“ใคร้ย้อย” หอมน้อย ห้อยในมุ้ง ประดับตา

ไคร้ย้อย

“ตะไคร้หอม” มัดห้อย กันยุง… “ใคร้ย้อย” หอมน้อย ห้อยในมุ้ง ประดับตา

ชื่อวิทยาศาสตร์ Elaeocarpus grandiflorus Sm.

ชื่อวงศ์ ELAEOCARPACEAE

ชื่อสามัญ Fairy petticoats, Lily of the valley

ชื่ออื่นๆ กระดิ่งนางฟ้า (ทั่วไปปัจจุบัน) กาบพร้าว (นราธิวาส) สารภีน้ำ (เชียงใหม่) จิก ดอกปีใหม่ (กาญจนบุรี) คล้ายสองหู ผีหน่าย (สุราษฎร์ธานี) แต้วน้ำ (บุรีรัมย์) ปูมปา (เลย) อะโน (ปัตตานี) มุ่นน้ำ (เพชรบุรี) ดอกโจก โชค (ภาคเหนือ) สีชัง (สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย)

หนูไม่อยากจะคุย เมื่อพูดถึงชื่อแปลกๆ เพราะหนูมีทั้งชื่อแปลกมากๆ และยังแปลกมากๆ ที่มีชื่อม๊ากกเหลือเกิน จนหนูเองก็แทบจะจำชื่อตัวเองไม่ได้ เพราะสับสนที่ไม่รู้ว่ามีความหมาย หรือที่มาอย่างไร แล้วใครๆ ที่เรียกชื่อหนูมีทั้งชาวบ้านทั่วๆ ไป ท้องถิ่นภาคต่างๆ และนักวิชาการ เพียงแต่ชื่อของหนูไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงในแวดวงวิชาการนัก อาจจะเป็นเพราะว่าชื่อเรียกยากหรือเปล่า? แต่ถ้าเรียก “กระดิ่งนางฟ้า” หนูว่าไม่เห็นออกเสียงยากเลย

โดยส่วนตัวหนู คิดว่าหนูชอบชื่อ “กาบพร้าว” เพราะฟังง่ายๆ สัมผัสได้ด้วย มีของจริงให้เห็น แต่หนูแปลกใจที่ชาวสุราษฎร์ธานี เรียกชื่อหนูถึง 2 ชื่อ แล้วมีความขัดแย้งกันมาก อย่างชื่อเรียก “คล้ายสองหู” พอจะอนุโลมและอนุมานได้ว่า ดอกใคร้ย้อย เวลาบานแล้วจะห้อยเป็นพวงเป็นพู่ห้อยเหมือนเป็นตุ้มหู แต่ชื่อ “ผีหน่าย” นี่ซิ หนูยังหาเหตุผลมาประกอบไม่ได้เลย รึ…ว่าเขาปลูกหนูไว้หน้าบ้านแล้วผีกลัวนิ แหม..! หนูไม่ใช่ต้น “ใบหนาด” ซะหน่อย อ้อ..! อีกอย่างสำหรับคนที่ออกเสียงเรียกชื่อหนูมักจะออกเสียงเป็น “ใคร่ย้อย” หรือบางทีเพี้ยนเสียงเป็น “ใคร่ห้อย” ซะนี่ หนูลองเปิดพจนานุกรมดู พบว่า “ใคร่” คือความอยาก ความต้องการ หรือปรารถนา หนูมีความรู้สึกว่าเป็นพฤติกรรมเชิงลบ และ “ความใคร่” แปลความของ อาจารย์สอ เสถบุตร คือ sexual desire แต่หนูชอบใจอยู่อย่างหนึ่ง ที่เคยอ่านเรื่องสั้นจาก “ชมรมวรรณศิลป์” ของ ม.เกษตรฯ เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เขียนไว้ว่า “ในความรักมักจะมีความใคร่ แต่ความใคร่มีได้โดยไม่ต้องมีความรัก”

หนูเป็นไม้ยืนต้นที่สูงใหญ่ได้มากกว่า 20 เมตร แต่โดยทั่วไปจะมีคนปลูกหนูไว้ในกระถางในบริเวณบ้าน หนูก็ออกดอก “ห้อยย้อย” ให้ชื่นชมได้ จึงมักจะพบหนูโดยทั่วไป ต้นไม่สูงใหญ่นัก และไม่ผลัดใบให้รำคาญตา แต่บางคนก็ “ทั้งรักทั้งเกลียด” ที่เมื่อออกดอกบาน กลีบดอกก็จะร่วงหลุดง่าย ปูพรมบนพื้นใต้ต้น กลีบดอกเหลืองอ่อนหรือขาวราวหิมะตก  น่านั่ง นอน ให้ดอกหล่นคลุมตัว หรือปูผ้ารองรับ เพราะดอกดกเป็นช่อห้อย กลีบดอกเป็นริ้ว ช่อกระจะออกที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมี 8-16 ดอก ดอกบาน 2-2.5 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมอ่อนๆ สีขาวนวลแกมเหลือง แต่ละช่อดอกช่วงกลางๆ ฤดูออกดอกจะมีผลเป็นพวงตั้งแต่เล็กๆ เท่าหัวไม้ขีดเป็นพวงๆ หลายรุ่น หลายขนาด โตขึ้นขนาดเมล็ดมะขามและโตเต็มที่ขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยก็มี อยู่ในต้นเดียวกัน ผลแบบมีเมล็ดเดียว แข็ง (stone) รูปรีปลายและโคนแหลมเป็นรูปกระสวย ขนาด 3-4 เซนติเมตร ผิวบางเกลี้ยง ผลเป็นพวงกินได้แต่ไม่มีใครชอบ สุกแล้วสีเขียวอมเหลือง รสขมเฝื่อน เมล็ดมีเนื้อเป็นชั้นห่อหุ้ม เมล็ดแข็งสีน้ำตาลอ่อน ติดผลประมาณมิถุนายน-กรกฎาคม ภาพที่หนูนำมาอวดนี้ถ่ายเมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้ ที่หน้า “กุฏิเจ้าอาวาสวัดวังชัน” ตำบลบางกุ้ง อำเภอศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี อายุต้น 7-8 ปีแล้ว

หนูขอย้อนกลับถึงความภาคภูมิใจเกี่ยวกับดอกอีกสักครั้ง เพราะมีคนกล่าวชมถึงพวงดอกงามและกลิ่นกรุ่นๆ ใช้เป็น “สุคนธบำบัดโรคเครียด” ได้ และหนูเคยอ่านคำชมของ คุณมยุรี วรรณไกรโรจน์ (พงษารัตน์) นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ ข้าราชการบำนาญ  เขียนไว้ใน  u-tube  ตั้งแต่ 2 พฤษภาคม 2558 ว่า “khrai-yoi beautiful scented aromatherapy stress disorder” นอกจากนั้น ยังมีคนพูดถึงหนูที่เรียกชื่อ ดอกโชค ของคนทางเหนือว่าเป็นดอกไม้ทำบุญ ทางภาคเหนือชื่นชมว่า “ช่วงปี๋ใหม่ถ้าไปกาดละก็จะเห็น “ดอกโจก” วางขายเพื่อนำไปใช้ทำบุญบูชาพระที่วัดจะได้มีโจกมีลาภ (โจกหมายถึงโชค) รวมทั้งปลูกเป็นไม้มงคลในบ้าน”

หนูมีญาติพี่น้องเป็นกลุ่มดอกอีกสี คือกระดิ่งนางฟ้าสีขาวและสีชมพูเข้ม ดอกเป็นพวงสวยยามลมแกว่งไกว คนชอบปลูก เพาะขยายพันธุ์ได้ง่าย ได้ทั้งเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำ ปลูกได้ทั้งในกระถาง และลงดิน ไม่มีโรคและแมลง จุดเด่นเมื่อออกดอกจะมีแมลงผึ้งบินมาตอมในช่อดอกจำนวนมากจนได้ยินเสียง “ภุมรินทร์บินว่อน” ใช้ประโยชน์ปลูกป้องกันดินพังทลายริมน้ำได้ดี ทนระดับน้ำท่วมสูง ผลเป็นอาหารของนก แต่สำหรับคนกิน หนูไม่ยืนยันความอร่อยนะคะ เพราะบางข้อมูลมีว่า ส่วนต่างๆ ของลำต้นเป็นพิษต่อหัวใจ จากในวารสาร “ไม้มีพิษ” พ.ศ. 2552 โดยอาจารย์ เศรษฐมนตร์ กาญจนกุล ดังนั้น สรรพคุณทางด้านสมุนไพรของหนูจึงไม่ค่อยมีคนกล่าวถึง แต่ก็ว่ากันว่า น้ำสกัดจากผลและเมล็ดเป็นยาขับปัสสาวะได้ดี

ในธรรมชาติพบหนูได้ตามป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณทุกภาคของไทย ในระดับความสูงได้ถึง 800 เมตร ในภูมิภาคเอเชีย อินโดจีน ก็พบได้ที่ อินเดีย พม่า คาบสมุทรมลายู สุมาตรา ได้ตามริมน้ำป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น แต่..! เชื่อไหมคะ ความสวยของพวงช่อดอก ความสวยน่ารักของกลีบดอกที่ร่วงหล่นปูพื้นเป็นพรมเต็มใต้ต้น หนู “ช็อก” ตรงที่เขาพูดว่า “ดอกสวยเนียนนุ่ม พุ่มดอกหล่นน่าเดินเหยียบบบ…จังเลย”