข้างหน้าแล้วและมีโรงไฟฟ้าใหม่ที่เตรียมผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในสัดส่วนของ กฟผ.มีรวมทั้งสิ้น 6,500 MW เช่น โรงไฟฟ้าพระนครใต้ทดแทน เครื่องที่ 1-2 รวม 1,300 MW โรงไฟฟ้าบางปะกงส่วนทดแทนเครื่องที่ 1-2 รวม 1,300 MW ในส่วนของกำลังผลิตใหม่ที่จะมาจากเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) ของบริษัทในเครือกัลฟ์ เจพี รวมทั้งสิ้น 5,000 MW ก็จะทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 2564 จนถึง 2567

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์