ชาญวิทย์ วงษ์สมุทร ปลูกสับปะรดแนวใหม่ ได้ผลผลิตไร่ละ 12 ตัน

สับปะรด พืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ส่งออกครองอันดับ 1 ในตลาดโลกมาอย่างยาวนาน แต่สถานการณ์การผลิตในประเทศกลับลุ่มๆ ดอนๆ มาตลอด มีปัญหาที่ทับถมและสะสมมากมาย โดยเฉพาะราคาสับปะรดโรงงานที่ไม่ค่อยจะสมดุลกับต้นทุนการผลิตของชาวไร่ มักจะสวิงมาก ไม่เสถียรเท่าที่ควร ประกอบกับผลผลิตต่อไร่ที่ชาวไร่ทั่วไปทำได้ยังต่ำกว่าศักยภาพการผลิตของพืชชนิดนี้ ผลผลิตเฉลี่ยที่ 4-5 ตัน ต่อไร่ นั้นนับว่าต่ำมาก จึงสะท้อนกลับมาที่ต้นทุนการผลิตที่สูงกว่า รายได้ของชาวไร่ไม่คุ้มกับการลงทุน เสียโอกาสมากในรอบปีการเพาะปลูก จำเป็นต้องพัฒนาวิธีการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นจากเดิม

ปรับพื้นที่และเตรียมดิน

ด้วยวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมกว่าเดิม จึงจะส่งผลต่อรายได้ที่เพิ่มขึ้น คุณชาญวิทย์ วงษ์สมุทร กูรูสับปะรดปัตตาเวีย ของจังหวัดระยอง มีวิธีการปลูกสับปะรดอย่างไร ได้ผลผลิต ไร่ละ 10-12 ตัน โมเดลนี้อาจพลิกผันวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ หากคนสายสับปะรดนำไปปรับใช้อย่างเหมาะสม ตามไปดูรายละเอียดกันครับ 

สับปะรดไทย : ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ต่ำเกินไป

ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แสดงให้เห็นว่า ผลผลิตสับปะรดของชาวไร่ไทย ไม่ค่อยขยับขึ้นแม้เวลาจะผ่านมาหลายปี หากข้อมูลตรงนี้เป็นจริง ต่อไปจะยิ่งลำบากจากรายได้ที่ไม่คุ้มการลงทุน ชาวไร่สับปะรดจะเลิกราหายไปแบบโดมิโน่ ข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สรุปสถานการณ์สับปะรดของประเทศไทย ปี 2561 ไว้ ดังนี้

พื้นที่ปลูกทั้งประเทศ รวม 575,580 ไร่, พื้นที่เก็บเกี่ยว 568,394 ไร่ ผลผลิตรวม 2,350,887 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศ 4,138 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยผลผลิตเฉลี่ยรายภาคเป็นดังนี้

ใส่ปุ๋ยขี้ไก่แกลบรองพื้นก่อนปลูก

ภาคเหนือ 3,544 กิโลกรัม ต่อไร่

ภาคใต้ 4,087 กิโลกรัม ต่อไร่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4,142 กิโลกรัม ต่อไร่

ภาคกลาง 4,293 กิโลกรัม ต่อไร่

ต้องยอมรับว่า ผลผลิตสับปะรดต่อไร่ของบ้านเรานั้นยังต่ำมาก เมื่อเทียบกับผลผลิตสับปะรดของประเทศที่ผลิตสับปะรดเป็นการค้า

ยุทธศาสตร์การพัฒนาสับปะรดไทย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดยุทธศาสตร์สับปะรด ปี 2560-2565 เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “จะยกระดับผลผลิตเฉลี่ยสับปะรด จาก 3-4 ตัน ต่อไร่ ขึ้นเป็น 5-6 ตัน ต่อไร่ และจะลดต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับที่ต่ำลงมา” ส่วนวิธีการปฏิบัตินั้น ยังไม่ชัดเจนว่าให้ทำยังไง ชาวไร่ไปจัดการกันเอาเอง ส่วนงานวิจัยและพัฒนาสับปะรดด้านเขตกรรม ที่จะเน้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้สูงสุด ในจุดที่เหมาะสมกับต้นทุนและกำไร ก็ยังไม่เห็นมีรายงานหรือข้อมูลเผยแพร่สู่ชาวไร่ที่เป็นรูปธรรม ยังคงมีช่องว่างทางความรู้เพื่อการตัดสินใจลงทุน และปฏิบัติที่เหมาะสมอีกหลายด้านหลายประเด็น

ชาญวิทย์ วงษ์สมุทร

กับโมเดลการผลิตพิชิตกำไรสูง

ยกแปลงพร้อมปลูก

คุณชาญวิทย์ วงษ์สมุทร ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอนิคมพัฒนา ชาวไร่สับปะรดระดับแนวหน้าของจังหวัดระยอง ปลูกสับปะรดปัตตาเวียมานานกว่า 20 ปี เป็นอีกผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในอาชีพการทำไร่สับปะรด เน้นปลูกเพื่อขายโรงงานแปรรูป และแบ่งผลผลิตตัดขายผลสดบ้างสัก 20-30 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตรวม คุณชาญวิทย์ได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ผ่านทางผู้เขียนไว้อย่างหมดไส้หมดพุง เพื่อเป็นวิทยาทานให้คนสายสับปะรดนำไปต่อยอด นำไปพัฒนาการผลิตตามสภาพความพร้อมของแต่ละคน เพื่อผลผลิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

คุณชาญวิทย์ ปลูกสับปะรดได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่าไร่ละ 10 ตัน ขณะที่ผลผลิตของชาวไร่ทั่วไปทั้งประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 ตัน ต่อไร่ เท่านั้น ผลผลิตระดับนี้หากนำราคารับซื้อของโรงงานแปรรูปมาคำนวณกับต้นทุนที่ลงไป ชาวไร่เกือบไม่มีกำไรจากการลงทุนในรอบปีกว่าๆ ต่อรุ่น บางปีหรือบ่อยครั้งที่ขาดทุนกันไป นี่ขนาดว่ายังไม่ได้บวกต้นทุนค่าแรงในครอบครัว ค่าหน่อพันธุ์ และอีกจิปาถะรวมไปด้วยเลย ต้นทุนแฝงเหล่านี้ต่างหากที่ชาวไร่ไม่ต้องจ่าย จึงอยู่รอดได้กับอาชีพนี้ ดังนั้น ต้นทุนที่แท้จริงตามหลักเศรษฐศาสตร์คงใช้กันไม่ค่อยได้กับชาวไร่สับปะรด จะมีแต่ภาคธุรกิจเท่านั้นที่คิดทุกอย่างพร้อมกำไรที่กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ไม่มีใครเปิดเผย เป็นความลับทางการค้าโดยสิ้นเชิง

สถานการณ์แบบนี้มีทางเดียวที่ชาวไร่สับปะรดจะไปรอด คงต้องหันมาพัฒนากระบวนการผลิตของตัวเอง หรือรีโนเวทกันใหม่เลย หากจะเป็นมืออาชีพที่แท้จริง และมีความมั่นคงทางอาชีพได้ ไม่ใช่ทำมาหากินแบบโชคช่วย รอคอยฝนฟ้าอำนวยไปในแต่ละรอบปีการผลิตเพียงอย่างเดียวเท่านั้น สับปะรดเป็นพืชเงินพืชทองหากทำอย่างประณีต ดูแลอย่างทั่วถึง ลงทุนตามสมควร ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพราะพืชนี้ให้ผลผลิต่อไร่ที่สูงมาก แต่เป็นพืชที่มีอายุยาวข้ามปีกว่าจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิต ต้องมองที่ค่าเสียโอกาส และความเสี่ยงที่อาจมีมาตลอดไทม์ไลน์การผลิตในแปลง หากปลูกแล้วไม่ได้ผลผลิตออกมาตามเป้าหมาย หรือที่ควรจะได้รับ ผลตอบแทนจะไม่ได้ หรือได้ไม่คุ้มกับจุดที่จะได้กำไรสูงสุด หากทำแล้วรายได้ปิ่มต้นทุน ไม่นานชาวไร่จะหมดทุน หมดกำลังใจ ปรับเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นกันหมดแน่นอน

ปลูกด้วยหน่อไซซ์ใหญ่ โตไวได้ลูกเร็ว

คุณชาญวิทย์ วงษ์สมุทร ได้ให้ข้อมูลเชิงแนวทางที่ทำมาว่า ปลูกสับปะรดอย่างไร จึงได้ผลผลิต ไร่ละ 10-12 ตัน เขาสรุปประเด็นหลักไว้ 4 จุดเน้น คือ

  1.  การเตรียมพื้นที่/เตรียมดิน
  2. การเตรียมหน่อพันธุ์
  3.  การดูแลรักษา และ
  4.  เป้าหมายการผลิตและการจัดการ

เตรียมพื้นที่และเตรียมดินให้ดีไว้

สับปะรดโตไว ได้ตัดผลเร็ว

พื้นที่ใหม่ต้องปรับสภาพให้ราบเรียบ ไม่มีหลุมบ่อ หรือแอ่งที่น้ำท่วมขังได้ เพราะสับปะรดจะเน่าตาย โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน ผลผลิตจะหายไป มีต้นทุนเพิ่มและเสียเวลาจากการปลูกซ่อมแซม จึงต้องปรับพื้นที่ให้ลาดเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้น้ำไหลไปได้ หากพื้นที่ลาดเอียงมาก และพื้นที่แปลงใหญ่ต้องทำร่องระบายน้ำไว้ด้วย เพื่อป้องกันการกัดเซาะของน้ำฝน ไม่เช่นนั้นแปลงปลูกสับปะรดจะเสียหายในวงกว้าง ส่วนดินนั้นหลายแปลงมีการปลูกพืชติดต่อกันมาหลายปี ดินจึงขาดธาตุอาหารที่จำเป็นต่อสับปะรด ดินจะแน่นแข็ง ดูดซับน้ำได้น้อย จึงต้องเติมพวกปุ๋ยอินทรีย์ลงไป เพื่อช่วยปรังปรุงสภาพดินให้มีความสมบูรณ์ขึ้น

คุณชาญวิทย์ ใส่ปุ๋ยขี้ไก่แกลบลงไป โดยไถกลบคลุกลงไปในช่วงเตรียมดิน ประมาณว่า ใส่ไร่ละ 1-2 ตัน สับปะรดจะงามเร็วและทนแล้งกว่าแปลงที่ไม่ใส่ขี้ไก่แกลบ ส่วนแปลงสับปะรดเก่าหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วจะปั่นตีต้นเก่าด้วยโรตารี่ จนแหลกละเอียด แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง จึงไถกลบลงดินด้วยผาล 3 รวม 2 รอบ แล้วจึงไถด้วยผาล 7 อีกรอบ เพื่อย่อยดินให้ร่วนซุยมากขึ้น จากนั้นจึงยกแปลงปลูกพร้อมที่จะปลูกสับปะรดต่อไป

ระยะต้นและระยะแถวที่เหมาะสม

 

จุกและหน่อพันธุ์ปลอดโรค

และคัดแยกขนาด

หากซื้อหน่อที่มาจากภายนอก ต้องคัดเลือก/ดูแปลงที่ปลอดจากโรคเหี่ยว การเตรียมต้องนำมาคัดแยกขนาดออกเป็นหน่อใหญ่ หน่อกลาง และหน่อเล็ก แล้วนำลงปลูกแยกแปลงกัน โดยปลูกอย่างต่ำที่ 8,000 ต้น ต่อไร่ ด้วยระยะปลูก 25x50x90 เซนติเมตร (ระยะต้นxระยะแถวxระยะแถวคู่) แยกแปลงกันตามขนาดของหน่อ เพื่อที่สับปะรดแต่ละแปลงจะเติบโตไปด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ ไม่แตกต่างกันมาก จะส่งผลต่อการทำกิจกรรมอื่นที่จะต้องทำต่อเนื่องกันไป จะช่วยลดเวลาการทำงานลงได้ มีความสะดวกในการทำงาน และลดต้นทุนได้อีกส่วนหนึ่ง จุดนี้มันสำคัญมาก เป็นต้นทางของความสำเร็จในการปลูกสับปะรดแบบมืออาชีพ

“ผมเลือกหน่อปลูกที่เป็นไซซ์ใหญ่ น้ำหนักตั้งแต่ 500 กรัม ขึ้นไป เพราะเติบโตเร็วกว่า ทำให้ฉีดฮอร์โมนเร่งการออกดอกได้เร็วขึ้น พอเข้าปลายฤดูฝนก็เร่งให้ออกดอกได้ก่อนใคร แต่ก็ต้องดูความสมบูรณ์ของต้นสับปะรดด้วย หรือไม่ก็มีอายุต้นสับปะรดที่ 8-10 เดือน ต้นต้องสมบูรณ์เต็มที่ ถึงจะฉีดฮอร์โมนเร่งการออกดอก เพื่อให้ชัวร์ว่าจะได้สับปะรดที่มีผลขนาดใหญ่ตามที่ต้องการ เพราะสับปะรดผลใหญ่กับผลเล็ก โรงงานรับซื้อในราคาที่แตกต่างกันมาก ช่วงนี้สับปะรดผลใหญ่ ราคา 10.6-12 บาท ต่อกิโลกรัม ขณะที่ผลเล็ก ราคา 2.50 บาท ต่อกิโลกรัม ได้เงินต่างกันมากเลย หากปลูกแบบมั่วคละหน่อในแปลงเดียวกัน ทั้งหน่อใหญ่ กลาง เล็ก จะได้สับปะรดลูกเล็กจำนวนมาก เพราะหน่อเล็กหรือหน่อกลางจะโตไม่ทัน และไม่สมบูรณ์เท่าหน่อใหญ่ที่ปลูกปะปนกัน”

หลังปลูกเสร็จดูเป็นระเบียบสม่ำเสมอกัน

การควบคุมวัชพืช… หลังจากปลูกสับปะรดเสร็จแล้ว และดินมีความชื้นเพียงพอ เราต้องฉีดสารควบคุมหญ้า(วัชพืช) ทันที อย่าปล่อยให้หญ้าขึ้นและโตมาก เพราะตัวสารเคมีจะได้ซึมลงหรือสัมผัสกับหน้าดิน มีผลต่อการยับยั้ง (คุม) การงอกของเมล็ดได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น โดยทั่วไปจะฉีดสารควบคุมหญ้าหลังจากปลูกสับปะรดไปประมาณ 1 เดือน โดยฉีดทั้งบนแปลงปลูกสับปะรดและระหว่างช่องทางเดินระหว่างแถวคู่ ใช้สารไอวาร์เอ็ก (โบรมาซิล) 700 กรัม กับสารคาร์แม็ก (ไดยูรอน) 2 กิโลกรัม ผสมน้ำ 1,500 ลิตร หลังจากนั้น หากมีหญ้าขึ้นจะใช้แรงงานถากเก็บ ประมาณ 2-3 ครั้ง ควบคุมวัชพืชได้หมด สับปะรดจะโตเร็วมากขึ้นด้วย

ปุ๋ยเพิ่มธาตุอาหาร เสริมสร้างลำต้น… ผลผลิตสับปะรดจะดีหรือไม่ อยู่ที่ต้นสับปะรดได้รับธาตุอาหารที่เพียงพอ ต้นที่โตสมบูรณ์ จะส่งผลต่อการสร้างดอกและผลที่สมบูรณ์ต่อไป มีจำนวนผลย่อยมากตามลักษณะของแต่ละพันธุ์ ซึ่งธาตุอาหารต้องมากพอที่จะสร้างและขยายผลย่อยได้โตเต็มที่ ดังนั้น จึงต้องใส่ธาตุอาหารหลักให้ครบถ้วนและเป็นสัดส่วนที่สับปะรดต้องการ ซึ่งคุณชาญวิทย์ มีการใส่ปุ๋ยสับปะรด ดังนี้

ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 หลังจากปลูกและฉีดสารควบคุมหญ้าแล้ว ปุ๋ยที่ใส่เป็น สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 จำนวน 200 กิโลกรัม ผสมกับปุ๋ย สูตร 21-0-0 จำนวน 150 กิโลกรัม แล้วนำใส่ต้นสับปะรด ต้นละ 15 กรัม (ช้อนแกง ตักแบบพูน) โดยใส่ที่กาบล่าง หรือวางบนดินให้ชิดโคนต้นสับปะรดมากที่สุด เพื่อปุ๋ยจะละลายลงดิน เพื่อที่รากสับปะรดจะดูดไปใช้ได้เร็วยิ่งขึ้น

ต้นสมบูรณ์พร้อมเร่งการออกดอก

ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 หลังจากใส่ปุ๋ยครั้งแรกไปประมาณ 2-3 เดือน ใส่ปุ๋ยผสมจากปุ๋ย 4 สูตร คือ สูตร 13-13-21, 16-16-16, 21-0-0 และ 0-0-60 โดยใช้สัดส่วนการผสมเป็นน้ำหนักแต่ละสูตร คือ 100, 100, 100 และ 50 กิโลกรัมตามลำดับ แล้วนำไปใส่สับปะรด ต้นละ 15 กรัม โดยใส่ที่กาบใบล่างๆ การใส่ปุ๋ยทั้ง 2 ครั้ง หากช่วงนั้นไม่มีฝนหรือฝนทิ้งช่วงไป ต้องให้น้ำตามทันทีหลังการใส่ปุ๋ย โดยจะให้น้ำ 2 ครั้ง ห่างกัน 1-2 วัน เพื่อให้น้ำไปละลายปุ๋ย และซึมลงไปในดินบริเวณรากสับปะรด สับปะรดดูดไปใช้ได้เลย และจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการปลูกสับปะรดตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน ซึ่งปริมาณฝนจะทิ้งช่วงไปบ้าง แต่โชคดีที่สภาพดินฟ้าอากาศทางจังหวัดระยอง ฝนจะไม่ทิ้งช่วงนานเกินไป จะมีฝนตกลงมาเป็นระยะๆ ทำให้สับปะรดเขตนี้ได้เปรียบกว่าทางภาคตะวันตก เพียงแต่ต้องคอยสังเกตและติดตามดูสภาพดินฟ้าอากาศว่าแล้ง/ขาดฝนนานไปหรือเปล่า เพื่อให้น้ำเพิ่มเติมได้ทันเวลา ไม่ปล่อยให้ต้นสับปะรดแสดงอาการเหี่ยวเฉา เพราะหากปล่อยถึงจุดนั้น แม้ต่อมาจะให้น้ำ ต้นสับปะรดจะฟื้นตัวได้ช้ามาก และจะไม่เป็นไปตามเวลาที่เราต้องการในรอบการเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งโรงงาน อาจเสียโอกาสหากราคาสับปะรดสูงขึ้น อีกอย่างคุณภาพของปุ๋ยสูตรต่างๆ ของแต่ละบริษัทคุณภาพจะแตกต่างกัน บางยี่ห้อใช้แล้วใบสับปะรดออกสีเขียวเข้มดำ ใบเป็นมัน ดูงามชัดเจน แต่ของบางบริษัทใบสับปะรดจะออกสีเขียวนวล สีเขียวอ่อนกว่าอย่างชัดเจน

ต้นโตสม่ำเสมอตลอดแปลง

สรุปว่า “ทำอย่างไร ให้ต้นสับปะรดเติบโต และงอกงามได้อย่างต่อเนื่อง อย่าปล่อยให้ชะงัก จนใบแสดงอาการเหี่ยว จะใช้เวลาอีกนาน กว่าที่ต้นสับปะรดจะฟื้นตัว ไม่เหมือนพวกมันสำปะหลัง ที่เราใส่ปุ๋ยไว้แล้ว ช่วงผ่านหน้าแล้งดูว่าไม่มีการเติบโต ดูโทรมมาก ใบโกร๋น กร๊องแกร๊งเหมือนจะตาย แต่พอฝนตกลงมาเท่านั้น มันฟื้นตัวได้เร็วมาก ในเวลาแค่ครึ่งเดือนจะแตกยอดพุ่งยาวไปเป็นไม้บรรทัด แต่สับปะรดจะไม่เป็นเช่นนั้น จึงต้องประเมินสภาพอากาศ โดยฟังการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และเข้าดูแปลงสับปะรดโดยตลอด“

ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 เว้นช่วงห่างจาก ครั้งที่ 2 ประมาณ 2-3 เดือน ใช้สูตร สัดส่วนการผสม และอัตราการใส่ต่อต้น เหมือนกับการใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 และหากช่วงเวลานั้นไม่มีฝนตก ก็จะให้น้ำตาม 2 ครั้ง เช่นเดียวกัน

ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 4 ในช่วงผ่านฤดูแล้ง เพื่อให้ต้นสับปะรดเติบโตและสมบูรณ์เต็มที่ และก่อนที่จะฉีดฮอร์โมนเร่งการออกดอกประมาณ 30 วัน จะฉีดปุ๋ยเสริมทางใบ ต้นขนาดกลางใช้เป็นปุ๋ยเกล็ด สูตร 10-5-30 แต่ถ้าเป็นต้นที่โตผ่านฤดูฝน จะใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 ต้นละ 1 ช้อนแกง ซึ่งต้นสับปะรดจะดูดปุ๋ยไปใช้ได้จนถึงระยะก่อนออกดอกถึงระยะสร้างดอก เป็นการเตรียมต้นสับปะรดให้สมบูรณ์อย่างเต็มที่

ผลใหญ่สมบูรณ์ รูปทรงสวยงาม ได้ขนาดตามมาตรฐาน

ฉีดปุ๋ยเสริมอีก 2 ครั้ง  หลังจากที่สับปะรดออกดอกแล้ว เพื่อให้ได้สับปะรดลูกใหญ่ ได้ไซซ์มาตรฐานของโรงงาน เนื่องจากระบบการซื้อขายผลสับปะรดของโรงงานแปรรูป ที่กำหนดไว้ 2 ขนาด คือ ผลใหญ่ น้ำหนักตั้งแต่ 1 กิโลกรัมขึ้นไป และผลเล็ก น้ำหนักที่ต่ำกว่า 1 กิโลกรัมลงมา ซึ่งราคาผลสับปะรดทั้ง 2 ขนาดนั้น แตกต่างกันมาก จึงจำเป็นต้องทำให้ได้ผลสับปะรดไซซ์ใหญ่ให้ได้มากที่สุดในแต่ละรุ่นของการปลูก นั่นเป็นรายได้ที่ต่างกันมากด้วย

ดังนั้น จึงต้องมีการฉีดปุ๋ยเสริมในช่วงที่สับปะรดออกดอกติดผลแล้ว เพราะปริมาณธาตุอาหารที่ใส่มาตลอดช่วงก่อนการเร่งการออกดอกนั้น ยังอาจจะไม่เพียงพอหากหวังจะได้ผลสับปะรดไซซ์ใหญ่ให้มากที่สุด หรือเป็นไซซ์ใหญ่ทั้งรุ่น ปุ๋ยที่ใช้ฉีดช่วงนี้เป็นปุ๋ยเกล็ด สูตร 10-5-30 หรือ สูตร 5-10-30 ผสมน้ำที่ระดับความเข้มข้น 3-5 เปอร์เซ็นต์ โดยฉีดพ่นลงในต้นสับปะรดหลังฉีดฮอร์โมนเร่งการออกดอกไปแล้ว 30-40 วัน ซึ่งเป็นช่วงที่มองเห็นดอก/ผล สับปะรดยังอยู่ในยอด ยังไม่โผล่พ้นยอดขึ้นมา และฉีดพ่นอีกครั้งที่อายุดอก/ผล 70-80 วัน (ระยะดอกแห้ง/ตาแหลม) เป็นการให้ปุ๋ยสับปะรดครั้งสุดท้าย หลังจากนั้น จะเป็นการให้น้ำช่วยและทำกิจกรรมอื่นต่อเนื่องไป

ให้น้ำเพิ่มความชื้นและช่วยละลายปุ๋ย… สับปะรด เป็นพืชที่มีอายุจากช่วงปลูกถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตนานกว่า 1 ปี แม้ว่าจะทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ดี แต่ก็ต้องการปริมาณน้ำที่เหมาะสม แต่ไม่มากเมื่อเทียบกับไม้ผลชนิดอื่น ซึ่งถ้าต้นสับปะรดขาดน้ำนานเกินไป จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตที่ไม่ได้ขนาดต้นที่เหมาะสม จะให้ลูกไซซ์เล็ก ขายในราคาลูกเล็ก ชาวไร่จะเสี่ยงต่อการขาดทุน ดังนั้น การให้ต้นสับปะรดได้รับน้ำที่สม่ำเสมอตลอดถึงช่วงออกดอกสร้างผล จะทำให้สับปะรดโตเร็ว และให้ผลผลิตที่ดีกว่ารอรับน้ำฝนจากธรรมชาติแต่อย่างเดียว โดยเฉพาะช่วงที่สับปะรดโต/ออกผลผ่านฤดูแล้ง ต้องให้น้ำตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-เมษายน ทั้งนี้ต้องสังเกตความชื้นของดิน สภาพต้นสับปะรด และสภาพอากาศประกอบกันไปด้วย

สับปะรดแปลงใหญ่ ได้ไซซ์จัมโบ้เกือบทั้งหมด

คุณชาญวิทย์ ให้ข้อมูลต่อว่า เริ่มให้น้ำกับต้นสับปะรด ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคมเป็นต้นไป และจะให้น้ำทุก 7 หรือ 15 วัน แล้วแต่สภาพความแห้งแล้งของอากาศในขณะนั้น เพราะช่วงนี้สับปะรดส่วนใหญ่กำลังออกดอก/สร้างผล เป็นสับปะรดที่เกิดจากการฉีดเร่งด้วยฮอร์โมน หรือที่ออกดอกเองตามธรรมชาติบางส่วน (ชาวไร่เรียกกันว่า สับปะรดหน้าปี) ที่จะไปเก็บเกี่ยวผลผลิตในระหว่างเดือนมีนาคม-มิถุนายน ดังนั้น พอเข้าฤดูหนาวต่อฤดูร้อน (พฤศจิกายน-เมษายน) เป็นช่วงที่แล้งยาวนานมาก ความชื้น/น้ำในดินจะลดน้อยลงไปอย่างรวดเร็ว ความชื้นในอากาศลดลง แสงแดดร้อนจัดเข้มขึ้น และอุณหภูมิสูงกว่าปกติ สภาพแวดล้อมเช่นนี้หากไม่ให้น้ำช่วยบ้าง ผลผลิตสับปะรดจะไม่ได้ตามเป้าหมายที่เราต้องการ ผมให้น้ำครั้งละ 12,000 ลิตร ต่อไร่ และให้น้ำต่อเนื่องทุก 7-15 วัน จะไปหยุดให้น้ำก็ก่อนการเก็บผลผลิต ประมาณ 15-20 วัน สับปะรดจะให้ผลที่ใหญ่สม่ำเสมอเกือบทั้งแปลง

ฉีดฮอร์โมนเร่งการออกดอก

ผลผลิตส่งโรงงานแปรรูป

สับปะรด ที่ผ่านการเจริญเติบโตมา 7-9 เดือน เราต้องฉีดพ่นฮอร์โมนเพื่อเร่งการออกดอก แม้ว่าโดยปกติสับปะรดเป็นพืชที่ออกดอกได้เองตามธรรมชาติ เมื่อผ่านช่วงที่อุณหภูมิของอากาศเย็นลงในฤดูหนาว ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม-มกราคม ของปี แต่การออกดอกตามธรรมชาติจะไม่สม่ำเสมอ มีหลากหลายรุ่นเพราะต้นสับปะรดแต่ละต้นมีการตอบสนองต่ออุณหภูมิที่เย็นได้แตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตส่วนใหญ่ได้พร้อมกัน จึงจำเป็นต้องฉีดฮอร์โมนเร่งการออกดอก ซึ่งต้นสับปะรดต้องโตสมบูรณ์ ได้ขนาด สังเกตว่าต้องมีลำต้นและโคน(ชาวไร่เรียก สะโพก) ที่ใหญ่พอ ซึ่งหากนำต้นสับปะรดมาชั่งดู น้ำหนักต้องได้ไม่ต่ำกว่า 2.5-3 กิโลกรัม ซึ่งน้ำหนักของผลสับปะรดที่ได้จะเป็นครึ่งหนึ่งของน้ำหนักต้น ณ วันที่เราฉีดฮอร์โมนเร่งการออกดอก ตรงนี้เป็นจุดที่เป็นข้อปฏิบัติของชาวไร่สับปะรดที่มีประสบการณ์

สำหรับการเร่งการออกดอกสับปะรดนั้น ผมใช้สารอีทีฟอน (ชื่อการค้า อีเทรล) จำนวน 650 ซีซี ผสมกับปุ๋ยยูเรีย(สูตร 46-0-0) จำนวน 12.5 กิโลกรัม ผสมกับน้ำ 1,000 ลิตร แล้วนำไปหยอดหรือฉีดพ่นลงในยอดสับปะรด ต้นละ80-100 ซีซี ได้ประมาณ 10,000 ต้น โดยทำ 2 ครั้ง ห่างกัน 3-5 วัน การฉีดฮอร์โมนเร่งการออกดอกสับปะรดควรทำตอนเย็น หรือตอนกลางคืนจะได้ผลดี โดยหลังจากการฉีดฮอร์โมนเร่งการออกดอกไป 45 วัน ดอกสับปะรดสีแดงจะโผล่ขึ้นจากกลางลำต้น แล้วพัฒนาเป็นผลที่สมบูรณ์ และเข้าสู่ระยะแก่และสุกจนเก็บเกี่ยวได้ ที่อายุ 150-155 วัน นับจากวันที่ฉีดฮอร์โมนเร่งการออกดอก จากประสบการณ์พบว่า ต้นสับปะรดที่สมบูรณ์จะออกดอกไม่ต่ำกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลต่อการสุกของสับปะรดที่พร้อมกัน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เกือบหมดในรุ่นเดียว ช่วยลดเวลาการทำงานและลดต้นทุนการผลิตได้อีกส่วนหนึ่ง

ปัตตาเวียตัดขายพ่อค้าผลสด

สังเกตว่าสับปะรดแปลงนี้ของคุณชาญวิทย์ ทำไมไม่มีการคลุมผลหรือห่อผลเลย เหมือนไร่สับปะรดคนอื่น เขาอธิบายว่า เป็นผลมาจากการปลูกระบบแถวคู่ จำนวนต้นที่มาก/แน่นพอ และการใส่ปุ๋ยเร่งให้สับปะรดเติบโตเร็ว มีใบที่กว้างยาว ใบสับปะรดจะช่วยบังแสงแดดได้ดี ไม่ต้องคลุมหรือใช้กระดาษห่อผลเลย ผลสับปะรดไม่แสดงอาการผลไหม้ (เปลือกเป็นสีน้ำตาล) นับว่าเป็นอีกแนวทางที่ชาวไร่ต้องนำมาคิด เพราะจำนวนต้นต่อไร่ที่ 8,000 ต้นนั้น นอกจากทำผลผลิตได้สูงกว่าแล้ว ยังเป็นการใช้พื้นที่ที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิตได้ด้วย โดยเฉพาะค่าแรง ค่าไถดิน ค่าสารควบคุมวัชพืช

เก็บเกี่ยวผลผลิตตามความต้องการของตลาด

หลังจากฉีดฮอร์โมนเร่งการออกดอกไปแล้ว ประมาณ 150 วัน เรื่อยไป สับปะรดเริ่มแก่และสุก พร้อมเก็บเกี่ยวได้แล้ว ตรงนี้ขึ้นกับ 2 อย่าง ที่ต้องนำมาประกอบการเก็บผลผลิต สิ่งแรกคือ การรับซื้อจากโรงงานแปรรูป ที่ต้องการผลสับปะรดแก่และสุกระดับไหน สุกปาดเหลือง หรือสุกตลอดผล และอีกอย่างคือ ช่วงที่สับปะรดแก่สุก ในแต่ละช่วงเดือนของแต่ละปี คุณภาพสับปะรดจะแตกต่างกันได้ ทั้งหน้าหนาว หน้าแล้ง หน้าฝน จึงต้องนำมาประกอบกันด้วย เพื่อจะเก็บผลผลิตให้ได้คุณภาพดีทั้งตลาดโรงงานและตลาดผลสด

ผลผลิตสูงต่อไร่ กำไรคุ้มการลงทุน

พันธุ์ทองระยองขายผลสด

จากที่ผ่านมา สับปะรดแปลงหนึ่ง เนื้อที่ปลูก 14.5 ไร่ จำนวนต้นปลูก 120,000 ต้น คิดเป็น 8,275 ต้น ต่อไร่ ผลผลิตที่เก็บได้รวม 194.4 ตัน (194,450 กิโลกรัม) เป็นผลใหญ่ 194,250 กิโลกรัม ผลเล็ก 200 กิโลกรัม ผลผลิตเฉลี่ยต่อต้น 1.61 กิโลกรัม ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 13.38 ตัน ส่วนแปลงที่เก็บไปหมาดๆ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ในเนื้อที่ 5 ไร่ ปลูกสับปะรดไป 40,000 ต้น เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 51 ตัน (51,000 กิโลกรัม) ผลผลิตเฉลี่ยต่อต้น 1.3 กิโลกรัม ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 10.2 ตัน เป็นผลใหญ่เกือบทั้งหมด มีผลเล็กแค่ 300 กิโลกรัม เท่านั้น ส่วนราคารับซื้อของโรงงานวันที่ส่งผลผลิต อยู่ที่ 12 บาท ต่อกิโลกรัม ก็ลองคำนวณดูว่าจะเป็นเท่าไร          

เทคนิคการบริหารจัดการ

การปลูกสับปะรดเป็นอาชีพหลักนั้น ต้องมีการดูแลและปฏิบัติที่สม่ำเสมอทุกระยะ มีการวางแผนการปลูก การปฏิบัติในกิจกรรมที่ต้องดำเนินการ ซึ่งในแต่ละแปลงมีพัฒนาการของต้นสับปะรดที่แตกต่างกัน พื้นที่ปลูกสับปะรด 350 ไร่นั้น จัดว่าเป็นแปลงใหญ่มาก ต้องมีการบริหารที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา ทั้งการจัดคนงานประจำและบางโอกาสที่มีแรงงานสมทบเอาแรงกันจากของเพื่อนๆ เราต้องดูแลคนงานให้ดี ทั้งในภารกิจหน้าที่แต่ละคนระหว่างที่ทำงานในไร่สับปะรด และนอกเวลางานของแต่ละครอบครัว ต้องเอาใจใส่ทุกเรื่องที่ทำได้ จัดรางวัล/สิ่งตอบแทนกับกลุ่ม/คนที่ทำงานดี ตามลำดับผลงานในแต่ละปีไป เครื่องมืออุปกรณ์ที่ต้องใช้/ของจำเป็นต้องเตรียมให้ครบ มีสภาพพร้อมใช้งานได้ตามเวลาที่ต้องทำงาน จะแบ่งหน้าที่กันไปในแต่ละกิจกรรม เพื่อให้มีความชำนาญแต่ละด้าน งานจะไปได้เร็ว และมีคุณภาพ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ช่วยให้การบริหารจัดการไร่สับปะรดมีการดำเนินงานไปได้อย่างเป็นระบบ เรียกว่า ต้องครองคนถึงจะได้งานตามคุณภาพ เป็นประสบการณ์ที่ชาวไร่ท่านนี้นำมาใช้ จนประสบความสำเร็จของอาชีพการทำไร่สับปะรด

คุณชาญวิทย์ นับว่าเป็นเกษตรกรชั้นแนวหน้าคนหนึ่งในการประกอบอาชีพการปลูกสับปะรด รายได้จากการทำไร่สับปะรดนั้นเป็นหลักของครอบครัว ที่ทำต่อมาอย่างต่อเนื่อง สร้างฐานะของครอบครัวได้อย่างสบาย ส่งลูกได้เรียนต่อได้อย่างไม่ต้องกังวล ครอบครัวที่ช่วยกันทำมาหากิน ย่อมเป็นกำลังใจให้อย่างดี พลังใจยังมาจากบุตรอีก 2 คน ที่มีผลการเรียนที่ยอดเยี่ยมมาก ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมจนเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา โดยบุตรชายคนพี่เรียนอยู่ ปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ส่วนบุตรสาวคนน้องกำลังเข้าเรียนเตรียมวิศวกรรมไฟฟ้า ที่มหาวิทยาลัยแห่งเดียวกับพี่ชาย

คุณชาญวิทย์ วงษ์สมุทร

ในโอกาสที่ได้สัมภาษณ์เชิงลึกกับ คุณชาญวิทย์ วงษ์สมุทร ครั้งนี้ มีแต่เรื่องดีๆ มาถ่ายทอดสู่ผู้อ่าน ครั้งนี้ได้รับรู้กับสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาในการปลูกสับปะรดคุณภาพ ซึ่งจะหาข้อมูลที่นำไปปฏิบัติได้จริงไม่ง่ายนัก เพราะคนไทยไม่ชอบการขีดเขียนและจดบันทึก อีกอย่างที่ยากมากกว่าคือ จะไม่ได้รับการถ่ายทอดข้อมูลจากผู้รู้จริง ทำจริง มาเล่าประสบการณ์และกลเม็ดเคล็ดลับให้กันโดยง่าย เพราะคนไทยหวงวิชา…จริงหรือไม่ ท่านคงประสบกับตัวเองมาบ้างแล้ว

ต้องขอขอบคุณ คุณชาญวิทย์ วงษ์สมุทร เป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านมา ณ โอกาสนี้ ท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สายตรงโทร. 081-982-3776 ยังมีเรื่องราวของชาวไร่สับปะรดฝีมืออีกหลายท่าน อีกไม่นานจะเก็บมาเล่าสู่กันครับ

………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2563