บ้านปางขอน เมืองเชียงราย อยู่ดีมีสุข ใต้ความเกื้อกูล คนกับป่าอยู่ร่วมกัน

นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมคณะที่ปรึกษา เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านปางขอน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรควบคู่ไปกับการฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

ในการนี้ได้เชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่ราษฎร และผู้ปฏิบัติงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านปางขอน โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริดอยบ่อ อำเภอเมือง โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริบ้านห้วยหญ้าไซ อำเภอแม่สรวย โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในพื้นที่อนุรักษ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย และโครงการพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านสันติสุข – บ้านขุนกำลัง อำเภอปง จังหวัดพะเยา รวมทั้งสิ้น 464 ถุง

โอกาสนี้ องคมนตรี และคณะได้รับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านปางขอน และเยี่ยมชมผลสัมฤทธิ์ของโครงการ จากการประสานงานร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน โดยมีคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน ส่งผลให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากเดิม ที่มีรายได้เพียง 50,000 บาท ต่อครัวเรือน ต่อปี ปัจจุบัน มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 280,000 บาท ต่อครัวเรือน ต่อปี จากการนำความรู้ที่ได้ในการทำงานในโครงการไปปรับใช้

อีกทั้งยังมีการส่งเสริมและสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่โครงการในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยเฉพาะการปลูกกาแฟอาราบิก้าใต้ร่มไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นกาแฟที่ได้รับความนิยมเป็นที่ต้องการของตลาด ตลอดจนการปลูกพืชเมืองหนาว เช่น อะโวกาโด แมคคาเดเมียนัท และการแปรรูปผลผลิตต่างๆ ในพื้นที่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การทำสบู่อะโวกาโด ขนมปังฟักทอง คุกกี้แมคคาเดเมีย การผลิตน้ำผึ้ง และชาจากดอกกาแฟ เป็นต้น

นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า การดำเนินงานของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริบ้านปางขอน ในปัจจุบันนับเป็นรูปแบบในการพัฒนาที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น ขณะที่พื้นที่ป่าก็มีความอุดมสมบูรณ์ ทางสถานีมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟ หรือปลูกพืชให้ผลชนิดต่างๆ ใต้ร่มไม้ใหญ่ และไม่มีการทำลายต้นไม้ใหญ่  

ขณะเดียวกันส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้ใหญ่เสริม เช่น ต้นนางพญาเสือโคร่ง ให้กาแฟอาศัยร่มเงา เมื่อต้นนางพญาเสื่อโคร่งออกดอกก็จะมีผู้คนเดินทางมาท่องเที่ยวสัมผัสกับธรรมชาติ รวมทั้งชมวิถีชีวิตของชาวบ้านและดอกนางพญาเสือโคร่ง ก็จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ป่าก็สมบูรณ์เพิ่มขึ้นเช่นกัน  

อดีตพื้นที่ปางขอนจะโล่ง ต้นไม้ไม่ค่อยมี และเมื่อมีการจัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริขึ้นมา ก็มีการปลูกป่าทั้งไม้ยืนต้น ไม้ที่ชาวบ้านสามารถเก็บผลผลิตไปบริโภคได้ ทำให้สามารถลดการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด และมันสำปะหลังได้ ชาวบ้านมีรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น ขณะที่สภาพป่าก็มีความสมบูรณ์กว่าแต่ก่อน โอกาสนี้องคมนตรี ได้ให้ข้อคิดเห็นในเรื่องตลาดที่จะรองรับผลผลิตของชาวบ้าน โดยให้เจ้าหน้าที่ของสถานีฯ รับเป็นคนกลางในการเจรจากับผู้รับซื้อผลผลิตของชาวบ้านโดยตรง โดยเฉพาะกาแฟที่นี่ ซึ่งเป็นที่รู้จักของตลาด เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงชาวบ้านจะได้มีรายได้ที่มั่นคงยิ่งขึ้น รวมทั้งหาแนวทางในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาอาชีพให้กับชาวบ้านให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป” นายจงคล้าย กล่าว

ด้าน นายพันธมิตร ดวงตะวันจันทรา ประธานวิสาหกิจชุมชนกาแฟปางขอน กล่าวว่า หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ จากนั้นสถานีฯ ก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นมา อาชีพต่างๆ ของราษฎรก็เปลี่ยนไป มีการปลูกไม้ผลเยอะขึ้น เช่น พลับ อะโวกาโด แมคคาเดเมีย และกาแฟ โดยเฉพาะกาแฟที่ปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่จะปลูกมากที่สุด และเป็นรายได้หลักของราษฎรในพื้นที่ในปัจจุบัน

พื้นที่ของผม 20 ไร่ ปลูกกาแฟทั้งหมด ปีที่ผ่านมาให้ผลผลิต 5,500 กิโลกรัม มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 280,000 บาท ทุกคนต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และได้ตอบแทนพระองค์ด้วยการช่วยกันดูแลป่าไม้ ในช่วงฤดูแล้งจะร่วมทำแนวกันไฟ ช่วงฤดูฝนก็จะปลูกป่า มีน้ำเพียงพอให้ใช้ตลอดทั้งปี ตอนนี้หมู่บ้านปางขอนเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวด้านการเกษตร เพราะต้นนางพญาเสือโคร่งที่ชาวบ้านนำมาปลูกในสวนกาแฟเจริญเติบโตออกดอกสวยงาม มีคนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวชมไร่กาแฟ และดอกนางพญาเสือโคร่งจำนวนมาก ส่วนกาแฟตอนนี้มีบริษัทเอกชนเข้ามารับซื้อกับวิสาหกิจชุมชนบ้านปางขอน ทำให้ราษฎรมีตลาดและมีรายได้ที่มั่นคง” นายพันธมิตร กล่าว

ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ ปัจจุบันสามารถฟื้นฟูสภาพป่าและปรับปรุงระบบนิเวศได้จำนวน. 6,644 ไร่ ทำให้พื้นที่ของโครงการมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งต้นน้ำให้ราษฎรในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรและสาธารณูปโภค ได้พัฒนาต่อยอดโครงการเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และน้ำ รวมทั้งส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เพื่อเสริมรายได้ให้กับราษฎร โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วยตนเอง ทั้งการแปรรูปกาแฟอาราบิกาและปลูกต้นนางพญาเสือโคร่ง สำหรับการท่องเที่ยวในอนาคต

ในโอกาสนี้องคมนตรีและคณะ ได้ร่วมปลูกต้นไม้และหว่านปุ๋ยบำรุงแปลงปลูกข้าวไร่สาธิตที่ใช้พื้นที่ลาดชันต่ำบริเวณสวนกาแฟเป็นพื้นที่ปลูก เพื่อเป็นจุดสาธิตให้กับราษฎรในพื้นที่ได้เรียนรู้และนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนข้าวเพื่อการบริโภคของราษฎร ขณะเดียวกันเป็นการใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกอย่างเหมาะสมโดยไม่ต้องบุกเบิกทำลายป่าเพิ่มขึ้น