เลี้ยงผึ้งชันโรงสมุนไพรอินทรีย์ อาชีพอิสระ ทำเงินได้ดี

เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่าย OTOP จังหวัดสงขลา และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสงขลา ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ หมู่ที่ 2 ตำบลบางกล่ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ของอำเภอบางกล่ำ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอบางกล่ำ ได้ให้คำแนะนำในการพัฒนากลุ่มให้มีมาตรฐาน สามารถขยายการจำหน่ายให้ได้ยอดขายเพิ่มมากขึ้น

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสงขลา ชมกิจการวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ

วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวน ลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP กับอำเภอบางกล่ำ ในปี 2561 ได้พัฒนากลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นเป้าหมายในการส่งเสริมการพัฒนา ที่ผ่านมา อบต. บางกล่ำ ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพื้นที่พรุนางตุง เนื้อที่ 900 ไร่ โดยปลูกต้นเสม็ดขาวเป็นจำนวนมาก จึงส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนเข้าไปใช้ประโยชน์ โดยวางรังเลี้ยงชันโรงและผึ้งโพรง ทำให้ได้น้ำผึ้งแท้จากธรรมชาติ 100% ออกจำหน่ายให้แก่ประชาชนที่สนใจ เฉลี่ยเดือนละ 150 ขวด จำหน่ายผลผลิตในราคาขวดละ 600 บาท

ทางกลุ่มฯ ตั้งใจใช้เป็นชื่อ “อุง” และ “ญิงยวน” ซึ่งเป็นภาษาพื้นบ้านภาคใต้ เนื่องจาก คำว่า “อุง” แปลว่า “ชันโรง” และ “ญิงยวน” แปลว่า “ผึ้ง” นั่นเอง ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่สมาชิกอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้หลักจากการขายรังเลี้ยงชันโรง รังเลี้ยงผึ้งโพรง เสน่ห์ผึ้ง น้ำผึ้งชันโรง ผึ้งโพรง สบู่น้ำผึ้งชันโรง ขณะเดียวกันทางกลุ่มฯ มีจัดการศึกษาดูงานการเลี้ยง ล่อ ต่อ ขยาย ชันโรงและผึ้งโพรงให้แก่สมาชิกและผู้สนใจ

สบู่น้ำผึ้งชันโรง

โดยทั่วไปการเลี้ยงผึ้งชันโรง มีต้นทุนการผลิตต่ำ เพราะผึ้งชันโรงมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ แค่ลงทุนเรื่องอุปกรณ์การเลี้ยง และคอนผึ้งสำหรับเลี้ยงผึ้งชันโรง ช่วยให้เกษตรกรเก็บน้ำผึ้งได้ง่ายและได้น้ำผึ้งที่สะอาด โดยไม่สูญเสียประชากรผึ้งชันโรงและตัวอ่อนผึ้งชันโรง เกษตรกรสามารถเก็บน้ำผึ้งได้ทันที ไม่ต้องสร้างรังใหม่ การเลี้ยงผึ้งชันโรง ลงทุนแค่ครั้งแรก แต่เกษตรกรสามารถเก็บน้ำผึ้งออกขายได้ตลอด มีรายได้เข้ามาต่อเนื่อง

ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ บริหารงานภายใต้การนำของ นายเอกวิวิชย์ ถนอมศรีมงคล และ นายธนพล พรหมวิสุทธิคุณ มีสำนักงานตั้งอยู่ บ้านเลขที่ 19 หมู่ที่ 2 ถนนบางกล่ำ ตำบลบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ 089-466-4919

น้ำผึ้งธรรมชาติ 100% สินค้าของกลุ่ม

สมาชิกส่วนใหญ่มีอาชีพหลักทำสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และปลูกไม้ผลแบบผสมผสานโดยไม่ใช้สารเคมี ทางกลุ่มสามารถตั้งรังผึ้งชันโรงในสวนผลไม้ของสมาชิกได้ โดยมีระยะเวลาการผลิตน้ำผึ้ง ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ผลผลิตที่ได้เน้นขายตรงกับผู้บริโภค ผ่านตลาดออนไลน์ และการนำสินค้าไปวางขายในตลาดสินค้าสีเขียว งานแสดงสินค้าต่างๆ ที่หน่วยงานภาครัฐจัดขึ้น ในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา

เคล็ดลับการเลี้ยงผึ้งชันโรง (ผึ้งจิ๋ว)

รศ.ดร. สมนึก บุญเกิด สาขาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง หนึ่งในนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงผึ้งชันโรง (ผึ้งจิ๋ว) ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เล่าให้ฟังว่า  น้ำผึ้งชันโรงแต่ละชนิดมีรสชาติจำเพาะ มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน รสชาติไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะกลิ่นของน้ำผึ้งชันโรงเป็นผลมาจากนางพญาแม่รังปล่อยกลิ่น (hive pheromones) คอยควบคุมพฤติกรรมของผึ้งชันโรงงาน ใช้กลิ่นเป็นสื่อติดต่อระหว่างพลรังเดียวกัน แต่ละรังมีกลิ่นจำเพาะรัง กลิ่นนี้จะจางหมดไปจากตัวผึ้งชันโรง จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเศษ ขาดความเป็นญาติพี่น้องกันไปโดยปริยาย ไม่รู้จักกัน เป็นที่มาของการผสมพันธุ์ในหมู่เครือญาติ

ตัวชันโรงขณะเก็บน้ำหวานในรัง

ข้อควรระวัง การเก็บเกี่ยวน้ำผึ้ง

น้ำผึ้งชันโรงหลังลายแต่ละรังนั้น มนุษย์ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างได้ แต่ผึ้งชันโรงสามารถจำกลิ่นน้ำผึ้งของตัวเองได้ ยิ่งเป็นน้ำผึ้งตกค้างอยู่ในรังนานๆ ก็จะเป็นกลิ่นเดียวกันทั้งหมด ไม่ว่ากลิ่นที่ตัวผึ้งชันโรงงาน กลิ่นน้ำผึ้งที่ดูดกลิ่นได้ดี และกลิ่นชันผึ้ง วิธีการเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งชันโรงหลังลาย ทั้ง 2 สายพันธุ์ คือสายพันธุ์เชียงใหม่และสายพันธุ์ภาคกลาง มีข้อระวังคือ พยายามอย่าให้ผึ้งงานในรังตายขณะแซะถ้วยน้ำผึ้งออกจากรัง เพราะอาจเกิดการหมกตัวของผึ้งชันโรงงานตัวเต็มวัยที่เดินไปมา เพราะความอยากรู้อยากเห็นสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ภายในรังผึ้ง อาจถูกถ้วยน้ำผึ้งหมกทับตายขณะแซะถ้วยน้ำผึ้ง

รศ.ดร. สมนึก บุญเกิด

รศ.ดร. สมนึก ให้คำแนะนำว่า เกษตรกรควรลดกิจกรรมการเดินไปมาในรังด้วยการทำให้สลบด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แล้วใช้ลมเป่าพวกผึ้งชันโรงที่สลบให้ปลิวไปกองรวมกันในที่ที่ไม่มีถ้วยน้ำผึ้ง ซึ่งจะมีเวลาเก็บน้ำผึ้งในรัง ไม่เกิน 15 วินาที/รัง โดยแซะถ้วยน้ำผึ้งใส่ภาชนะที่สะอาด แล้วนำไปกรองสะอาดอีกทีหนึ่ง

โดยทั่วไป รังผึ้งชันโรงหลังลายสายพันธุ์เชียงใหม่ สามารถเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งได้มากกว่าสายพันธุ์ภาคกลางเล็กน้อย แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไป การเก็บเกี่ยวดูเหมือนจะง่าย สะดวกกว่ารังสายพันธุ์ภาคกลาง เพราะโครงสร้างภายในรังแยกส่วนระหว่างถ้วยน้ำผึ้งกับแผงตัวอ่อนค่อนข้างชัดเจน เปิดรังมาก็จะเห็นทันที ส่วนมากจะติดตั้งอยู่คนละมุม เพราะรังยังมีประชากรไม่หนาแน่นมากเท่าไรนัก แต่ถ้ารังเลี้ยงมานานเป็นปีๆ โดยไม่เคยถูกเก็บน้ำผึ้งออกไป ก็จะมีแผงตัวอ่อนล้อมรอบ การเก็บเกี่ยวไม่ง่ายเช่นเดียวกับสายพันธุ์ภาคกลาง

ที่ผ่านมา รศ.ดร. สมนึก ได้ออกแบบรังผึ้งชันโรงไว้คือ ขนาด เอ 4 การเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งในช่วง เอ 4 มีความสะดวก จะไม่มีเซลล์นางพญาเกิดขึ้น เพราะสภาพรังยังไม่แออัดภายในระยะเวลา 1 ปี จึงไม่มีพฤติกรรมออกเรือน ก็ไม่สูญเสียประชากรพลรังแต่อย่างใด

ชันโรง (ผึ้งจิ๋ว)

การเพาะนางพญา

การเพาะนางพญากึ่งธรรมชาติ ดูเหมือนในอาเซียน มีเพียงประเทศไทยเท่านั้นที่ต้องการจะก้าวข้ามการเลี้ยงผึ้งชันโรงแบบพื้นเมืองไปสู่การเลี้ยงผึ้งชันโรงแบบอุตสาหกรรม หรือกึ่งอุตสาหกรรม ด้วยการควบคุมปัจจัยการเพาะเลี้ยงผึ้งชันโรงให้ได้มากที่สุด และควบคุมปัจจัยการผลิตเหล่านั้นให้ได้ อย่างไรก็ตาม นางพญาแม่รังตัวเดียวเป็นตัวบงการควบคุมพฤติกรรมของผึ้งชันโรงงานไว้ได้ทั้งหมด ทั้งการรวมกลุ่มของผึ้งชันโรงตัวผู้ก็เช่นกัน ผึ้งชันโรงที่มีความขยันขันแข็งในการหาอาหาร สร้างรัง ดูแลรัง ฯลฯ ก็เป็นผลมาจากสายเลือดของนางพญาแม่รังทั้งสิ้น กิจกรรมทุกอย่างขึ้นอยู่กับนางพญาแม่รังเป็นศูนย์กลางสั่งการ (ด้วยฮอร์โมน) เพียงตัวเดียว

อายุขัยของนางพญาแม่รัง ยืนยาวนานกว่า 25 ปี โดยพันธุกรรมไม่เปลี่ยนแปลง ตรงข้ามกับผึ้งพันธุ์ที่ต้องเปลี่ยนนางพญาแม่รังทุกปี หรือทุกๆ 2 ปี ซึ่งเป็นภาระที่หนัก เสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก เมื่อนางพญามีความสำคัญถึงเพียงนี้จะปล่อยให้มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติเพียงปีละ 1-2 ตัว เท่านั้น คงไม่ถูกต้องสำหรับผู้ที่จะเพาะเลี้ยงชันโรงเป็นอาชีพ ควรเพาะขยายให้ได้เหมือนกับการเพาะนางพญาของผึ้งพันธุ์ให้ได้เสียแต่วันนี้ พรุ่งนี้ เพื่อแยกขยายรังให้มีจำนวนมากพอที่จะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้ได้มากขึ้นตามจำนวนรังที่เพิ่มขึ้นในแนวทางอุตสาหกรรมนั่นเอง

รศ.ดร. สมนึก กล่าวถึงเทคนิคการเพาะหนอนผึ้งชันโรงให้กลายเป็นหนอนนางพญาว่า เกิดจากไข่ที่ได้รับการผสมน้ำเชื้อเหมือนกัน จะต้องอาศัยพื้นฐานของวรรณะผึ้งงานเป็นจุดก่อกำเนิดของอวัยวะและต่อมต่างๆ ที่จะพัฒนาไปใช้ทำหน้าที่ในฐานะนางพญา ดังนั้น ตัวหนอนที่เกิดมาจากไข่ที่ได้รับการผสมน้ำเชื้อ เป็นหนอนที่มีจุดกำเนิดพร้อมที่จะเจริญไปเป็นผึ้งงานก็ได้ หรือนางพญาก็ได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารที่หนอนได้รับนั้น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงไปเป็นหนอนนางพญาพอดีหรือไม่ ถ้าไม่ทันก็พัฒนาเป็นหนอนผึ้งงานปกติ ในผึ้งพันธุ์หนอนที่มีอายุเกิน 12 ชั่วโมงไปแล้วนำมาเพาะนางพญา โอกาสเกิดเป็นนางพญาไม่สมบูรณ์มีสูงมาก แต่ผึ้งชันโรงยังไม่มีรายงานแต่อย่างใด ได้แต่อาศัยข้อมูลเทียบเคียงกับผึ้งพันธุ์

ผึ้งชันโรงหลังลาย มีโครงสร้างตัวอ่อนเป็นแบบกลุ่ม

มาเลี้ยงผึ้งชันโรง เป็นอาชีพกันเถอะ

นางพญาผึ้งชันโรงหลังลายลูกผสม มีข้อดีคือ นางพญาแม่รังอายุยืนโดยไม่ต้องเปลี่ยนพันธุกรรมแต่อย่างใด มีอัตราการไข่เฉลี่ย 120-180 ฟอง ต่อวัน (แต่อัตราการฟักเชื้อเป็นตัวเต็มวัย ขึ้นอยู่กับอัตราเลือดชิดในตัวนางพญาแม่รัง มีมากน้อยเพียงใด) มีประชากรในรังค่อนข้างคงที่ อัตราการเกิดพอๆ หรือมากกว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับอัตราการตลาดเพราะวงจรชีวิตจากไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย ใช้เวลาพอๆ กัน หรือน้อยกว่า 15-20 วัน กับเวลาที่ผึ้งงานสิ้นอายุขัย ผึ้งชันโรงงานมีพฤติกรรมขยัน ไม่มีเลือดชิด สามารถให้ผลผลิตได้อย่างสม่ำเสมอ จุดคุ้มทุน ใช้เวลาไม่เกิน 2-3 ปีเท่านั้น จากนั้นไปแทบไม่มีค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูรังแต่อย่างใด นับว่าคุ้มค่ามากที่เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากรังผึ้งชันโรงไปได้นานถึง 25 ปี แม้จะได้รับผลตอบแทนต่อรัง ต่อปี ไม่มากเท่าใดก็ตาม แต่แลกกับความเสี่ยงที่ต่ำมาก เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากทำอาชีพอิสระ หรือทำเป็นอาชีพเสริมนอกเหนือจากงานประจำ

รังผึ้ง

รศ.ดร. สมนึก บุญเกิด กล่าวว่า ผึ้งชันโรง 1 รัง ใช้เวลาดูแล 12 นาที ต่อรัง ต่อปี ส่วนรังผึ้ง ใช้เวลา 4 ชั่วโมง ต่อรัง ต่อปี หรือเทียบค่าผลผลิต รังผึ้งชันโรง 10 รัง เท่ากับผึ้งพันธุ์ 1 รัง เสียเวลาดูแลรังผึ้งชันโรง 2 ชั่วโมง ต่อ 10 รัง ต่อปี ยังใช้เวลาน้อยกว่าดูแลรังผึ้งพันธุ์ 1 รัง ต่อปี น้ำผึ้งชันโรง มีคุณค่าสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นที่ต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพ จึงสามารถจำหน่ายได้ในราคาค่อนข้างสูง เรียกว่าไม่มีอาชีพใดที่มีความเป็นอิสระมากกว่าอาชีพเพาะเลี้ยงผึ้งชันโรงอีกแล้ว