วช. สนับสนุน “มทร.กรุงเทพ” พัฒนานวัตกรรมผ้าขาวม้าจังหวัดราชบุรี

วช. สนับสนุน “มทร. กรุงเทพ” พัฒนานวัตกรรมผ้าขาวม้า สร้างอัตลักษณ์ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในจังหวัดราชบุรี

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้จัดคณะสื่อมวลชนสัญจร ภายใต้การนำของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อริศร์ เทียนประเสริฐ ลงพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพื่อติดตามผลงานวิจัยการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านผ้าไทย และการท่องเที่ยวในจังหวัดราชบุรี เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศกลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ที่ผ่านมา วช. ได้สนับสนุนการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อชุมชน สังคม เพื่อดำเนินการพัฒนาชุมชนนวัตกรรมต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง : กลุ่มหัตถกรรมสิ่งทอแก่ ดร.พีรยา สระมาลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ โดยดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าให้มีคุณภาพ สามารถเพิ่มมูลค่า และช่องทางการตลาด ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของชุมชนดีขึ้น

ทั้งนี้ จังหวัดราชบุรี มีความหลากหลายทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม และประเพณี อันเป็นลักษณะเด่นของท้องถิ่นสืบทอดมาแต่โบราณกาล ทีมนักวิจัยจึงได้นำองค์ความรู้ด้านการทอ การย้อม การออกแบบลวดลายมาพัฒนาสินค้าผ้าขาวม้าให้มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น มีความทันสมัยและสามารถเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ทีมนักวิจัยได้ร่วมมือกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศในการพัฒนาลวดลายและสีสันที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดราชบุรี และมีความร่วมสมัยแบบสากล เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำการตลาดทั้งในและส่งออก ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างและคุณภาพของเนื้อผ้าผ่านกระบวนการคัดเลือกเส้นใยและเทคนิคการทอ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและมีคุณภาพระดับสากล

ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการแปรรูปสินค้าจากผ้าขาวม้า คำนึงถึงการใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าให้มีวัสดุเหลือใช้ให้น้อยที่สุด และนำวัสดุเหลือใช้มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อริศร์ เทียนประเสริฐ ที่ปรึกษาโครงการกล่าวว่า คณะผู้วิจัย ได้ศึกษาพัฒนานวัตกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านผ้าขาวม้า โดยมีผลงานวิจัย/ผลิตภัณฑ์จากโครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยส่งเสริมงานสร้างสรรค์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนผ้าทอไทยและระบบองค์รวม สามารถสร้างรายได้ในระดับสูงให้แก่ชุมชนด้วยคุณค่าทางอัตลักษณ์ที่งดงาม รวมถึงการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ชาวชุมชนทำให้มีกำลังใจในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าขาวม้าทอมือให้คงอยู่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี สร้างรายได้ให้กับประชากร

ทั้งนี้ นวัตกรรมความรู้และเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการถ่ายทอด เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาวิธีการทอ การเลือกประเภทของเส้นใย เพื่อให้คุณภาพของเนื้อผ้าหนาและนุ่มกว่าเดิม ตลอดจนมีความยืดหยุ่น และการย้อมสีให้เหมาะสมกับลวดลายและเส้นใย ตลอดจนการออกแบบลายโดยศึกษาอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และเพิ่มลวดลายที่มีความทันสมัย สามารถนำมาผลิตสินค้าได้หลากหลายรูปแบบ และเหมาะกับกลุ่มลูกค้าทั้งในและส่งออก

วช. เตรียมส่งมอบผลงาน โครงการ “การพัฒนาชุมชนต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง : กลุ่มหัตถกรรมสิ่งทอ” ให้กับจังหวัดราชบุรี และนำเสนอนิทรรศการหัตถกรรมสิ่งทอจังหวัดราชบุรี ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020) ในวันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เวลา 15.00 น. ณ เวทีกลาง ชั้น 32 ศูนย์ประชุมและนิทรรศการ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร