ส.ป.ก. เดินหน้ายกระดับชีวิตเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ชูโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านผู้ใหญ่โทน และการจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ คทช. ตำบลเขาซก ต้นแบบพัฒนาอาชีพทำเกษตรอย่างยั่งยืน

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ส.ป.ก. ได้ดำเนินการจัดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรจำนวน 2.9 ล้านราย 3.7 ล้านแปลง 36.2 ล้านไร่ และจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2562 จำนวน 74 พื้นที่ 17 จังหวัด เนื้อที่ 74,679.85  ไร่ โดยคณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินเห็นชอบพื้นที่แล้ว 49 พื้นที่ 13 จังหวัด เนื้อที่ 42,167.51 ไร่ พร้อมกับได้มีส่งเสริม และพัฒนาเกษตรกรในด้านต่างๆ อาทิ การส่งเสริมการผลิตภายใต้ระบบแปลงใหญ่ การผลิตภายใต้ระบบเกษตรอินทรีย์อระบบวนเกษตร การปลูกพืชสมุนไพร

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)

อย่างไรก็ดี การที่เกษตรกรจะสามารถ “อยู่ดี” ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินนั้น ส.ป.ก.ต้องพัฒนาอาชีพเกษตรกรควบคู่กันไป เพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเน้นให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ ทั้งนี้ การดำเนินงานตามภารกิจทั้งในด้านการจัดที่ดิน การพัฒนาศักยภาพพื้นที่ให้มีความพร้อมในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ก็เพื่อมุ่งหวังให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินสามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ได้อย่าง “มีความสุข”

อาทิ โครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านผู้ใหญ่โทน (นายเดชา ศรีโกศักดิ์) ตำบลหนามแดง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ในผืนดินพระราชทานพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน โดยส.ป.ก. ได้รับพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรเช่าทำกิน ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 1,2 และ 3 เนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 2,251 ไร่ ส.ป.ก.ได้ดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกร ส่วนใหญ่เป็นผู้ครอบครองเดิมทำสัญญาเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตรและอยู่อาศัย ปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 267 แปลง เนื้อที่ประมาณ 2,123 ไร่  โดยศูนย์เรียนรู้ฯ ได้มีการเพาะเลี้ยงหนูพุก เพื่อจำหน่ายในประเทศ และส่งออกตลาดต่างประเทศ มีการเลี้ยงกบคอนโด และทำการเกษตรแบบผสมผสาน อีกทั้งยังมีการแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับวิถีการเกษตรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่คนในชุมชนและบุคคลทั่วไป

และการจัดที่ดินทำกินในพื้นที่ คทช. ตำบลเขาซก อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี แปลง NO 378 เนื้อที่  569-3-00 ไร่ ซึ่งได้มีการยึดคืนพื้นที่ นำมาจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล ปัจจุบันได้ดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกร 47 ราย และได้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์ โดยเกษตรกรสมาชิกส่วนใหญ่ปลูกมันสำปะหลัง ทำเกษตรผสมผสาน และเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรี ได้ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเกษตรกร เช่น โครงการปลูกไผ่ในเขตปฏิรูปที่ดิน แปลงพื้นที่ ม.44 No.378 ซึ่งนายเดชา พรมพันธุ์ใจ ได้บุกเบิกพื้นที่ปลูกไผ่ สร้างรายได้ รวมทั้งทำเกษตรผสมผสาน เพื่อเกิดความยั่งยืนของอาชีพในอนาคต

Advertisement

ด้านนายเดชา ศรีโกศักดิ์ หรือ ผู้ใหญ่โทน กล่าวว่า ที่ดินที่ก่อตั้งโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงฯ เป็นที่ดินพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งได้รับการจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก. ตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นย่า และมีการสืบทอดมาตามสายเลือด เพื่อทำนา และพอพ่อ แม่ ทำไม่ไหว ก็ปล่อยที่ดินรกร้างกว่า 30 ปี ถ้าไม่ทำประโยชน์ก็อาจจะถูกยึดที่ดินคืน ตนจึงได้ฟื้นฟูที่ดินพระราชทาน 16 ไร่เศษ มา 10 กว่าปีแล้ว ทำเกษตรผสมผสาน ขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกไม้ผลต่างๆ เช่น กล้วย อ้อย มะพร้าว กะท้อน มะม่วง แต่ที่ประสบความสำเร็จคือ การปลูกมะนาว พันธุ์แป้นพิจิตรพันธุ์ทูลเกล้า และทำกิ่งพันธุ์ขาย โดยไม่ใช้สารเคมี

Advertisement

นอกจากนี้ มีการเลี้ยงหนูพุก 400 กระถาง เพื่อจำหน่ายเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และขายเป็น ราคากิโลกรัมละ 150 บาท เช่น ร้านอาหารป่า โดยอายุหนูพุก 2-3 เดือน ก็สามารถขายได้ ช่วยสร้างรายได้เดือนละ 3-4 หมื่นบาท และส่งเสริมอาชีพเลี้ยงหนูพุกให้เกษตรกร โดยลงทุนครั้งเดียว เช่น ซื้อพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ 10 คู่ ราคา 8,000 บาท และค่าวัสดุอุปกรณ์ รวมราคาไม่เกิน 1,500 บาท ปัจจุบัน มีสมาชิกเครือข่ายเลี้ยงหนูพุก 30 กว่าฟาร์ม และได้มีทำเอ็มโอยูส่งออกหนูพุกไปยังเวียดนาม แต่ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดชะงัก

“คนที่อยากทำกินแต่ไม่มีที่ทำกิน คนที่มีที่ดินทำกินแต่ไม่ทำกิน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงตรัสได้ถูกต้องว่า เกษตรกรไม่รวย แต่ไม่อด ได้ตัดสินใจเลี้ยงหนูพุก ทั้งที่ยังไม่มีตลาด เริ่มจาก 60 คู่ ขยายพันธุ์ และขายด้วย เพราะใช่พื้นที่เยอะแค่ 1 งานกว่าๆ ต้นทุนลงทุนครั้งเดียว และตีกินยาว พื้นที่ที่เหลือทำเกษตรผสมผสาน สามารถเก็บกิน และขายได้ ผมต้องการใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วของที่ดินพระราชทาน ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และในอนาคตจะมโครงการปลูกป่า ผมจะไม่ให้ที่ดินว่าง เพราะเรามีที่ทำกิน เราต้องทำกิน”ผู้ใหญ่โทน กล่าว

นายเดชา พรมพันธุ์ใจ

ขณะที่นายเดชา พรมพันธุ์ใจ เกษตรกรโครงการที่ดิน คทช. ตำบลเขาซก กล่าวว่า จากเดิมทำงานโรงงาน ไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง ต้องเช่าบ้านอยู่ และได้ไปลงทะเบียนขอที่ดินทำกินประมาณ 2-3 เดือน ก็ได้รับการจัดที่ดิน และเข้าร่วมโครงการเกษตรกรรุ่นใหม่ ส.ป.ก.รุ่นที่ 13 รวมทั้งได้เข้าอบรมเกษตรกร 6 เดือน จนจบจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุดรธานี และได้มาขอลงพื้นที่ คทช. ตำบลเขาซก โดยเริ่มแรกเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ได้ช่วยชาวบ้านไปบุกเบิกพื้นที่ตรงนี้ ทำเป็นที่อยู่อาศัย และช่วยกันพัฒนา ซึ่งหน่วยงาน ส.ป.ก. ได้ช่วยอำนวยความสะดวกประสานงานกรมชลประทานขุดบ่อให้ 2 บ่อ หน่วยงานทหารช่างช่วยทำถนน ปัจจุบันมีเกษตรกรได้เข้ามาอยู่อาศัย ในพื้นที่นี้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 โดยได้รับการจัดสรรที่ดินคนละ 6 ไร่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 1 ไร่ และที่ดินทำกิน 5 ไร่ ซึ่งสมาชิกเกษตรกรมีการรวมตัวกันอย่างใกล้ชิดเพื่อปรึกษาหารือและกำหนดเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน โดยยึดหลักที่ว่า “ต้องพึ่งพาตนเองให้ได้พร้อมกับการช่วยเหลือผู้อื่น”

ทั้งนี้ ตนได้ทำเกษตรยั่งยืน บนพื้นที่ 5 ไร่ ปลูกพืชที่มีประโยชน์ใช้สอยหลากหลาย ทั้งใช้บริโภค เช่น มะพร้าว กล้วย มะม่วง กระเจี๊ยบ  และใช้สอย เช่น ไผ่ตงลืมแล้ง  เลี้ยงไก่ ขุดบ่อเลี้ยงปลา โดยต้นทุนจากการทำอาชีพทางการเกษตรเฉลี่ยต่อปี ค่าต้นพันธุ์ ประมาณ 7,200 บาท ค่าวัสดุบำรุงดิน สารกำจัดศัตรูพืช  6,000  บาท เมื่อหักต้นทุนผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ยประมาณ 46,800 บาทต่อปี

“จากที่ได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ คทช. ชีวิตก็เปลี่ยนไป จากลูกจ้างโรงงาน ต้องเลี้ยงเมีย เลี้ยงลูก 2 คน เงินเดือนที่ได้ ต้องใช้เดือนชนเดือน แถมเป็นหนี้เป็นหนี้สินเขาอีก แต่ตอนนี้เราไม่ต้องมีภาระ ทุกอย่างที่มีอยู่ในแปลงเกษตรสามารถกินได้หมด อยากกินผัก กินปลา ก็มีให้กิน เหลือก็ไปขาย ซึ่งเป็นความสุขที่ยั่งยืน และยังช่วยสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว และลูกหลานได้มีที่อยู่อาศัย”นายเดชา กล่าว