มทร.สุวรรณภูมิ จับมือ วว. พัฒนามาตรฐานการผลิตสินค้าทางการเกษตร (GAP)

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดำเนินงานโครงการจ้างเหมาจัดอบรมให้ความรู้และพัฒนาเชิงลึก เรื่อง มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี มกษ. 90001-2556 เรื่อง พืชอาหารและมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9000 เล่ม 1-2552 เกษตรอินทรีย์ เล่ม 1 เรื่องการผลิต แปรรูป แสดงฉลาก จำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ แก่เกษตรกรผู้ผลิต และผู้ประกอบการโอท็อป ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท และใกล้เคียง เพื่อร่วมกันพัฒนากลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอท็อป ให้เกิดการกระจายรายได้ เสริมสร้างโอกาส และสร้างความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียม ส่งเสริมและพัฒนาชุมชน สังคมให้เข้มแข็ง มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น อันนำไปสู่ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ และเพิ่มศักยภาพงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ชุมชน สังคม อย่างยั่งยืน

รศ.ดร.กิตติ บุญเลิศนิรันดร์

รศ.ดร.กิตติ บุญเลิศนิรันดร์ รองอธิการบดี มทร.สุวรรณภูมิ กล่าวว่า จากการดำเนินงานดังกล่าวพบว่า ประเด็นปัญหาหลักที่สำคัญของการพัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้าโอท็อปคือ ปัญหาด้านการผลิต ได้แก่ การเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตที่มีคุณภาพ ความไม่สม่ำเสมอ การผลิตสินค้าแต่ละครั้งมีคุณภาพไม่เหมือนกัน ไม่สามารถผลิตสินค้าจำนวนมากได้ ขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตที่ทันสมัย รวมทั้งสินค้าไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงานโครงการ ส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่มีพื้นฐานการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งการอบรมให้ความรู้และพัฒนาเชิงลึก เรื่องมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี มกษ. 9001-2556 เรื่อง พืชอาหารและมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9000 เล่ม 1-2552 เกษตรอินทรีย์ เล่ม 1 เรื่อง การผลิต แปรรูป แสดงฉลาก และจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ แก่เกษตรกร ผู้ผลิตและผู้ประกอบการโอท็อป ในพื้นที่จังหวัดชัยนาทและใกล้เคียงครั้งนี้ เพื่อมุ่งพัฒนาผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอท็อปในพื้นที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยอย่างจริงจัง โดยการยกระดับผลผลิตทางการเกษตร ให้สามารถผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ปลอดภัย ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน สร้างความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มคุณภาพการผลิตทั้งเชิงปริมาณเพื่อสร้างมูลค่า และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรด้านพืชอาหารตามระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP)

ดร.ณัฏฐ์ สิริวรรธนานนท์

ด้าน ดร.ณัฏฐ์ สิริวรรธนานนท์ หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากโครงการแผนงานขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์เพื่อเศรษฐกิจและสังคมฐานราก (ยกระดับโอท็อป ในพื้นที่ 10 จังหวัดยากจนที่สุดในประเทศ) ปีงบประมาณ 2561 เป็นโครงการต่อยอดกิจกรรมพัฒนาเชิงลึกเรื่อง มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เรื่อง พืชอาหาร เป้าหมายในการพัฒนาให้ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เรื่อง พืชอาหาร (GAP) โดยดำเนินการ 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 เป็นการอบรมให้ความรู้กับเกษตรกรจากจังหวัดชัยนาทและพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 70 แปลง 70 คน ระยะที่ 2 คัดเลือกเกษตรกรที่มีความพร้อม จำนวน 20 แปลง 20 คน ให้คำปรึกษามาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สุ่มเก็บตัวอย่างผลผลิตเพื่อตรวจวิเคราะห์ ปริมาณสารตกค้างในผลผลิต และธาตุโลหะหนักในดินและน้ำ ตามมาตรฐานที่ วว. กำหนด ระยะที่ 3 การให้คำปรึกษาเชิงลึกเตรียมความพร้อมเพื่อรับการตรวจจากหน่วยงานที่กำหนดจาก วว. หรือภาคีเครือข่ายตามเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เรื่อง พืชอาหาร จากทาง วว. โดยสำนักรับรองระบบคุณภาพ จะเป็นหน่วยงานให้การรับรองผู้ที่ผ่านการตรวจประเมิน โครงการนี้จึงเป็นโครงการนำร่องให้เกษตรกรรายอื่นได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติและพัฒนาเกษตรกรทั้งในจังหวัดชัยนาทและจังหวัดใกล้เคียง นำไปสู่การพัฒนาเกษตรกรในจังหวัดอื่นต่อไป