ผอ. วีระพร จำปาอ่อน คนเมืองเลย ปลูกแก้วมังกรเงินล้าน ที่ผาขาว

ในบรรดาคนเกษตรที่เทคโนโลยีชาวบ้านได้สัมผัสมา ผอ. วีระพร จำปาอ่อน คือผู้ที่ประสบความสำเร็จในวิชาชีพมากที่สุดคนหนึ่ง เส้นทางเดินของท่าน มีขั้นมีตอน มีแผน ทำให้ประสบความสำเร็จทางด้านการศึกษา หน้าที่การงาน และที่กำลังสนุกสนานอยู่ในปัจจุบันนี้คือ งานเกษตรหลังเกษียณ ปลูกแก้วมังกร ไม่ได้ทำกันในวงเงินหลักหมื่นหลักแสน แต่ว่ากันปีละเป็นล้านบาท

ผอ. วีระพร-อาจารย์เสาวนิตย์ จำปาอ่อน

รักและชอบการเกษตร

ผอ. วีระพร จำปาอ่อน เป็นคนอำเภอเมืองเลย บ้านเกิดอยู่ตรง กม.0 บริเวณนั้นรู้จักกันดี คือที่ตั้งของแขวงการทาง หากเลี้ยวซ้ายไปอำเภอภูเรือ ด่านซ้าย นาแห้ว รวมทั้งเชื่อมโยงไปเพชรบูรณ์ พิษณุโลก เลี้ยวขวาก็แหล่งท่องเที่ยวสุดฮิต เชียงคาน ต่อไปถึงหนองคายได้

จังหวัดเลย ได้ชื่อว่า เป็นจังหวัดที่อุดมไปด้วยธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพร นอกจากสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติแล้ว เรื่องการเกษตรก็มีชื่อเสียงต่อเนื่องมาทุกยุคทุกสมัย มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะ ยุคก่อนๆ ฝ้ายดัง หลังๆมะขามหวานมีมาก ถึงแม้ไม่สร้างชื่อเท่ากับจังหวัดอื่น แต่สร้างเงินให้กับเกษตรกรไม่น้อย เพราะมีพื้นที่ปลูกมากกว่าจังหวัดข้างเคียง ทุกวันนี้ที่อื่นมี จังหวัดเลยมีครบ ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา มะม่วง เงาะ ทุเรียน ฯลฯ

“ทำแก้วมังกร จะใส่อะไรก็แล้วแต่ ไม่สู้ใส่ใจ…”

เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทางบ้านสนับสนุนให้ ผอ. วีระพร ไปสอบครู ปกศ. ที่วิทยาลัยครูอุดรธานี ซึ่งก็สอบได้ที่ 12 ขณะเดียวกัน เขาก็เดินทางไปสอบเรียนต่อที่วิทยาลัยเกษตรกรรมจันทบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านราว 800 กิโลเมตร คุณพ่อที่ไปส่งลูกชายสอบ บอกว่า “มาเที่ยวนะลูก” เพราะอยากให้ลูกชายเรียนครูมากกว่า ผอ. วีระพรไม่ได้ปฏิเสธอาชีพครู แต่หลงใหลงานเกษตร รวมทั้งการเรียนที่เป็นวิถีของลูกผู้ชายซึ่งได้รับความนิยมในยุคนั้นมากคือ “เรียนเกษตร”

ระยะเวลา 5 ปี ตามหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ของเกษตรจันทบุรี หรือนิคเนมว่า “เกษตรกระทิง” ได้บ่มเพาะ ผอ. วีระพร ให้ครบเครื่อง สามารถออกมาดำเนินชีวิตได้อย่างสบาย ไม่ว่าจะทำงานกับระบบไหน

ตาที่เหมาะป้ายสารให้ออกนอกฤดู

หน้าที่ไม่บกพร่อง

กับความก้าวหน้า ระดับ ซี 9

หลังเรียนจบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงในขณะนั้น ซึ่งอยู่ราวปี 2523 สามารถทำงานได้หลากหลาย ที่นิยมมากคือ เป็นเกษตรตำบล ขี่มอเตอร์ไซค์ซูซูกิเอ 100 รถหลวง หรืออาจจะเป็นรถมอเตอร์ไซค์วิบากซื้อเอง ตระเวนไปพบปะชาวบ้าน ถือว่าเป็นงานในอุดมคติของคนหนุ่มไฟแรง ผอ. วีระพร ชอบแนวทางนี้ แต่พรหมอาจจะลิขิตต้องให้มาเป็นครูบาอาจารย์ เพราะช่วงนั้นเปิดรับสมัครครูมัธยม ผอ. จึงสอบบรรจุ เป็นครูมัธยมในท้องถิ่น ย้ายไปมา 2-3 แห่ง ขณะเดียวกันก็เรียนต่อระดับปริญญาตรีทางด้านอุตสาหกรรมก่อสร้าง ปริญญาโททางด้านบริหารการศึกษา ตำแหน่งสุดท้ายที่รับราชการอยู่คือ ผู้อำนวยการโรงเรียนเหมืองแบ่งวิทยาคม เป็นผู้บริหาร ระดับ ซี 9 ขณะทำงานก็ทำเกษตรไปด้วย…ก่อนเกษียณไม่นานนัก ผอ. ลาออกมาทำเกษตรอย่างจริงจัง

ออกดอกดีมาก

เตรียมตัวทำเกษตรมานาน

ปัจจุบัน ผอ. วีระพร อยู่บ้านเลขที่ 70 หมู่ที่ 5 ตำบลผาขาว อำเภอผาขาว จังหวัดเลย ภรรยาคู่ชีวิตคือ อาจารย์เสาวนิตย์ จำปาอ่อน เป็นอดีตข้าราชการครูเช่นกัน

บ้านของ ผอ. อยู่ติดถนน ด้านหลังบ้านเป็นสวน รวมพื้นที่ 50 ไร่ การเดินทางเข้าไปยังสวนแห่งนี้ไม่ยุ่งยาก หากไปจากทางอำเภอภูกระดึง มุ่งสู่อำเภอวังสะพุงและตัวเมืองเลย จะถึงแยกตาดข่า ถึงสามแยกเลี้ยวขวา สู่อำเภอผาขาว ก่อนถึงตัวอำเภอ เป็นที่ตั้งของบ้านหนองฝาย ขวามือ มีรั้วคอนกรีต บ้านหลังใหญ่มาก นั่นแหละบ้านของ ผอ.วีระพร

สร้างงานทำเงิน

การเดินทางไปสัมภาษณ์ ท่าน ผอ. มีโครงการตั้งปีกว่าแล้ว แต่หาโอกาสยาก ครั้นเมื่อไปถึง เรื่องแรกที่พูดคุย คือเรื่องราวในอดีต ซึ่งสนุกสนาน ตื่นเต้น หากพูดคุยกันจริงๆ คงเป็นวันถึงจะจบ แต่เพราะต้องเดินทางต่อ จึงเข้าเรื่องอาชีพเกษตรของท่าน

ผอ. เล่าว่า การเตรียมตัวทำเกษตรนั้น ต้องเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ สำหรับคนทำงานประจำ สิ่งแรกที่ต้องเตรียมคือเงิน ต้องเก็บเงินที่ได้จากเงินเดือน ส่วนความรู้ นอกจากความรู้พื้นฐานที่เรียนมาจริงๆ จังๆ ถึง 5 ปีแล้ว ต้องเรียนรู้ตามแหล่งต่างๆ เช่น อ่านหนังสือ ดูทีวี ปัจจุบัน ก็อินเตอร์เน็ต แต่ที่สำคัญไม่น้อยคือการตระเวนไปตามสวนที่ประสบความสำเร็จ ไปสอบถามตามสวนเพื่อนฝูง

สภาพพื้นที่ปลูก

ผอ. วีระพร เริ่มงานเกษตรตั้งแต่สมัยเป็นหนุ่มแน่น สำหรับที่ดินแปลงที่ทำเกษตรอยู่ เป็นมรดกจากฝ่ายอาจารย์เสาวนิตย์

ที่ดินดังกล่าว มีมะขามหวานขึ้นอยู่ รายได้จากมะขามหวานพอมี ต่อมา ผอ. ได้เริ่มปลูกส้มโชกุน จำนวน 20 ไร่ 800 ต้น ผลผลิตออกมาช่วงแรกขายได้ราคาดี แต่ระยะหลังส้มฝางมาตีตลาด ประกอบกับต้นส้มอายุมากขึ้น จึงเปลี่ยนมาปลูกลำไย ถือว่างานปลูกลำไยประสบความสำเร็จ แต่การราดสาร ทำให้ต้นโทรมเร็ว จึงขยับมาปลูกแก้วมังกร

ปีนี้ (2563) แก้วมังกรอายุได้ 4 ปี

กิจกรรมหลายอย่างที่ ผอ. วีระพร ทำล้วนแล้วแต่ประสบความสำเร็จ สร้างงานทำเงินทั้งนั้น แต่ที่ต้องเปลี่ยนเพราะอายุการใช้งานของต้นไม้สิ้นสุดลง พร้อมกับพบทางเลือกที่น่าสนใจกว่า

คัดผลผลิต

มั่นใจแก้วมังกร

พันธุ์แก้วมังกรที่ปลูกเป็นพันธุ์เวียดนาม ตลาดต้องการ ส่วนพันธุ์สีแดงและสีเหลือง ขายจำนวนมากๆ ไม่ได้

“ไปเลาะแถวด่านซ้าย ภูเรือ เกษตรที่สูง เห็นเขาปลูกแก้วมังกร มีรถคอนเทนเนอร์ ไปรับถึงสวน กิโลกรัมละ 25 บาท จึงมีความมั่นใจ ช่วงเปลี่ยนทำเกษตรโดยปลูกพืชใหม่ พืชหลักยังไม่ให้ผลผลิต ก็ปลูกผัก อย่าง แตงกวา ถั่วฝักยาว มีผลผลิตตื่นตี 2 เอาไปส่งที่ตลาดอำเภอหนองหิน ช่วงนั้นสอนอยู่หนองหิน จากนั้นกลับมานอน 7 โมงเช้าก็ตื่นไปสอนหนังสือ บางทีไปส่งผักก็ยังเจอเพื่อนอาจารย์ด้วยกันที่มาจ่ายตลาด…แฟนผมคนในเมือง ส่วนใหญ่วัยเรียนเขาเรียนกรุงเทพฯ ในแปลงอาจจะไม่ช่วย แต่เขาก็ชอบ มาดูเรื่องการขาย การตลาด” ผอ. เล่าถึงการทำงาน ซึ่งต้องใช้ความขยันหมั่นเพียร ไม่ปล่อยที่ดินให้เปล่าประโยชน์

ผลผลิตคุณภาพ

แก้วมังกร จะให้ผลผลิตหลังปลูก 8 เดือน เจ้าของปลูกชุดแรก 2,000 หลัก หลังปลูก 8 เดือน ให้ผลผลิต ปีแรกเก็บผลได้ 3 แสนบาท ปีที่สอง 7 แสนบาท ปีที่สาม 1 ล้านบาท ปีที่สี่คือปีนี้ จะได้มากกว่า 1 ล้านบาท อย่างแน่นอน เพราะชุดหลังที่ลงเพิ่ม 2,000 หลัก รวมเป็น 4,000 หลัก เริ่มให้ผลผลิตเพิ่มแล้ว

ถาม ผอ. ว่า แก้วมังกร มีอายุกี่ปี คำตอบที่ได้คือ…“25 ปี ถ้าดูแลดี แต่หากดูแลไม่ดี ปีเดียวก็อาจจะต้องโละทิ้ง”

แก้วมังกรที่นี่ ปลูกระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 3 คูณ 3 เมตร ต้นหนึ่งหรือหลักหนึ่ง ใช้พันธุ์ปลูก 4 ต้น รวมแล้วต้นทุนต่อหลัก ประมาณ 120 บาท ระบบน้ำใช้แบบมินิสปริงเกลอร์ ราคาไม่แพง สิ่งสำคัญคือ หลักที่ปลูกต้องขุดหลุมฝังเสาให้ลึก 60 เซนติเมตร จึงจะแข็งแรง

ผลผลิตแก้วมังกรจะออกสู่ตลาดในฤดูคือเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ราคาที่ขายได้สูงสุดคือ ต้นฤดู กิโลกรัมละ 32 บาท ส่วนช่วงผลผลิตมีมากเดือนสิงหาคม กิโลกรัมละ 13 บาท ตั้งแต่ดอกบานจนเก็บผลผลิตได้ 50-55 วัน ส่วนผลผลิตนอกฤดู มีผลผลิตออกเดือนธันวาคม ขายได้ราคาสูงเช่นกัน

ผลผลิตต่อหลักที่เก็บได้ ประมาณ 50 กิโลกรัม ต่อปี โดยที่ปีหนึ่ง แก้วมังกรทยอยออกดอก ทำให้เก็บผลได้ 12-15 ครั้ง ต่อปี

ผู้ซื้อมารับถึงสวน

ศัตรูสำคัญ

ทราบเรื่องราวของ ผอ. วีระพร แล้ว เหมือนจะหยิบเงินล้านได้ง่ายๆ แต่ ผอ. บอกว่า ต้องดูแลอย่างดี ไม่เช่นนั้นอาจจะต้องหยุดปลูกเหมือนอย่างทางจันทบุรี จริงๆ แล้ว ผอ. บอกว่า เป็นการล่มสลายด้วยซ้ำไป สาเหตุเกิดจากศัตรูพืชระบาดนั่นเอง

ศัตรูที่สำคัญของแก้วมังกรแบ่งได้ ดังนี้

เริ่มจากโรค

  1. โรคแคงเกอร์ พบที่ผลและต้น
  2. โรคแอนแทรกโนส พบที่ผลและต้น
  3. โรคราสนิม

แมลงก็พบคือ

  1. หนอน
  2. เพลี้ยไฟ

การป้องกันกำจัด ต้องใช้สารเคมี ในที่นี้ไม่ขอเอ่ยนาม เพราะบางตัวเป็นชื่อการค้า บางช่วงหากมีการระบาดของศัตรูพืช ต้องตั้งโปรแกรมป้องกันกำจัดกัน 2 สัปดาห์ พ่นสารกันครั้งหนึ่งถึงจะเอาอยู่ สารป้องกันกำจัดที่ใช้นั้น บางครั้งไม่สามารถกำจัดศัตรูได้ ต้องใช้ชนิดพิเศษ ปัจจุบัน ผอ. มีทีมงานช่วยทำสวนอยู่ 2 คน แต่จะมีทีมเฉพาะกิจจากภายนอกมาพ่นสารเคมีให้ต่างหาก ส่วนงานเก็บผลผลิต ผู้ซื้อจะมีทีมงานมาเอง โดยใช้คนจำนวนมาก

ผอ. เน้นมากว่า การกำหนดทิศทางการป้องกันกำจัดศัตรูพืชสำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวบ่งบอกความสำเร็จหรือล้มเหลวได้

“ปีที่แล้วเกือบไม่รอด ดูแลยากมาก โดยเฉพาะ โรคราสนิม…เรื่องน้ำ หากฝนไม่ตก 3 วัน ให้ครั้งหนึ่ง หน้าฝนไม่ต้องให้” ผอ. บอก

เก็บผลผลิตได้แล้วหลักนี้

 

ทำนอกฤดูได้เงินดี

ผลผลิตแก้วมังกรในฤดู เก็บหมดช่วงเดือนพฤศจิกายน

เจ้าของแนะนำการดูแลหลังเก็บผลผลิต ดังนี้

เริ่มจากตัดแต่งกิ่งออก 70 เปอร์เซ็นต์ จากนั้นใส่ปุ๋ยขี้ไก่ให้ 30 กิโลกรัม ต่อหลัก พร้อมทั้งปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ต้นละ 3 กำมือ จะช่วยให้ต้นแตกใบอ่อนเร็วขึ้น

ต้นเดือนมกราคม ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ผสมกับสูตร 8-24-24 จำนวน 3 กำมือ เป็นการเตรียมต้น

ปลายเดือนมกราคมหรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ ให้ปุ๋ยทางใบเป็นการเปิดตาดอก สูตร 0-54-63 บวกกรดอะมิโน ปลายเดือนมีนาคม ต้นก็จะออกดอก เก็บได้เดือนพฤษภาคม ช่วงมีผล ใส่ปุ๋ยปรับปรุงคุณภาพผลผลิต 15-15-15 หรือตัวหลังสูง อย่าง 14-3-36

ตาพร้อมออกดอก

“การออกดอกติดผลของแก้วมังกร มีปัจจัยเกี่ยวข้องคือ ความชื้นบริเวณสวน…ความสมบูรณ์ของต้น-ตาดอก และแสง แก้วมังกรเป็นพืชวันยาว หรือ long day plant ต้องการแสง 12 ชั่วโมง สำหรับการออกดอก” ผอ. อธิบาย

การเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายช่วงเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน ถือว่าเป็นผลผลิตปกติ แต่ที่สวนของ ผอ.วีระพร มีผลผลิตจำหน่ายช่วงเดือนธันวาคม เป็นผลผลิตนอกฤดู โดยใช้สารแต้มที่ตาของแก้วมังกรเดือนตุลาคม

แก้วมังกร 1 หลัก อาจจะมีกิ่งก้าน 20-30 กิ่ง แต่ไม่สามารถแต้มได้ทุกกิ่ง เพราะบางกิ่งให้ผลผลิตในฤดู ผ่านการทำงานมาหนักแล้ว

กิ่งที่ควรแต้มสารเพื่อให้ออกนอกฤดูมี ดังนี้

  1. เป็นกิ่งที่มีตาบวมเป่ง
  2. หนามงุ้มเข้าหากัน
  3. กิ่งเขียวสมบูรณ์

ในกิ่งหนึ่งไม่ควรแต้มเกิน 3 ตา หากแต้มมาก ติดผลมาก ผลจะมีขนาดเล็ก ขายไม่ได้ราคา หลังแต้มไป 3 วัน จะรู้ผลว่าติดไม่ติด แต่หากกิ่งหรือต้นมีความสมบูรณ์ จะติดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ปีที่แล้ว ที่สวน ผอ. ผลิตแก้วมังกรนอกฤดูกว่า 10 ตัน

ร่องรอยของการตัดแต่งกิ่ง

การตลาดสำคัญ

การซื้อขายนั้น ได้รับการบอกเล่าว่า มีผู้ซื้อมาจ่ออยู่ตลอดเวลา เขามารับไปส่งห้าง บางส่วนคัดส่งต่างประเทศ เดิมมาซื้อหลายราย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ คนนั้นได้มากคนนี้ได้น้อย จึงลดเหลือเพียงรายเดียว ซึ่งการเก็บเกี่ยวผู้ซื้อเตรียมคนมาพร้อม เป็นทีมงานที่ทำงานรวดเร็วมีประสิทธิภาพมาก

ผอ. วีระพร บอกว่า การตลาดสำคัญมากสำหรับแก้วมังกร เพราะผลผลิตออกห่างจากคนอื่นเพียงสัปดาห์เดียวก็มีความหมาย อย่างที่อำเภอด่านซ้าย เขาเก็บผลผลิต วันที่ 17-18 มิถุนายน 2563 แต่ของ ผอ. เก็บได้ วันที่ 13-14 มิถุนายน 2563 ราคาจะต่างกันมาก การที่จะได้มาซึ่งข้อมูล อยู่ที่การสอบถามพูดคุย รวมทั้งการตระเวนเยี่ยมเยือนผู้มีอาชีพเดียวกัน เมื่อมีข้อมูล สามารถสั่งให้แก้วมังกรออกดอกได้ การสั่งคือ การให้ปุ๋ย การเปิดตาดอก

“แก้วมังกร เป็นพืชมหัศจรรย์ถ้าทำได้ แต่ต้องขยัน เพราะมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ไม่มีวินัยเรื่องการพ่นสารจบเลย…ทำแก้วมังกรจะใส่อะไรก็แล้วแต่ ไม่สู้ใส่ใจ…ดูแลเขาดี ก็จะให้ผลตอบแทนที่ดี สำหรับคนที่มีงานประจำอยากทำเกษตร ควรทำก่อนเกษียณ เริ่ม 60 ปีช้าไป เริ่มอย่างน้อย 55 ปี เกษียณออกมาเก็บผลผลิตขายได้เลย”ผอ. ให้คำแนะนำ

ผู้สนใจซื้อผลผลิต หรือสอบถามเพิ่มเติมเรื่องสารเคมี ถาม ผอ. ได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ 089-840-1825 หรือที่ FB:วีระพร จำปาอ่อน

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………

ปัจจัยสำคัญต่อการออกดอกของแก้วมังกร

  1. ความชื้น…แก้วมังกร ออกดอกได้ดีที่ความชื้น 75 เปอร์เซ็นต์
  2. แสง…แสงควรมีความยาว 12 ชั่วโมง ต่อวัน ในช่วงนั้น คือมีแสงตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น
  3. ความสมบูรณ์ของต้นและตาดอก สิ่งสำคัญคือ การให้อาหาร ซึ่งก็คือ ปุ๋ย นั่นเอง

การทำนอกฤดู ที่สวน ผอ. วีระพร จำปาอ่อน ใช้สารแต้มที่ตา ต้นทุนต่ำมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้นต้องสมบูรณ์เต็มที่ จึงจะประสบความสำเร็จ

…………………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2563


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354