ผู้เขียน | เทตโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วิสาหกิจชุมชน อําเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น
วิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่ บ้านหัวฝาย
จัดตั้งเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2554 สมาชิกแรกตั้ง 40 คน สมาชิกปัจจุบัน 55 คน และสมาชิกสมทบ 85 คน
ประธานกลุ่ม คุณสุภาณี ภูแล่นที่ ที่ทําการกลุ่ม เลขที่ 46 หมู่ที่ 3 ตําบลปอแดง อําเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น
ผลงานดีเด่น ความคิดริเริ่ม
เดิมเกษตรกรมีอาชีพทําการเกษตรหลากหลาย เช่น ทํานา ทําไร่ ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้า มีรายได้น้อยและเจอวิกฤตภัยแล้ง เกษตรกรบางส่วนอพยพแรงงานย้ายออกจากบ้านเพื่อไปทํางานรับจ้างก่อสร้างที่กรุงเทพมหานคร และเกษตรกรต่างคนต่างทํา ยังไม่มีการรวมกลุ่มทํากิจกรรม ส่วนมากจะทําไว้ใช้ในครัวเรือนเท่านั้น ต่อมาได้มีการรวมตัวกันและจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรในปี 2527 เพื่อร่วมคิด ร่วมกันทํา ร่วมกันจําหน่าย และร่วมรับผลประโยชน์ และเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องการอพยพแรงงานจากชนบทสู่เมือง ทําให้ครอบครัวอบอุ่นขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจของครอบครัว และเสริมสร้างความรัก ความสามัคคีในชุมชนได้ โดยได้รับคําแนะนําจากเจ้าพนักงานเคหกิจเกษตร สํานักงานเกษตรอําเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ในปี 2527 ได้มีการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นรูปธรรมจริงจัง เพื่อผลิตเส้นไหมดิบและทอผ้าไหมเป็นผืนส่งพระราชวังสวนจิตรลดา ทําให้กลุ่มมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในภายหลังมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 รับเป็นสมาชิก ต่อมาได้เข้าเป็นสมาชิกศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ในปี 2558 กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่ บ้านหัวฝาย ได้ดําเนินกิจกรรมกลุ่มเกี่ยวกับการทอผ้าไหม ปลูกหม่อน เลี้ยงไหมครบวงจร กิจกรรมปลูกผักปลอดภัย และกิจกรรมแบบผสมผสานตามแนวพระราชดําริ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การดําเนินกิจกรรมมีการจัดแบ่งหน้าที่กัน มีการรวมหุ้นเพื่อนําทุนมาใช้ประกอบกิจการกลุ่ม และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน ทั้งราชการ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เป็นอย่างดี นอกจากนี้ กลุ่มมีการสร้างเครือข่ายกับกลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในชุมชน ระดับตําบล ระดับอําเภอ ระดับจังหวัด และทางออนไลน์ สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์โดยการทอผ้าไหมมัดหมี่ลายต่างๆ ด้วยความประณีตวิจิตรบรรจง มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะลายแคนแก่นคุณที่เป็นลายผ้าไหมประจําจังหวัดขอนแก่น อีกทั้งมีลายผ้าไหมมัดหมี่ที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านหัวฝาย ตั้งชื่อว่า “ลายหมี่น้ำฟองเครือ”
ความสามารถในการบริหาร
และการจัดการของสถาบัน
– กลุ่มมีโครงสร้างการบริหารงานของกลุ่มชัดเจน มีคณะกรรมการบริหารกลุ่ม จํานวน 16 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิก มีวาระ 2 ปี
– ประธานกลุ่มมีความเสียสละ อดทน มีทัศนคติที่ดี มีความเข้าใจในด้านการบริหาร มีแนวคิดในการพัฒนา
– คณะกรรมการและสมาชิก มีการแบ่งงานเป็นฝ่ายต่างๆ ดังนี้ ฝ่ายการผลิต ฝ่ายการตลาด ฝ่ายตรวจสอบคุณภาพ ฝ่ายช่าง นอกจากนี้ ยังมีคณะทํางาน กิจกรรมย่อยต่างๆ เช่น กิจกรรมทอผ้าไหม กิจกรรมออมทรัพย์ กิจกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญของบุคลากรที่แตกต่างกัน และมีคณะกรรมการที่ปรึกษากลุ่ม
– มีระเบียบข้อบังคับกลุ่มที่ยึดถือร่วมกัน มีวัตถุประสงค์การทํางานที่ชัดเจน และสามารถดําเนิน บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิก กิจกรรมบรรลุวัตถุประสงค์ที่กําหนดไว้ได้
– ระบบเอกสารมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบบัญชีได้
– เป็นแหล่งศึกษา เรียนรู้ เผยแพร่ผลงานของกลุ่มแม่บ้านหัวฝาย พร้อมสร้างตํานานการปลูกหม่อน เลี้ยงไหมเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวไทยและชาวต่างชาติไปทั่วโลก
บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิก ต่อสถาบัน
– มีการประชุมประจําเดือนคณะกรรมการ ทุกวันที่ 5 ของเดือน
– สมาชิกร่วมกันคัดเลือกคณะกรรมการกลุ่ม เมื่อครบวาระ ทุก 2 ปี
– สมาชิกทุกคนร่วมกันทํากิจกรรมการทอผ้าไหม และกิจกรรมทางการเกษตร และเข้าร่วมอบรมเพื่อ พัฒนาศักยภาพของสมาชิกตามที่ทางกลุ่มหรือหน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุน
– สมาชิกกลุ่มร่วมกันจัดทําแผนพัฒนากลุ่ม ร่วมกันเป็นประจําทุกปีและมีการปรับแผนตามความต้องการของตลาดและสมาชิก
– สมาชิกมีความพร้อมในการส่งเสริมและการพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ เช่น การฝึกอบรม เรียนรู้ เพื่อให้เกิดทักษะ มีบทบาทในชุมชน เช่น เป็นคณะกรรมการแม่บ้านเกษตรกร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อสม. กรรมการกองทุนหมู่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน กองทุนแม่ของแผ่นดิน ผู้นําหัตถกรรมดีเด่นระดับประเทศ ศิลปิน โอท็อป ปี 2561 คณะกรรมการกองทุนบทบาทสตรี กรรมการกองทุนขยะ กรรมการร้านค้า คณะกรรมการ หมู่บ้าน OTOP นวัติวิถี
– คณะกรรมการและสมาชิกมีการร่วมตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยการใช้วิธีแบบเยี่ยมเยือนสมาชิกรายบุคคล ใช้แบบกระบวนการกลุ่ม การประชุมทําให้สามารถแก้ไขปัญหาได้และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน
– มีการรับสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นทุกปีจากปี 2554 จํานวน 40 คน ปัจจุบัน มีสมาชิกทั้งหมด 170 คน สมาชิกเครือข่าย 70 คน รวมเป็น 240 คน ระยะเวลาจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน 13 ปี
– ความมั่นคงต่อเนื่องสม่ำเสมอของการดําเนินการ กิจกรรมกลุ่มมีการประกอบกิจกรรมหลากหลาย เช่น การผลิตและจําหน่ายเส้นไหมดิบ การทอและจําหน่ายผ้าไหม กิจกรรมออมทรัพย์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไหม และการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ มีการดําเนินการอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
– มีการระดมหุ้นเพื่อสร้างความมั่นคงของกลุ่ม มีการรายงานชี้แจงบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อความ โปร่งใสและถูกต้อง
– สินทรัพย์ ได้แก่ อาคารทอผ้า ห้องแสดงผ้าไหม อาคารเรียนรู้ 2 หลัง ห้องประชุม ชุดบําบัดน้ำเสีย เครื่องต่างๆ ในการทอผ้าไหม โฮมสเตย์ อุปกรณ์ฟอกย้อม ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยต่างๆ เช่น ชนิด Royal Thai Silk ตรานกยูงสีทอง ปี 2551 และชนิด Thai Silk ตรานกยูงสีน้ำเงิน ปี 2559 เป็นต้น
– รางวัลที่กลุ่มได้รับประกาศนียบัตรผู้มีส่วนร่วม และสถานที่ประเมินการรับรองจังหวัดขอนแก่นให้เป็น นครแห่งผ้ามัดหมี่โลก World Craft City for Ikat (Mudmee) จาก World Craft Council AISBL 2561 และรางวัลต่างๆ มากมาย
– มีการสร้างเครือข่ายกับกลุ่มผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในชุมชนไหม และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ/เอกชน
– มีการสืบทอดภูมิปัญญาชาวบ้านจากรุ่นสู่รุ่นทายาทเกษตรกร และเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนในช่วงวิชาลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ของโรงเรียนต่างๆ ในชุมชน
– มีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ โดยการบริหารจัดการกลุ่มของคณะกรรมการและสมาชิก ภายใต้การสนับสนุนหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้ มีกิจกรรมย่อย เช่น การเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ การจัดสวัสดิการเพื่อการสงเคราะห์แก่สมาชิกและครอบครัวและชุมชน ห้องแสดงและจําหน่ายผ้าไหม ผลิตแหล่งอาหารโปรตีนสูงจากหนอนไหม (ดักแด้) ส่งเสริมการปลูกหม่อนกินผลและแปรรูปน้ำสมุนไพรมัลเบอร์รี่ ส่งเสริมการทําสารชีวภัณฑ์ใช้ในผัก นาข้าว พืชไร่ พืชสวน และอื่นๆ
การทํากิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์
และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
– เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน การพัฒนาศักยภาพของผู้นํากลุ่มและสมาชิกอย่างต่อเนื่อง จนสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้มาศึกษาดูงานและโรงเรียนในชุมชน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน โรงเรียนหัวฝายโนนสะอาด นักศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น อาจารย์จากประเทศจีน และอื่นๆ เช่น ขั้นตอนการผลิตผ้าไหมครบวงจร การทําเชื้อราไตรโคเดอร์มา การทําน้ำพริกปลาร้า การผลิตสินค้าอุปโภค เช่น สบู่จากรังไหม แชมพูโปรตีนไหม โลชั่น โปรตีนไหม น้ำยาล้างจาน และอื่นๆ
– การสนับสนุนกิจกรรมด้านชุมชนมีส่วนร่วมมีกิจกรรม อยู่บนพื้นฐานการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและเน้นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตและทอผ้าไหมจากสีธรรมชาติ การลดการใช้สีเคมีในการฟอกย้อม โดยส่งเสริมการใช้เปลือกไม้จากธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น จนได้รับมาตรฐาน มผช. นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีการผลิตและขยายสารชีวภัณฑ์ เพื่อใช้ในแปลงผักปลอดภัยและนาข้าว
– จัดสวัสดิการแก่สมาชิกและครอบครัว การช่วยเหลือชุมชน เช่น การมอบทุนการศึกษา การช่วยเหลืองานวัด งานบุญประเพณีต่างๆ ในชุมชน สมาชิกกลุ่มแม่บ้านจะช่วยเรื่องการจัดตกแต่งสถานที่ บริจาคผัก และช่วยในการประกอบอาหารในงานบุญต่างๆ การร่วมกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้านและชุมชน จัดตั้งเป็นหมู่บ้านปลอดขยะ
– การใช้สถานที่ตั้งและดําเนินกิจกรรมกลุ่มเป็นแหล่งฝึกอบรม/ดูงาน และเป็นศูนย์กลางประสานงานให้ความช่วยเหลือในชุมชน เช่น สถานที่ทํากิจกรรม หัตถกรรมผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคและการแปรรูปเป็นที่ทําการออมทรัพย์ ศูนย์จําหน่ายสินค้า เป็นสถานที่ศึกษาดูงาน เป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ เตรียมเข้าสู่ Smart Group เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนในช่วงวิชาลดเวลาเพิ่มเวลา เรียนรู้ของโรงเรียนต่างๆ เป็นต้น