มณีรักษ์ฟาร์ม ฟาร์มของเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่สิงห์บุรี

ในช่วงที่ผ่านมา เชื้อไวรัส โควิด-19 ได้ทำให้พฤติกรรมของคนเราเปลี่ยนไป ยิ่งในชีวิตประจำวันต่างก็ตื่นกลัวโรคร้าย จากพฤติกรรมที่เคยชิน ต้องอยู่อย่างหวาดระแวง ดีที่ได้บุคลากรทางการแพทย์ของเราที่เอาใจใส่ในสุขภาพของประชาชน นับเป็นที่พึ่งพิงทางใจและกายได้เพียงอย่างเดียวในยุคโรคร้ายนี้ แต่ถึงจะมีผลกระทบอย่างไร ผู้เขียนดีใจอย่างหนึ่ง เกษตรกรมีผลกระทบทางด้านอาหารไม่มากนัก

สุขภาพเป็นสิ่งสำคัญในยุคนี้ สำหรับคนที่สูงอายุและมีโรคประจำตัวควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ซึ่งเมื่อติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีโอกาสเสียชีวิตได้ง่ายกว่าคนอื่น กลุ่มคนอายุ 60-69 ปี พบว่า เป็นโรคเบาหวานสูงสุด ร้อยละ 15.9 ในผู้ชาย และร้อยละ 21.9 ในผู้หญิง ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานถึง 4.8 ล้านคน

เป็นที่น่ากังวลว่า ข้าวที่เรากินทุกวันในจำนวนที่มากกว่ากับข้าวซึ่งกลายเป็นอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง ซึ่งหมายถึงว่าข้าวสามารถเปลี่ยนเป็นน้ำตาลได้ในปริมาณสูงเมื่อกินเข้าไป ทำให้คนรักสุขภาพส่วนหนึ่งจึงพิถีพิถันในเรื่องข้าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นอาหารหลักของคนไทยเรา ว่าควรจะต้องบริโภคข้าวที่มีคุณภาพมากขึ้น เช่น ข้าวกล้อง ข้าวฮาง หรือไม่ก็เลือกบริโภคข้าวพันธุ์ที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำเสียเลย โดยไม่ต้องผ่านกรรมวิธีใดๆ ข้าวพันธุ์ กข 43 จึงเป็นทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพ

ข้าว กข 43

ข้าวพันธุ์ กข 43 ถูกคัดเลือกจากการผสมข้ามพันธุ์ลูกผสมเดี่ยวระหว่างพันธุ์ข้าวเจ้าหอมสุพรรณบุรี (พันธุ์แม่) กับพันธุ์สุพรรณบุรี 1 (พันธุ์พ่อ) ที่ศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี ในฤดูนาปรัง พ.ศ. 2542 คัดเลือกได้สายพันธุ์ SPR99007-22-1-2-2-1 ปลูกทดสอบผลผลิตในศูนย์วิจัยข้าวและในนาเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปี 2551 มีการรับรองพันธุ์ คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว พิจารณารับรองพันธุ์ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2552 ใช้ชื่อว่า ข้าวเจ้า กข-43 มีค่าดัชนีน้ำตาลแค่ 57.5

คุณธนรัชต์ เพชรรักษ์ หรือ คุณบีช แห่ง มณีรักษ์ฟาร์ม เป็นลูกชาวนาโดยกำเนิด ในท้องที่ตำบลพักทัน อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี จบการศึกษาสัตวศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิหันตรา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี 2562 นี้เอง หลังจากจบก็ไปทำงานเป็นสัตวบาลที่ฟาร์มหมู จังหวัดฉะเชิงเทรา ทำงานไม่ถึงปีก็เก็บเงินได้เกือบแสน จึงได้ลาออกมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว โดยนำเงินส่วนหนึ่งไปขุดโคกหนอกรวมเป็นพื้นที่ 3 ไร่ และคิดว่า จะต้องเอาเงินไปทำอะไรให้ได้เงินคืนมาเร็วที่สุด จึงมาเริ่มต้นที่เห็ดนางฟ้า จึงคิดทำโรงเห็ดไว้ 2 โรง ขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร ซื้อเห็ดภูฏานมา 500 ก้อน ราคาก้อนละ 8 บาท ใช้เวลา 7 วัน ก็เริ่มเก็บดอกเห็ดได้แล้ว นำไปขายที่ตลาดเกษตรจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งอยู่ในอำเภอเมือง เปิดขายเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึงเที่ยง

เพาะเห็ดนางฟ้า
คุณบีช หรือ คุณธนรัชต์ เพชรรักษ์

ช่วงแรกผักที่ปลูกก็มี ผักสลัด ผักบุ้ง ผักกาดขาว คะน้า กวางตุ้ง พริก มะเขือเทศ บวบ แตงกวา ถั่วฝักยาว มะเขือยาว มะเขือเปราะ มะระจีน ชะอม และดอกสลิด ซึ่งเป็นผักที่วางแผนปลูกไว้ตั้งแต่ก่อนจะลาออกจากงาน โดยมอบหมายให้พี่ชายเป็นผู้ดูแล เมื่อลาออกมาผลผลิตก็สามารถสร้างรายได้ได้ทันที รวมถึงไก่ไข่ที่ซื้อไก่สาวมาเตรียมไว้ รวม 50 ตัว ใช้ผักที่ตัดแต่งออกมาก่อนนำไปขายมาเป็นอาหารเสริม

ส่วนอาหารหลักเป็นข้าวเปลือก รำหยาบ รำละเอียด ปลายข้าว ซึ่งมีอยู่แล้วในฟาร์ม นำมาผสมเป็นอาหารให้ไก่ รวมถึงอาหารเสริม เช่น หยวกกล้วยสับหมักกากน้ำตาลและผลไม้สุกที่อยู่ในสวน ไข่ที่ได้จึงมีสีแดงกว่าเลี้ยงด้วยอาหารไก่สำเร็จรูป แต่จะมีเปอร์เซ็นต์ไข่ที่ประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เลี้ยงไก่กินผัก

การเลี้ยงไก่ไข่ปล่อยลานจะมีข้อดีที่อายุไข่จะนานกว่าไก่กรงตับ และมีรสชาติดีกว่า ขายปลีกฟองละ 4 บาท เนื่องจากถือเป็นอาหารสุขภาพ จึงเป็นที่ต้องการ ทำให้ปัจจุบันต้องเพิ่มปริมาณการเลี้ยงไก่ไข่เป็น 150 ตัว ซึ่งเพียงพอสำหรับปริมาณผลพลอยได้จากข้าวที่สีพอดี นอกจากไปจำหน่ายที่ตลาดนัดเกษตรแล้ว ชาวบ้านละแวกนั้นที่มั่นใจในคุณภาพไข่ไก่ของฟาร์มก็จะมาซื้อหาถึงที่

ทางหน่วยราชการโดยเกษตรจังหวัดได้ติดต่อมาให้นำไปจำหน่ายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตในเมืองสิงห์บุรี โดยส่งผักสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยจะบอกล่วงหน้า 3 วัน นาส่วนที่เหลือในปัจจุบัน ทำนาปีละ 2 ครั้ง แบ่งเป็นข้าวหอมมะลิ กับข้าวพันธุ์ กข 43 หลังจากชักน้ำเข้านาจนเป็นตมแล้ว ก็จะใช้ที่หยอดข้าวลากเอาเอง วันหนึ่งจะลากได้วันละ 4 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่แช่ไว้แค่ 24 ชั่วโมง ต่อไร่ จะใช้พันธุ์ข้าวประมาณ 8-10 กิโลกรัม

ข้าว กข 43 จะใช้เวลาจนถึงเก็บกี่ยว 95 วัน ส่วนข้าวหอมมะลิ จะใช้เวลา 120 วัน ผลผลิตข้าวเปลือกต่อไร่ประมาณ 600 กิโลกรัม หลังจากสีแล้วจะเหลือ 70 เปอร์เซ็นต์ คือ 420 กิโลกรัมข้าวสาร ที่ปลูกข้าว กข 43 เนื่องจากมีงานวิจัยของโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และกองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว โดยคัดเลือกจากพันธุ์ข้าวในประเทศไทย พบว่า ข้าวพันธุ์ กข 43 มีปริมาณน้ำตาลกลูโคสต่ำกว่าข้าวชนิดอื่นๆ จึงเหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน

ใช้เมล็ดพันธุ์ของกรมการข้าว
ทำร่องเอง

ข้าวในภาคกลางส่วนใหญ่จะปลูกข้าวพันธุ์หอมปทุม สำหรับป้อนโรงสีในแถบนี้ ซึ่งเน้นปริมาณเป็นสำคัญ การปลูกข้าว กข 43 จึงมีปริมาณน้อยมาก พันธุ์ข้าว กข 43 ดังกล่าว ซื้อมาจากศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี ซึ่งมีมาตรฐานเชื่อถือได้ ว่าได้พันธุ์ข้าวแท้แน่นอน และมณีรักษ์ฟาร์มเห็นว่าการปลูกข้าว กข 43 นี้ สามารถนำมาแปรรูปและขายเป็นผลิตภัณฑ์ได้ เนื่องจากมีคนปลูกน้อย

ส่วนราชการได้สนับสนุนให้ มณีรักษ์ฟาร์ม เป็นโรงสีขนาดเล็ก ที่รับสีข้าวจากเกษตรกร ซึ่งมีอุปกรณ์เครื่องสี เครื่องคัด เครื่องอบ ครบถ้วน ข้าวจะถูกอบจนเหลือความชื้นเหมาะสมสำหรับสีก่อน เครื่องสีของฟาร์มสามารถปรับเป็นข้าวกล้องหรือข้าวขาว ค่าสีจะคิดราคา 15 บาท จากข้าวเปลือก 10 กิโลกรัม

สีข้าวเอง

ผลพลอยได้จากการสี เช่น ปลายข้าว รำ แกลบ ได้นำมาใช้ในสวนอย่างพอเพียง ชาวนาส่วนใหญ่ปัจจุบันจะปลูกข้าวหอมปทุมทั้งหมด เมื่อเกี่ยวข้าวแล้วก็จะขายเข้าโรงสีทั้งหมด แล้วซื้อข้าวกิน

ปลูกเอง สีเอง นักเลงพอ

เมื่อข้าวที่ปลูกของมณีรักษ์ฟาร์ม พร้อมเก็บเกี่ยวก็จะใช้รถเกี่ยวเหมือนปกติทั่วไป เมื่อนำมาคัดสิ่งเจือปนออกหมด ก็จะอบให้แห้งบรรจุถุงพลาสติก ถุงละ 25 กิโลกรัม เก็บไว้ในยุ้งฉาง แล้วค่อยนำมาสีสัปดาห์ละครั้ง ตามจำนวนที่คาดว่าจะจำหน่ายได้ และตามลูกค้าสั่ง ข้าวสารที่จำหน่ายจะมีทั้ง ข้าว กข 43 และข้าวหอมมะลิ เป็นทั้งข้าวกล้องและข้าวขาว ข้าว กข 43 ทั้งข้าวขาวและข้าวกล้อง จำหน่ายราคากิโลกรัมละ 70 บาท

ส่วนข้าวหอมมะลิทั้งข้าวขาวและข้าวกล้อง จำหน่ายกิโลกรัมละ 40 บาท ผลิตภัณฑ์ของฟาร์มฯ สามารถจำหน่ายได้ตลอดปี โดยแต่ละปีสามารถผลิตข้าวได้ 4 ตัน ซึ่งจำหน่าย 3 ช่องทาง คือ ตลาดเกษตรสิงห์บุรี ท็อปส์ซุปเปอร์มาร์เก็ตสิงห์บุรี และจำหน่ายทางออนไลน์ โดยผู้ซื้อเป็นผู้ออกค่าขนส่ง

ปลูกผักในมุ้ง

ส่วนผักต่างๆ ปัจจุบัน ส่วนหนึ่งได้ปลูกในโรงเรือนกางมุ้ง ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 20 เมตร ส่วนใหญ่จะปลูกผักใบ เช่น ผักกาดขาว กวางตุ้ง คะน้า เพื่อหลีกเลี่ยงแมลงศัตรูพืช และไม่ได้ใช้สารเคมีใดๆ จะเน้นการใช้น้ำหมักชีวภาพ เช่น ปุ๋ยน้ำหมักปลา ซึ่งได้จากเศษปลาในตลาด ใช้เนื้อปลา 1 ส่วน กากน้ำตาล 1 ส่วน และ น้ำ 1 ส่วน หมักด้วย พด.2 เพื่อเร่งย่อย

ช่วงแรกจะต้องคนทุกวัน และไม่ต้องปิดฝาให้สนิทมาก เมื่อครบสัปดาห์ค่อยปิดฝา ถ้ามีแมลงวันมาไข่ใส่เป็นหนอนก็ไม่เป็นไร ต้องหมั่นคนเรื่อยๆ จนครบเวลา 4 เดือน จึงจะนำมาใช้ได้ ปุ๋ยปลาที่หมักได้ดีแล้วจะมีกลิ่นหอมแบบปลาร้า ใช้ในอัตราส่วน 50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ใช้ฉีดพ่นทางใบและราดดินก่อนปลูก

ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ

นอกจากนี้ จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงก็ใช้ฉีดอย่างต่อเนื่อง ฉีดสลับกับน้ำหมักปุ๋ยปลา คนละสัปดาห์ ส่วนปุ๋ยหมักจะใช้มูลวัวกับมูลไก่ แกลบ มาหมักให้ได้ที่ก่อนใส่ทั้งผักและผลไม้ อีกส่วนที่เป็นน้ำจะเลี้ยงปลาสวาย ปลาตะเพียน ปลาสลิด ปลานิล ปลาแรด เอาไว้กินเอง ที่เหลือจึงจับขายเป็นรายได้เสริม

คุณบีช กล่าวว่า ที่มณีรักษ์ฟาร์ม เป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีทั้งพืชและสัตว์ที่เกื้อกูลกัน และเป็นการกระจายความเสี่ยงตามแนวหลักเศรษฐกิจพอเพียง ใครที่อยากทำเกษตรต้องมีใจรักก่อน การทำเกษตรต้องมีความอดทน คนที่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากล้มเลิกกลางคัน เกษตรเหมือนจะทำง่าย แต่จริงๆ แล้วยาก เพราะต้องอดทน นอกจากอดทนต่อความลำบาก รายได้ แล้วยังต้องทนต่อคำพูดและสายตาชาวบ้านที่คุ้นเคยกับการทำการเกษตรแบบเดิมอีกด้วย สนใจผลิตภัณฑ์ ข้าว กข 43 ติดต่อ โทรศัพท์ 097-936-7035 หรือ เฟซบุ๊ก มณีรักษ์ฟาร์ม  

ทุ่งสีเขียวทอง