อะราง ชูดอกเหนือใบอยู่บ้าน ห้อยดอกบานใต้ใบอยู่ป่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ Peltophorum Dasyrhachis (Miq) Kurz
ชื่อวงศ์ CAESALPINIACEAE, FABACEAE
ชื่ออื่นๆ นนทรีดอกห้อย นนทรีป่า กว่าเซก (เขมร กาญจนบุรี) คางรุ้ง คางฮุ่ง (พิษณุโลก) ร้าง อะล้าง (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) อินทรี (จันทบุรี) จ๊าขาม ช้าขม (เลย) ตาเซก (บุรีรัมย์) ราง (สุรินทร์)

ผมโชคดีมีป่าเป็นบ้าน แต่กลับได้ฉายาว่า “นนทรีจากป่าสู่นาคร” เมื่อเข้ามาอยู่ในเมือง จึงได้รับเกียรติเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันการศึกษา และมีบุญที่ได้รับด้วยพระบารมีกลายเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทาน ปลูกไว้ประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา

คือผมได้เข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย ซึ่งในช่วงเวลาออกดอกแล้วจะเห็นปลายกิ่งชูช่อดอก หรือห้อยช่อดอกเหลืองอร่าม โดยมีใบสีเขียว จัดเป็นฉากหลังสวยเด่นให้บรรยากาศ “เขียวขจี” จริงๆ ที่ผมพูดว่า “ชูดอกและห้อยดอก” เพราะว่าในมหาวิทยาลัยเกษตรจะมีทั้ง “นนทรีบ้านและนนทรีป่า” อยู่ทั้ง 2 ชนิดพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่มักจะกล่าวถึงเอกลักษณ์ของต้นไม้ “มหา’ลัยเกษตร” ว่า “นนทรี” เฉยๆ ซึ่งความเป็นจริง ผมเองนี่แหละ “อะราง คือ นนทรีป่า” ที่ได้รับเกียรตินี้ ส่วน “นนทรีบ้าน” เป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทาน ปลูกเป็นไม้มงคลประจำจังหวัดนนทบุรี มีความคล้ายคลึงกันทั้งใบดอก แต่ดูแยกด้วย “ดอกชู หรือดอกห้อย”

จึงขอย้อนความภาคภูมิใจอีกสักนิดที่ผมมีชื่อ “อะราง” ซึ่งปลูกไว้ใน ม.เกษตรฯ โดยท่านนายกสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดี ตั้งแต่กรกฎาคม พ.ศ. 2546 พบผมได้ที่หน้า “พุทธเกษตร” และยังได้เป็นต้นไม้ประจำโรงเรียนนนทรีวิทยาอีกด้วย เรื่อง “นนทรี” ในม.เกษตรฯ มีประวัติเยอะมาก และในงานเกษตรแฟร์ หรือเปิดเทอมรับนิสิตใหม่ จะได้ยินเพลงว่า “นนทรีกำลังดอกบาน ไม่ช้านานก็จะมีดอกใหม่…”

ผมอดที่จะพูดถึงความภาคภูมิใจของผมอีกประการไม่ได้ จากการที่ผมได้เป็นไม้มงคลประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา เพราะเป็นจังหวัดที่ใกล้เมืองกรุง เป็นเมืองธรรมะ มีพระศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อโสธรพระคู่บ้านคู่เมืองที่ใครๆ อยากไปกราบบูชาขอพรที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร ส่วนเรื่องของป่าธรรมชาติก็ต้องเอ่ยถึงป่าสมบูรณ์ที่ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน” มีทั้งพืช สัตว์ป่า ผีเสื้อ ภูเขาและน้ำตก

ส่วนในตัวเมืองก็มีชื่อเสียงด้านอาหาร ขนมโบราณ ตลาดบ้านใหม่ร้อยปีที่คนอยากชม-ชิม หรือไปวัดโดยเหมาเรือล่องแม่น้ำบางปะกง ชมเขื่อนแล้วฮัมเพลง “ฝั่งชายน้ำบางปะกง ยามแสงอาทิตย์อัสดงใกล้จะค่ำลงแล้วหนา…ฯลฯ” แต่ผมลืมเนื้อเพลง “รักจางที่บางปะกง”

ผมภูมิใจคำว่า นนทรี เพราะมีผู้เขียนชื่อที่อ่านว่า “นน-ซี” ไว้ตั้งแต่สมัยพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ในหนังสือ “ลิลิตพระลอ” และมีหนังสืออีกเล่มคือ อักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2416 เขียนว่า “นนทรี เปนชื่อต้นไม้ เปนกลางๆ ใบเล็กๆ มีดอกเหลืองไม่หอม…” เห็นไหมครับ มีคนรู้จักผมตั้งร้อยกว่าปีแล้ว

“อะราง” ผมเองก็แปลกชื่อตัวเอง ยิ่งชื่อในท้องถิ่นภูมิภาคต่างๆ ก็เรียกชื่อตัวเองไม่ค่อยถูก เพราะเคยชินแต่ชื่อ “นนทรี” ที่โด่งดัง ทั้งเป็นต้นไม้ยืนต้นที่สูงได้ถึง 30 เมตร เรือนยอดทรงกลมทึบ เมื่ออายุมากลำต้นตรงเปลาและเปลือกต้นจะแตกสะเก็ดเล็กๆ สีเทาปนน้ำตาล หรือแตกร่องยาว ใบเป็นใบประกอบเล็กๆ แบบขนนก ผลิใบอ่อนพร้อมผลิดอกในฤดูร้อนระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ออกดอกเป็นแบบช่อตามง่ามใบ ช่อดอกห้อยลง ดอกย่อยสีเหลืองสด ดอกตูมรูปไข่ มีกลีบเลี้ยง ด้านนอกมีขนสีน้ำตาลปกคลุม กลีบดอกบอบบาง 5 กลีบ

เมื่อแก่จะเป็นฝักลักษณะแบนแบบบรรทัด สีน้ำตาลแดง ยาวมากกว่า 10 เซนติเมตร หัวเละท้ายฝักสอบแหลม เมื่อแก่จะแตกอ้าออก แต่ละฝักจะมีเมล็ด 4-8 เมล็ด เรียงตามยาวฝัก นำไปเพาะเมล็ดขยายพันธุ์ได้ดี เจริญเติบโตง่าย ทนแล้ง ทนแดด ชอบขึ้นเป็นกลุ่มในป่าเบญจพรรณและนิยมปลูกเป็นไม้เบิกนำพื้นที่ได้ดี เพราะโตเร็ว โตได้ทุกสภาพพื้นที่ทุกท้องถิ่น

สรรพคุณทางสมุนไพร เปลือกต้นมีรสฝาดแก้เสมหะ ท้องร่วงและขับลม นำไปเคี่ยวน้ำมันแก้ตะคริว กล้ามเนื้ออักเสบ ในอินโดนีเซียที่เกาะชวา ร้านสมุนไพรสกัดแทนนินจากเปลือกนนทรีรักษาโรคท้องร่วง รวมทั้งใช้เปลือกสีน้ำตาลเหลืองย้อมผ้าบาติก สำหรับประโยชน์อื่นๆ นอกจากปลูกเป็นไม้ประดับและให้ร่มเงาแล้ว เนื้อไม้แปรรูปเป็นไม้ก่อสร้างในร่ม ทำพื้นกระดาน ฝาบ้าน หีบกล่องเครื่องเรือน เครื่องมือกสิกรรม พานท้ายปืน เพราะเนื้อไม้สีชมพูเป็นมันเลื่อม เสี้ยนตรง เนื้อหยาบปานกลาง เลื่อยผ่าไสกบง่าย ประกอบงานหัตถกรรมได้ดี

ผมดังอยู่ใน “เกษตรานคร” อยากให้ถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน ของทุกปี ผมจะได้โชว์ตัวในนิทรรศการวัน “นนทรีทรงปลูก ดนตรีทรงโปรด” พอถึงงานวันเกษตรแห่งชาติ ก็จะมีเพลงประจำตัวผมกระหึ่มทุ่งบางเขน เช่น

เพลง นนทรี “…นนทรีกำลังแรกผลิ ไม้ใดสิจะเขียวงามตา..ฯ”

เพลง บทเพลงเสรีแห่งนนทรี “…พร่างพรายนนทรี เสรีที่เราฝัน…ฯ”

และเพลง ร่มนนทรี “…ร่มนนทรี แผ่ความขจีไปทั่วแดนไทย..ฯ”

เห็นไหมละครับ ผม “อะราง” ช่างอะร้าอร่ามจุงเบย?

………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2563