สศก. เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันปีหลวง 12 สิงหา มหามงคล สืบสาน รักษา ต่อยอดเศรษฐกิจพอเพียง สานต่อโครงการแรงงานคืนถิ่นฯ น้อมนำศาสตร์พระราชา สู่ต้นแบบเกษตรกรไทย

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันปีหลวง และในหลวงรัชกาลที่ 10 สืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานเกษตรทฤษฎีใหม่ภายใต้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นำโครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ขับเคลื่อนและขยายผลโครงการแรงงานคืนถิ่น บูรณาการร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ สร้างต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยศาสตร์พระราชา เสริมภูมิคุ้มกันชีวิตสู้วิกฤต ยุค New Normal

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึง โครงการแรงงานคืนถิ่นพลิกฟื้นผืนดิน ด้วยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ณ ศพก. อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ว่า ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมาย สศก. ดำเนินการจัดทำโครงการแรงงานคืนถิ่นฯ ภายใต้โครงการ พัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจการเกษตรอาสาประจำศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โดยอบรมและสาธิตการทำการเกษตรด้วยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อช่วยเหลือแรงงานคืนถิ่น ผู้ว่างงาน และเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่ง สศก. ได้เริ่มเปิดตัวโครงการ ณ จังหวัดศรีสะเกษ ในช่วงเดือนกรกฎาคม เดือนมหามงคลของปวงชนชาวไทย ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว นำโครงการจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ขยายผลโครงการ และยึดแนวทาง จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้นแบบโมเดลขับเคลื่อนโครงการทั่วประเทศตลอดมา

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์

สำหรับเดือนสิงหาคมนี้ เป็นอีกหนึ่งวาระโอกาสสำคัญยิ่งของปวงชนชาวไทย ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. ได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติและขยายผลโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. ได้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ณ ศพก. อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งมี นายชาญชัย คำวงษา เศรษฐกิจการเกษตรอาสา และประธาน ศพก. อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพไร่นาสวนผสมระดับจังหวัด ประจำปี 2559 และ 2561 ที่ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนโครงการในพื้นที่ครั้งนี้ร่วมกัน

พร้อมนี้ สศก. ยังได้บูรณาการร่วมกับโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ และครม. อนุมัติวงเงิน 9.8 พันล้านบาท เป็นโครงการแรก ภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ มีเป้าหมายในการพัฒนาพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ถึง 4,009 ตำบล ตำบลละ 16 ราย ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12 และ ศกอ. กับ ศพก. ในพื้นที่ มีศักยภาพและความพร้อมเต็มที่เพื่อร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ รวมทั้งยังบูรณาการร่วมกับศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน สถาบันการศึกษาภายใต้ศูนย์ AIC องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกลุ่มองค์กรภาคประชาชน และศูนย์ปฏิบัติการอื่นๆ ในการช่วยเหลือแรงงานคืนถิ่นร่วมกัน ทั้งนี้ ในส่วนของจังหวัดอุดรธานี มีจำนวนเป้าหมาย 149 ตำบล

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดผลกระทบต่อเนื่องทั้งทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตประจำวัน การฟื้นฟูประเทศทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จำเป็นที่จะต้องดำเนินการครอบคลุมทุกมิติ และผ่านความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย แน่นอนว่าภาคการเกษตร เป็นภาคการผลิตที่สำคัญ เป็นแหล่งผลิตอาหารในประเทศและส่งออกในฐานะครัวของโลก ดังนั้น สภาวะวิกฤตเช่นนี้ ภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการช่วยแก้ไขปัญหา สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนในท้องถิ่นตามแนวทางศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ อันเป็นศาสตร์ที่เป็นทางรอดของอาชีพเกษตรและเป็นความภาคภูมิใจของเกษตรกรไทยตลอดมา” เลขาธิการ สศก. กล่าว

ทั้งนี้ เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1-12 ซึ่งความสำเร็จของโครงการแรงงาน คืนถิ่นฯ ตลอดจนโครงการต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในครั้งนี้ นอกจากคนรุ่นใหม่คืนถิ่นจะหันทำการเกษตรโดยเข้าใจถึงองค์ความรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ตามศาสตร์พระราชาเป็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ยังก่อเกิดฐานทรัพยากรน้ำ ดิน และป่าไม้ ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดการกระจายรายได้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เกษตรกรมีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น เศรษฐกิจได้รับการฟื้นฟู และเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอีกด้วย