ชายวัยเกษียณใช้เวลาว่างหลังเกษียณ เลี้ยงปลาเผาะในกระชัง สร้างรายได้ดี

ลุงพันธ์ อ่อนมณี อยู่บ้านเลขที่ 81/1 หมู่ที่ 1 ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม อีกหนึ่งเกษตรกร ผู้หาเวลาว่างหลังเกษียณ เลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำโขง สร้างรายได้เช่นเดียวกัน ลุงพันธ์ ชายผู้มีอัธยาศัยยิ้มแย้มวัย 72 ปี เล่าให้ฟังว่า ก่อนริเริ่มทำการเลี้ยงปลาเผาะในกระชัง ก่อนหน้านี้มีอาชีพรับราชการ

“เมื่อก่อนลุงเป็นครู พอหลังเกษียณมา ก็ไม่อยากอยู่เฉยๆ ก็เลยหาอะไรทำ เพราะช่วงนั้นแถวบ้านก็มีคนทำก่อนแล้ว ลุงก็เห็นว่า เขาก็พอได้อยู่ได้กินมีรายได้ เพราะว่าเดี๋ยวนี้มันไม่เหมือนเมื่อก่อน เพราะว่าปลาธรรมชาติมันไม่ค่อยมีแล้ว มันหายาก ก็เลยมาลองเลี้ยงดู 2 กระชัง มันก็ได้ผลดี โตดีขายได้” ลุงพันธ์ เล่าถึงความเป็นมาของชีวิตหลังวัยเกษียณ

ลุงพันธ์ อ่อนมณี และภรรยา

 

ประมาณปี 2543 ที่เริ่มทดลองเลี้ยง ลุงพันธ์ได้เรียนรู้ด้วยตนเอง พร้อมทั้งศึกษาข้อมูลจากประมงจังหวัด ทำให้ปลาเผาะที่ลุงพันธ์เลี้ยง สามารถสร้างรายได้ให้กับลุงได้เป็นอย่างดี ต่อมาจึงขยายการเลี้ยงออกไปเรื่อยๆ ทำให้ปัจจุบัน ลุงพันธ์มีปลาเผาะที่เลี้ยงในกระชังมากกว่า 20 กระชัง

ลุงพันธ์ บอกว่า ปลาเผาะที่เลี้ยง มีทั้งปลาเผาะพันธุ์แท้ และปลาเผาะพันธุ์ลูกผสม ซึ่งลูกปลาทางกรมประมงเป็นผู้ผสมพันธุ์ให้กับเกษตรกร เพราะในพื้นที่นี้ สำหรับเกษตรกรการผสมพันธุ์นับว่าเป็นเรื่องยาก สิ่งที่เกษตรกรทำได้ดีที่สุดคือ การนำพ่อแม่พันธุ์ที่เลี้ยงส่งให้ทางกรมประมงขยายพันธุ์

แมลงชีปะขาวตากแห้ง

ในขั้นตอนแรกนำปลาเผาะขนาดไซซ์ ประมาณ 1-2 นิ้ว มาใส่ในกระชังขนาด 2×4 เมตร ลึก 1.80 เมตร ปล่อยลูกปลาประมาณ 2,000 ตัว ต่อกระชัง

“ปลาเผาะที่นำมาปล่อยในระยะนี้ ให้กินอาหารที่มีโปรตีนประมาณ 32 เปอร์เซ็นต์ พอครบ 2 เดือน เปอร์เซ็นต์โปรตีนเราก็เปลี่ยนอีก เป็นอาหารที่มีโปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์ พอครบอีก 2 เดือน คราวนี้ก็ให้กินอาหารที่มีโปรตีน 25 เปอร์เซ็นต์เรื่อยๆ เลย ให้กินเช้าเย็น” ลุงพันธ์ อธิบายการให้อาหารปลา

ปลาเผาะที่เลี้ยงในกระชัง เมื่อได้อายุประมาณ 4-5 เดือน ลุงพันธ์ บอกว่า จะทำการคัดแยกอีกครั้ง โดยตัวที่มีขนาดใหญ่เท่าๆ กัน จะนำไปแยกลงในกระชังขนาด 3×4 เมตร ลึก 1.80 เมตร เลี้ยง 500-600 ตัว ต่อกระชัง ให้อาหารเช้าและเย็น สลับกับอาหารเสริมที่ลุงทำเอง

อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของชีปะขาว

การดูแลเรื่องโรคของปลาเผาะที่เลี้ยงคือ ตัวบวมและเป็นแผลที่ลำตัว

“โรคที่เจอนี่ไม่บ่อยนะ นานๆ เป็น เราก็จะแก้ด้วยยาปฏิชีวนะ ผสมกับอาหารให้ปลากิน บางทีก็ต้องหว่านปูนขาวด้วย พวกนี้จะแก้ตอนที่ปลาเราเกิดโรค ไม่เป็นก็ไม่จำเป็นต้องใส่ เพราะว่าโรคที่เป็นหลังจากให้ยาปฏิชีวนะ ประมาณ 1 อาทิตย์ เดี๋ยวปลาก็หาย” ลุงพันธ์ เล่าวิธีการป้องกันโรค

ปลาเผาะที่เลี้ยงภายในกระชังในแม่น้ำโขง ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 1 ปีเต็มๆ ปลาจึงจะมีขนาดไซซ์ที่พอเหมาะและรสชาติดี จึงพร้อมสำหรับขาย

ปลาเผาะพันธุ์แท้

“ลุงก็จะวางแผนการเลี้ยง โดยเอาปลาโมงมาปล่อยในกระชัง ก็ไม่ปล่อยพร้อมกัน ลุงมี 22 กระชัง ก็ค่อยๆ ปล่อยเลี้ยง ขายเดือนละกระชัง ก็เท่ากับว่าใน 1 ปี ลุงมีปลาขายตลอดทั้งปี เพราะบางทีแต่ละกระชังโตไม่เท่ากัน เราก็คัดขายได้เรื่อยๆ ปลาที่ลุงเลี้ยงก็มีส่งขายตลอด ไม่ขาดช่วง” ลุงพันธ์ เล่าถึงการวางแผนการเลี้ยง

ลุงพันธ์ เล่าให้ฟังอีกว่า ในแต่ละช่วงของปี แถวบ้านที่ลุงอยู่ จะมีแมลงชีปะขาวออกมาบินไปทั่วพื้นที่ ประมาณเดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม

ปลาเผาะพันธุ์ลูกผสม

“ชีปะขาวที่เยอะๆ บางคนเขาก็ให้กินสดๆ เลย พอหมดฤดูที่ชีปะขาวหมด มันก็หมดไปเลย แต่ของลุงนี่พอได้มา เอามาตากแห้งไว้ เพราะว่าพวกนี้จะออกมาทุก 7 วันครั้ง ลุงก็เก็บตากแดดไว้ แล้วก็เอาที่ตากแห้งมาผสมกับอย่างอื่นเป็นเหมือนอาหารเสริมให้ปลา” ลุงพันธ์ กล่าว

แมลงชีปะขาวที่ตากแดดเปรียบเสมือนการถนอมให้ใช้ได้นาน ลุงพันธ์ บอกว่า ก่อนที่จะนำไปเป็นอาหารเสริมให้ปลาเผาะ ลุงจะนำมาผสมตามสูตร ที่ลองผิดลองถูกมานับไม่ถ้วนเสียก่อน

กระชังปลาในแม่น้ำโขง

“สูตรที่ลุงใช้นี่ก็จะเอาน้ำก๋วยเตี๋ยว เส้นที่เหลือจากร้านลูกสาวลุงเอง ลุงก็มีต้มปลายข้าว 3 กิโลกรัม แล้วก็ผสมรำอ่อนประมาณ 15 กิโลกรัม แล้วก็เอาชีปะขาวที่ตากแห้งมาผสม อีกประมาณ 3 กิโลกรัม การผสมลุงก็ดูตามความเคยชิน คือก้อนที่ปั้นก็อย่าเหลวมากไป ให้มันพอดี ไม่ได้ปั้นทุกวัน อาทิตย์หนึ่งก็ให้สัก 3 ครั้ง เพื่อเป็นอาหารเสริมไป” ลุงพันธ์ อธิบายขั้นตอนการผสมชีปะขาวตามสูตรเพื่อใช้เป็นอาหารเสริม

จากการทำด้วยวิธีนี้ ทำให้ต้นทุนค่าอาหารปลาของลุงพันธ์ลดลงไปครึ่งต่อครึ่ง จึงมีกำไรเพิ่มมากขึ้น อาจเรียกได้ว่าปลาได้รับแหล่งโปรตีนชั้นดีเลยทีเดียว

ก๋วยเตี๋ยวปลาเผาะ ร้านลูกสาวลุงพันธ์

ลุงพันธ์ บอกว่า คนในพื้นที่นี้จะนิยมปลาเผาะเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่ามีรสชาติอร่อย ทำเป็นปลาจุ่ม หรือก๋วยเตี๋ยวปลา นับเป็นอาหารสุขภาพ ที่มีโปรตีนและมีโอเมก้า ที่ได้จากเนื้อปลา

ปลาโมงที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป จะมีแม่ค้ามารับซื้อถึงกระชัง รวมทั้งคนในพื้นที่ และที่เป็นจุดเด่นคือ เพื่อนบ้านอีกฟากฝั่งของแม่น้ำโขง ก็ข้ามมาซื้อปลาเผาะในฝั่งบ้านลุงด้วยเช่นกัน

ปลาเผาะที่มีน้ำหนัก ตั้งแต่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 150 บาท และปลาที่มีน้ำหนัก ตั้งแต่ 1 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 120 บาท ลุงพันธ์ให้เหตุผลว่า ที่ปลาเผาะมีราคาแตกต่างกัน เพราะใช้เวลาเลี้ยงไม่เท่ากัน ตัวที่ใหญ่กว่า ใช้เวลาเลี้ยงเกือบ 2 ปี ก็มี

ปลาเผาะลวก เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มรสเด็ด

นอกจากจะขายเป็นปลาสด ครอบครัวของลุงพันธ์ยังทำการแปรรูปเป็นก๋วยเตี๋ยวปลา และปลาจุ่ม ซึ่งลูกสาวของลุงเป็นผู้ปรุงรส เนื้อปลาเผาะที่กินกับน้ำจิ้มรสเด็ด รสชาติสุดจะบรรยาย เนื้อปลานุ่มลิ้น ชิ้นบางๆ เมื่อเคี้ยวเพียงเล็กน้อย สัมผัสได้ถึงเนื้อปลาที่ละลายในปาก เอาเป็นง่ายๆ ว่า ผู้เขียนเอง เมื่อได้ลองชิม ไม่อยากวางตะเกียบออกจากมือ

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากเลี้ยงปลากระชังเพื่อเป็นอาชีพ ลุงพันธ์ ให้คำแนะนำว่า

“สำหรับคนที่อยากเลี้ยง ก่อนอื่นโดยเฉพาะปลากระชัง ต้องมีที่สำหรับลงเลี้ยงก่อน แล้วมองว่าในอนาคตเกิดเราประสบผลสำเร็จ เราจะขยับขยายพื้นที่เลี้ยงได้ไหม สำหรับคนที่สนใจ ในพื้นที่นี้ หรือว่าจังหวัดอื่นๆ ผ่านมาแถวนี้ เข้ามาได้ มาเรียนรู้ ทางผมยินดี เพราะว่าที่นี่ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ด้วย มีเจ้าหน้าที่ประมงเข้ามาค่อยช่วยดู”

“การเลี้ยงบางครั้ง เราจะรอกำไรจากปลาที่เลี้ยง มันก็ไม่ได้ เพราะว่าปลาที่เลี้ยงแต่ละชนิดใช้เวลานาน ช่วงที่ใครทำใหม่ๆ ก็ให้หาอย่างอื่นทำด้วย พอปลาเริ่มมีขนาดที่ขายได้ ผ่านไปสัก 1 ปี เดี๋ยวก็จะเข้าที่เข้าทาง อีกอย่างที่ผมให้ความสำคัญเลย คือต้องมีใจรัก มีความรู้ อย่าคิดเลี้ยงตามคนอื่น เห็นว่าราคาดีก็เลี้ยงกัน แต่ขาดความรู้ก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ” ลุงพันธ์ กล่าว

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากศึกษาข้อมูลการเลี้ยงปลาเผาะในกระชัง หรือผ่านมาก็ลองแวะชิมก๋วยเตี๋ยวปลา ใช้เนื้อปลาเผาะสดๆ สะอาด ติดต่อได้ที่ ลุงพันธ์ อ่อนมณี หมายเลขโทรศัพท์ (089) 943-4513