เรือง ศรีนาราง เกษตรกรต้นแบบทุเรียนแปลงใหญ่ ปลูก 150 ไร่ ใช้ต้นทุน 5 ล้าน โกยกำไรปีละ 14 ล้าน

ปีนี้ เป็นอีกปีทองของชาวสวนทุเรียน เนื่องจากสภาพอากาศเป็นใจ ทำให้ต้นทุเรียนติดดอกได้หลายรุ่น ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ขายได้ราคาดี สร้างผลกำไรก้อนโต เป็นที่พอใจของชาวสวนทุเรียนทั่วประเทศ

พี่เรือง ศรีนาราง เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ด้านพืชสวน ปี 2562 เป็นหนึ่งในเกษตรกรต้นแบบทุเรียนแปลงใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จด้านผลผลิตและรายได้จากกิจการสวนทุเรียนอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 พี่เรือง มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 180 ไร่ มีรายได้จากการขายผลผลิตทุเรียน 19 ล้านบาท โดยมีต้นทุนการผลิตแค่ 5 ล้านบาท หลังหักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือผลกำไรสุทธิถึง 14 ล้านบาททีเดียว

พี่เรือง ศรีนาราง

พี่เรือง บอกว่า จุดเด่นของทุเรียนตราดได้เปรียบด้านทำเล ทำให้มีทุเรียนสุกเข้าตลาดในช่วงต้นฤดู (กุมภาพันธ์-มีนาคม) เป็นรายแรกในพื้นที่ภาคตะวันออก เปิดตลาดด้วยทุเรียนจากพื้นที่แหลมศอก ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมือง ตามมาด้วยทุเรียนในพื้นที่อำเภอเมืองตราดและอำเภอเขาสมิงตามลำดับ จึงค่อยมีทุเรียนจันทบุรีเข้าตลาดในเวลาต่อมา ทุเรียนตราดมีรสชาติอร่อยไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่น แต่เก็บเกี่ยวผลผลิตในอัตราความสุกแก่ที่เหมาะสม ทำให้ได้ทุเรียนคุณภาพดีรสชาติอร่อยป้อนตลาดในประเทศและส่งออก

ทุเรียน ช่วงต้นฤดู ก่อนวิกฤตโควิด-19 พี่เรือง บอกว่า พ่อค้ามารับซื้อทุเรียนในราคาสูง กิโลกรัมละ 150 บาท ช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่เมืองฮูฮั่น ชาวสวนทุเรียนต่างกังวลว่าจะส่งออกทุเรียนไปขายจีนได้ไหม ปรากฏว่า จีนสามารถควบคุมโรคระบาดได้ในระยะเวลา 2 เดือน ทำให้สถานการณ์ส่งออกทุเรียนกลับมาบูมขึ้นอีกครั้ง ปี 2562 พี่เรือง ขายทุเรียนในราคาหน้าสวนได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 80 บาท แต่ปีนี้สามารถขายทุเรียนได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา โดยมีราคาขายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 100 บาท โดยมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 30 บาท หักต้นทุนแล้ว ยังมีผลกำไรสุทธิ ถึงกิโลกรัมละ 70 บาท สร้างผลกำไรได้ก้อนโต

สวนนายเรือง ปลูกทุเรียนแบบยกโคกสูง

“กระแสความนิยมทุเรียนในตลาดส่งออก รวมทั้งผลตอบแทนที่สูง สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรรายใหม่และรายเก่าตัดสินใจโค่นต้นยาง สวนปาล์มน้ำมัน เพื่อนำมาปลูกทุเรียนกันมากมาย ทำให้พื้นที่ปลูกทุเรียนในท้องถิ่นขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในอนาคตจะมีผลผลิตทุเรียนเข้าตลาดมากขึ้น ผมวางแผนเพิ่มปริมาณผลผลิตและดึงต้นทุนให้ได้ต่ำสุด แค่ขายทุเรียนในราคาหน้าสวน ที่กิโลกรัมละ 50 บาท ผมก็อยู่ได้แล้ว เพราะมีต้นทุนการผลิตแค่ปีละ 5 ล้านบาท แต่มีรายได้เข้ากระเป๋า ปีละ 15 ล้านบาท ก็คุ้มค่ากับการลงทุนแล้ว” พี่เรือง กล่าว

ดูแลจัดการหลังการเก็บเกี่ยว

หลายคนสงสัยว่า หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จหมดแล้ว ชาวสวนทุเรียนเขาทำอะไรกันต่อ พี่เรือง ให้คำตอบว่า หลังเก็บเกี่ยวเสร็จ สิ่งที่ต้องเร่งรีบทำให้เร็วที่สุดคือ การตัดเชือกโยง และตัดแต่งกิ่ง โดยจะตัดกิ่งที่ตายออก ตัดแต่งทรงพุ่มให้พร้อมสำหรับการทำใบใหม่ หลังจากนั้นตัดแต่งทรงพุ่มต้นทุเรียนให้เสร็จเรียบร้อย และกำจัดวัชพืช จะด้วยวิธีการตัดหรือพ่นยาฆ่าหญ้าก็แล้วแต่ความถนัด

ให้ปุ๋ยทางน้ำด้วยระบบวาล์ว เวนจูรี่ พืชกินปุ๋ย 100% ไม่ต้องรอปุ๋ยละลาย

หลังจากนั้น จะปรับสภาพดินด้วยปูนขาวหรือโดโลไมท์ หรือใช้ปูนชนิดอื่นๆ เพื่อให้ได้ใกล้เคียง pH ที่เหมาะสมกับการกินอาหารของต้นทุเรียน ซึ่งพี่เรืองแนะนำว่า pH ที่เหมาะสม ควรอยู่ที่ 5.5-6.5 เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง เกษตรกรควรส่งตัวอย่างดินในแปลงไปตรวจกับเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน เพื่อให้ได้ค่าความเป็นกรดด่างของดินที่ถูกต้อง หรือจะใช้อุปกรณ์ตรวจที่มีขายทั่วไปก็ได้ แต่วิธีนี้ส่วนใหญ่จะได้ค่าความเป็นกรดด่างแบบแกว่งมากๆ ไม่ค่อยถูกต้องสักเท่าไร

หลังจากปรับค่าดินแล้ว กิจกรรมต่อไปคือ ดูแลใส่ปุ๋ย สวนนายเรืองจะใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเปรียบเสมือนไม้ค้ำอยู่ใต้ดิน ทำให้ดินมีช่องว่างมากขึ้น หลังจากนั้นจึงค่อยใส่ปุ๋ยเคมี ที่มีตัวหน้า “สูง” เป็นหลัก แต่สวนทุเรียนบางแห่งนิยมใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ

ขั้นตอนเตรียมปุ๋ยคอก ผสมเชื้อไตรโคเดอร์ม่าใช้ในสวนทุเรียน

ในระหว่างนี้ หากมีใบอ่อนออกมา ต้องพ่นสารเคมีหรือสารชีวภาพ เพื่อกำจัดแมลงที่มากินใบอ่อน แมลงศัตรูพืชในระยะนี้มักเจอเพลี้ยไก่แจ้ และเพลี้ยจักจั่น ก็ต้องคอยดูแลป้องกันอย่างใกล้ชิด นี่คือ ขั้นตอนกระบวนการการทำงานทั้งหมดที่พี่เรืองบอกว่า ต้องทำให้เร็วที่สุด หากทำใบอ่อนชุดแรกออกมาเร็วเท่าไร การทำทุเรียนนอกฤดูให้ประสบความสำเร็จ ก็ยิ่งมีโอกาสสูงมากตามไปด้วย

เทคนิคการใส่ปุ๋ยสวนทุเรียน

พี่เรือง บอกว่า สวนทุเรียนแห่งนี้ จะดูแลใส่ปุ๋ยค่อนข้างบ่อย แต่ให้ทีละน้อยๆ เพื่อให้ต้นทุเรียนได้ค่อยๆ กิน เปรียบเหมือนคน หากกินข้าวทีละมากๆ ก็จะอิ่ม จนจุก เหลือเศษอาหารทิ้งขว้าง ไม่ได้ประโยชน์ จึงต้องแบ่งให้ต้นทุเรียนได้กินอาหาร (ปุ๋ย) หลายๆ มื้อ แค่พอดีอิ่ม วิธีนี้จะช่วยให้ต้นทุเรียนสามารถนำปุ๋ยไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า และหลังใส่ปุ๋ยทุกครั้ง อย่าลืมรดน้ำตามด้วยนะ เพราะปุ๋ยที่หว่านไปจะได้ไม่ระเหยไปไหน และไม่ถูกฝนชะล้างไปด้วย

คนงานโรยปุ๋ยรอบทรงพุ่มต้นทุเรียน

คำแนะนำสำหรับเกษตรกรมือใหม่

กระแสปลูกทุเรียนแล้วรวยมาแรง ทำให้เกษตรกรที่เคยปลูกข้าว สนใจอยากเปลี่ยนที่นามาปลูกทุเรียน แต่ไม่มั่นใจว่า ปลูกทุเรียนในพื้นที่น้ำขังจะรอดไหม พี่เรือง บอกว่า ทำได้ แต่ต้องใช้เวลานานสักหน่อย พี่เรืองก็เคยปรับพื้นที่ลุ่มต่ำที่เคยใช้ปลูกข้าวมาทำเป็นสวนทุเรียน ต้องใช้เวลานานถึง 7 ปี ในการต่อสู้กับปัญหาน้ำขัง และโรคในทุเรียน

พี่เรือง มีข้อแนะนำดังกล่าว คือเริ่มจากปรับปรุงสภาพพื้นที่ให้เหมาะสม ปรับดิน ยกโคก แล้วก็ขุดร่องให้น้ำระบาย เนื่องจากเป็นพื้นที่น้ำขัง จึงต้องขุดร่องให้ถี่หน่อย เพื่อที่จะได้ระบายน้ำอย่างรวดเร็ว หลังปลูกทุเรียนแล้ว ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด คอยระวังอย่าให้น้ำขังโคนต้น หากเจอปัญหาน้ำขัง ต้องใช้จอบ ดึงน้ำเข้าร่องน้ำ นี่คือเหตุผลว่า ทำไมสวนแห่งนี้จึงมีร่องน้ำค่อนข้างเยอะนั่นเอง

หลังเปลี่ยนที่นามาปลูกทุเรียน พี่เรือง เจอปัญหาโรคทุเรียนค่อนข้างเยอะและเกิดเร็วมาก ทั้งราสีชมพู ไฟทอปทอร่า ราใบติด แอนแทรคโนส ฯลฯ สามารถแก้ปัญหาได้หมด โดยปล่อยเชื้อไตรโคเดอร์ม่าไปทางระบบน้ำ ทุกครั้งที่ให้น้ำ สอดส่องดูแลเรื่องโรคเป็นพิเศษ เมื่อเจอปัญหาไฟทอปทอร่าที่ต้น ก็ทายา เจอโรคใบติด ต้องรีบหายามาฉีดทันที กว่าจะผ่านปัญหาต่างๆ มาได้นั้น ต้องอาศัยการดูแลใส่ใจเป็นพิเศษ

เจอทั้งต้นทุเรียนตาย แก้ไขได้ ต้นทุเรียนก็ฟื้น ปัจจุบัน แปลงปลูกทุเรียนแห่งนี้ พี่เรืองยกให้ลูกดูแลมาได้ 2 ปีแล้ว สร้างรายได้ให้กับสวนทุเรียนนายเรืองได้ค่อนข้างดีพอสมควร พี่เรือง ย้ำว่า เรายังต้องสู้ต่อไป เผลอให้โรคเข้ามาเมื่อไร ทรุดได้เมื่อนั้น เรียกว่า การ์ดอย่าตก เดี๋ยวโดนโรคทุเรียนน็อกได้

ทุเรียนหมอนทอง มาตรฐาน GAP

เคล็ดลับวิธีดูทุเรียนสุกแบบง่ายๆ

หากใครชื่นชอบการกินทุเรียน พี่เรือง แนะนำวิธีการดูทุเรียนสุกแบบง่ายๆ เพื่อเป็นเคล็ดลับในการกินทุเรียนสุก ที่มีรสชาติอร่อย เมื่อซื้อทุเรียนติดมือกลับบ้านไปแล้ว และอยากกินทุเรียนที่สุกพอดี เนื้อไม่นิ่มไป ไม่แข็งไป ควรเจาะเปลือกทุเรียน ให้เป็นรูปสามเหลี่ยมเล็กๆ แล้วเปิดดู สามารถเอานิ้วจิ้มดูได้ หากทุเรียนยังไม่พร้อมกิน ก็สามารถนำเปลือกที่เจาะไป มาปิดที่เดิมไว้ก่อน โดยที่ทุเรียนจะไม่เสียหาย และไม่เสียรสชาติ จากนั้นคอยเวียนมาดู แต่อย่าเวียนมาดูบ่อยนะ เดี๋ยวจะอดใจไม่ไหว แกะก่อนเวลา

หากใครสนใจเรื่องการปลูก หรือด้านการตลาดทุเรียน สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับพี่เรืองได้ ทาง Line:https//line.me//ti/p/aWdyMYVNqt หรือทางเฟซบุ๊ก “สวนทุเรียนนายเรือง” หรือโทรศัพท์ 099-619-2321 หากใครมีเวลาว่าง สามารถแวะชมเยี่ยมกิจการสวนทุเรียนแห่งนี้ได้ทุกวัน พี่เรือง พร้อมแบ่งปันความรู้กับเพื่อนเกษตรกรทุกท่านด้วยความยินดี

พี่เรือง ได้เอกสารรับรองการผลิตทุเรียน มาตรฐาน GAP จาก มกอช.

กลุ่มเกษตรท่ากุ่ม-เนินทราย จังหวัดตราด                                แปลงใหญ่ทุเรียน มาตรฐาน GAP

ปัจจุบัน พี่เรือง เป็นเกษตรกรต้นแบบทุเรียนแปลงใหญ่ของจังหวัดตราด และเป็นแกนนำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุเรียนแปลงใหญ่ท่ากุ่ม-เนินทราย จังหวัดตราด มีสมาชิกเกษตรกร 40 คน มีพื้นที่ปลูกทุเรียน รวม 800 ไร่ เป็นการปลูกทุเรียนแบบนอกฤดูกาล พันธุ์หมอนทองเป็นหลัก

วิสาหกิจชุมชนทุเรียนแปลงใหญ่ท่ากุ่ม-เนินทราย เป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพ เป็นหนึ่งในเกษตรกรเป้าหมายของ มกอช. กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ที่จะร่วมบูรณาการในการให้ความรู้ พัฒนาศักยภาพ ให้กลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นคงยั่งยืนและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันด้านการตลาดสู่เวทีโลกต่อไป

ปัจจุบัน กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย มีเกษตรกรสมาชิกได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร จำนวน 38 ราย รวมถึงสร้างเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทุเรียน และสนับสนุนการแสดงเครื่องหมาย Q การสร้างเอกลักษณ์และเรื่องราว (Story) ของทุเรียนกลุ่มแปลงใหญ่ ทุเรียนท่ากุ่ม-เนินทราย

นายประภัตร โพธสุธน รมช. เกษตรฯ เยี่ยมชมแปลงทุเรียน GAP สวนนายเรือง

ในปีนี้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ตั้งเป้าขยายการรับรองมาตรฐาน GAP ในพื้นที่จังหวัดตราด ออกไป 4 ตำบล 2 อำเภอ ประกอบด้วย กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลชำราก ตำบลวังกระแจะ ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราด และตำบลคลองใหญ่ อำเภอแหลมงอบ มีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเข้าร่วมโครงการ 120 ราย พื้นที่ 1,295 ไร่ ปริมาณผลผลิต 2,700 ตัน มูลค่าผลผลิต 324 ล้านบาท

นอกจากนี้ มกอช. ได้สนับสนุนนำร่องการแสดงเครื่องหมาย Q จำนวน 100 ราย และเกษตรกรสนใจใช้ระบบ QR Trace รวมทั้งได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ DGTFarm.com เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายในยุคโควิด-19 อีกด้วย