เผยแพร่ |
---|
ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นที่ตั้งของ “สวนลุงชอบ” ที่ปลูกทั้งพืชไร่ สวนไม้ผลนานาชนิด รวมถึงเลี้ยงวัวเนื้อ บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ เรียกได้ว่าเป็นสวนรุ่นบุกเบิกมาหลายสิบปี ตั้งแต่รุ่นคุณตา ส่งไม้ต่อให้คุณพ่อ จนถึงตอนนี้ อยู่ในความดูแลของทายาทรุ่นที่ 3 นั่นคือ “คุณปั้น-ณัฐภัทร ชัยชนะสงคราม” เกษตรกรรุ่นใหม่ วัย 29 ปี ดีกรีได้รับรางวัล Young Smart Farmer ของจังหวัดนครราชสีมา คนหนุ่มไฟแรง กับภารกิจสุดท้าทาย ในการสานต่องานไร่ของครอบครัว
แม้จะอายุน้อย แต่ความรู้ที่มีไม่ใช่ย่อย คุณปั้นจบการศึกษาปริญญาตรี จากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และรางวัล Young Smart Farmer ที่เขาได้รับก็สะท้อนการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ และวิธีการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก แม้เจ้าตัวจะตั้งใจเรียนเกษตรเพื่อสานต่องานจากคุณตาและคุณพ่อ แต่กว่าจะได้รับการยอมรับจากครอบครัวก็ใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองถึง 2 ปี
ดึง ‘เทคโนโลยี’ ช่วยเพาะปลูก-ใส่ปุ๋ย
ลดต้นทุนงานไร่
หลังจากศึกษาจบ คุณปั้นก็นำวิชาความรู้ที่ได้จากมหาวิทยาลัย บวกกับความสนใจส่วนตัว มาพัฒนาสวนลุงชอบให้มีระบบมากขึ้น จากสมัยคุณตา ที่ใช้คนงาน 100 กว่าคน ในการดูแลพื้นที่กว่า 500 ไร่ คุณปั้นนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างการบินโดรนเพื่อฉีดพ่นยา และเครื่องจักรอื่นๆ มาใช้ในการจัดการพื้นที่เพาะปลูก ใส่ปุ๋ย ทำให้สามารถควบคุมต้นทุน ประหยัดเวลา และลดแรงงานเหลือเพียง 6 คนเท่านั้น
“ผมปรับวิธีบริหารจัดการใหม่ คือใช้แรงงานคนให้น้อยลงและนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ในพื้นที่เพาะปลูก 500 ไร่ สมัยก่อนใช้คน 100 กว่าคน เพราะค่าแรงถูก แต่พอมารุ่นผมใช้แรงงานคนเพียง 6 คน หลักๆ จะมีผู้จัดการไร่ที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นคุณตา เขาจะรู้ภาพรวมของไร่ ช่วงเวลาไหนจะต้องทำอะไร ส่วนผมจะลงลึกในรายละเอียด เช่น ฉีดยา ให้ปุ๋ย หาเทคนิคใหม่ๆ และอีก 4 คน เป็นรุ่นลูกหลานของคนงานตั้งแต่รุ่นตา ส่วนงานอื่นๆ ที่เหลือก็ใช้เครื่องมือมาช่วย เช่น ใช้รถช่วยปลูก ใส่ปุ๋ย หรือใช้โดรนบินเพื่อพ่นยา กำจัดหนอนและแมลง รวมถึงการเก็บเกี่ยวด้วย
“ที่ผมเปลี่ยนมาใช้โดรน เพราะสามารถฉีดได้ครอบคลุม 100% ซึ่งโดรนหนึ่งตัวสามารถบินฉีดยาได้ถึงวันละ 100 ไร่ และโดรนเข้าถึงพืชได้ทั่วถึงทุกต้น ทำให้ได้ผลเทียบเท่ากับใช้คนฉีด ซึ่งกรมวิชาการเกษตรก็ยืนยันข้อมูลที่ว่าคนกับโดรนประสิทธิภาพเท่ากัน แต่โดรนใช้เวลาน้อยกว่า ซึ่งนอกจากโดรนจะบินในไร่ผมได้แล้ว ผมยังรับจ้างบินโดรนให้กับเกษตรกรแถวนี้ด้วย”
“ผมอัพเดทความรู้ทางวิชาการกับเทคโนโลยีเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา บวกกับเรียนรู้ภูมิศาสตร์และสภาพพื้นที่จากภูมิปัญญาคนรุ่นก่อน เช่น เรารู้ว่าไร่นี้ฝนจะมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เราดูพยากรณ์อากาศของศูนย์นครราชสีมาไม่ได้ ต้องดูจากนครนายก และสระบุรี เพราะพื้นที่ของเราเป็นช่วงร่องฝน ซึ่งคนรุ่นก่อนรู้จากการสังเกต ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลทางวิชาการที่ทันเหตุการณ์มาสนับสนุน ผมรู้ว่ามีเอลนีโญและฝนจะทิ้งช่วงแน่นอน ผมรู้เรื่องนี้ก่อนที่จะเข้าประเทศไทยเพราะอัพเดทข่าวสารอยู่ตลอด ก็เตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนได้” ทายาทรุ่นที่ 3 แห่งสวนลุงชอบ กล่าว
เมื่อถามว่าวิธีการเพาะปลูกแบบ Young Smart Farmer อย่างคุณปั้น มีความแตกต่างจากรุ่นคุณตาและคุณพ่อหรือไม่? คุณปั้นอธิบายสั้นๆ ว่า วิธีการเพาะปลูกแทบไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ วิธีลดต้นทุนด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ และใช้ข้อมูลทางวิชาการมาสนับสนุนการเพาะปลูก เช่น ก่อนเพาะปลูกคุณปั้นจะนำดินที่ไร่ไปตรวจวัดค่าความเป็นกรดเป็นด่าง มีการทดลองใส่ปุ๋ย ว่าช่วงไหนพืชสามารถดึงไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ คุณปั้น ยังมีแนวทางการทำงานของตัวเอง เช่น พยายามทดสอบการใช้ยาด้วยตัวเอง “ยกตัวอย่างเช่น ข้าวโพดที่มีหนอน ผมจะยังไม่ฉีดยาทันที รอให้หนอนกินจนเกือบจะเตียน ส่วนหนึ่งที่ยังไม่ฉีดเพราะต้องการยืดอายุข้าวโพด พอถึงจุดที่เราคิดว่าใช่ ก็ใช้โดรนฉีดพ่นทีเดียว ซึ่งทำแค่ 1-2 รอบ ก็เอาอยู่” คุณปั้น เผยเคล็ดลับ
“การตลาด” สิ่งสำคัญของการเกษตรยุคใหม่
เนื่องจากปัจจุบันในตลาดมีการแข่งขันสูง สิ่งสำคัญของการทำการเกษตรยุคใหม่จึงเป็นเรื่องของ ‘การตลาด’ สำหรับเรื่องนี้ คุณปั้น มองว่า เกษตรกรยุคนี้ต้องมองเรื่องการตลาดเป็นตัวนำ เพราะหากเพาะปลูกโดยไม่คำนึงถึงตลาดรองรับ มีความเสี่ยงสูงที่ผลผลิตจะล้นตลาดและราคาตกต่ำ ดังนั้น คุณปั้นจึงใช้แนวทางใหม่ ด้วยการหาตลาดก่อนเพาะปลูก เพื่อให้มั่นใจว่า ผลผลิตของสวนลุงชอบจะเป็นที่ต้องการและขายได้อย่างแน่นอน
เราต้องรู้ว่าความต้องการของตลาดคืออะไร ถ้าปลูกสิ่งที่ตลาดไม่ต้องการ ก็ขายไม่ได้ ยกตัวอย่างปีหน้าข้าวโพดขายเมล็ดอาจจะน้อยลงหรือราคาจะตกลง ผมก็จะทำข้าวโพดบดต้นสด ที่ปลูกเพื่อตัดทั้งต้นทั้งฝัก ทำข้าวโพดหมักเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ที่ได้ราคาดีกว่า จากนั้นผมลุยไปหาตลาดอื่นที่มีความต้องการสูงกว่า เข้าไปคุยกับแหล่งที่ต้องการรับซื้อ นำเสนอว่าเรามีพื้นที่และให้ผลผลิตได้เท่าไร โดยจะขอทดลองปลูกก่อน เช่น เขาบอกว่าพันธุ์ที่ต้องการ ให้ผลผลิตได้ไร่ละ 8 ตัน ผมก็กลับมาทดลองปลูก เริ่มก่อน 10 ไร่ ซึ่งสามารถเสียครึ่งหนึ่งก็ยังได้ไร่ละ 6,000 บาท ต้นทุน 5,500 บาท ต่อไร่ ผมจะคิดทุกอย่างเป็นต้นทุน ใช้ราคากลางทั้งหมด ถึงแม้จะค่าแรงตัวเอง ค่าเช่า หรืออุปกรณ์ รวมทุกอย่างอยู่ในต้นทุน ทำให้เราเห็นผลกำไรที่แท้จริง”
เทคนิคทำเกษตรผสมผสาน
แบบ Young Smart Farmer
จากสวนผลไม้ที่ปลูกรุ่นคุณตา รุ่นคุณพ่อก็เปลี่ยนมาทำพืชไร่ เพราะวงจรของไม้ผลราคาต่ำลง พืชอายุมาก และในขณะนั้นผลผลิตของพืชไร่ราคาดีกว่า ทายาทรุ่นที่ 3 คุณปั้นมารับช่วงต่องานไร่ จึงปรับวิธีการทำงานเล็กน้อย
“อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 200 ไร่ รุ่นพ่อจะให้ฮอร์โมนเพื่อให้โต ฝักใหญ่ แต่การฉีดต้องใช้คนเข้าไป ต้องฉีดตั้งแต่ 1 ฟุต จนกระทั่งข้าวโพดออกดอกสูงเกินหัว วิธีนี้ทำแล้วได้ผลผลิตน้ำหนักเพิ่มมา 100- 200 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อมาคำนวณต้นทุนทุกอย่างแล้วไม่คุ้ม ผมเปลี่ยนเลย ไม่ฉีดฮอร์โมนแต่เน้นกระบวนการไถแปลงให้ดี พื้นดินที่ดี ใช้ปุ๋ยที่ดี คุมหญ้า การทำแบบนี้ของเราอาจเพิ่มต้นทุนบางส่วนในช่วงแรก แต่ลดค่าแรงงานและคุมต้นทุนได้ในระยะยาว”
“ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะมีช่วงเวลาในการปลูก คือ ปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนสิงหาคมของทุกปี เพราะเป็นช่วงที่ฝนตก เคล็ดลับการปลูกข้าวโพดให้ได้ผลดี ผมใส่ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 16-20-0 ใส่พร้อมกับเมล็ดตั้งแต่ตอนปลูกเลย ช่วยให้ต้นโตสวย แตกกอเร็ว และระบบรากดี นอกจากนี้ ยังมีรถฉีดสารควบคุมหญ้า โดยช่วงที่ปลูกข้าวโพดเราคุมหญ้าไว้ก่อน หลังจากข้าวโพดโตได้สักพัก หญ้าถึงจะงอกพอได้รับแสงน้อยก็โตไม่ทัน พอข้าวโพดอายุได้ 25-30 วัน เราใส่ปุ๋ยตรากระต่าย สูตร 46-0-0 เพื่อบำรุงต้น พอต้นแข็งแรงก็ได้ฝักใหญ่ น้ำหนักดี กำไรงาม”
ส่วน แก้วมังกร ต้นงามและเนื้อหวานแสนอร่อยนั้น มีเคล็ดลับพิเศษ คุณปั้นเผยเทคนิคว่า จะเน้นใส่ปุ๋ยคอกเป็นหลัก ปีละ 3 ครั้ง ครั้งแรกใส่ตอนตัดแต่งกิ่ง ครั้งที่ 2 ใส่ตอนก่อนออกดอก และครั้งที่ 3 ใส่ตอนติดผล ปุ๋ยคอกจะช่วยให้ต้นโต แข็งแรง ช่วยบำรุงทุกส่วนของแก้วมังกร ที่สำคัญต้องใช้ปุ๋ยตรากระต่ายเพื่อให้พืชไร่งดงามเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะถ้าผลผลิตงดงามรายได้ก็ดีแน่นอน
เลือกปุ๋ยที่มั่นใจ ได้กำไรงาม
สิ่งที่ทำให้เกษตรกรหนุ่มดีกรี Young Smart Farmer มั่นใจในปุ๋ยตรากระต่าย ก็เพราะใช้มายาวนานตั้งแต่รุ่นพ่อ อีกทั้งเขาเคยทดลองใช้ของเจ้าอื่น แต่สุดท้ายก็กลับมาใช้ปุ๋ยตรากระต่ายเหมือนเดิม
“ผมเป็นคนชอบทดลอง เคยเปลี่ยนปุ๋ยมาบ้างเพราะอยากทดสอบเพื่อลดต้นทุนแต่ก็ผิดพลาด ซึ่งได้ผลออกมาไม่ดีอย่างที่คิด คำว่าลองของผมไม่ได้ใช้กับพื้นที่ทั้งหมด เราทำในพื้นที่ 10 ไร่ ลองเป็นแปลงๆ การลองแต่ละครั้งต้องใช้เวลา 4 เดือน เพื่อให้รู้ผลเปรียบเทียบจริงๆ เพราะถ้าจะเทียบกันธาตุอาหารไม่ต่างกันมาก แต่คุณสมบัติอื่นๆ เช่น การละลายของปุ๋ย ผมว่าปุ๋ยตรากระต่ายละลายได้ดีกว่า ทำให้พืชกินได้ดีกว่า” คุณปั้น กล่าวปิดท้าย
ความใฝ่ฝันของเกษตรกรยุคใหม่คือ การไม่เป็นหนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำน้อยแต่ได้มาก ซึ่งคุณปั้นเป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ๆ มาปรับใช้ในการเกษตรจนได้ผลดี มีตลาดแน่นอน ลดต้นทุน ทุ่นแรงงาน รู้จักผสมผสานระหว่างภูมิปัญญารุ่นก่อน กับวิชาการสมัยใหม่ นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างถูกจังหวะ ก็จะประสบความสำเร็จได้