โชว์ กล้วยเล็บมือนางพันธุ์ใหม่

นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กล้วยเล็บมือนาง เป็นพืชท้องถิ่นทางภาคใต้ มีพื้นที่ปลูกกระจัดกระจายในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา ระนอง และภูเก็ต มีพื้นที่ปลูกประมาณ 20,000 ไร่ สร้างรายได้ให้เกษตรกรปีละกว่า 280 ล้านบาท เนื่องจากกล้วยเล็บมือนางเป็นผลไม้ที่มีรสชาติอร่อย จึงเป็นที่นิยมรับประทานทั้งผลสดและการแปรรูป เช่น รวมทั้งยังเป็นสินค้าประจำจังหวัดชุมพร โดยได้จดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ชื่อว่า “กล้วยเล็บมือนางชุมพร”

กล้วยเล็บมือนาง เป็นพืชมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจสำหรับตลาดภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร กรมวิชาการเกษตร จึงได้สำรวจคัดเลือก และรวบรวมกล้วยเล็บมือนางสายต้นที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพผลผลิตดี ลักษณะผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดจากแปลงเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ตั้งแต่ปี 2554 คัดเลือกได้ 21 สายต้นนำมาปลูกเปรียบเทียบและคัดเลือกสายต้นที่เจริญเติบโตดี  ให้ผลผลิตสูง เหมาะสำหรับแปรรูปและรับประทานผลสดได้ จำนวน 5 สายต้น นำมาปลูกขยายหน่อพันธุ์ ปลูกทดสอบในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน โดยใช้สายต้น 001 พันธุ์พื้นเมือง เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ จนได้สายต้นดีเด่น 008 ที่มีการเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตสูง เหมาะสำหรับแปรรูปและรับประทานผลสด ผ่านการประเมินการยอมรับพันธุ์จากเกษตรกร ร้านค้า และผู้บริโภคผ่านการรับรองเป็นพันธุ์แนะนำจากกรมวิชาการเกษตร ในปี 2562 ใช้ชื่อพันธุ์ว่า “กล้วยเล็บมือนางพันธุ์ชุมพร 1”

กล้วยเล็บมือนางพันธุ์ชุมพร 1 มีลักษณะเด่น คือ เครือใหญ่ น้ำหนักเครือ 5.7 กิโลกรัม พันธุ์พื้นเมืองน้ำหนักเครือ 4.9 กิโลกรัม ผลมีขนาดใหญ่น้ำหนักผล 33.8 กรัม พันธุ์พื้นเมืองน้ำหนักผล 32.8 กรัม น้ำหนักหวี 664 กรัม พันธุ์พื้นเมืองน้ำหนักหวี 631 กรัม เนื้อแน่น เหมาะสำหรับการแปรรูปทั้งทำกล้วยอบและฉาบ และบริโภคผลสุก รวมทั้งการจัดเรียงของผลในหวีเป็นระเบียบเหมาะแก่การบรรจุหีบห่อในการขนส่งหรือส่งออก ในขณะที่กล้วยเล็บมือนางพันธุ์อื่นๆ ส่วนใหญ่การจัดเรียงของผลในหวีไม่เป็นระเบียบ ทำให้ยากต่อการบรรจุหีบห่อ

กล้วยเล็บมือนางพันธุ์ชุมพร 1 มีลักษณะเครือและหวีขนาดใหญ่ทำให้มองดูสวยงาม เป็นจุดสนใจน่าซื้อ เป็นที่ต้องการของผู้ขายและผู้บริโภค และเนื่องจากผลมีขนาดใหญ่ทำให้ง่ายต่อการแปรรูปโดยเฉพาะการทำกล้วยฉาบ เพราะทำได้ง่ายกว่าพันธุ์พื้นเมือง เพราะผลมีขนาดใหญ่ สะดวกในการหั่น เมื่อทอดเสร็จแล้วแผ่นกล้วยฉาบมีขนาดใหญ่มองดูน่ารับประทาน

เกษตรกรที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร กรมวิชาการเกษตร โทร. (077) 611-025